http://region2.prd.go.th/bridgemuk/ข้อมูลจากประชาสัมพันธ์เขต 2
เฉลิมฉลองเปิดสะพาน"มิตรภาพ 2" มหาปีติ!!เชื่อมแผ่นดินสองฝั่งโขงรายงานพิเศษ โดย อรรครัตน์ รัตนจันทร์ 20 ธันวาคม 2549
เป็นวันที่รัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปปล.) มีความเห็นร่วมกันในการจัดพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต และจัดเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ซึ่งไม่เพียงแต่จะนำมาแห่งความมหาปีติยินดีของประชาชนชาวไทย-ลาว สองฝั่งแม่น้ำโขง ด้านจังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขต ที่ถูกแบ่งแยกด้วยสายน้ำของแม่น้ำโขงมหานทีอันยิ่งใหญ่แห่งอุษาคเนย์ ได้ถูกเชื่อมต่อแผ่นดินด้วยสะพานแห่งสายสัมพันธ์ไทย-ลาว
สะพานมิตรภาพ 2 แห่งนี้ ยังจะทำให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศที่มีความผูกพันกันประดุจเครือญาติที่ใกล้ชิดกัน ได้มีโอกาสไปมาหาสู่กันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นประตูเศรษฐกิจสู่อินโดจีนที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนานาประเทศด้วย
"บุญสม พิรินทร์ยวง" ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร บอกว่า การเปิดสะพานมิตรภาพ 2 จะส่งผลให้ จ.มุกดาหาร มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น โดยด้านการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้า ผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังแขวงสะหวันนะเขต และเชื่อมต่อไปประเทศเวียดนาม คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 ล้านบาท ซึ่งจากภาพรวมของมูลค่าการค้าในปีที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาท และเมื่อมีการเปิดใช้สะพานก็จะมีการขยายเวลาในการเปิดทำการของด่านออกไป โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึง 22.00 น. ซึ่งจะทำให้เกิดการคล่องตัวในการค้าขายชายแดนมากขึ้น รวมทั้งจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าไปยังประเทศที่สามสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการค้าขายระหว่างประเทศ
"บุญสม" ร่ายยาวว่า สำหรับในด้านการลงทุน ปัจจุบันแขวงสะหวันนะเขต ได้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ไว้รองรับนักลงทุน โดยได้เชิญชวนให้นักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุน ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนชาวต่างชาติส่วนหนึ่งเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อมีสะพานเกิดขึ้น ทางรัฐบาลไทยก็ได้กำหนดให้จังหวัดมุกดาหารเป็นที่ตั้งของศูนย์การผลิตรวบรวมแปรรูปและกระจายสินค้า (Distribution Center) ซึ่งอยู่ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ และคัดเลือกพื้นที่ โดยทางบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ความคิดเห็นชอบและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายบุญสม พิรินทร์ยวง ผวจ.มุกดาหาร (ชุดดำ) และนายวิไลวัน พิมเข เจ้าแขวงสะหวันนะเขต สปปล.ขณะร่วมพิธีเทคอนกรีตเชื่อมสะพานมิตรภาพ 2 ไทย-ลาว
"คาดว่าในอนาคต 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประกอบการขนส่งสินค้าไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะหันมาใช้เส้นทางขนส่งผ่านมุกดาหารไปยังแขวงสะหวันนะเขต และต่อไปยังประเทศเวียดนาม ผ่านเส้นทางหมายเลข 9 ไปยังท่าเรือดานัง และขนส่งสินค้าจากท่าเรือดานังไปยังประเทศต่างๆ เนื่องจากเส้นทางนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าการขนส่งจากแหลมฉบังไปยังเอเชียตะวันออก ซึ่งจะต้องใช้เวลามากถึง 7 วัน แต่ถ้าใช้เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านจังหวัดมุกดาหารไปทางประเทศเวียดนามจะใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น ค่าขนส่งก็มีราคาถูกลง ทำให้ต้นทุนสินค้าถูกลงด้วย"
ส่วนด้านการท่องเที่ยว "บุญสม" ระบุว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวที่นั่งเรือโดยสารข้ามแม่น้ำโขงไปยังสะหวันนะเขตและท่องเที่ยวต่อไปยังประเทศเวียดนามผ่านเส้นทางหมายเลข 9 เฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ 500-600 คน ซึ่งต่อไปเมื่อสามารถเดินทางท่องเที่ยวข้ามแม่น้ำโขงทางรถยนต์ได้อย่างสะดวกสบาย ก็จะส่งผลให้การท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้จังหวัดมุกดาหาร สะหวันนะเขต และกวางตรี ซึ่งมีความสัมพันธ์ในระดับเมืองคู่แฝด ได้มีข้อตกลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำแผนที่ท่องเที่ยว 3 แผ่นดิน ออกแจกจ่ายเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ
ด้าน "พิเชฐ แสงนิศากร" ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร บอกว่า จังหวัดมุกดาหารได้กำหนดบทบาทตัวเอง โดยวางตำแหน่ง (positioning) เป็นศูนย์การผลิต แปรรูปและกระจายสินค้า ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วมีความภูมิใจมาก เพราะโครงการนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารมีส่วนร่วมต่อการผลักดันเบื้องต้น โดยเป็นผู้เขียนโครงการนำเสนอต่อจังหวัด เพื่อกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์จังหวัด และสอดคล้องกับทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดำเนินการทำวิจัยโครงการดังกล่าว จนมีการสรุปผลการทำวิจัยในโครงการนี้ในขั้นสุดท้ายแล้ว ซึ่งจะต้องนำเสนอต่อรัฐบาล แต่ที่ผ่านมาอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล จึงทำให้ต้องชะลอไประยะหนึ่ง
"พิเชฐ" ระบุว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ได้มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร เตรียมเรื่องนี้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดินทางมาร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ โดยอาจเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเสวนาที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะจัดขึ้นที่โรงแรมมุกดาหารแกรนด์โฮเทล ในวันเดียวกันด้วย โดยจะมีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมประชุมกับสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการพบปะภาคเอกชนของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดนำร่อง
"ทำเลที่ตั้งของประเทศไทยนับว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงด้าน Logistics ในภูมิภาคเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะกลายเป็น Regional Hub ในอนาคตอย่างแน่นอน"
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหารเน้นว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามุกดาหารจะเป็นจังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นชุมทางของการเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีน แต่ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาทำให้ดูประหนึ่งว่าภาครัฐมิได้ให้ความสำคัญที่จะพัฒนาการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
"ดังนั้นยุทธศาสตร์ในการแข่งขันกับต่างประเทศ จึงควรต้องประสานหลักการ ในการพัฒนาศักยภาพ ในการพึ่งพาตนเองควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศในอินโดจีน ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะเป็นเพียงทางผ่านของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้" พิเชฐกล่าวในที่สุด
โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2ปี 2533 ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ประเทศไทยและลาว ศึกษาโครงการก่อสร้างสะพานฯ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
ปี 2535-2538 รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GREATER MEKONG SUBREGION : GMS) ประกอบด้วย จีน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย ได้เห็นพ้องต้องกันในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกัน ภายใต้ความร่วมมือช่วยเหลือ ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
โดยจัดให้มีการศึกษา FEASIBILITY STUDY และการคมนาคมขนส่งทางบกในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EAST-WEST ECONOMIC CORRIDOR) ด้วย เพื่อเชื่อมระหว่างพม่า ไทย ลาว เวียดนาม ในแนวเส้นทางเมืองมะละแหม่งของพม่า แม่สอด ตาก พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร สะหวันเขต (สปปล.) และตองฮา (เวียดนาม)
ขณะเดียวกันมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของโครงการ GMS และมีมติให้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ขึ้นที่จังหวัดมุกดาหาร-สะหวันเขต ซึ่งเชื่อมโยงกับเส้นทางหมายเลข 9 ใน สปปล. สู่เมืองเว้ ดานัง ของเวียดนาม
ปี 2539-2541 ได้จัดให้มีการประชุมผลการศึกษาเพื่อหาจุด (ตำแหน่ง) ของสะพานของทั้งสองประเทศจนได้ข้อยุติ และตกลงร่วมกันให้ตำแหน่งสะพานฝั่งไทยอยู่ที่บ้านสงเปือย ต.บางทรายใหญ่ อ.เมืองมุกดาหาร ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 7 กิโลเมตร และจุดก่อสร้างฝั่งลาวอยู่ที่บ้านนาแก เมืองคันทะบูลี อยู่ห่างจากตัวแขวงสะหวันเขตไปทางทิศเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร
ปี 2542-2543 รัฐบาลญี่ปุ่น โดย JAPAN INTERNATIONAL COOPERATION AGENCY : JACA ให้ความช่วยเหลือในการสำรวจ ออกแบบโครงการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2542 พร้อมส่งแบบก่อสร้างฉบับสุดท้ายให้รัฐบาลไทยและลาวเมื่อเดือนสิงหาคม 2543
18 มีนาคม 2544 มีการจัดพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและลาว ที่โรงแรมมุกดาหาร แกรนด์ โฮเทล โดยใช้เงินกู้จาก JBIC วงเงินค่าก่อสร้าง 2,550 ล้านบาท ไทยและลาวออกฝ่ายละครึ่ง โดยกำหนดรูปแบบเป็นสะพานคอนกรีต 2 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 8 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.50 เมตร ยาว 1,600 เมตร จุดกลับรถอยู่ฝั่งไทย เริ่มวางศิลาฤกษ์สะพาน 21 มีนาคม 2546 กำหนดแล้วเสร็จ 2 ธันวาคม 2549
หน้า 9<
