ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
14-01-2025, 16:40
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  รัฐประหารกับประชาธิปไตย มุมมองทางวัฒนธรรมการเมือง 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
รัฐประหารกับประชาธิปไตย มุมมองทางวัฒนธรรมการเมือง  (อ่าน 823 ครั้ง)
taworn09220
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 302


« เมื่อ: 29-09-2006, 21:42 »

รัฐประหารกับประชาธิปไตย มุมมองทางวัฒนธรรมการเมือง
 
โดย ยุค ศรีอาริยะ 29 กันยายน 2549 17:34 น.
 
 
       การเป็นอาจารย์ บางครั้งก็ต้องปวดหัว เพราะต้องตอบคำถามที่ไม่อยากจะตอบ และบางคำถามก็ตอบได้ยาก
       
       วันก่อน มีนักศึกษาถามผมว่า
       
       “อาจารย์เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่”
       
       เล่นเอาอาจารย์“สะอึก” เพราะถ้าตอบ “เห็นด้วย” นักศึกษาคงคิดว่าอาจารย์เป็นพวกเผด็จการ หรือถ้าตอบว่า “ไม่เห็นด้วย” ลูกศิษย์อาจจะถามต่อว่า
       
       “อาจารย์เคยเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัย 14 ตุลา อาจารย์ไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารหรือ”
       
       ผมได้แต่ตอบนักศึกษาคนนั้นว่า
       
       “ผมคงตอบว่าเห็นด้วยแบบสุดจิตสุดใจ หรือไม่เห็นด้วยเลย ก็ไม่ได้”
       
       ตอบไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็รู้สึก “โล่งอก” นี่คงไม่ต่างจากความรู้สึกของคนไทยทั่วไปเนื่องจากรัฐประหารครั้งนี้ดำเนินการได้อย่างนิ่มนวล และไม่ใช้ความรุนแรง ถือได้ว่าเป็นรัฐประหารที่เริ่มได้ดี
       
       รอจนสถานการณ์สุกงอมมาก แล้วจึงดำเนินการ
       
       อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นรัฐประหารของผู้อาวุโส เพราะบรรดาคนที่อยู่เบื้องหลังล้วนแต่เป็นคนที่มีอายุมากแล้วทั้งนั้น ท่านจึงดำเนินการได้อย่างรอบครอบ
       
       อีกความ“โล่งอก”หนึ่ง คือ รัฐประหารครั้งนี้หมายถึงการสิ้นสุดลงของระบอบทักษิณ ที่มีคุณทักษิณเป็นผู้นำ
       
       ผมคิดว่า หลังจากนี้ ขบวนการตุลาการภิวัตน์คงเคลื่อนตัวไปอย่างเต็มรูป ใครถูก ใครผิด ใครโกงกินบ้านเมือง จะถูกลงโทษไปตามกฎหมาย ขบวนการนี้คงส่งผลโดยตรงต่อการสกัดกระแสคอรัปชั่นทางการเมืองที่แพร่ระบาดจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของนักการเมือง ของข้าราชการได้ในระดับหนึ่ง
       
       แต่ในความคิดอีกด้านหนึ่ง ผมก็รู้สึก “หนักใจ”
       
       หนักใจกับอนาคตประชาธิปไตย และบ้านเมืองไทย
       
       แม้ว่า วิกฤติทักษิณกำลังจะก้าวผ่านไปได้ แต่ก็ยังมีวิกฤติอีกหลายลูกที่ต้องเผชิญ แต่ละปัญหานั้นมีความยุ่งยากและซ้อนทับกัน จนยากที่จะแก้ได้ง่ายๆ
       
       มีวิกฤติลูกหนึ่งก่อตัวขึ้นพร้อมๆกับการทำรัฐประหาร เนื่องจากเป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อรัฐประหาร ผมขอเรียกวิกฤติลูกนี้ว่า วิกฤติประชาธิปไตย วิกฤตินี้เริ่มก่อตัวแล้ว ทั้งจากภายนอก และภายในเอง
       
       ทางด้านต่างประเทศนั้น คำว่า “รัฐประหาร” มีความหมายใกล้กับคำว่า “ป่าเถื่อน” เอามากๆ รัฐประหารครั้งนี้จึงถูกแรงเสียดอย่างรุนแรงจากประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศอเมริกา
       
       ส่วนด้านในประเทศเอง “วิกฤติประชาธิปไตย” เริ่มก่อตัวขึ้นแล้วจากอาจารย์จำนวนหนึ่ง และนักกิจกรรม ซึ่งได้ออกมาแสดงบทบาทต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้
       
       ผมจึงกล่าวอย่างสรุปว่า
       
       “การโค่นล้มระบอบการเมืองใดลงไป ที่จริงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่ที่ยากกว่าคือ การสร้างความชอบ และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการพัฒนาประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังการก่อรัฐประหาร”
       
       รัฐประหารครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ จึงอยู่ที่ความสามารถที่จะระดมพลังทางสังคมทุกฝ่าย และการเปิดกว้างให้เกิดความมีส่วนร่วม รวมกันสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนขึ้นมา
       
       ถ้าไม่....หรือทำไม่สำเร็จ ....ผมก็ขอเตือนไว้ล่วงหน้าว่า
       
       การล้มลงของระบอบทักษิณก็ไม่ต่างจากการวิ่งเวียนวนอยู่กับสิ่งเก่าๆ หากเปรียบประเทศไทยคือเรือลำหนึ่ง เรือลำนี้วิ่งวนอยู่ในอ่าง วนไป ก็วนมาจน.......จนเกิดวิบัติรอบใหม่
       
       วันนี้ คงไม่มีใครกล้าบอกว่า รัฐประหารผิด เพราะบรรดาผู้ที่ก่อการล้วนแต่เป็นคนดี ที่รักชาติบ้านเมือง และเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ
       
       แต่วันนี้ ผมไม่แน่ใจ...ความเป็นคนดี ความเป็นห่วงเป็นใย และความจริงใจ...เหล่านี้ อาจจะไม่เพียงพอกับปัญหาและสภาวะบ้านเมืองที่เป็นอยู่
       
       ในอดีตเราเคยเห็นภาพรัฐประหารครั้งหนึ่ง ที่นำโดยท่าน พล.อ. สุจินดา
       
       ผมคิดว่า ท่านก็เป็นคนดี ที่รักชาติไม่ต่างกัน
       
       หลังจากนั้น...ไม่นาน ท่านถูกโค่นล้มลง ในช่วงวิกฤติประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม
       
       ผมไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้น...เกิดขึ้น ซ้ำรอยอีก
       
       ในทางรัฐศาสตร์ คำว่า “รัฐประหาร” กับคำว่า “ประชาธิปไตย” คือ 2 คำ และ 2 ปรากฏการณ์ที่ดูจะตรงข้ามกันอย่างยิ่ง
       
       แต่ไม่ได้หมายความว่า การก่อรัฐประหาร กับการสร้างประชาธิปไตย จะไปด้วยกันไม่ได้เลยทีเดียว
       
       งานชิ้นนี้ ผมพยายามเสนอว่า รัฐประหาร กับการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน อาจจะไปด้วยกันได้ ถ้าผู้นำรัฐประหารเข้าใจ หรือมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาจริงๆ และมีฐานภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมช่วยสร้างฐานประชาธิปไตยกันอย่างเต็มกำลัง
       
       แต่อุปสรรคก็ยังมีหลายประการ อย่างเช่น ผู้นำรัฐประหารมาจากทหาร ทหารซึ่งมีชีวิตวัฒนธรรมอยู่ในระบบพิเศษแบบอำนาจนิยมแบบหนึ่ง ที่ต้องเชื่อฟังคำสั่งเป็นหลัก
       
       ทหารจึงมีชีวิตวัฒนธรรมที่ขาดมิติประชาธิปไตย
       
       อุปสรรคที่ใหญ่กว่าเรื่องความเป็นทหาร คือ เรื่อง“อวิชชา” หรือความเชื่อกันอย่างผิดๆมาตลอดในเรื่องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น
       
       ความเชื่อว่า “ประชาธิปไตย คือ รัฐธรรมนูญ” จะสร้างประชาธิปไตยได้ก็ต้องให้นักกฎหมาย(หน้าเก่าๆ) ไปช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา
       
       ความเชื่อที่สองคือ “ประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง และรัฐสภา” ถ้าจัดให้มีการเลือกตั้ง และมีสภา ก็มีประชาธิปไตยแล้ว
       
       นี่คือ 2 ฐานคิดที่เป็นอวิชชาทั้งคู่ แต่กลับมีอิทธิพลต่อชนชั้นนำไทยสืบทอดต่อกันมา
       
       ถ้าฐานคิดเหล่านี้ไม่ถูกรื้อทิ้ง ประชาธิปไตยไทยจะไม่มีทางได้ผุดได้เกิด
       
       ประมาณสองวันก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ผมถูกเชิญจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ให้พูดเรื่อง “วิกฤติบ้านเมือง และทางออก”
       
       ผมได้เสนอภาพวิกฤติประชาธิปไตย โดยชี้แยกระหว่างระบอบการเมืองที่โดยภาพภายนอกคือ ระบอบประชาธิปไตย เพราะมีการเลือกตั้ง และระบบสภา รวมทั้งได้รัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้ง
       
       ผมชี้ว่า ระบอบที่มีรูปแบบประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยเสมอไป โดยทั่วไปเรามักจะ “หลง”รูปแบบภายนอก ถ้ารูปแบบเป็นอะไร ก็หลงเชื่อกันว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างนั้น
       
       เราต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องรูปแบบเท่านั้น
       
       จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ เราต้องเข้าใจเรื่อง “วัฒนธรรมการเมือง” ซึ่งเป็นหัวใจ และพื้นฐานของระบอบการเมือง
       
       คำว่า “วัฒนธรรมการเมือง” นี้คือ แบบแผนในการปฏิบัติทางการเมืองที่เป็นจริง รวมทั้งค่านิยม ความเชื่อ ความคิด และจิตวิญญาณของชนชั้นนำ และประชาชน ที่มีชีวิตอยู่ในระบอบการเมืองนั้นๆ
       
       ผมขอสรุปอย่างสั้นๆ
       
       ระบอบการเมืองไทยที่ผ่านมาดำรงอยู่ด้วย วัฒนธรรมการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง 2 แบบ
       
       แบบแรกคือ วัฒนธรรมอำนาจนิยม วัฒนธรรมนี้มีความเป็นมายาวนาน และสืบทอดแนวคิดมาจากยุครัฐโบราณ มีรากมาจากความเชื่อเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ และการจัดการปัญหาโดยการใช้ความรุนแรง
       
       แบบที่สองคือ วัฒนธรรมโกงกิน และความเจ้าเล่ห์(หลอกลวง)แบบศรีธนญชัย วัฒนธรรมนี้แพร่ระบาดในหมู่นักการเมือง และข้าราชการ โดยมีความเชื่อว่า การเข้ามามีอำนาจคือที่มาแห่งความร่ำรวย
       
       วัฒนธรรมทั้งสองแบบดำรงอยู่ร่วมกัน เสริมซึ่งกันและกัน และก่อเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นที่มาของการก่อกำเนิด “กลุ่มชนชั้นนำ” ที่คนสมัยโบราณเรียกว่า “พวกขันที” หรือ “ทรราช”
       
       จนกลายเป็นความเชื่อว่า ยุคใดที่ทรราชครอบบ้านครองเมือง บ้านเมืองจะพบกับความวิบัติ หรือกลียุค
       
       ในช่วงโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมทั้ง 2 แบบนี้ถูกกระตุ้นเสริมอย่างแรงด้วยความเชื่อ และวัฒนธรรมความกระหายอยากในความมั่งคั่งที่ไร้ขอบเขตจำกัด หรือที่พูดกันว่า “ความรวยคือ ความถูกต้อง และความดีงาม”
       
       นักการเมืองในยุคทักษิณจึงวิ่งหาความรวยกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ใครกอบได้ โกงได้ เท่าไร ก็ทำกันแบบสุดๆ
       
       ถ้าถามผมว่า
       
       อะไรคือ จิตวิญญาณของระบอบทักษิณ
       
       ผมก็จะนำเอา 3 แบบวัฒนธรรมข้างต้น มาเชื่อมกับความหลงอำนาจของคุณทักษิณ
       
       เมื่อเราเอาทั้ง 4 เรื่องมาผสมกัน เราก็จะเข้าใจชัดว่า อะไรคือ ระบอบทักษิณ ในแง่จิตวิญญาณ และวัฒนธรรม
       
       วันนี้ คุณทักษิณสิ้นอำนาจไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ระบอบวัฒนธรรมทักษิณจะสิ้นสุดลง วัฒนธรรมแบบทักษิณยังคงอยู่คู่ฟ้าแผ่นดินไทย และพร้อมจะฟื้นกลับ แล้วพัฒนาขยายตัวขึ้นเมื่อไรก็ได้
       
       ผมขอเตือนสักนิดว่า
       
       “แม้แต่บรรดาผู้นำรัฐประหารที่ต้องการสร้างชาติให้เป็นประชาธิปไตยในวันนี้ ก็อาจจะหลงติด หลงบริโภควัฒนธรรมชุดนี้อยู่ก็ได้”
       
       ที่กล่าวว่า เป็นวัฒนธรรมสำคัญอย่างยิ่ง ก็เพราะวัฒนธรรมสามารถพัฒนากลายเป็นความเป็นธรรมดา และเป็นความเชื่อที่ถูกผลิตซ้ำ และซ้ำอีก โดยไม่มีใครเห็นด้านลบ เพราะคนไทยทั่วไปจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่า “เป็นเรื่องธรรมดา”
       
       อย่างเช่น ผู้คนมักจะพูดกันว่า
       
       “เขาโกงกันทั้งนั้น ไม่มีใครหรอก ไม่โกง ไม่กิน”
       
       หรือไม่ก็กล่าวว่า
       
       “ผมผิดอะไร ผมก็ทำอย่างที่คนอื่นๆ เขาทำกัน พวกเขาทำกันมากกว่าที่ผมทำอีก”
       
       บางคนพูดถึงคุณทักษิณว่า
       
       “จะโกงจะกินก็ไม่เห็นเป็นไร ขอให้เก่ง ก็แล้วกัน ดีกว่าพวกที่ไม่โกงไม่กิน พวกนี้ทำอะไรก็ไม่เป็น”
       
       น่าประหลาด “คนโกง” กับ“คนฉลาด” มักจะเป็นคนคนเดียวกัน ในขณะที่ “คนโง่” กับ“คนดี” ก็มักไปด้วยกัน
       
       วัฒนธรรมการเมืองนี้แพร่ระบาดไปทั่ว ไม่เพียงแต่ภายใต้ระบอบการเมือง หรือการปกครองเท่านั้น แม้แต่ในระบอบการศึกษา วัฒนธรรมเหล่านี้ก็แพร่ระบาดเข้าไปถึง
       
       ผมเคยกล่าวกับลูกศิษย์ว่า
       
       “พวกเธอก็บริโภควัฒนธรรมอำนาจนิยมอย่างเต็มเปา”
       
       เห็นไหมว่า ตั้งแต่เราเป็นเด็กๆ เราถูกสอนให้ว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังผู้นำ “เจ้าว่าดี ว่าดีไปตามเจ้า” ลูกศิษย์ต้องเชื่อฟังอาจารย์
       
       พอโตเป็นวัวเป็นควายแล้ว เราก็ยังทำตัวเป็นศิษย์ที่ดี ทุกอย่างต้องฟังอาจารย์หมด ไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถาม และนั่งเงียบกันทั้งห้อง
       
       วัฒนธรรมแบบนี้จะให้ความสำคัญต่อผู้นำสูงสุดอย่างมากๆ
       
       ทุกอย่างต้องโยนให้ท่านผู้นำตัดสินใจ ถ้าท่านไม่กล้าตัดสินใจ ก็ไม่มีใครกล้าทำอะไร
       
       ผู้นำสูงสุดจึงกลายเป็นผู้แบกโลกนี้ไว้ทั้งใบ น่าสงสารท่านผู้นำเอามากๆ
       
       จะเป็นนายกฯประเทศไทย ก็ต้องโคตรๆ เหนื่อย
       
       ไม่เชื่อก็ลองไปถามคุณทักษิณดู เพราะ “ทุกอย่าง” ต้องขึ้นกับผู้นำ
       
       ถ้าเราได้ผู้นำที่ดี ก็ดีไป ถ้าผู้นำเลว ก็เละกันทั้งประเทศ
       
       ที่ร้ายเข้าไปอีก วัฒนธรรมแบบนี้ยังได้ไปเชื่อมต่อกับวัฒนธรรมแบบการใช้กำลัง หรือการใช้อำนาจเด็ดขาด เข้าไปแก้ปัญหา
       
       ตัวอย่างเช่นเรื่อง ปัญหายาเสพติด ที่รัฐ(รูปแบบประชาธิปไตย)อนุญาตให้มีการฆ่ากันเพื่อจะยุติกระแสการแพร่ระบาดของยาเสพติด
       
       ผู้คนต้องตายไปกว่า 2,000 คน
       
       การฆ่ากันแบบนี้ สะท้อนความจริงว่า ประชาธิปไตยของไทยแบบทักษิณ มีเนื้อหาที่เป็นเผด็จการแบบสุดๆ เพราะการกระทำดังกล่าว ท้าทายการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญที่ยืนยันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้เหนือสิ่งอื่นใด
       
       ในขณะที่ผู้นำไทยจัดงานฉลองใหญ่กลางท้องสนามหลวง ฉลองการฆ่า และการตายของประชาชน 2,000 คน องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกร่วมกันประณามการกระทำดังกล่าวอย่างรุนแรง
       
       มีลูกศิษย์ถามผมว่า
       
       “ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ จะแก้ปัญหาได้หรือ”
       
       ผมตอบว่า
       
       “ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมาก ที่น่าสนใจศึกษาคือการแก้ปัญหายาเสพติดแบบยุโรป ซึ่งใช้วิธีทำให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย วิธีนี้ทำให้ราคายาตกต่ำอย่างมากๆ จนทำให้การค้ายาสิ้นสุด”
       
       นี่คือ วิธีที่นุ่มนวลที่สุด และได้ผลที่สุด
       
       เหตุที่ชนชั้นนำไม่เลือกวิธีนี้ อาจจะมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่แพร่ระบาดอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจ
       
       อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่องวิกฤติภาคใต้ แม้จะมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งก็มาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม
       
       เริ่มด้วยการถามว่า มีไอ้โจรกระจอกอยู่เท่าไหร่ คำตอบคือ มี 50 ถึง 60 คน วิธีการจัดการก็คือ คำสั่งให้อุ้ม ฆ่าทั้งหมด อุ้มฆ่าไปกว่า 100 ศพ มั่วไปหมดทั้งผู้ที่ต้องสงสัย และอื่นๆ
       
       ผิดบ้าง ถูกบ้าง
       
       นี่ถือว่า ท้าทายรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง แต่ชนชั้นนำไทยในระบอบทักษิณทำได้ และผู้นำไทยจำนวนมากก็คิดว่านี่คือความถูกต้อง เพราะการใช้ความรุนแรงคือวิถีการจัดการกับไอ้พวกกบฏได้อย่างถูกใจ และสะใจเป็นที่สุด
       
       ถึงวันนี้ คนไทยด้วยกันเอง ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามเข่นฆ่ากันเอง
       
       ปัจจุบัน ชนชั้นนำจำนวนหนึ่งเริ่มตระหนักว่า วัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบนี้ผิด และใช้ไม่ได้ แต่กว่าจะรู้ ก็สายไปแล้ว
       
       อีกแบบหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยม คือ ความเชื่อเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ และความเจริญไว้ที่ศูนย์กลาง ประเทศไทยจึงกลายเป็นเพียง “กรุงเทพ” เท่านั้น
       
       ระบอบทักษิณได้ทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสร้างกรุงเทพ และสุวรรณภูมิ ให้เป็น “อภิมหานคร” แบบนครนิวยอร์ค ของสหรัฐอเมริกา
       
       เราไม่เคยเรียนรู้ด้านกลับของความเป็นอภิมหานครแบบนครนิวยอร์คเลย สวรรค์ที่กลายเป็นนรกของบรรดาผู้คนที่อยู่อาศัย แค่ปัญหารถติดอย่างเดียวก็ไม่มีทางแก้ได้แล้ว ไม่ต้องพูดถึงปัญหามลภาวะ ปัญหาขยะ น้ำเสียและอื่นๆ ที่สะสมและเพิ่มขึ้นทุกวัน
       
       เราไม่เคยคิดว่า ความเชื่อแบบนี้ คือฐานคิดแบบเผด็จอำนาจที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการของประเทศชาติ เพราะในเวลาเดียวกัน เป็นการสกัดกั้น โอกาสการพัฒนาของชนบทโดยทางอ้อม
       
       ผมเดินทางไปเที่ยวยุโรป และสหรัฐอเมริกาทีไร เห็นภาพความเจริญแบบกระจายตัว และระบอบการเมืองแบบกระจายอำนาจ พอมองย้อนมาที่ประเทศไทย ก็พบว่ายิ่งพัฒนา ยิ่งรวมศูนย์ความเจริญ และความมั่งคั่ง ไว้ที่เดียว
       
       ที่ผ่านมาชนชั้นนำไทย “หลง” ติดเรื่อง ลัทธิความมั่งคงมาก...มากจนเกินไป จนไม่กล้าสร้างสรรค์ระบอบการเมืองที่กระจายอำนาจขึ้นอย่างที่ประเทศอารยะทั้งหลายเขาทำกัน
       
       ผมเดินทางไปภาคใต้ก็รู้สึกเสียดายศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของภาคใต้ ที่น่าจะพัฒนาเป็นศูนย์เศรษฐกิจการค้า และท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ถ้าเราไม่เชื่อแบบรวมศูนย์อำนาจ และความเจริญแบบผิดๆ วันนี้ สงขลา และปัตตานี น่าจะกลายเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่า กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย
       
       ในกรณีประเทศไทย แม้แต่พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นบนระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นประชาธิปไตยเฉพาะหน้าตา หรือรูปแบบภายนอก เพราะไปหลงเชื่อ หรือหลงรักจิตวิญญาณอำนาจนิยม
       
       ขอยกตัวอย่างกรณี พรรคไทยรักไทย
       
       หลายเดือนมาแล้ว เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า
       
       ที่ พรรคไทยรักไทย มีการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองตะวันตกชุดหนึ่งให้นักการเมืองทุกคนได้เรียนและศึกษา เพราะถือว่า งานเล่มนี้ คืองานสุดยอดเยี่ยม เป็นคัมภีร์ทางการเมืองที่นักการเมืองทุกคนต้องอ่าน
       
       งานชิ้นนี้คือ งานเรื่อง the Prince ของ Machiavelli
       
       คนที่เรียนรัฐศาสตร์ทุกคน จะต้องเรียนหนังสือเล่มนี้เช่นกัน
       
       งานเรื่องนี้เสนอว่า ผู้นำจะยิ่งใหญ่ได้ ต้องมีหน้า 2 หน้า
       
       หน้าแรกคือ ความเป็นราชสีห์ กล่าวคือ ต้องโหด***มสุดๆ และต้องฆ่าทุกคนที่ขวางทางของตัวเองได้
       
       หน้าที่สองคือ ความเป็นสุนัขจิ้งจอก กล่าวคือต้องเจ้าเล่ห์สุดๆ เช่นกัน
       
       ผมกล่าวกับเพื่อนว่า
       
       แนวคิดทางโลกตะวันตกแบบนี้ สอดคล้องกับแนวคิดอำนาจนิยมของชนชั้นนำไทยอย่างมาก ส่วนความเชื่อเรื่อง ความปลิ้นปล้อน-เจ้าเล่ห์นั้น ก็ไปกันได้กับวัฒนธรรมแบบศรีธนญชัยของไทยอีกเช่นกัน
       
       มาถึงตอนนี้ ผมขอขยายภาพเรื่อง วัฒนธรรมโกงกิน และปลิ้นปล้อน สักนิด
       
       วัฒนธรรมแบบนี้แพร่ระบาดในหมู่ชนชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดานักการเมือง และข้าราชการ ที่สำคัญ แม้แต่บรรดาพ่อค้าที่ทำมาหากินกับข้าราชการ และนักการเมืองก็มีฐานวัฒนธรรมความเชื่อแบบนี้ด้วย
       
       ในหมู่นักการเมืองไทย “วัฒนธรรมแบบนี้” แพร่ระบาดรุนแรงที่สุด
       
       ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสอนความรู้ทางการเมืองแก่นักการเมืองหลายคน
       
       มีนักการเมืองคนหนึ่งมาคุยกับผมตรงๆว่า
       
       “พวกผมจะเรียกพวกอาจารย์ว่า พวกนักอุดมการณ์ เราต้องยอมรับความจริงว่า อุดมการณ์ และความดีนั้นทำให้คนรวยไม่ได้ ถ้าอยากรวย อยากมีอำนาจ ก็ต้องกล้าโกง กล้ากิน”
       
       ผมกล้าพูดว่า วันนี้นักการเมืองไทยบริโภควัฒนธรรมโกงกิน จนกลายเป็นความเป็นธรรมดา
       
       บางที แม้แต่ประชาชนไทย ก็ถูกสอนให้ยอมรับการโกงกิน
       
       ชาวบ้านบางคนถึงกับพูดกันว่า
       
       “มันจะโกงกินก็ช่าง ขอให้พวกเราสบาย ไม่ว่ากัน”
       
       นี่คือ การแพร่ระบาดของวัฒนธรรมโกงกิน และปลิ้นปล้อน
       
       ผมได้กล่าวย้ำไปนักการเมืองท่านนั้นว่า
       
       “จาก เหตุการณ์ 14 ตุลา จนถึงปัจจุบัน เราสร้างประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบกันมาอย่างต่อเนื่อง และคิดว่า นี่คือ ประชาธิปไตย
       
       แท้จริง นี้คือ อวิชชาที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน”
       
       จิตวิญญาณประชาธิปไตย
       
       หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม มีการนำเสนอเรื่องการสร้างรูปจิตสำนึกที่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็พูดกันในหมู่นักศึกษา และปัญญาชนเท่านั้น
       
       ผมจำได้ว่า ตอนผมเป็นนักศึกษา ผมเรียนรู้ “ประชาธิปไตย” จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ที่เรียกกันว่า การสัมมนา
       
       การสัมมนากลายเป็นการเปิดโลกประชาธิปไตยให้แก่ “นักศึกษา” เพราะทุกคนได้ถกกัน และได้ร่วมกันเสนอแนวคิด
       
       ผิดหรือถูกไม่สำคัญ สำคัญคือได้โต้เถียงแลกเปลี่ยน และเรียนรู้คุณค่าของแนวคิดที่แตกต่างออกไป
       
       การสัมมนามีบทบาทอย่างสำคัญ และได้กลายเป็นที่มาของการพัฒนา “ขบวนการนักศึกษา” สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
       
       หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา การสัมมนาแลกเปลี่ยนกันแบบประชาธิปไตยนี้ ได้แพร่ไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชนชั้นกลาง และชุมชนชาวไร่ชาวนา และคนจนอื่นๆ
       
       ปัจจุบัน คนไทยมีการประชุมสัมมนากัน จนกลายเป็นเรื่องทั่วไป
       
       ที่เล่าเรื่องนี้ เพื่อชี้ “ค่าประชาธิปไตย” ว่า ประชาธิปไตยมีส่วนสร้างพลัง(นักศึกษา) และประชาชนได้อย่างไร
       
       คำว่า “ประชาธิปไตย” มีจุดเริ่มจากการเคารพ และ มองเห็นค่าความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงความคิดแปลกๆ และเคารพความเห็นของคนส่วนน้อย
       
       ในช่วงวิกฤติทักษิณ นอกจากประเด็นเรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว ก็ยังมีประเด็นใหม่ในแง่วัฒนธรรมเช่นกัน นั่นคือ เรื่องจริยธรรมทางการเมือง
       
       จริยธรรมทางการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องวัฒนธรรมทางการเมือง แต่เป็นส่วนที่เกี่ยวโดยตรงต่อผู้มีอำนาจ
       
       กล่าวอย่างง่ายๆคือ ชนชั้นนำ หรือผู้นำ ควรมีแบบแผนที่ควรปฏิบัติ(วัฒนธรรม) ที่เหนือกว่าคนปกติทั่วไป อย่างเช่น
       
       ประธานาธิบดีอเมริกาต้องมีครอบครัวเดียว และรักลูกรักเมีย
       
       นักการเมืองต่างประเทศจะลาออกทันที ถ้าทำอะไรผิดพลาด หรือไม่รอบครอบ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาที่สำคัญๆ ได้(ในเวลาที่แน่นอน)
       
       นักการเมืองทุกคนต้องถือว่า การโกงกินบ้านเมืองคือ “ความเลว” ไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
       
       เรื่องนี้ คือ เรื่องของคุณธรรม และวัฒนธรรมประจำตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งอยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ จะปลูกฝังขึ้นได้นั้น ก็เป็นเรื่องการสร้าง การผลิตวัฒนธรรมการเมืองที่ดีงาม และให้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
       
       เรื่องนี้แม้จะอยู่นอกรัฐธรรมนูญ แต่สำคัญมาก เพราะถ้าผู้นำมีจริยธรรม มีคุณธรรม มีจิตใจรักประชาธิปไตย ผู้นำคนนั้นก็จะได้รับการยกย่อง และได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน ซึ่งแน่นอนว่า จะดีกว่าการพยายามสร้างภาพแบบทักษิโณมิคส์ ซึ่งไม่ยั่งยืน
       
       เรื่องวัฒนธรรมประชาธิปไตย และจริยธรรมทางการเมือง ถือได้ว่าเป็นเรื่องนามธรรมมากๆ แต่ก็สำคัญมากๆ สำหรับโลกในยุคปัจจุบัน
       
       ในยุคโลกาภิวัตน์ เราเผชิญวิกฤติแบบซับซ้อนอย่างยิ่ง ถ้าผู้นำมีจิตสำนึกรักประชาธิปไตย ผู้นำหรือชนชั้นนำก็จะเปิดทางให้เกิด การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และรวมพลังประชาชนทุกส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง ปัญหาชาติบ้านเมือง ก็จะทุเลาลงได้
       
       แต่ถ้าผู้นำเป็นนักรัฐประหาร เชื่อในวัฒนธรรมอำนาจนิยม คิดว่าข้าเก่ง ข้าดี อยู่คนเดียว หรือกลุ่มเดียว ก็จะรวมศูนย์การคิดและการตัดสินใจ หรือไว้ใจเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ ให้ความสำคัญเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพรรคพวกเท่านั้น ทุกอย่างก็คงจะจบลงแบบเดิมๆอีก
       
       ครั้งหนึ่ง ผมพูดถึงความสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยทางจิตใจ
       
       นักศึกษาท่านหนึ่งถามขึ้นว่า
       
       “เราจะทำให้คนเป็นคนดี มีจริยธรรม รัก และเชื่อในวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้ หรือ”
       
       นักศึกษาอีกท่านหนึ่งสวนขึ้นมาว่า
       
       “คงหนีไม่พ้นเรื่องการศึกษาอีก ซิ ...........จะทำได้ก็แค่สอนเด็กๆเท่านั้น”
       
       อีกคนก็สวนขึ้นแบบบ่นๆว่า
       
       “อีกนานเท่านาน เมืองไทยถึงจะเป็นประชาธิปไตย”
       
       ผมตอบว่า
       
       “ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกกลุ่มชน ต้องร่วมกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตยขึ้นมา”
       
       วันก่อนได้ข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยประกาศสลายตัว ผมรู้สึกเสียดาย
       
       ทักษิณ.......ออกไปแล้ว ก็จริง แต่เรายังไม่เป็นประชาธิปไตยเลย จะสลายตัวได้อย่างไร
       
       ถ้าประกาศสลายตัว ก็แสดงว่าเราใช้คำว่า ประชาธิปไตย เป็นเพียงเครื่องหมายการค้าเท่านั้น
       
       นี่คือ ความอนาถน่าสงสารของคำว่า “ประชาธิปไตย”
       
       บางคนถึงกับเชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย เป็นของตะวันตก ดังนั้นจะไปแคร์อะไรมากกับคำว่า ประชาธิปไตย
       
       ผมขอแย้งว่า ประชาธิปไตย คือฐานรากของวัฒนธรรมไทย ที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตั้งแต่สังคมไทยยังคงเป็นชุมชนมาจนถึงยุคที่เป็นเมือง
       
       ทุกชุมชนโบราณตามลุ่มน้ำทั่วโลก มีการปกครองแบบประชาธิปไตยกันมาตลอด
       
       ย้อนไปยุคกรุงสุโขทัย
       
       มีคำจารึกกล่าวไว้ว่า
       
       “ใครใคร่ค้าช้าง ค้า ใครใคร่ค้าม้า ค้า”
       
       กษัตริย์ หรือพ่อขุนมีฐานะเป็นพ่อที่ต้องคอยดูแลบรรดาลูกๆอย่างใกล้ชิด รัฐเล็กๆของไทยโบราณวางอยู่บนฐานความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างพ่อกับลูก ไม่ใช่ระหว่างผู้ปกครอง กับผู้ถูกปกครอง
       
       ในเมื่อเราถือว่า ประชาชนเป็นลูก ลูกก็ต้องมีบทบาทช่วยพ่อ ไม่ใช่ให้พ่อทำทุกอย่าง
       
       ยิ่งพ่ออายุมากแล้ว บรรดาลูกๆก็ต้องแสดงบทบาทช่วยกัน ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อหนักอก หนักใจอยู่คนเดียว
       
       ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก จึงเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย แบบหนึ่ง
       
       พุทธศาสนาเองก็สอนชาวไทยให้รู้ค่าประชาธิปไตย แต่ในขอบเขตที่กว้างกว่าเรื่องของการปกครองเท่านั้น
       
       หลักหัวใจของพุทธ คือเรื่อง “อนัตตา”
       
       ถ้าถามว่า อะไรคือ อนัตตา
       
       อนัตตาคือ ความเชื่อพื้นฐานว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่างในโลกธรรมชาติ ล้วนแต่คือ องค์ประกอบของสิ่งอื่นๆ ไม่ได้มีตัวมีตน(ตัวกู ของกู) ที่เป็นอิสระดำรงอยู่ได้โดยลำพัง
       
       อธิบายง่ายๆ คือ ไม่มีคำว่า A man และ A table อย่างที่ชาวฝรั่งเข้าใจ
       
       คำว่า A หรือ แปลว่า หนึ่ง นั้น คือที่มาของคำว่าอวิชชา หรือพูดว่า โลกธรรมชาติไม่อาจจะแยกเป็นส่วนๆ ออกจากกันเป็นตัวเป็นตนได้
       
       นอกจากนี้ หลักอนัตตา ถือว่าทุกสิ่งในธรรมชาติ ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบแห่งชีวิต ทุกอย่างที่ประกอบกันล้วนแต่มีคุณค่าด้วยกันทั้งนั้น
       
       ต้นหญ้า กับมนุษย์ ก็ล้วนมีค่าเท่ากัน
       
       พระเซนจึงไหว้ต้นไม้ที่ผุพัง เพราะไม้ผุพังนั้นมีค่ายิ่ง เป็นที่มาของชีวิตจอมปลวกนับร้อยๆ ชีวิต
       
       พุทธจึงสอนให้เราเคารพ รักผู้อื่นๆ และรักธรรมชาติ ฟังความเห็นของผู้อื่นๆ รู้ค่าทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว
       
       เวลาดูหนังจีนกำลังภายใน มีคนไปหาพระที่วัดเส้าหลิน พระในวัดรวมทั้งเจ้าอาวาสจะยกมือพนมไหว้คนที่มาหา ก่อนที่จะเจอคนที่มาหา ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร
       
       ก่อนจะกล่าววาจาอะไรกับใคร พระก็จะยกมือพนมไหว้คนที่ท่านพูดด้วยก่อนเสมอ
       
       การยกมือไหว้ผู้อื่น ก็คือ การฝึกจิตใจ ให้มีจิตใจที่นอบน้อม ถ่อมตัวอย่างยิ่งตลอดเวลา
       
       การไหว้ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ คนไทยไหว้ผู้อื่นด้วยใจ จึงไหว้ได้งดงาม เพราะเราเคารพรักคนที่เราไหว้จริงๆ
       
       ในช่วงที่เจ้าชายรูปหล่อ แห่งภูฐานมาเยือนไทย คนไทยมากมายก็หลงรักท่าน เพราะท่านเป็นพุทธที่อ่อมน้อม ถ่อมตน
       
       ก่อนจะเข้านอน ท่านต้องเดินไปยกมือไหว้ และกล่าวขอบคุณต่อบรรดาคนที่มารักษาดูแล และเฝ้ายามทุกคืน
       
       พุทธสอนให้เราเห็นค่าคนทุกคน ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีชนชั้นวรรณะ เช่นไร
       
       ผู้ใหญ่ต่างหากต้องไหว้ผู้น้อยก่อน ไม่ใช่รอให้ผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่ก่อน
       
       พุทธสอนให้เรามีจิตวิญญาณประชาธิปไตย ซึ่งมีค่ามากกว่าประชาธิปไตยในทางรูปแบบแบบตะวันตกเสียอีก
       
       นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเคยเป็นศูนย์แห่งพุทธศาสตร์ในยุคโบราณ และมีส่วนทำให้พุทธแพร่ไปทั่วโลก ความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยนี้ ก็ก่อเกิดขึ้นบนฐานคิดแบบประชาธิปไตย นั่นคือ “การรับฟังซึ่งกัน” หรือที่เราเรียกว่า “ปุจฉา วิสัชนา” หรือ “การถกธรรม”
       
       ธรรมไม่ใช่เรื่อง ตายตัว หยุดนิ่ง และไม่พัฒนา
       
       การถกธรรม ก็คือ การแลกเปลี่ยน โต้เถียง เถียงกันด้วยใจที่เคารพรักซึ่งกันและกัน
       
       ไม่มีถูก ไม่มีผิด
       
       ในผิดก็มีถูก ในถูกก็มีผิด ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนอุดมด้วยคุณค่าทั้งนั้น “ผิด” ก็มีค่ายิ่ง เพราะผิดสอนเราว่าอะไรถูก
       
       วิกฤติ และทางออก
       
       ตอนเกิดรัฐประหาร เพื่อนๆบางคนถึงกับร้องไห้ เขาบ่งชี้ว่า บ้านเมืองเรากำลังถอยหลังเข้าคลอง
       
       ผมตอบว่า
       
       “ใช่ ......ส่วนหนึ่ง”
       ผมขยายเพิ่มว่า
       
       “รัฐประหารแม้จะเป็นวิธีที่ล้าสมัย ถูกมองว่า “ผิด” แต่ผิดก็แปรเปลี่ยนเป็นถูกได้ ถ้าผู้ก่อรัฐประหารรู้และตระหนักรู้ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน อย่างไร และควรจะก้าวต่อไปอย่างไร”
       
       ในตอนต้นบทความชิ้นนี้ ผมเรียกรัฐประหารครั้งนี้ว่าเป็นการก่อรัฐประหารของผู้สูงอายุ เพราะผู้ก่อรัฐประหาร ล้วนแต่อายุมากๆ ด้วยกันทั้งนั้น ข้อดีของคนที่มีอายุมากๆคือ ท่านจะทำอะไรที ท่านก็จะคิดแล้ว...คิดอีก
       
       หลักยุทธศาสตร์ที่ท่านใช้คือ รอให้มะม่วงสุกแล้วจึงสอยกิน
       
       หลักการแบบนี้ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปแบบธรรมชาติ ไม่ฝืนกระแส และคนส่วนใหญ่จึงรับได้
       
       ชาวเต๋าเรียกว่า
       
       “ไหลเคลื่อนไปกับกระแสคลื่นลม” นี่คือ ยุทธศาสตร์สำคัญที่เราต้องเรียน และใช้ในช่วงกลียุค ซึ่งตรงกันข้ามกับศาสตร์ตะวันตก ที่ใช้การเข้าไปจัดการให้ทุกอย่างเป็นไปตามต้องการ(โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ)
       
       ทักษิโณมิคส์ชอบใช้ยุทธศาสตร์แบบใจร้อน ไม่ดูตาม้า ตาเรือ
       
       จึงไปเดินทับตาม้า ตาเรือเข้า (คาร์บอมส์) และเปิดเกมรุกแบบท้ารบแบบสุดๆตัว ผลที่ตามมาคือ ม้า กับเรือ ได้โอกาสออกศึก หรือรัฐประหาร
       
       บางครั้งเวลาผมวิเคราะห์ “วิกฤติทักษิณ” ผมชอบบอกว่า สงครามครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่อง ชอบ หรือไม่ชอบทักษิณ เท่านั้น แต่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรม และยุทธศาสตร์ที่ต่างกันอย่างยิ่ง
       
       ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง เสนอฐานวัฒนธรรมแบบตะวันออก อย่างเช่นเรื่อง ความยั่งยืน หรือ ความเพียงพอ และไม่วิ่งตามกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะตามมา
       
       ชนชั้นนำอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า เราต้องวิ่งให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่เช่นนั้น เราจะตกกระแส จึงพยายามปั่นเศรษฐกิจแบบสุดๆ ตัว ใช้ยุทธศาสตร์ท้ารบแบบอเมริกา เปิดศึกทุกด้าน รบแบบเกมหมากรุกตะวันตก จึงก่อและสร้างศัตรูแบบทั่วทิศ แม้แต่บรรดามิตรเก่าๆก็กลายเป็นศัตรู
       
       คนชั้นนำอีกกลุ่มหนึ่งเดินเกมแบบเกมหมากล้อม ค่อยๆล้อม และแยกสลาย ทีละด้าน ทีละด้าน โอบล้อมจนกระทั่ง ขุนอีกฝ่ายหนึ่ง ตีบตันทางไปหมด
       
       สงคราม หรือการเผชิญหน้าครั้งนี้ จึงเป็นสงครามทางวัฒนธรรมระหว่างยุคสมัย และรุ่นอายุของผู้คนที่แตกต่างกัน
       
       ในช่วงเกิดวิกฤติ เพื่อนคนหนึ่งโทรมา ขอให้ผมวิเคราะห์รากของวิกฤติทักษิโณมิคส์ก่อนเกิดรัฐประหาร
       
       เพื่อนถามว่า
       
       “จริงหรือไม่ ที่กล่าวว่า ได้เกิดการปะทะกันระหว่าง ทุนศักดินา กับทุนใหม่ และเราต้องยืนข้างทุนใหม่ที่ก้าวหน้ากว่า”
       
       ผมเริ่มวิเคราะห์ว่า
       
       สงครามครั้งนี้เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง 3 ฝ่าย ไม่ใช่ 2 ฝ่าย อย่างบทวิเคราะห์ทั่วไปที่เราได้ยินกัน
       
       ทั้ง 3 ฝ่าย สะท้อนภาพสามกลุ่มพลังทางการเมืองที่ก่อเกิดขึ้นในยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
       
       ฝ่ายแรก คือ ตัวแทนของวัฒนธรรมความเป็นตะวันออก โบราณนิดๆ ข้าราชการมากสักหน่อย ทำธุรกิจที่ทำการผลิตจริง ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แต่ส่วนใหญ่ เป็นคนดีที่รักชาติรักบ้านเมือง
       
       ฝ่ายที่สอง คือ พลังของวัฒนธรรมแบบบ้าโลกาภิวัตน์ ชอบสร้างภาพ ไม่ได้ทำการผลิตจริง ปั่นทุกอย่าง อย่างเช่น ปั่นหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ ทำธุรกิจแบบฟองสบู่ นิยมวัฒนธรรมคาวบอยแบบอเมริกัน จึงชอบจัดการปัญหาแบบอำนาจนิยม
       
       ฝ่ายที่สาม คือ พลังใหม่สุด ศูนย์หลักคือ พลังสื่อ ที่เชื่อมติดกับบรรดาอาจารย์ และนักวิชาการ รวมทั้งชนชั้นกลางในเมือง
       
       กล่าวอีกแบบหนึ่ง ภาพทั้งหมด คือการเผชิญหน้าระหว่าง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นสงครามหรือการเผชิญหน้ากันระหว่างสามชุดวัฒนธรรม บนฐานยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างมาก
       
       นักคิดบางท่านก็เสนอว่า นี่คือ การสู้กันระหว่าง ทุนเก่าแบบศักดินา กับทุนใหม่แบบโลกาภิวัตน์ ดังนั้น จึงมีบทสรุปว่า เราต้องสนับสนุนทุนโลกาภิวัตน์ เพราะคิดกันง่ายๆว่า “ทุนใหม่” ต้องดีกว่า
       
       เราลืมไปว่า ระบบโลกวิวัฒน์แบบพลิกผันไม่เป็นเส้นตรง
       
       หรือกล่าวง่ายๆ โลก และสังคมเคลื่อนตัวแบบ Chaotic มีสภาวะเกิดกับดับเป็นฐานของการเคลื่อนตัว
       
       ระบบทุนนิยมที่ยิ่งใหญ่(เคยยิ่งใหญ่) ที่กำลังเคลื่อนตัวไปสู่ความตาย การเกิดขึ้นของโลกาภิวัตน์ ก็คือจุดเริ่มแรกแห่งความตายของทุนนิยม
       
       เพราะ ทุนโลกาภิวัตน์ และทุนทักษิโณมิคส์ คือ ทุนกาฝาก ที่มีขนาดใหญ่มากๆ และมีขอบเขตไร้พรมแดน ที่พร้อมจะเข้าทำลาย และกลืนกิน “ทุนจริง” ทั้งหมดลงไป ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจการเมืองทั้งหมดต้องขึ้นต่อทุนโลกาภิวัตน์ด้วย
       
       ดังนั้น สงครามระหว่างทุนเก่า กับทุนใหม่ จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก
       
       และในที่สุด ทุนโลกาภิวัตน์ ที่ไร้พรมแดน และมีศูนย์อยู่กับตลาดเงิน ตลาดหุ้น น่าจะเป็นฝ่ายชนะ
       
       ความเหนือกว่าอย่างยิ่ง สะท้อนภาพได้จากการที่คุณทักษิณสามารถซื้อประเทศ ทั้งประเทศไทย ซื้อนักการเมืองได้ ซื้อข้าราชการได้จำนวนมาก
       
       ใช้อำนาจเงิน ซื้อทุกอย่างได้
       
       แต่ในช่วงที่เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ ได้ก่อเกิด “อำนาจใหม่” ที่ท้าทายอำนาจเงินได้ นั่นคือ “อำนาจของสื่อ และวัฒนธรรม”
       
       ความยิ่งใหญ่ของ บุช และรัฐมหาอำนาจอเมริกา ต้องพังพาบเพราะอำนาจของสื่อโลกที่ช่วยกันเปิดโปงความชั่วร้ายของพวก Neo-con (ขวาจัดในอเมริกา)
       
       สื่อไทยเองก็แสดงบทบาทนำในช่วงวิกฤติทักษิโณมิคส์อย่างสำคัญ จนกล่าวได้ว่า คุณทักษิณพังพาบแบบไม่เป็นท่า เพราะความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของนักรบสารสนเทศ ซึ่งนำโดย คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ประสานกับการเคลื่อนตัวครั้งประวัติศาสตร์ของบรรดาครูบาอาจารย์ และชั้นชนกลางทั่วประเทศ
       
       ในช่วงวิกฤติทักษิณ พลังสื่อ และวัฒนธรรม แทรกเข้าไปได้ในทุกมิติชีวิตของคนไทย จนคนไทยจำนวนหนึ่งออกมาบ่นว่า เดี๋ยวนี้ คนในครอบครัวเดียวกัน เช่น ผัวกับเมียตีกัน เพราะคนหนึ่งชอบทักษิณ อีกคนหนึ่งเกลียดทักษิณ
       
       อำนาจของสื่อดังกล่าวได้จัดตั้งโรงเรียนทางการเมืองที่ไร้พรมแดนขึ้น และสามารถยกระดับความรับรู้ทางการเมืองของคนไทยทั้งประเทศ ครั้งประวัติศาสตร์
       
       เปิดสงครามหน้าประวัติศาสตร์ของ Net การเมือง ถกกันตั้งแต่เช้ายันเย็น
       
       ใครถูก ใครผิด ถกเถียงกันทั้งประเทศ
       
       ที่สุด คนไทยส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจได้ว่า ควรจะอยู่ข้างใด
       
       โลกของการสื่อสารไร้พรมแดน จึงกลายเป็น “เวทีประชาธิปไตย” ที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุด เท่าที่เคยมีมา
       
       แต่ถึงอย่างไร โลกข่าวสารก็มีจุดอ่อน เพราะเต็มไปด้วย ข่าวปล่อย ข่าวหลอก และข้อมูลมั่วๆ ซึ่งเป็นธรรมดาอย่างยิ่ง
       
       โลก Net จึงกลายเป็นโลกที่เราต้องเฝ้ามอง ติดตาม และวิเคราะห์ด้วยปัญญา
       
       นักวิชาการตะวันตกจะเตือนเราเสมอว่า
       
       ข้อมูลข่าวสารจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับความเข้าใจจริง(ปัญญา)
       
       ปัญญานั้นเกิดจากการวิเคราะห์จนสามารถเห็นภาพทั้งหมด (the Whole) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ อย่าเชื่อ “ข้อมูล และข่าวสารที่ได้ยิน แม้แต่ข่าวเดียว”
       
       วิเคราะห์แล้ว วิเคราะห์อีก คิดแล้วก็คิดอีก ก่อนที่จะวิจารณ์ เพราะทุกข่าวอาจจะเป็นเพียงข่าวปล่อย ที่มีเจตนาหลอกลวงให้คนเชื่อได้
       
       ที่สำคัญ “อย่าคิดคนเดียว” เพราะข่าวสารมีจำนวนมากมายมหาศาล มากกว่าความสามารถของคนคนเดียว
       
       เราต้องรู้จักวิเคราะห์ข่าว และถกเถียงปัญหากับบรรดาเพื่อนๆ จับกลุ่มกัน จัดสัมมนาแลกเปลี่ยน และใช้จิตวิญญาณประชาธิปไตยให้เป็นประโยชน์
       
       ผลได้ตามมาคือ การก่อเกิดสิ่งที่เรียกว่า ชุมชนแห่งปัญญา (Knowledge Community) ขึ้น
       
       ชุมชนแห่งปัญญา นี้คือ ฐานพลังที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุด นี่คือ พลังแห่งโลกอนาคต
       
       ผมเคยถูกนักข่าวบางท่านถามว่า
       
       “ทางออกของประเทศไทยอยู่ที่ไหน”
       
       ผมตอบว่า
       
       “ก็อยู่ที่พวกคุณ และการสร้างสรรค์ชุมชน และวัฒนธรรมแห่งปัญญา”
       
       สื่อ และวัฒนธรรม คือ พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ยิ่งใหญ่และก้าวหน้ากว่าอำนาจเงินตรา
       
       ผมขอขยายความสักนิดหนึ่ง
       
       “ระบบโลกเคลื่อนไปตามยุคสมัย เรามีชีวิตประวัติศาสตร์ผ่านมา 3 ยุคแล้ว
       
       ยุคแรก คือ ยุคชุมชนเป็นใหญ่
       
       ยุคที่สอง คือ ยุค Empire หรือยุคที่การเมือง(รวมทั้งศาสนา)เป็นใหญ่
       
       ยุคที่สาม คือ ยุคเศรษฐกิจเป็นใหญ่(ทุนนิยม และสังคมนิยม)
       
       ช่วงนี้คือ ช่วงที่เรากำลังก้าวสู่ ยุคที่สี่ คือ ยุควัฒนธรรม และความงาม เป็นยุคที่สื่อ และความรู้(ปัญญา) เป็นใหญ่
       
       แต่ต้องตระหนักว่า พลังอำนาจของสื่อสารเป็นพลังที่ก้าวหน้า แต่ก็อันตรายสุดๆ เช่นกัน เพราะเป็นพลังที่สามารถล้างสมองมนุษย์ในโลกได้ สามารถขังจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ “หลง” “คลั่ง” หรือ “ติด” ได้ เช่น การบ้าดารา ติดเกมส์ เป็นต้น
       
       พลังสื่อ และวัฒนธรรมจึง มี 2 ด้าน บวก และลบ ตรงข้ามกันอย่างยิ่ง
       
       ด้านแรก คือ ที่สุดแห่งมายา
       
       ด้านที่สอง คือ ที่สุดแห่งปัญญา
       
       ถ้าเราปล่อยให้พลังมายาสุดๆ คุมประเทศไทย ตัวอย่างเช่น ปล่อยให้ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง ๗ ช่อง 9 และ ITV ดำเนินรายการอย่างที่เคยทำ วัฒนธรรมน้ำเน่า เกมโชว์ และบริโภคนิยม ก็จะทำให้ผู้คนทั้งประเทศ “โง่ดักดาน” กันทั้งประเทศ
       
       แต่ถ้าเราปฏิวัติสื่อและวัฒนธรรมกันทั้งระบบ การปฏิวัติครั้งนี้ก็จะช่วยอภิวัฒน์จิตวิญญาณและยกระดับภูมิปัญญาของคนทั้งชาติ
       
       ที่สำคัญ “พลังสื่อ” สามารถสร้างจิตวิญญาณ และวัฒนธรรมประชาธิปไตยได้
       
       ผมกล่าวแบบสรุปให้เพื่อนๆฟังว่า
       
       สาเหตุหลักที่ฝ่ายทักษิโณมิคส์พ่ายสงครามครั้งนี้อย่างหมดรูป เพราะพลังสื่อและชุมชนทางปัญญาเปิดสงครามกับฝ่ายทักษิโณมิคส์ และในเวลาเดียวกัน พลังสื่อและชุมชนทางปัญญาได้หันไปจับมือกับพลังเก่า(ที่อนุรักษ์นิยม) เพราะมีจุดเชื่อมหลายจุด
       
       จุดเชื่อมใหญ่คือ แนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน
       
       ความเป็นอนุรักษ์นิยมของทุนเก่ามีส่วนทำให้ทุนเก่าเห็นอันตรายของการเคลื่อนตัวไปสู่กระแสโลกาภิวัตน์อย่างสุดโต่ง และหันไปสนใจเรื่อง สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องนี้กลายเป็นกระแสโลกใหม่
       
       นี่คือ การเคลื่อนตัวไปอย่างพลิกผัน “เก่า” กลายเป็น “ใหม่” “ใหม่” กลายเป็น “เก่า”
       
       เพื่อนถามย้ำว่า
       
       “อะไรใหม่ อะไรเก่า”
       
       ผมสรุปอย่างสั้นๆว่า
       
       “ปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัตน์ได้กลายเป็นสิ่งเก่าและล้าหลังไปแล้ว เพราะได้เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ไปทั่วโลก การต่อสู้ของคนไทยต้านระบอบทักษิณก็คือส่วนหนึ่งของกระแสต้านโลกาภิวัตน์ที่ก่อตัวขึ้นในประเทศไทย
       
       โลกกำลังเคลื่อนไปสู่ ยุควัฒนธรรมและสื่อสาร(ปัญญา) และในเวลาเดียวกัน โลกกำลังเคลื่อนอย่างสุดตัวไปสู่การอภิวัฒน์พลังงานโลกใหม่(สู่พลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม) และ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า นิเวศเศรษฐศาสตร์ หรือบางทีก็เรียกว่า การพัฒนาแบบยั่งยืน หรือที่คนไทยเข้าใจกันว่าคือ เศรษฐกิจพอเพียง”
       
       บทสรุป
       
       รัฐประหารครั้งนี้อาจจะก่อเกิดคุณูประการแก่ประเทศชาติได้ ถ้าผู้นำรู้ว่า “จะนำชาติไปในทิศทางใด”
       
       ที่สำคัญรัฐประหารครั้งนี้ จะไม่เป็นเผด็จการ ถ้าผู้นำรัฐประหารตระหนักรู้และมีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย และตระหนักว่า พลังสื่อ หรือข่าวสาร รวมทั้ง พลังอาจารย์ และนักวิชาการ และชนชั้นกลาง มีค่าอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์อนาคตของประเทศไทย และของโลก
       
       ฝ่ายรัฐประหารควรเลือกที่จะผนึกพลังกับสื่อ อาจารย์นักวิชาการ และชนชั้นกลางให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ช่วยกันสร้างชุมชนทางปัญญา และสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยขึ้นมา ระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ทั้งด้านรูปแบบ และเนื้อหาก็จะเกิดขึ้น
       
       รัฐประหาร กับ ประชาธิปไตย จะพัฒนาควบคู่กันได้
       
       แต่ถ้าไม่........ ไม่นานนัก เราก็คงต้องเผชิญ “สงครามการเมืองรอบสอง” อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
       
       ทุกอย่างล้วนแต่มีอนาคตอยู่แล้วทั้งนั้น เพียงแต่ว่า เราจะเลือกเส้นทางใด
       
       ในโลกที่กลียุค กฎแห่งอนิจจัง คือกฎแห่งธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ หายนะ และความยิ่งใหญ่มักจะยืนคู่กัน
       
       วันหนึ่ง คุณทักษิณ ยิ่งใหญ่ล้นฟ้า วันนี้ไม่เหลืออะไร
       
       อย่าคิดว่า กฎ นี้จะใช้สำหรับบุคคลที่ชื่อ ทักษิณ เท่านั้น ทุกคนที่มีอำนาจกำลังเผชิญกฎนี้
       
       ความยิ่งใหญ่ และชัยชนะวันนี้ ก็พลิกเป็นความพ่ายแพ้ได้
       
       แม้แต่ “เหตุการณ์เล็กๆ” ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอาจจะก่อความพลิกผันได้ นี่คือ หลักผีเสื้อกระพือปีกของทฤษฎี Chaos
       
       ผู้ก่อรัฐประหารจะต้องใช้ “อำนาจ” อย่างระมัดระวัง
       
       แต่ถึงอย่างไร ในความพลิกผัน ก็มีกฎที่แน่นอน ดำรงอยู่
       
       เราต้องตระหนักรู้ว่า กระแสประวัติศาสตร์โลกกำลังเคลื่อนไปทางไหน และมีจังหวะอย่างไร
       
       โลกกำลังเคลื่อนสู่การสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน บนฐานแห่งการก่อเกิดชุมชนทางปัญญาที่เข้มแข็ง
       
       นี่คือ ประวัติศาสตร์อนาคต
       
       สุดท้ายคงอยากจะฝากเพื่อนๆ ที่รักประชาธิปไตยว่า
       
       ประชาธิปไตยจริงๆ นั้นซ่อนลึกอยู่ “ภายใน”ใจของเราเอง
       
       ผู้คนจำนวนมากที่พูดถึงคำว่า ประชาธิปไตย แต่ลึกลงในใจกลับเป็นฝ่ายเผด็จการ
       
       ยิ่งคนที่มีอัตตาสูง อย่างเช่น คุณทักษิณ ก็จะเผด็จการสูง
       
       การสร้างสรรค์ประชาธิปไตยยั่งยืน จึงต้องสร้างทั้งทางรูปแบบและเนื้อหาในเวลาเดียวกัน
       
       ในทางรูปแบบคือการร่างรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึงหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเปิดให้ประชาชนได้มีบทบาททางการเมืองมากที่สุด
       
       ในทางเนื้อหานั้น เราต้องช่วยกันขับเคลื่อน และสร้างกระแสวัฒนธรรมประชาธิปไตยนี้ ขึ้นมา
       
       และในการนี้ การอภิวัฒน์สื่อทีวี หนังสือพิมพ์ ข่าวสาร และผลิตวัฒนธรรมประชาธิปไตยประเภทต่างๆ มีความสำคัญอย่างยิ่ง
       
       ในช่วงวิกฤติทักษิโณมิคส์ การก่อเกิดของชุมชนทางปัญญาขึ้นมากมายผ่านโลก net ที่ไร้พรมแดนก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะถ้าชุมชนนี้พัฒนาไปเรื่อยๆก็จะกลายเป็นฐานรากของ พลังประชาธิปไตย(ทางปัญญา และจิตวิญญาณ) ของสังคมไทยในอนาคต
       
       ถ้าทุกภาคฝ่าย และทุกกลุ่มชนเห็นความสำคัญ ช่วยกันผลิตวัฒนธรรมและจิตวิญญาณประชาธิปไตย และสร้างสังคมชุมชนทางปัญญาให้มีเครือข่ายทั่วประเทศ วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนจะก่อตัวขึ้นทุกหนทุกแห่ง
       
       วัฏจักรที่วนไป เวียนมา ไม่สิ้นสุด ระหว่าง “รัฐประหาร” กับ “ระบอบเลือกตั้ง” ก็จะสิ้นสุดลง
       
       จนกว่าจะพบกันใหม่
       ยุค ศรีอาริยะ

 
 
บันทึกการเข้า
ริวเซย์
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 4,637


Worrior in The Blue Armor


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 29-09-2006, 22:03 »

ยาวไปจนอ่านไม่ไหวเลย ติดเอาไว้ก่อนละกันครับ 
บันทึกการเข้า

ถ้ามีแฟนแบบนี้เอาไหมครับ^^


หน้า: [1]
    กระโดดไป: