ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
19-04-2024, 05:45
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ชายคาพักใจ  |  ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด... ของ 'วิกรม กรมดิษฐ์' 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด... ของ 'วิกรม กรมดิษฐ์'  (อ่าน 10733 ครั้ง)
นทร์
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7,441



เว็บไซต์
« เมื่อ: 17-12-2006, 21:16 »

ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด... ของ 'วิกรม กรมดิษฐ์'
โดย — เจียรนัย อุตะมะ

“วิกรม กรมดิษฐ์” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) ผู้ประกอบธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ประกาศบริจาคหุ้นมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ให้มูลนิธิอมตะ

“วิกรม” กล่าวกับโพสต์ทูเดย์ว่า นี่เป็นเพียงโครงการแรกของเขาเท่านั้น จะมีการบริจาคตามมาอีก ตั้งใจจะให้เป็นหลักหมื่นล้านบาท


“ผมทำบุญไม่หวังบุญ ที่ทำไปทั้งหมดนี้ก็เพื่อความสุขใจ เป็นแค่สิ่งที่อยากจะทำ โดยหวังว่าเงินปันผลที่มูลนิธิได้จากการถือหุ้นจะหล่อเลี้ยงเป็นทุนปีละ 100-200 ล้านบาท” วิกรม กล่าว


หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หากต้องการ สุขใจและขึ้นชื่อว่าได้ทำการกุศลจริงโดยไม่หวังอะไร ทำไมจึงไม่บริจาคเงินให้กับมูลนิธิอื่น ทำไมจึงให้กับมูลนิธิของตัวเอง หรือนี่เป็นเพียงแผนเลี่ยงภาษี


“วิกรม” ชี้แจงว่า ไม่คิดว่าจะยกมรดกให้น้องหรือลูกหลาน ที่ปัจจุบันมี 40 กว่าคน (ไม่นับรวมเขยและสะใภ้) จึงไม่มีเหตุผลที่จะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีโอนมรดก


“ผมไม่ต้องการให้ญาติพี่น้องแย่งมรดกกันเมื่อผมไม่อยู่แล้ว จึงยกให้มูลนิธิอมตะที่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล 10% จากเดิมรับปันผลส่วนตัวไม่ต้องเสียภาษีด้วยซ้ำ”


เขากล่าวว่า สาเหตุที่ต้องบริจาคเงินให้มูลนิธิของอมตะ แทนที่จะเป็นองค์กรอื่น เพราะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตัวเอง




l วิกฤต-ก่อตั้งมูลนิธิ


“วิกรม” ก่อตั้งมูลนิธิอมตะเมื่อปี 2539 ช่วงที่ยากลำบากที่บริษัทเข้าสู่วิกฤตการณ์การเงินเช่นเดียวกับนักธุรกิจทั่วไป


เขาได้ตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิอมตะด้วยทุนส่วนตัว 2 แสนบาท เพื่อสร้างสรรค์การศึกษาให้เยาวชนทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยมูลนิธินี้จะไม่รับบริจาคเงินจากภายนอกเพื่อป้องกันปัญหาเคลือบแคลงของสังคม


แต่บทบาทของมูลนิธิเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา คือ การจัดประกวดศิลปกรรมระดับประเทศภายใต้ชื่อโครงการ “อมตะ อาร์ต อวอร์ด” ที่มีเงินร่วมล้านบาทเป็นแรงจูงใจ และตั้งรางวัล “อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด” ที่รางวัลสูสีกัน ให้นักเขียนอาวุโสของเมืองไทย และล่าสุดยังมีทุนการศึกษาและทุนวิจัยภายใต้ชื่อ “อมตะ จีเนียส อวอร์ด”


กิจกรรมดังกล่าว “วิกรม” บริจาคเงินก้อนโต 100 ล้านบาท จัดสรรเป็นงบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับอาร์ต อวอร์ด 30 ล้านบาท สำหรับไรเตอร์ อวอร์ด และ 20 ล้านบาท สำหรับจีเนียส อวอร์ด


“ผมให้เป็นกำลังใจกับศิลปิน ส่วนใหญ่ เป็นคนหนุ่มสาวที่ได้มีเวทีแสดงตน อีกอันคือรางวัลนักเขียน เพราะกว่าจะเขียนงานได้ ผมลองเขียนดูรู้ว่ายากมาก จึงแจกรางวัลปีละ 3 ล้านบาท นอกจากนั้นยังให้ทุนส่งเด็กเรียนดีเรียนจนถึงระดับดอกเตอร์หรือนักวิทยาศาสตร์” เขากล่าว


มูลนิธิจะบริจาคเงินในการสร้างผลงานให้ศิลปิน โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อผลงานเสร็จต้องยกให้มูลนิธิเพื่อจัดแสดงและพิมพ์ขาย หลังหักต้นทุนและค่าแรงแล้ว กำไรที่เหลือจะจัดสรรระหว่างเจ้าของผลงานและมูลนิธิในสัดส่วนที่ตกลงกัน


สำหรับรางวัลนักเขียนนั้น ปีแรกที่จัดคือ ปี 2548 ศิลปินที่ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะคนแรก คือ เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียนอาวุโส และปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลคือ “โรจน์ งามแม้น” (เปลว สีเงิน) แห่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งจะจัดพิธีมอบรางวัลวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550




l ปราสาทอมตะ


นอกจากนั้น ยังมีโครงการ “อมตะ คาสเซิล” หรือปราสาทอมตะ โครงการมูลค่าก่อสร้างหลักพันล้านบาทที่ “วิกรม” ควักเงินส่วนตัวอีกก้อนหนึ่งทุ่มทุนสร้าง ซึ่งคาดว่า จะเสร็จสมบูรณ์อีก 10 ปีข้างหน้า


“อมตะ คาสเซิล เป็นบ้านของผม จะมีขนาดใหญ่กว่าโรงแรม ที่ต่อไปจะยกให้ชาวบ้านใช้ไป”


ชั้นบนของอมตะ คาสเซิล เป็นที่อยู่ของ พี่น้องตระกูลกรมดิษฐ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่มูลนิธิอมตะ ส่วนชั้นล่างจะเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่รวบรวมงานศิลปะของศิลปินที่มูลนิธิคัดเลือกมาจัดสรรเป็นห้อง ที่ศิลปินและครอบครัวจะได้กรรมสิทธิ์โดยไม่เสียเงินสักบาท และหากมีรายได้จากภาพในห้องนั้น มูลนิธิจะปันผลประโยชน์ให้ตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้


“ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับยุคทางศิลปะ เพราะพอมีเราก็ขาย พอศิลปินตายเราก็ไม่เห็นผลงาน”


แนวคิดของเขาคือ เมื่อมี “อมตะ อาร์ต อวอร์ด” ก็ควรมี “อมตะ คาสเซิล” เกื้อหนุนกัน


“อมตะ อาร์ต อวอร์ด” จึงเปรียบเสมือนหน่วยงานที่ค้นหาศิลปินให้ “อมตะ คาสเซิล” สุดหรูที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและ ช็อปปิ้งงานศิลป์ชั้นดีของทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจที่จะตามมาอีกหลายรูปแบบในอนาคต


“วิกรม” กล่าวว่า ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อเตรียมการให้ทั้งมูลนิธิ และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน อยู่ได้ด้วยตัวเอง เผื่อวันหน้า ไม่มีเขา


“ทุกอย่างสร้างจากเงินส่วนตัวของผม พอไปถึงจุดหนึ่งต้องสานต่อด้วยระบบเองเหมือนบริษัทผม ต่อไปมูลนิธิต้องเปลี่ยนไปเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ผมเชื่อว่าความเป็นองค์กรเป็นอมตะกว่าคน”




l นักธุรกิจ-นักสังคมสงเคราะห์


ทั้งนี้ แม้ว่าเขายังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน อยู่ แต่บทบาทที่แท้จริงนั้นได้ถอยฉากออกมาอยู่เบื้องหลังในฐานะที่ปรึกษาบริษัทได้ 4-5 ปีแล้ว เมื่อบริษัทฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์การเงินและยังครองความเป็นนิคมอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไว้ได้ จนมั่นใจว่าบริษัทอยู่ได้ด้วยระบบไม่ใช่คน


“ผมทำงานที่บริษัท 1 วันต่อ 2 สัปดาห์ คือเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทโดยเรียกประชุมผู้บริหารในทุกระดับ หากมีปัญหานอกเหนือจากวันนั้นสามารถอีเมลหาผม หรือเรียกประชุมทางโทรศัพท์ได้ ผมต้องการเลิกระบบบริหารงานแบบเถ้าแก่ ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องขึ้นกับผมคนเดียว”


เขามีตัวตายตัวแทนที่บริหารงานแทน คือ “วิบูลย์ กรมดิษฐ์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด และ “สมหทัย พานิชชีวะ” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นน้องชายและน้องสาว ดูแลงานบริหารรายวันแทนในอมตะ คอร์ปอเรชัน


บทบาทของ “วิกรม” ปัจจุบันนี้ที่เป็นที่ รู้จักกันดีของสาธารณชน คือ นักเขียนในฐานะเป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ และข้อมูลดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นไฟล์ PDF นำไปโพสต์ในเว็บไซต์ส่วนตัวที่ www.vikrom.net

อีกส่วนหนึ่งถูกรวบรวมเป็นหนังสือ “มองโลกแบบวิกรม” วางแผงเมื่อเดือนมีนาคม 2548 หลังจากหนังสือเล่มแรก “ผมจะเป็นคนดี” วางแผงไปก่อนหน้านั้น และกำลังจะเขียนชีวประวัติของตัวเองออกมาอีก 4 เล่ม คือ เรื่องไฟฝันวันเยาว์ มองโลกแบบวิกรม มายเลดี้ และนักล่าฝัน

นอกจากนั้น ยังจะรวบรวมงานเขียนในโพสต์ทูเดย์ CEO โลก ทุกวันอาทิตย์ ออกเป็นหนังสือวางแผงขายประมาณเดือนมีนาคม ปี 2550 ที่จะถึงนี้

วันนี้หนุ่มใหญ่คนนี้ได้รับการยอมรับจากสังคมในหลายสถานภาพ ทั้งนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นักเขียน นักจัดรายการ (CEO Vision) ออกอากาศที่คลื่น FM 96.5 ที่เดิมออกอากาศเพียง 2 วัน ทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. แต่ความนิยมของรายการที่พุ่งขึ้นทำให้ต้องเพิ่มรายการ CEO Clinic อีก 1 วัน ทุกวันศุกร์

กระบวนการทำงานของเขานั้น ถ้าเป็น รายการวิทยุจะมีห้องออกอากาศหลัก 2 แห่ง คือ ห้องนอนบนชั้น 6 อาคารกรมดิษฐ์ ถนนเพชรบุรี ที่มีเพียงโน้ตบุ๊ก สคริปต์ลายมือตัวเอง โทรศัพท์บ้าน และ headset

สถานที่ออกอากาศอีกแห่งคือ แพวิเวกกลางบึงบัว บริเวณใกล้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กับอุปกรณ์ข้างต้น แต่โทรศัพท์กลายเป็นโทรศัพท์มือถือแทน และยังมีดาวเทียม ไอพีสตาร์อีกด้วย

ข้อมูลในสคริปต์ที่ออกอากาศจะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่มูลนิธิอมตะ เพื่อจัดพิมพ์ส่งต่อไปยังหนังสือพิมพ์ที่เขาเป็นคอลัมนิสต์

เป้าหมายชีวิตที่เขาอยากเป็นก่อนจาก โลกนี้ไปคือ นักปราชญ์ ซึ่งถ้ามองจากมุม ของสังคมก็จะพบว่า เขาเป็นเช่นนั้นแล้ว จากอิทธิพลแทบทุกด้านที่เขาแสดงออกมา ให้รับรู้

ทั้งหลายทั้งปวงที่เขาทำไปทั้งหมดนี้ เพราะความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า “คนเรา เกิดมาจากศูนย์แล้วก็จะจากไปเป็นศูนย์”

นั่นคือที่สุดของคนคนหนึ่งที่คิดได้ว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ”


http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=news&id=137603

บุคคลที่น่าทึ่งและสนใจ
บันทึกการเข้า

"ประชาชน อย่าทิ้งประเทศชาติ"
buntoshi
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,348



« ตอบ #1 เมื่อ: 19-12-2006, 11:18 »

ผมอ่านแล้วรู้สึก ขนลุกครับ ไม่รู้สิ ผมว่า เค้าจริงใจดีนะ

คนรวย 100 คน ยังมีประโยชน์ไม่เท่าคนดี 1 คนนะครับ สำหรับผม

ยิ่งถ้าเป็นคนรวยแล้ว ไม่เอาเปรียบสังคม อีกทั้ง บริจาคเพื่อสังคมอย่างบริสุทธิใจอย่างที่ คุณ 'วิกรม กรมดิษฐ์ ทำให้เห็นแล้ว

สังคมไทย จะไม่น่าอยู่ได้อย่างไร
บันทึกการเข้า


เราต้องสร้างคนดีมากกว่าคนเก่ง เพราะคนเก่งจะเห็นคนอื่นเก่งกว่าไม่ได้ จะพยายามเก่งกว่าคนอื่น แต่คนดีจะมีความสุขที่ได้ทำให้คนอื่นเก่ง รวมทั้งคนดีทุกคน ล้วนเก่งทั้งนั้น....  ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา
---------------------------
หน้า: [1]
    กระโดดไป: