การจะแก้ปัญหาใด ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผมว่า
เราต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นอย่างหลากหลาย "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" แล้วทุกอย่างก็จะสำเร็จลุล่วงลงได้ด้วยดี
กรณี
ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เราต้องฟังความอย่างรอบด้านและต้องยอมรับความจริงให้ได้ด้วยว่า "
ผู้ก่อความไม่สงบเป็นเพียงคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย" เราไม่ควรที่จะไปตีขลุม
"เหมารวม" ว่าคนใน 3 จังหวัด โดยเฉพาะ
"ชาวไทยมุสลิม" เป็นตัวปัญหาทั้งหมด การที่จะวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ จึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง
เพราะถ้า
วิพากษ์วิจารณ์โดยขาดเหตุผล หรือใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเป็นเครื่องชี้นำ แทนที่จะเป็นการร่วมกันแก้ปัญหา กลับจะกลายเป็นการ
"สร้างแนวร่วมให้กับผู้ก่อการ" ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาไม่มีที่สิ้นสุดและขยายตัวบานปลายออกไปเรื่อย ๆ
อนึ่ง
"การข่าว" ที่มุ่งเสาะแสวงหา
"ผู้กระทำ"เพียงอย่างเดียว และการใช้
"กำลังเข้ากดดัน" โดย
ไม่สร้างกระแสการมีส่วนร่วมในสังคม ไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องลองอ่านบทความชิ้นนี้ดูนะครับ ผมเก็บมาฝากจาก
http://www.muslimcampus.com/article_read.php?cat=Islamic&column=article&id=1032วินาศกรรมมิใช่แนวทางนักรบแห่งศาสนาโดย : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน สุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน
ถึงแม้เหตุการณ์ระเบิดที่สังหารผู้บริสุทธิที่หาดใหญ่เมื่อเร็วๆนี้จะยังไม่ทราบตัวผู้ก่อเหตุ แต่หลายหน่วยงานและหลายคนพุ่งเป้าความสงสัยไปยังผู้ก่อการที่ต้องการสถาปนารัฐปัตตานี และมุสลิมเองคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่สงบชายแดนใต้ที่เกิดขึ้น หลายเหตุการณ์เกิดจากน้ำมือมุสลิมบางคน บางกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่มุสลิมส่วนใหญ่ที่รักสันติและเข้าใจหลักศาสนาอ่านข้อมูลน่าสนใจ - 32 เดือนแห่งความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้:รายงานเหตุการณ์ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึง 31 ส.ค. 2549
- 31 เดือนก่อการร้าย 5 อำเภอ สงขลา พุ่งต่อเนื่อง ดังนั้นหลักการศาสนากับบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน
มุสลิมเองควรกลับมามองและกล้าวิจารณ์ศาสนิกตนเองเมื่อทำผิด ถึงแม้ต้นสายปลายเหตุทุกคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอันเนื่องมาจากมุสลิมถูกกระทำก่อนด้วยเช่นกัน
ความอยุติธรรมที่ถูกรังแกก่อนและถูกสั่งสมในชายแดนใต้เป็นสาเหตุที่เติมเชื้อไฟ ในหลักศาสนาอิสลามเองสนับสนุนให้มุสลิมจงพิจารณาตนเอง แนวคิดสุดโต่งด้านศาสนาในหมู่มุสลิมย่อมมีปัจจัยเกื้อหนุน ชัยคฺศ.ดร.ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ (ชาวอียิปต์) ประธานสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (IAMS) ยอมรับว่า ปัจจัยต่างๆ ของแนวคิดสุดโต่งและชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามาจาก
1.การขาดแนวคิดสายกลาง ที่แพร่หลายในหมู่คนหนุ่มสาว เพื่อที่พวกเขาจะพบวิถีทางที่ถูกต้อง การขาดแนวคิดเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้แนวคิดสุดโต่งแทรกเข้ามา
2.การขาดอุละมาอฺ(นักปราชญ์อิสลามศึกษา) ที่แท้จริง ซึ่งสามารถให้ความเชื่อมั่น(ต่อแนวทางสายกลาง) ด้วยหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ (วจนศาสดา) เปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ซึ่งทำงานเพื่อผู้ที่มีอำนาจ ดังนั้น คนหนุ่มสาวจึงสูญเสียความเชื่อมั่นไป และได้ตั้งตัวพวกเขากันเองให้เป็นชัคยฺ (คือเป็นโต๊ะครูหรือนักปราชญ์อิสลามศึกษา) ในการฟัตวา (วินิจฉัยหลักศาสนา) ประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน
3.การแพร่กระจายของความชั่วร้ายและเพิ่มขึ้นของการกดขี่ในสังคม เป็นเหตุผลที่สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรง
ดังนั้นในชุมชนมุสลิมจะต้องให้ความเข้าใจในหลักการศาสนาที่ถูกต้องแก่คนรุ่นคนหนุ่มสาว และคนที่ต้องแบกภาระดังกล่าวคืออุลามาอฺหรือปราชญ์ด้านศาสนา เพราะผู้นำศาสนาคือผู้รับมรดกจากศาสดา
ถึงแม้เหตุการณ์ 11 กันยายนที่สหรัฐ อเมริกาถึงเหตุการณ์ประท้วงการ์ตูนล้อเลียนศาสดาและการการประท้วงโป๊ปอย่างสุดโต่งของมุสลิมบางกลุ่มซึ่ง ผู้เขียนมีทัศนะว่าโลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า "สงครามวัฒนธรรม" (Culture Wars) หรือ"ความขัดแย้งระหว่างระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilizations) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ 2 แบบที่กำลังต่อสู้กันอยู่
ความขัดแย้งระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างทั้งสองนี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมโลกทั้งมวล รวมทั้งประเทศไทยโดยเฉพาะชายแดนใต้ "การปะทะระหว่างอารยธรรม" ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนาและเชื้อชาติ
คำว่ามุสลิมสุดโต่งกับการยึดมั่นในหลักการอิสลาม(Islamic Fundamentalism ) "อิสลามานุวัตร" (Islamization) จึงเป็นสิ่งที่มุสลิมหรือชนต่างศาสนิกต้องทำความเข้าใจ
คำว่า
"ฟันดะเมนทะลิสม์" (Fundamentalism) โดยภาษาแล้วหมายถึง การยึดติดอยู่กับหลักการสำคัญหรือยึดติดอยู่กับคำสอนพื้นฐาน
"ฟันดะเมนทะลิสม์" มีสองความหมายด้วยกัน ความหมายหนึ่งของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์"ก็คือการยึดมั่นในหลักการที่ในภาษาอาหรับเรียกว่า"อิตติบะอ์"หรือการยึดมั่นทั้งในลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ ยุคปัจจุบันเป็นยุคของเสรีภาพทางศาสนา ถ้าใครบางคนกล่าวว่าเขายึดถือศาสนาของเขาตามตัวอักษรก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปคัดค้านเพราะเขาผู้นั้นปฏิบัติตามเสรีภาพทางศาสนาของเขา
ในขณะความหมายที่สองของ "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" ถูกแปลในความหมายว่าหมายถึงการใช้กำลังบังคับคนอื่นให้นับถือศาสนาของตนเอง ดังนั้นผู้เขียนมีทรรศนะว่า"อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์ในความหมายที่สอง"จะขัดกับเจตนารมณ์และเหตุผลของอิสลามทันที
แนวความคิดที่สองของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" นี้เองได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ยุคปัจจุบันเรียกกันว่า "ลัทธิสุดโต่ง" (Extremism) หรือลัทธิก่อการร้ายอิสลาม
ทั้งๆที่ความจริงแล้วคำว่า "ลัทธิสุดโต่ง" หรือ"ลัทธิก่อการร้าย" นั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวของมันเองความเป็นจริงหลักคำสอนของอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติ
มันไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนที่จะถือว่าอิสลามเป็นที่มาของคำว่าลัทธิก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่ง ศาสดาแห่งอิสลามได้กล่าวว่า"ศาสนาที่ถูกประทานแก่ฉันเป็นศาสนาแห่งความกรุณาปรานีและใจกว้าง"
ในภาษาอาหรับทั้งคำ "อิสลาม" และ"สลาม" ต่างแปลว่า"สันติภาพ"
อิสลามเป็นศาสนาที่รักความสันติ โดยไม่เปิดช่องให้ใช้ความรุนแรง ความบ้าระห่ำการก่อการร้าย หรือการโจมตีบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
คำสั่งสอนและหลักการของอิสลามมุ่งที่จะพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งหมายรวมถึงสิทธิในชีวิต ครอบครัว ความเชื่อ ความคิด และทรัพย์สิน
หลักการศรัทธาในอิสลามห้ามไม่ให้ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งการทำร้ายผู้อื่นนั้นเปรียบเสมือนการทำร้ายมนุษยชาติ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮฺมาอีดะฮฺ โองการที่ 34 ความว่า
"แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่ทดแทนอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล"
ศาสนาอิสลามได้เรียกร้องให้ทุกๆ ประชาชาติและเชื้อชาติอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี และปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ด้วยความยุติธรรม
ดังมีหลักฐานปรากฏใน ซูเราะฮฺที่ 60 โองการอัลกุรอานที่ 8 ความว่า
"พระองค์อัลลอฮฺ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม"
ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า ในคำภีร์กุรอาน ส่งเสริมให้ผู้ถูกกดขี่ ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเอง และสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด
การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาดในภาษาภาษาอาหรับ" (การก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม มีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเอง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุนเพราะอัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า :
"เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่า จงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน พวกเขากล่าวว่า เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆต่างหาก แท้จริง พวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่" (กุรอาน 2:11-12) อิสลามได้ให้แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่มุสลิมเพื่อหาความสงบทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมและอิสลามใช้ให้มุสลิมมีมิตรไมตรีต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
มีโองการอัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก
ไม่นานมานี้ ที่ประชุมภายใต้วัตถุประสงค์พิเศษของผู้นำชาติมุสลิมที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย ตามคำร้องขอของ กษัตริย์อับดุลเลาะห์ บิน อับดุล อาซิส แห่งซาอุดิอารเบีย เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม 2548 ได้ประกาศ "ปฏิญญาเมกกะฮ์" ยอมรับว่ามีมุสลิมหลายคนและหลายกลุ่มมีแนวคิดสุดโต่ง
เป้าหมายของการประชุมเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย
ทั้งนี้ผู้นำของ 57 ชาติสมาชิกองค์การที่ประชุมอิสลาม (โอไอซี) ได้เน้นแนวทางสันติของอิสลาม เพื่อแก้ปัญหาวิธีคิดแบบสุดขั้วของกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งพยายามตอบคำถามกรณีที่มีผู้พยายามนำศาสนาอิสลามไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย
ที่ประชุมเน้นเป็นพิเศษถึงเรื่องการ "ฟัตวา" (Fatwas) หรือการชี้ขาดปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ว่า ต้องดำเนินการโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับเท่านั้น โดย "ซาอุด อัล-ไฟซาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซาอุดิอารเบีย เสนอให้จัดตั้ง "สถาบันนิติศาสตร์อิสลาม" ของโอไอซี "ให้เป็นองค์กรอ้างอิงสูงสุด เพื่อกำหนดวิธีการที่จะระงับการตีความ และการชี้ขาดที่แตกต่างกัน จนขยายกลายเป็นความขัดแย้ง" ใน "ปฏิญญาเมกกะฮ์ดังกล่าว" ได้เรียกร้องให้ชาติมุสลิม"ต่อสู้อย่างแข็งขันกับคำสอนที่บิดเบือนหลักการสันติของอิสลาม" และสร้าง"สามัคคีมหาประชาชาติ" เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายและสนับสนุนข้อเสนอของซาอุดิอารเบีย ให้จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
เหตุการณ์ระเบิดที่หาดใหญ่ไม่สมควรเรียกว่านักรบเพื่อพระเจ้าหรือศาสนา แต่จำเป็นต้องออกมาประณามดังที่ปราชญ์โลกมุสลิมเคยประณามการทำร้ายผู้บริสุทธิของมุสลิมเอง
เช่น
ชัยคฺซัลมาน อัลเอาดะฮฺ ได้ประณามผุ้ระเบิดทำลายผู้บริสุทธอย่าง
"... เรื่องราวได้เกินเลยขอบเขตของความสมเหตุสมเหตุผล โดยที่ไม่ต้องกล่าวถึงกฏหมายของอิสลาม(ชะริอะฮฺ)เลย..."
"...พวกเขาไม่ได้ทำความเสื่อมเสียเฉพาะแก่ตัวพวกเขาเองเท่านั้น แต่จะเกิดแก่มุสลิมทั่วทั้งโลก ผลการกระทำของพวกเขาทำให้เกิดความอับอาย..."
"...ฉันเรียกร้องผู้ที่ทำสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดคือ การพิจารณาถึงเกียรติยศและศักดิศรีของมุสลิม..."
ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ เรียกร้องให้มุสลิมหยุดใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งมันจะทำความหม่นหมองให้กับภาพลักษณ์ของอิสลามและนำอิสลามข้องเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้าย
"ฉันขอเรียกร้องให้พวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ ซบ. และหยุดการกระทำของพวกเขาเถิด ซึ่งมันจะตีตราอย่างอธรรมต่ออิสลามและเป็นการเสียหายแก่ผู้ที่ยึดมั่นอิสลาม" +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
หมายเหตุ; ผมเป็น
"ไทยพุทธ" ครับ แต่เห็นบทความนี้แล้วคิดว่าถ้าเราศึกษาให้ถ่องแท้อาจเป็นแนวทางในการนำไปสู่การแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ได้ จึงเก็บมาฝากให้ศึกษากัน