คอลัมน์ หอกข้างแคร่ : คำถามอันเรียวแคบถึง โคทม อารียา และ สุริชัย หวันแก้ว ในความอึดอัด หอกข้างแคร่ กลับมา พร้อมกับตั้งคำถามถึง คนใน นี่ไม่ใช่การตอบโต้
บทความ ข้ามพ้นจากกับดักคำถามที่เรียวแคบ ที่เผยแพร่กันในหมู่ภาคประชาชนก่อน
หน้านี้ และไม่ใช่ท่วงทำนองเสียดเย้ยตามสไตล์หอกหัก แต่เป็นคำถามด้วยหัวใจซื่อๆ
ตรงๆ ...
0 0 0
โดย นายหอกหักคุณ
นวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ให้สัมภาษณ์กับไอทีวี ก่อนที่จะตัดสินใจผูกคอตาย
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ในทำนองที่ว่า เขาไม่สามารถทนอยู่กับระบอบเผด็จการ
ได้ เขาเห็นว่าคณะรัฐประหารได้ตั้งรัฐบาลอำมาตยาธิปไตยขึ้นมาปกครองประเทศ
คำให้สัมภาษณ์นี้ เกี่ยวพันกับปัญหาใหญ่ๆ ในสังคมไทยสองประการคือ
หนึ่ง ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย
สอง ปัญหาประชาธิปไตย
เมื่อครั้งที่คุณนวมทองตัดสินใจขับรถยนต์ที่พ่นสีข้างรถว่า พลีชีพเพื่อประชาธิปไตย
พุ่งเข้าชนรถถัง จนตนเองได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับแสดงความสงสัย
ว่า คุณนวมทองดื่มสุราจนมึนเมาหรือไม่ ซ้ำร้าย สื่อมวลชนก็ไม่ลังเลที่จะให้หัวข่าวว่า
แท็กซี่เชียร์ทักษิณขับรถชนรถถัง
ท้ายที่สุด รองโฆษก คปค. ปรามาสเขาว่า ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้
ปัญญาชน นักประชาธิปไตย และนักสันติวิธี ที่เราเคยเห็นในโทรทัศน์บ่อยๆ ก็ทำไม่รู้
ไม่ชี้กับเรื่องที่เกิดขึ้น
สังคมไทยทั้งสังคมจึงมองเรื่องนี้ไปในทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องไม่ซีเรียส
เมื่อการแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของคนเล็กๆ หนึ่งคน ถูกบดบังด้วยระดับความรู้
และสถานะทางสังคม เขาจึงเป็นหนึ่งเสียงที่ไม่มีเสียง ช่างแตกต่างกับหลายคนที่แม้แต่
ขยับตัวก็ยังตกเป็นข่าว เช่น หมอประเวศ วะสี ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น
สภาวะแวดล้อมเช่นนี้ จึงผลักคุณนวมทองเข้าสู่มุมอับ
เหตุการณ์นี้มีแง่มุมที่คล้ายกับ
ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผู้ตัดสินใจเผาตัวเองจนถึงแก่ความตายเพื่อประท้วงรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ในปี 2533 โดยก่อนหน้านั้น 15 วัน ธนาวุฒิประกาศว่าจะเผาตัวเอง แต่สื่อมวลชนกลับ
เสนอข่าวไปในทางที่ว่า เขาได้รับผลประโยชน์จากนักการเมือง และบางคนปรามาสเขา
ทางโทรทัศน์ว่า เขาคงไม่กล้าทำเช่นนั้นแน่
ปรากฏการณ์นี้เป็นปัญหาความรุนแรงที่อยู่ในโครงสร้างของสังคมไทย ที่ความเห็นของ
คนๆ หนึ่ง
ไม่มีความสำคัญเท่ากับความเห็นของคนอีกคนหนึ่ง แม้คนทั้งสองจะพูดในสิ่ง
เดียวกันก็ตาม ช่องว่างนี้ได้ขยายตัวมากขึ้นในยุค
หลังทักษิณ (
คนจนถูกทำให้ไม่น่า
เชื่อถือ)
ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คน ทั้งจากคำพูด การกระทำ หรือสถานการณ์
ที่ทำลายความสามารถของมนุษย์ในการแสดงความรู้สึก หรือการสร้างสรรค์ (Adam Curle;
Another Way หน้า 9)
ผลสุดท้ายคือ เกิดโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครจดจำ ชีวิตคนไร้ชื่อเสียงจึงเหมือนความตาย
ของมด หรือแมลง
การเสียชีวิตของคุณนวมทอง ได้ตั้งคำถามที่เรียบง่ายกับสังคมไทยว่า
เหตุใดคนส่วนใหญ่
จึงไม่รู้สึกว่าการยึดอำนาจคือความรุนแรง เป็นการตั้งคำถามต่อมโนสำนึกของคนในสังคม
ที่กำลังชื่นชอบ เห็นด้วย หรือ ร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหาร
ความรุนแรงเช่นนี้
ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย และอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนไม่น้อย
คนส่วนมากจึงมักมองไม่เห็นความรุนแรงในลักษณะนี้ ท้ายที่สุดคนเหล่านี้ก็ยอมรับ
สภาพทางอำนาจของมัน เปรียบได้กับ นายจ้างที่ใช้อำนาจกับลูกจ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จนลูกจ้างเคยชิน และยอมรับสภาพนั้น
หลังวันที่ 19 กันยายน 2549 มี
คำอธิบายมากมายว่า การรัฐประหารครั้งนี้มีลักษณะ
พิเศษเป็นการยึดอำนาจแบบที่ไร้ความรุนแรง เป็นการรัฐประหารเพื่อปฏิรูปการเมือง เพื่อสร้าง
ประชาธิปไตย การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เพราะเป็นสิทธิในการกบฏ (right to
rebel) ต่อผู้ที่ทำลายสัญญาประชาคมอย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ฯลฯ
คำอธิบายต่างๆ เหล่านี้ สร้างภาระให้กับผู้ไร้เสียงที่มีความคิดความเชื่อในประชาธิปไตย
อย่าง
ซื่อตรงว่า รัฐประหารกับประชาธิปไตยต้องอยู่ตรงกันข้ามกัน
ในที่สุด สิ่งแวดล้อมนี้เองจึงกลายมาเป็นความรุนแรงที่กระทำต่อเจตนารมณ์คนเล็กๆ
และอุดมการณ์ประชาธิปไตยของพวกเขามักจะถูกเย้ยหยันอยู่เสมอ
ในมุมมองของผู้เขียน คุณนวมทองได้จัดวางอุดมการณ์ประชาธิปไตยไว้ในลำดับที่สูงสุด
เขาไม่ต้องการต่อรองแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ใดๆ ดังนั้น ประชาธิปไตยคือคุณค่าที่
ไม่มีอะไรบิดเบือนได้
เหตุการณ์นี้นอกจากเป็นการประท้วงต่อคณะรัฐประหารแล้ว
ยังเป็นการประท้วงต่อ
ปัญญาชน และคนในสังคมที่ร่วมกันสังฆกรรมกับอำนาจของคณะรัฐประหาร
เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยและสันติวิธี
นักสันติวิธี และ
นักประชาธิปไตย จะตอบคำถามนี้อย่างไร?
0 0 0
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่บุคคลสองท่าน คือ โคทม อารียา และสุริชัย หวันแก้ว มีคุณสมบัติ
ที่เหมือนกัน สามประการ คือ
หนึ่ง ท่านเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อ
ประชาธิปไตย (ครป.)
สอง สังคมให้เกียรติท่านทั้งสองว่าเป็นนักสันติวิธี (อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความ
สมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) / ประธานโครงการสันติภาพฯ)
สาม เชื่อได้ว่า จากคุณสมบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 ทำให้ท่านได้รับเลือกเป็น
สมาชิก
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หอกหัก จึงขอฝากคำถามอันเรียวแคบผ่านไปยังท่านทั้งสองว่า
ชีวิตหนึ่งที่สูญเสีย
ไปนี้ มีความหมายต่อท่านหรือไม่ (ถ้ามี) ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง ท่านจะปกป้องเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของคุณนวมทอง
อย่างไร?หากท่านสามารถใช้หัวใจตอบคำถามนี้ หอกข้างแคร่ จะเขียนชื่นชมแต่ความดีงาม
ของท่านในครั้งต่อไป
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5671&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai