ทำไมผมคัดค้านรัฐประหารคอลัมน์ มองซ้ายมองขวา โดย อภิชาต สถิตนิรามัยในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมแทบไม่มีสมาธิในการทำงานประจำ ซึ่งก็คือการสอนหนังสือเอาเสียเลย จากการประเมินของผมเองด้วยวิธีการที่ไม่เที่ยงตรงในทางวิทยาศาสตร์นั้น คณะที่ผมทำงานอยู่ก็คงเป็นภาพจำลองของคนเมืองกรุงได้ ผมสรุปว่าสมาชิกส่วนใหญ่ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ อย่างน้อยก็ไม่คัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ภายในคนกลุ่มนี้มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ดีใจ หรืออ้าแขนโอบกอดการรัฐประหารอย่างเต็มใจ ที่แน่ๆ นั้น คนที่เหลืออีกจำนวนหนึ่ง ตกอยู่ในภาวะอิหลัก อิเหลื่อ กล่าวคือ ในด้านหนึ่งนั้น เขาตระหนักเป็นอย่างดีถึงด้านมืดของ "ระบอบทักษิณ" และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง หากระบอบนี้ดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนเหล่านี้ก็สมาทานลัทธิเสรีนิยม-ประชาธิปไตยมาตามสมควร ผมสรุปเอาเองว่า
หากบังคับให้คนกลุ่มนี้ตอบ yes หรือ no ต่อรัฐประหารครั้งนี้แล้ว เขาจะตอบ yes โดยชั่งใจตามวิธีคิด cost-benefit analysis แบบเศรษฐศาสตร์แล้วว่า ต้นทุนในการดำรงอยู่ต่อไปของระบอบทักษิณนั้น สูงกว่าต้นทุนที่เกิดจากการรัฐประหาร หรือพูดอีกแบบได้ว่า คนกลุ่มนี้เห็นว่า ความชั่วร้ายจากการรัฐประหารนั้นมันน้อยกว่าความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ ดังนั้นจึงต้องเลือกปิศาจที่ชั่วน้อยกว่า
ในรอบหลายวันที่ผ่านมา การเรียน การสอนในห้องเรียนของผม จึงกลายเป็นการอภิปรายหาเหตุผล หรือหลักการในการคิดว่า เราในฐานะนักเรียนและอาจารย์ ที่โชคดีได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนั้น จะสามารถถกเถียงหาเหตุผลทั้งด้านบวกและลบต่อการรัฐประหารได้หรือไม่ โดยให้แต่ละคนละวางจุดยืนทางอุดมการณ์-การเมืองไว้ข้างๆ ตัวก่อน จนกระทั่งการอภิปรายสิ้นสุดลงแล้ว จึงค่อยเลือกจุดยืนอีกครั้งหนึ่ง
เราเริ่มคุยกันว่าอะไรคือประโยชน์จากการรัฐประหาร
ส่วนใหญ่เห็นว่า หากไม่มีการรัฐประหาร ต้นทุนที่อาจจะแพงที่สุดก็คือการนองเลือด จากความขัดแย้งกันระหว่างผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านระบอบทักษิณ ดังนั้น ประโยชน์จากการรัฐประหารก็คือการหลีกเลี่ยงการนองเลือด ประโยชน์ประการต่อมาก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ระบอบทักษิณยังคงดำรงอยู่ รวมทั้งการวางเครือข่ายพรรคพวกไว้ในระบบราชการและองค์กรอิสระทั้งหลาย ซึ่งจะยิ่งทำให้ระบอบนี้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้น
ทุกคนเห็นร่วมกันว่า ถ้าให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้การจัดการของ กกต.ชุดใหม่แล้ว ทักษิณก็จะชนะอีกครั้ง การเลือกตั้งจึงมิใช่หนทางที่จะปลดเขาออกจากอำนาจ ดังนั้น หนทางเดียวที่จะป้องกันสังคมไทยจากหายนะของระบอบนี้ก็คือการรัฐประหาร เมื่อผมถามย้ำว่า ทั้งหมดนี้เท่ากับว่า ผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ยอมรับการตัดสินทางการเมืองด้วยเสียงส่วนใหญ่ใช่ไหม มีผู้ตอบว่า โดยทั่วไปแล้วเขายอมรับกฎเสียงส่วนใหญ่ แต่เรากำลังอยู่ในสถานการณ์เฉพาะที่สาหัสมาก จึงต้องขอเว้นวรรคกฎนี้เป็นการชั่วคราว
ประเด็นถัดมาก็คือ ต้นทุนของรัฐประหารคืออะไร เพื่อจะตอบคำถามนี้ เราต้องเริ่มต้นกันด้วยคำถามว่า "รัฐ" คืออะไร สำหรับผม "รัฐ" ในทางเศรษฐศาสตร์คือผู้ผูกขาดการใช้อำนาจบังคับ การที่รัฐสามารถแก้ปัญหาตลาดล้มเหลว (market failure) ในการผลิตสินค้าสาธารณะ (public goods) ได้ ก็เพราะรัฐมีอำนาจบังคับ ทำให้สามารถแก้ปัญหาตีตั๋วฟรี (free rider) ได้ ในทางรัฐศาสตร์ "รัฐ" คืออะไร ในแง่หนึ่ง "รัฐ" คือองค์กรผูกขาดในการใช้ความรุนแรง ดังนั้น "รัฐ" ก็คือองค์กรฆาตกรที่ฆ่าคนได้ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐสามารถจะสั่งประหารได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม ทรรศนะต่อรัฐของผมคือทรรศนะแบบเสรีนิยม ซึ่งมองว่ารัฐไม่ใช่อะไรอื่น ถึงที่สุดแล้ว รัฐก็คือผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น
ถ้าคิดแบบเสรีนิยม เราจะต้องแยกความแตกต่างระหว่างรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutist state) กับรัฐที่มีอำนาจจำกัด (limited state) ซึ่งการจำกัดอำนาจรัฐก็ทำได้ด้วยกฎหมาย เป็นรัฐที่เป็นนิติรัฐ ปกครองโดยกฎหมาย หรือที่เรียกว่า rule of law ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความถึงการทำตามกฎหมายอย่างเดียว เพราะกฎหมายอาจจะแย่ก็ได้ แต่นิติรัฐ ถึงที่สุดแล้วก็คือการปฏิเสธประโยคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสที่ว่า "ข้าคือรัฐ" (I am the state.) เพราะนั่นคือ absolutism
กลไกประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง เสรีภาพของสื่อมวลชน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การประท้วง การเดินขบวน รัฐสภา องค์กรอิสระ ทั้งหมดก็คือกลไกที่จะทำให้นิติรัฐเป็นจริง นิติรัฐในความหมายที่เป็นรัฐที่มีอำนาจจำกัดเป็นจริง
ดังนั้น ต้นทุนที่สูงที่สุดสำหรับการรัฐประหารในทรรศนะของผมก็คือ การทำลายหลักการนิติรัฐ การยกเว้นหลักการให้รัฐมีอำนาจจำกัด สำหรับผม ต้นทุนนี้สูงมาก ต้นทุนของการยกเว้นหรือเว้นวรรคความเป็นนิติรัฐ ถ้าคุณเชื่อตามคณะปฏิรูปฯ ที่บอกว่าจะเว้นวรรค 1 ปี ต้นทุนในการเว้นวรรคนิติรัฐ 1 ปีคืออะไร ก็คือนำเรากลับไปสู่ระบบที่ไม่ใช่นิติรัฐ รัฐไม่ถูกจำกัดอำนาจ ดังนั้น ที่เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและนิติรัฐกันมา ถ้านับตั้งแต่พฤษภาทมิฬ ก็ 15 ปี ถูกโยนทิ้งถังขยะประวัติศาสตร์ คุณจะให้คำอธิบายอย่างไรกับคนที่คุณเรียกกันว่า "วีรชน" ทั้งที่ตายไปกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 6 ตุลา 2519 และ 14 ตุลา 2516 การตายของเขาเหล่านั้นมิใช่เป็นไปเพื่อหลักการของรัฐที่มีอำนาจจำกัดใช่ไหม คุณจะกล้าบอกเขาเหล่านั้นหรือไม่ว่า "ผมเทิดทูนความเสียสละของคุณนะ แต่นี้เป็นสถานการณ์เฉพาะ ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตเว้นวรรคสิ่งที่คุณตายไปเพื่อมันก่อน เพราะถึงที่สุดแล้ว มันก็เป็นเพียงแค่หลักการนามธรรม หรืออย่างมากก็ถูกเขียนออกมาเป็นหนังสือฉบับหนึ่ง ซึ่งเราเรียกมันว่ารัฐธรรมนูญ"
นี่ก็คือต้นทุนที่สูงที่สุดของการรัฐประหารในทรรศนะของผมประเด็นถัดมาคือ เราควรมองระดับความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ที่รูปแบบหรือเนื้อหาสาระ ขนาดไหน อย่างไร เช่น บางคนบอกว่า รัฐบาลทักษิณมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่เนื้อหาสาระเป็นเผด็จการ ขณะที่ แม้รัฐประหารไม่ใช่วิถีทางที่ถูกและชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่แน่ว่า เนื้อหาสาระของการเมืองหลังจากนี้อาจจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเสียด้วยซ้ำ และยังสามารถป้องกันการนองเลือดได้อีกด้วย
เราเริ่มถกเถียงกันว่าคุณทักษิณเป็นเผด็จการมากกว่าคณะรัฐประหารหรือไม่ สำหรับผมแล้ว แน่นอน คุณทักษิณไม่เคารพรัฐธรรมนูญ แทรกแซงองค์กรอิสระ พูดง่ายๆ ก็คือคุณทักษิณงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่การรัฐประหารเป็นการฉีกทั้งฉบับ มันมีความแตกต่างที่สำคัญอยู่ อย่างน้อย ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกละเมิด ก็ยังเป็นเกราะป้องกันให้ผมมีกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านระบอบทักษิณต่อไปได้
อีกอย่าง คุณจะมองการเลือกตั้งเป็นแค่รูปแบบได้หรือเปล่า ผมไม่คิดว่าได้
ผมไม่คิดว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงแค่รูปแบบของประชาธิปไตย สุดท้ายเราต้องยอมรับกฎเสียงข้างมาก (majority rule) ต้องยอมรับ one man, one vote ต่อให้คุณจะดูถูกชนบทอย่างไรก็ตามแต่ ว่าเขาเลือกเพราะระบบอุปถัมภ์ เขาเลือกเพราะถูกซื้อเสียงผ่านนโยบายประชานิยม มันก็เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ต้องฝ่าข้ามไป ทำไมคุณไม่ทำให้เขาเป็นชนชั้นกลางและคิดแบบพวกคุณล่ะ ประเด็นก็คือเขาไม่ได้เป็นชนชั้นกลางแบบพวกคุณใช่ไหม ประเด็นคือเขาตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ทำไมเขาต้องตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ก็เพราะว่าเขาไม่รวยเท่าคุณ ทำให้เขาต้องพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่นไง ถ้าเขารวยเท่าคุณ เขาก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือรัฐใช่ไหม
ในแง่นี้ การรัฐประหารก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่เป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้าง ระหว่างความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบท ตราบใดที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท พฤติกรรมทางการเมืองของคนเมืองและคนชนบทก็ยังแตกต่างกันต่อไป ในเวทีการเลือกตั้ง เสียงชนบทก็จะชนะทุกที เพราะมีคะแนนเสียงมากกว่า ส่วนคนกรุงเทพฯ ก็จะไม่ยอมรับทุกที อย่างนี้รัฐประหารต้องเกิดขึ้นทุกทีใช่ไหม ในแง่นี้การรัฐประหารแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะไม่เกิดเป็นครั้งสุดท้าย ตราบใดที่สิ่งที่เป็น ปัญหาพื้นฐานที่มาจากโครงสร้างของสังคมยังดำรงอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้นรัฐประหารครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ผมไม่ได้บอกว่าความเหลื่อมล้ำก่อให้เกิดรัฐประหาร แต่ความเหลื่อมล้ำเป็นเนื้อนาดินอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้ระบบอุปถัมภ์ที่แฝงตัวอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำเป็นเนื้อนาดินอันอุดมสมบูรณ์ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองต่อไป และจะว่าไป สังคมเมืองก็ร้องหาระบบอุปถัมภ์อีกแบบหนึ่ง คือวิ่งหาผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา หาอัศวินม้าขาวมาแก้ปัญหาทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา โดยไม่คิดจะทำอะไรด้วยตัวเอง
ส่วนเรื่องผลประโยชน์จากการป้องกันการนองเลือดนั้น ถ้าผลักข้อโต้แย้งนี้ให้ถึงที่สุด ต่อให้เกิดการนองเลือดขึ้นจริง ผมคิดว่ามันเป็นชะตากรรมที่สังคมต้องจ่าย สังคมจะต้องเรียนรู้ที่จะทะเลาะกันโดยไม่ตีกัน สังคมจะต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะทะเลาะกันโดยไม่ฆ่ากันได้ไหมที่ผ่านมา เวลาทะเลาะกัน เราต้องพึ่ง "ผู้ใหญ่" ตลอดเวลา เราไม่เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบการทะเลาะกันของเรากันเองเสียที แล้วเมื่อไหร่เราจะโต เมื่อไหร่เราจะเลิกเรียกร้องหาอัศวินม้าขาวมาแก้ปัญหาการทะเลาะกัน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราก็ต้องเว้นวรรคประชาธิปไตยอยู่ร่ำไปใช่ไหม การเว้นวรรคประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ เป็นระยะๆ มันแปลว่าหลักการนิติรัฐ หลักการจำกัดอำนาจรัฐ ก็ไม่กลายเป็นอุดมการณ์ที่ลงหลักปักฐานในสังคมไทยเสียที
สุดท้าย ผมขอกลับไปสู่ประเด็นที่ว่า ผมมองว่ารัฐคือองค์กรที่ผูกขาดการใช้ความรุนแรง และเป็นนักฆ่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมไม่เคยไว้ใจรัฐในทุกรูปแบบ โจทย์จึงอยู่ที่เราจะควบคุมนักฆ่าตัวนี้อย่างไร สำหรับผมแล้ว ประชาธิปไตยเป็นระบบที่เลวน้อยที่สุดในการควบคุมความเป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ของรัฐ
ผมคุยกับนักศึกษาในห้องเรียน แล้วจบลงด้วยการบอกว่าเขาจะเลือกอะไรหรือคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของเขา ขออย่างเดียว ถ้าคุณเลือกสนับสนุนรัฐประหาร คุณก็อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตย คุณอย่าเรียกตัวเองว่าคุณเป็นเสรีนิยมทางการเมือง ผมขอแค่นั้น คุณต้องซื่อสัตย์กับตัวคุณเอง ในแง่นี้ ผมนับถือ คุณสมัคร สุนทรเวช ที่แกมีจุดยืนคงเส้นคงวามาตลอด ในแง่ที่ไม่ได้และไม่เคยเป็นนักประชาธิปไตย
ผมไม่แน่ใจด้วยว่า จุดยืนเสรีนิยมแบบผม ที่คัดค้านรัฐประหาร จะดีกว่าจุดยืนของนักศึกษาส่วนใหญ่ในห้องที่รับการรัฐประหารได้ แต่สุดท้ายผมก็เคารพอุดมการณ์ของเขา
จุดยืนทางการเมืองโดยตัวมันเองก็คืออุดมการณ์ ใครจะบอกได้ว่าจุดยืนทางการเมืองแบบไหนดีกว่าอีกแบบหนึ่งได้ด้วยมาตรฐานที่เป็นภาววิสัย http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02edi03021049&day=2006/10/02