สุขแท้...สุขเทียม คุณจะเลือกแบบไหน?
ความเอ๋ย ความสุข
ใครๆ ทุกคน ชอบเจ้า เฝ้าวิ่งหา
"แกก็สุข ฉันก็สุข ทุกเวลา"
แต่ดูหน้า ตาแห้ง ยังแคลงใจ
ถ้าเราเผา ตัวตัณหา ก็น่าจะสุข
ถ้ามันเผา เราก็ "สุก" หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข สุขเน้อ อย่าเห่อไป
มันสุขเย็น หรือสุกไหม้ ให้แน่เอย
หลักคำสอนของ
ท่านพุทธทาสภิกขุ บทนี้ยังสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่มีวันล้าสมัย ท่านบอกเป็นนัยว่า "ความสุข" เป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ที่สามารถแสวงหาได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ไปถึงได้
ถ้า "ความสุข" หรือ Happiness เป็นที่ต้องการและเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของทุกคน แล้ว "ความสุข" ที่ว่านี้คืออะไร? เหตุใดหลายคนจึงคาดหวังความสุขจากสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป เช่น ร่ำรวยเงินทอง มีหน้าที่การงานที่ดีและก้าวหน้า สมหวังในความรัก มีอำนาจบารมี ชอบให้มีคนชื่นชม ฯลฯ
การที่มนุษย์มีความสุขนั้นถือเป็นสิ่งดี แต่การจะมีความสุขนั้นอาจไม่แน่นอนเสมอไป เพราะความต้องการและความคาดหวังของมนุษย์มักมากขึ้นตามลำดับ และยากที่จะวัดได้ว่าต้องการและคาดหวังมากถึงระดับใดจึงจะพอใจ และถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่มนุษย์เรียกว่า "ความสุข" นั้น ใช่ "ความสุขแท้จริง" หรือ "ความสุขจอมปลอม" กันแน่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ จากกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้อธิบายคำว่า "ความสุข" ว่าหมายถึง ความปราศจากทุกข์ ในวิถีพุทธนั้น บอกว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมามีทุกข์ เพราะไม่หลุดพ้น ทุกวันนี้มนุษย์จึงมีทั้ง "ความสุข" และ "ความทุกข์" ควบคู่กัน
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะมนุษย์มองเห็นแต่ "วัตถุ" หรือเปลือกนอก เช่น จะต้องมีเงินมากๆ จะต้องมีรถหรูหราขับ จะต้องมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต จะต้องถูกรางวัลที่ 1 ฯลฯ เมื่อมนุษย์ทะเยอทะยานอยาก แต่ไม่ได้อย่างที่ต้องการหรือคาดหวัง จึงเกิดเป็นความทุกข์
การที่มนุษย์มองเห็นความสุขภายนอกจากวัตถุ เห็นแต่ด้านกายภาพ แม้จะบอกว่านี่แหละคือความสุข แต่ความสุขนั้นยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขเหล่านี้เป็นเพียงชั่วคราวไม่จีรังยั่งยืน ในทางกลับกัน หากจะหาความสุขที่แท้จริง (Bliss) ก็คงจะเป็นความสุขที่ออกมาจากภายใน หรือ "จิตใจ" นั่นเอง
ความสุขแท้จริงจากภายใน เกิดจากความมี "สติ" รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร ทุกศาสนามุ่งสอนให้ทุกคนมีสติ คิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ให้ คาดหวังในสิ่งที่เป็นไปได้ ฯลฯ ท่ามกลางกระแสแห่งโลกาภิวัตน์ ยังมีทั้งคนรวยและคนจนอีกมากที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ เป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า วันนี้ทุกสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงพูดถึง "ความสุข" เพรียกหาสังคม "พอเพียง" "พอดี" และ "ยั่งยืน" กันอย่างกว้างขวาง ไม่เว้นแม้แต่บ้านเรา
นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เขียนเรื่องความสุขของคนไทย...ความสุขที่พอเพียง ไว้ในหนังสือยุทธการ...ตามล่าหาความสุข ว่า ความทุกข์ทำให้คนมีโรครุมเร้า ในการช่วยเหลือไม่ให้มีความทุกข์นั้น นักจิตวิทยาจะคิดค้นวิธีทำให้สภาพจิตใจ อารมณ์ ของคนเหล่านี้อยู่ในทางบวก (Positive Psychology) มากขึ้น หลายองค์กรมีการประเมินดัชนีชี้วัดความสุข โดยให้ความสนใจด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ครอบครัว ชุมชน วัฒนธรรม ฯลฯ แต่กรมสุขภาพจิตได้ทำดัชนีชี้วัดความสุขของจิตใจ (สุขภาพจิต) 15 ข้อ 4 องค์ประกอบ คือ สภาวะสุขภาพทางจิต (Mental State) สมรรถภาพทางจิตใจ (Mental Capacity) คุณภาพของจิตใจ (Mental Quality) และสิ่งสนับสนุน (Supporting Factor) ประเทศเล็กๆ อย่าง "ราชอาณาจักรภูฏาน" ที่ประกาศใช้กรอบความคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness : GNH) กลายเป็นประเทศต้นแบบที่นานาประเทศต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจเพื่อถอดเป็นองค์ความรู้ใหม่สำหรับนำไปปรับใช้ และนำพาประชาชนในชาติไปสู่เป้าหมายแห่งความสุข
ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2549 ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการอิมแพค เมืองทองธานี นพ.จิกมี ซิงเย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ได้ปาฐกถาเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ : ประสบการณ์จากภูฏาน ว่า ภูฏานพยายามสร้างสมดุลระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีกับความทันสมัย, วัตถุนิยมกับจิตวิญญาณ, ความมั่งคั่งทางทรัพย์สินกับคุณภาพชีวิต
นพ.จิกมี ซิงเย กล่าวว่า นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์แห่งภูฏาน จิกมี ซิงเย วังชุก ตรัสว่า "ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ" (Gross National Happiness is more important than Gross National Product) รัฐบาลภูฏานได้พยายามทำให้ความสุขของประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนา แทนที่จะมองว่าความสุขเป็นเพียงผลพลอยได้จากการพัฒนา
"ช่วงแรกที่พ้นออกจากสภาพความยากจน ระดับรายได้และความสุขสำราญต่างเพิ่มขึ้นไปด้วยกัน เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการทางวัตถุและความมั่นคงซึ่งไม่เคยได้รับมาก่อน แต่เมื่อถึงระดับหนึ่ง ความสุขก็มิจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ สังคมที่ถูกชี้นำด้วยการตลาดได้บ่มเพาะวัฒนธรรมความละโมบ มุ่งสู่กำไรสูงสุดด้วยการบริโภค ผลทางสังคมที่ตามมาคือ ผู้คนใช้ชีวิตด้วยความอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน ต่อสู้เพื่อเอาเปรียบผู้อื่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การเพิ่มขึ้นของผู้มีอาการซึมเศร้า จิตวิญญาณที่ย่อหย่อน ความเสื่อมโทรมทางสังคมได้บั่นทอนพลังที่จะมุ่งไปสู่ความสุขที่ยั่งยืน" นพ.จิกมีซิงเยกล่าว และว่า ภูฏานใช้แนวคิดเชิงพุทธในการพัฒนาประเทศ มองล่วงหน้าว่าจะเกิดปัญหาอะไร และหาทางป้องกันที่สาเหตุ โดยป้องกันการเสื่อมสลายของวัฒนธรรม ป้องกันการกระจายสินค้าและบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน และป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่การจะไปให้ถึงการพัฒนาในแบบของภูฏานนั้น จะต้องส่งเสริมพื้นฐานจริยธรรมให้กับคนในชาติด้วย
สำหรับประเทศไทยก็มีการพูดถึงการจัดทำ "ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ" มาเนิ่นนาน หลายภาคส่วนของสังคมได้พยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่จีเอ็นเอชอาจจะเกิดขึ้นได้ยากในบ้านเรา...ตราบใดที่ยังมีปัจเจกชนที่คิดแต่จะแข่งขันกันร่ำรวยและยิ่งใหญ่!!! http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lif10091249&day=2006/12/09