รายงานพิเศษ
นงนุช สิงหเดชะ
"ทักษิณ-บุช-แบร์ลุสโคนี" 3 ผู้นำ "ขาลง"?
ในห้วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าผู้นำของ 3 ประเทศ คือ ไทย สหรัฐอเมริกา และอิตาลี หรืออีกนัยหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และ นายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี มี "ทิศทาง" ทางการเมืองไปในลักษณะคล้ายคลึงกัน คืออาจเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลง
เหตุที่นำทั้ง 3 ผู้นำมาเปรียบเทียบกันก็เป็นเพราะว่า ทั้ง 3 คนนี้ถูกเปรียบเทียบหรือกล่าวขานว่ามีความคล้ายคลึงกัน
กล่าวสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณและบุช นั้น ถูกตั้งข้อสังเกตจากสังคมไทยว่ามีความคล้ายคลึงกัน อันเนื่องจากเป็นผู้มีบุคลิกร่วมคือ พูดจาไม่ระวังปาก นิยมใช้ความรุนแรงหรือแนวทางสายเหยี่ยวในการแก้ปัญหา (บุชในกรณีอิรัก และ พ.ต.ท.ทักษิณในกรณีปัญหาภาคใต้) และการมักอ้างความเป็นผู้รักชาติมาชูเป็นประเด็นหาเสียง ใครคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลมักถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ
ส่วนความคล้ายคลึงกันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณและนายแบร์ลุสโคนีนั้น ถูกตั้งข้อสังเกตจากทั้งสังคมไทยด้วยกันเอง และทั้งจากสื่อมวลชนระหว่างประเทศ โดยมีความคล้ายคลึงกัน ในแง่ที่ว่าเป็นมหาเศรษฐีที่กลายมาเป็นผู้นำประเทศ และที่เหมือนกันมากที่สุดก็คือการพยายามครอบงำและเป็นเจ้าของสื่อ
วันที่ 4 เมษายน ผู้นำของไทยประกาศเว้นวรรคทางการเมือง หลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน พลัง "โนโหวต" ท่วมท้นของคนชั้นกลางไม่เอาคุณทักษิณ
การเลือกตั้งของอิตาลีเมื่อ 10-11 เมษายน แบร์ลุสโคนี พ่ายแพ้อย่างเฉียดฉิว 49.7% ต่อ 49.8% ให้กับ นายโรมาโน โพรดิ
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจของวอชิงตันโพสต์-เอบีซี นิวส์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่า คะแนนนิยมของบุชต่ำลงไปอีก อันเป็นการต่ำลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงร้อยละ 38 (คุณทักษิณก่อนเลือกตั้ง 2 เมษายน เพียง 3 วัน มีคะแนนนิยมวูบลงเหลือร้อยละ 34)
เหลืออีกไม่ถึง 7 เดือน จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ผลสำรวจพบว่าคนอเมริกันร้อยละ 55 ตั้งใจจะเลือก ส.ส. จากเดโมแครต มีเพียง 40% ที่ยังคงสนับสนุนรีพับลิกัน ซึ่งนับว่าเดโมแครตได้รับการสนับสนุนห่างจากรีพับลิกันมากที่สุดนับแต่ช่วงทศวรรษ 1980
ผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าเดโมแครต กลายเป็นพรรคที่คนอเมริกันให้ความไว้วางใจมากที่สุดทั้งในแง่เศรษฐกิจ การจัดการปัญหาอิรักและเรื่องสุขภาพ-การรักษาพยาบาล เหนือรีพับลิกัน ด้วยอัตรา 49 ต่อ 42%
คะแนนนิยมของบุชที่ต่ำลง ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะนโยบายที่จะมอบให้ต่างชาติคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามาบริหารท่าเรือ 6 แห่งในสหรัฐ กระทั่งถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะเห็นว่าท่าเรือเป็นกิจการที่เกี่ยวกับ "ความมั่นคง" ของประเทศ ไม่ควรตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ซึ่งคงจะเป็นเช่นเดียวกับความรู้สึกของคนไทยกรณีคุณทักษิณขายกิจการสื่อสาร โดยเฉพาะดาวเทียมและไอทีวี ให้กับต่างชาติอย่างสิงคโปร์
แบร์ลุสโคนี อยู่ในตำแหน่งมา 5 ปี เท่ากับคุณทักษิณ แบร์ลุสโคนีนั้นคล้ายกับผู้นำของไทยในแง่ที่ว่า เป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศก่อนก้าวมาเป็นผู้นำประเทศ มีบริษัทในเครือกว่า 150 บริษัท ครอบคลุมกิจการทุกชนิด ถึงขนาดที่ว่าชาวอิตาลีตื่นขึ้นมาก็ต้องใช้บริการของเขาทั้งหมด
นายกฯ อิตาลี มีทั้งกิจการสื่อในมือทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ ธุรกิจโฆษณา กิจการประกันภัย ทีมฟุตบอลเอซีมิลาน
นอกจากนี้ ยังถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ทั้งการโกงภาษี เลี่ยงภาษี ตกแต่งบัญชี ติดสินบนผู้พิพากษา ติดสินบนทนายความ คอร์รัปชั่น บางคดีถูกตัดสินให้พ้นผิด และหลายคดีก็หมดอายุความเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า
เมื่อเดือนที่แล้วอัยการได้ขอให้ผู้พิพากษาลงโทษอาญานายแบร์ลุสโคนี โดยกล่าวหาว่านายแบร์ลุสโคนีติดสินบนทนายความอังกฤษ เพื่อให้การที่เป็นประโยชน์ต่อแบร์ลุสโคนีในคดีคอร์รัปชั่นที่มีการพิจารณาก่อนหน้านี้
ขณะเมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ
แบร์ลุสโคนี ก็มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย มีการออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจตัวเอง แม้ผู้นำอิตาลีจะโอนกิจการบริหารธุรกิจของตัวเองให้กับบรรดาลูกๆ แต่เขาก็ยังคงเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งก็คงคล้ายกับผู้นำไทยที่โอนหุ้นให้กับลูกและญาติ ทั้งนี้ แม้แบร์ลุสโคนีจะสัญญาว่า เขาจะจัดการปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนให้สิ้นความสงสัยเคลือบแคลงจากสังคม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าแบร์ลุสโคนีได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างที่พูด
การชนะเลือกตั้งของแบร์ลุสโคนี เมื่อปี 2544 เกิดจากความโดดเด่นของบุคลิกส่วนตัว (ซึ่งก็คล้ายกับผู้นำของไทยที่มีจุดเด่นเรื่องบุคลิก) โดยแบร์ลุสโคนีขายความเป็น "ผู้นำที่แข็งแกร่ง" และการกล่าวอ้างถึงการเป็นรัฐบุรุษ เขาถึงกับพูดว่า เขาเป็นคนเดียวในประเทศนี้ที่จะดลบันดาลให้ชาวอิตาลีมีชีวิตที่ดีขึ้น (คงคล้ายกับที่คุณทักษิณบอกว่าจะกำจัดความยากจนให้หมดไปใน 6 ปี)
นอกจากนี้ เขายังเปรียบว่าตัวเองมีความยิ่งใหญ่ดั่งพระเยซูหรือไม่ก็นโปเลียน
ในครั้งก่อนคนอิตาลีเลือกเขา ด้วยพื้นฐานความเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า ในเมื่อแบร์ลุสโคนีประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจจนเป็นมหาเศรษฐี ก็น่าจะช่วยให้คนอิตาลีร่ำรวยหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น
แต่คำสัญญาของแบร์ลุสโคนี ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตชาวอิตาลีเป็นสีชมพู เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้
กล่าวสำหรับนายโพรดิ ว่าที่นายกฯ อิตาลีคนใหม่ เคยเป็นศาสตราจารย์สอนด้านเศรษฐศาสตร์ สื่อมวลชนเรียกเขาว่า "โพรดิ ผู้มีกึ๋น" เสนอความแตกต่างระหว่างตัวเขากับแบร์ลุสโคนี
โพรดิ เคยให้สัมภาษณ์ว่า "มันไม่มีความเกี่ยวพันอะไรกัน หรือจะมาเทียบเคียงกันได้ ระหว่างการเป็นผู้จัดการ (บริษัท) ที่ดี กับนักการเมืองที่ดี เพราะผู้จัดการที่ดีจะทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่นักการเมืองที่ดีจะทำเพื่อผลประโยชน์ของทุกคน"
ซึ่งคงละม้ายคล้ายกับ นักวิจารณ์ในบ้านเรา ที่วิจารณ์คุณทักษิณมาโดยตลอดว่า จะนำระบบการบริหารบริษัทมาใช้กับการบริหารประเทศไม่ได้
ในแคมเปญหาเสียงของโพรดิ ก่อนกำชัยในครั้งนี้ เขาเน้นไปที่ธรรมาภิบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ และการสัญญาว่าจะนำศีลธรรม-คุณธรรมกลับมาสู่การเมือง อันเป็นการตีไปที่จุดอ่อนของแบร์ลุสโคนี ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนและปัญหาคอร์รัปชั่นมากมายนั่นเอง
แบร์ลุสโคนี เป็นพวกกลาง-ขวา โพรดิเป็นพวกกลาง-ซ้าย ประธานาธิบดีบุชและรีพับลิกันเป็นพวกขวา เหยี่ยวและอนุรักษนิยม คุณทักษิณก็คงไม่ผิดจากบุชในแง่ความคิด และวิธีจัดการปัญหา
โพรดิ นอกจากนำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจแล้วยัง นำเสนอนโยบายด้านความโปร่งใสสะอาดในการใช้จ่ายงบประมาณ การทำให้การเมืองมีศีลธรรม-คุณธรรม ส่วนแบร์ลุสโคนี ให้สัญญาเรื่องอนาคต (ทางเศรษฐกิจ) ที่สดใส ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องธรรมาภิบาล และปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
คนอิตาลี เลือกโพรดิ ให้มาบริหาร
ช่างสอดคล้องกับโพลในประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน ที่พบว่า 84.3% ต้องการผู้นำที่ซื่อสัตย์สุจริต 75.9% ต้องการผู้นำที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน อันดับสาม 75.3% ต้องการผู้นำที่กล้าคิดกล้าทำ
หน้า 16
http://www.matichon.co.th/weekly/