22 พฤศจิกายน 2549 08:09 น.
คมช.ออกสมุดปกขาวชี้แจงข้อเท็จจริงเหตุต้องยึดอำนาจรัฐบาล"ทักษิณ"
ระบุมีผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อประโยชน์พรรคพวกเครือญาติ ผู้นำขาดจริยธรรมการเมือง โกงภาษีขายสัมปทานดาวเทียม แทรกแซงองค์กรอิสระ บ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ ผู้สื่อข่าวรายงาน จากสำนักงานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ภายในกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งได้ออกเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าปฏิรูปการปกครองในประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 (สมุดปกขาว) ที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชนได้รับข้อเท็จจริงต่างๆ ในการทำปฏิวัติรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) จำนวน 35 หน้า มีสาระสำคัญสรุปถึงเหตุการณ์สำคัญที่เป็นชนวนอันนำไปสู่การปฏิรูปว่า
โดยตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่พึ่งถูกยึดอำนาจไปถูกเพ่งเล็งจากสังคมอย่างหนัก และถูกกล่าวหาด้วยความเคลือบแคลงสงสัยว่า พยามยามผูกขาดอำนาจ ทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุลโดยการแทรกแซงครอบงำองค์กรอิสระตาม รธน. และการแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่งสำคับในองค์กรอิสระ ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนคุกคามและแทรกแซงสื่อมวลชน
รวมทั้งมีการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริต-ฉ้อราชบังหลวง และมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างกว้างขวาง เป็นที่ค้างคาใจประชาชนในกรณีที่สำคัญดังนี้
1.การทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ การแปรค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต การแปลงธุรกิจดาวเทียมให้เป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ และกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ท ลิงค์ การพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่โปร่งใส และ กรณีการครอบงำกิจการโทรทัศน์เสรี
2.การใช้อำนาจในทางมิชอบ อาทิ การแต่งตั้งเครือญาติ คนใกล้ชิดดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูง การใช้วิธีการงบประมาณที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อผลประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยมต่อรัฐบาล การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง (กรณีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย) การใช้อำนาจทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ กรมสรรพากรในการตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ที่ไม่เห็นด้วยรัฐบาล
3.การละเมิดจริยธรรม คุณธรรมของผู้นำประเทศ อาทิ การขายสัมปทานดาวเทียม และ สถานีโทรทัศน์ให้กับต่างชาติ การซื้อขายหุ้นของบุคคลในครอบครัวโดยไม่เสียภาษี
4.การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ อาทิ การครอบงำวุฒิสภาที่มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ และการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายบริหาร การแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
5.ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ อาทิ กรณีค่าตัดตอน หรือ การทำวิสามัญฆาตกรรมในคดียาเสพติด โดยมีผู้ถูกสังหารเป็นอันมาก การบริหารจัดการในเชิงนโยบายที่ผิดพลาด และไม่ชอบธรรมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะใช้เวลายาวนาน แต่ก็ไม่ทุเลาเบาบางลง
6.การบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ และการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง อาทิ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของกลุ่มที่จะตรวจสอบรัฐบาล หรือ ตัวนายกรัฐมนตรี และเปิดเฉพาะข้อมูลที่คัดสรรแล้ว ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับทราบความจริงทั้งหมด การจัดตั้งกลุ่มคนสนับสนุนเพื่อตอบโต้และมุ่งหวังให้เกิดการเผชิญหน้าที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลโดยสันติ
นอกจากนี้ มีความพยายามในการหาทางออกเพื่อให้มีการแก้ไขในระบบ อาทิเช่น
การชุมนุมประท้วงโดยสันติวิธีและปราศจากอาวุธ การให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออก โดยบุคคลหลายฝ่ายที่ได้รับการยอมรับจากสังคม บทบาทของศาลในการผ่าทางตันทางการเมือง (ตุลาการภิวัฒน์) เนื่องจากการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ผล (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2549 ที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2549 ที่ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความผิดเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบในการจัดการเลือกตั้ง วันที่ 2 เม.ย.2549 และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชแก่คณะผู้พิพากษา ศาลปกครองสูงสุด และ คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาบางส่วน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2549 ผู้สื่อข่าวรายงาน สมุดปกขาวดังกล่าว ยังได้กล่าวถึงสภาพทางการเมืองก่อนวันที่ 19 ก.ย.2549 ด้วยว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเปรียบเสมือนภาพสะท้อนของการบรรลุถึง "รูปแบบ" ของการปกครองแบบประชาธิปไตยเมื่อประชาชนได้รับโอกาสในการเลือกตั้ง การได้รับเสียงสนับสนุนการเลือกตั้งจำนวนมากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในรอบที่ 2 เมื่อมองอย่างผิวเผินดูเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นความพึ่งพอใจของประชาชนต่อความสำเร็จในการบริหารประเทศในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม
ในช่วงหลังการบริหารประเทศในรอบแรกมาจนถึงห้วงเดือน ก.ย.2549 เริ่มมีเสียงจากประชาชนที่แสดงถึงความสงสัยและไม่พอใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเล่นพรรค เล่นพวก และแสวงประโยชน์ ให้กับพวกพ้องและบริวารอย่างที่ไม่มีสิ้นสุด การแต่งตั้งเพื่อนและเครือญาติให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในระบบราชการในขณะที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถูกทำให้อ่อนแอเกินกว่าจะป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางได้ จะเห็นได้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ องค์กรหลักอีกหลายองค์กร ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ไม่มีพื้นที่เหลือให้สำหรับกลไกการตรวจสอบโดยรัฐสภาอย่างมีประสิทธิภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผลการสำรวจประชามติของสำนักต่าง ๆ แสดงถึงการเสื่อมความนิยมในรัฐบาลมาเป็นลำดับ
จากการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ และสื่อมวลชน ความไม่พอใจที่สะสมเพิ่มพูนจนกลายเป็นการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยทั้งใน กทม. และ ต่างจังหวัด จนนำไปสู่การยุบสภา เมื่อเดือน ก.พ.2549 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขจุดอ่อน เพื่อทำให้กลไกการค้านอำนาจ และการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไม่เข้มแข็งเพียงพอ
นอกจากนี้การดำเนินนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลมีความผิดพลาดอันเกิดจาก
ความไม่เข้าใจปัญหา และการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของสังคม ทั้งมีเจตนาใช้อำนาจรัฐ จัดการกับปัญหาที่ปลายเหตุด้วยวิธีการที่รุนแรง และจนถูกกล่าวหาว่า ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และหลักนิติธรรม โดยเฉพาะกรณีการแก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ กรณีการปราบปรามยาเสพติดที่ส่งผลให้ความรุนแรงขยายตัว และเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายต่อหลายครั้ง จนเป็นที่เสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ
ประเด็นสำคัญอันเป็นที่คลางแคลงใจอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติที่เป็นรูปธรรมคือ การกล่าวหาว่าผู้นำประเทศได้อาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และใช้อำนาจทางการบริหารแสวงประโยชน์ทุกด้านให้ตนเอง และญาติมิตร ทั้งที่ผู้นำประเทศน่าจะเป็นเสาหลักในการบริหารแบบมีธรรมาภิบาล และแก้ไขช่องว่างทางกฎหมายที่เอื้อต่อการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้ศรัทธาของประชาชนต่อผู้บริหารประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ---------------
*ดูฉบับเต็มในรายงานพิเศษ "สมุดปกขาว คมช. เหตุยึดอำนาจทักษิณ"
http://www.bangkokbiznews.com/level3/news_130538.jsp