“โสภณ”ยันใครนั่งปธ.วุฒิฯ ต้องขึ้นอยู่กับ"ทักษิณ"
“โสภณ” ระบุ “สมัคร”เต็งจ๋าประธานวุฒิสภาคนใหม่ ย้ำตำแหน่งประธานวุฒิขึ้นอยู่กับ"ทักษิณ"ว่าจะเอาใคร ด้านปชป. เตรียมแฉ“สมัคร”เกี่ยวพันการทุจริตสมัยเป็นผู้ว่าฯกทม. ไม่เหมาะนั่งเก้าอี้ประธานวุฒิฯ
(22เมษายน) นายโสภณ สุภาพงษ์ รักษาการ ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งล่าสุด ที่มีเครือญาตินักการเมืองเข้ามาค่อนข้างมาก ว่า ในอนาคตอันใกล้ จะทำให้การเมืองไทยเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ที่ผู้ตรวจสอบเป็นภาพเดียวกับผู้มีอำนาจ เพราะจากการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดที่แล้ว ยังมีภาพของคนที่ทำงานเพื่อสาธารณะ ไมได้อยู่กับการเมืองเข้ามาถึง 20 % แต่ ส.ว.ชุดใหม่ มีคนอยู่ไม่ถึง 10 % ที่มาจากภาคประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เครื่องมือของผู้มีอำนาจ
นายโสภณ กล่าวด้วยว่า ปัญหาการคอรัปชั่น มาจากอำนาจรัฐบาลลบด้วยการตรวจสอบ ถ้าการตรวจสอบกับอำนาจรัฐเป็นพวกเดียวกัน ก็จะทำให้ปัญหาการคอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นตำแหน่งประธานวุฒิสภา กับองค์กรตรวจสอบรัฐบาล ถือว่ามีความสำคัญในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ส.ว.ชุดที่แล้ว ฐานของกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมือง เริ่มที่ 40 คน เมื่ออยู่ไป 6 ปี ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 120 คน แต่ ส.ว.ชุดใหม่นี้น่ากลัวมาก เพราะฐานของกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมือง เริ่มที่ 120 คน ก็ไม่รู้ว่าอยู่ไปสุดท้ายจะเหลือ ส.ว.ที่เป็นอิสระจริงๆกี่คน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินว่าใครน่าจะได้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ นายโสภณ กล่าวว่า แนวโน้มที่นายสมัคร สุนทรเวช ว่าที่ ส.ว.กทม. น่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมีโอกาสสูงที่สุด แต่สุดท้ายจะเป็นใครนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าจะเอาใครมาเป็นประธานวุฒิสภามากกว่า
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะทำงานตรวจสอบการทุจริตของพรรค กล่าวกรณีพรรคไทยรักไทยออกมาสนับสนุนให้นายสมัคร สุนทรเวช ว่าที่ ส.ว.กทม. เป็นประธานวุฒิสภา ว่า วันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.) จะแถลงข่าวกรณีนายสมัคร ว่าที่ประธานวุฒิสภา ว่าไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างไร นอกจากไม่มีความเหมาะสมแล้ว อาจเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตด้วย นอกจากมีนายสมัครที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังรวมถึงนายโภคิน พลกุล รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ด้วย
ส่วนที่พรรคไทยรักไทยระบุว่านายสมัครมีความเป็นกลางนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นายสมัครเป็นกลางจริง แต่เป็นกลางใจพรรคไทยรักไทยและกลางใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ว. นายสมัครได้ดำเนินรายการวิพากษ์วิจารณ์คนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดยืนนายสมัครจะรักใครชอบใครเชียร์ใครเป็นสิทธิของนายสมัคร แต่การที่นายสมัครอาจจะตกเป็นผู้ที่มีมลทินมัวหมองในกรณีทุจริตนั้น ไม่เกี่ยวกับจุดยืนและบทบาททางการเมือง แต่เป็นความผิดเฉพาะตัว
"ตำแหน่งประธานวุฒิสภาเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ดังนั้น นายสมัครคงรู้ตัวเองดีว่าทำอะไรลงไปในช่วงที่เป็นผู้บริหาร กทม. และควรแสดงสปิริตในการปฏิเสธการรับตำแหน่ง ไม่ว่าใครจะเสนอชื่อหรือมีใครสนับสนุนก็ตาม จนกว่าจะมีการพิสูจน์ข้อกล่าวนั้นได้ปรากฏชัดแจ้งเสียก่อน" นายอลงกรณ์ กล่าว
http://www.komchadluek.net/news/2006/04-22/pol--69831.html