11 มิถุนายน 2542 ทักษิณจัดตั้งบริษัทแอมเพิล ริช (รวยเหลือเฟือ) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ที่เกาะบริติช เวอร์จิน (ที่พึ่งยามมีของนักฟอกหุ้นและฟอกเงิน) ขณะนั้นยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยนำหุ้นชิน 32.9 ล้านหุ้นๆ ละ 10 บาท (ก่อนที่จะแตกเป็น 329.6 ล้านหุ้นๆ ละ 1 บาท) ไปขายให้บริษัทแอมเพิล ริช (ไม่ทราบว่าเป็นวันที่เท่าไร)
ทักษิณยังถือหุ้นชินที่เหลืออยู่จำนวน 32.9 ล้านหุ้น (จำนวนเท่ากับที่บริษัทแอมเพิล ริช ถืออยู่)
กันยายน 2543 ทักษิณ และพจมารภรรยา ถูกกล่าวหาว่าซุกหุ้นไว้กับคนในบ้าน แต่ได้รับคำตัดสินว่า บกพร่องโดยสุจริต และหลังจากนั้นทักษิณและภริยาได้โอนหุ้นชินให้พานทองแท้ ยิ่งลักษณ์ และบรรณพจน์ ในลักษณะของการขายในตลาดบ้าง ขายตรงบ้าง ให้โดยเสน่หาและโดยธรรมจริยาบ้าง ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด (หรือไม่คิดมูลค่า) โดยที่ผู้ขาย ผู้ซื้อ ผู้โอน และผู้รับโอนไม่ต้องจ่ายภาษีตามคำยืนยันของนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล (ปลัดกระทรวงการคลัง) นายศิโรจน์ สวัสดิพาณิชย์ (อธิบดีกรมสรรพากร) นายทนง พิทยะ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) และเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรอื่นๆ
1 ธันวาคม 2543 ทักษิณได้นำหุ้นบริษัทแอมเพิล ริช (US$ 1) ไปขายให้พานทองแท้บุตรชายที่บรรลุนิติภาวะ (จึงไม่ต้องนำทรัพย์สินของตัวเองมาแสดงร่วมกับทักษิณ)
มกราคม 2544 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายก ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ทักษิณ พจมาร และลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะทั้งสองคือ แพทองธารและพิณทองทา ได้แสดงทรัพย์สินต่อ ปปช. โดยไม่ได้รวมหุ้นของบริษัทชินคอร์ปหรือบริษัทแอมเพิล ริช ไว้ในบัญชี
ถือเป็นอันสิ้นสุดธุรกรรมการถือหุ้นชินของทักษิณก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายก ของประเทศไทย และถือว่าเป็นความโปร่งใส ไร้มลทิน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ
ประเด็นที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ทักษิณและครอบครัวได้แสดงทรัพย์สินเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. หรือไม่?
ถ้าอยากทราบก็ต้องลองเดินบัญชีตามธุรกรรมที่เกิดขึ้น
รายการที่ 1 วันที่ 11 มิถุนายน 2542 ทักษิณจัดตั้งบริษัทแอมเพิล ริช ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 1 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 40 บาทในขณะนั้น)
ธุรกรรมนี้ทำให้ เงินสด ในบัญชีทักษิณ ลดลงจำนวน 40 บาท และ เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช เพิ่มขึ้นจำนวน 40 บาท นั่นหมายความว่า บัญชีทรัพย์สินของทักษิณย่อมที่จะต้องแสดง เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช จำนวน 40 บาท
รายการที่ 2 ในวันที่เท่าไรไม่ปรากฏ ทักษิณได้ขายหุ้นชินให้แก่บริษัทแอมเพิล ริช ด้วยราคาพาร์เป็นเงินจำนวน 329.6 ล้านบาท แต่บริษัทแอมเพิล ริช มีเงินสดในมือจำนวน 40 บาท ปัญหาคือ บริษัทแอมเพิล ริช นำเงินจากไหนมาซื้อหุ้นจากทักษิณ
สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้มี 4 กรณีคือ1. บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืมเงินจากบุคคลที่สามมาซื้อหุ้น
2. บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืมเงินจากทักษิณ มาซื้อหุ้น
3. บริษัทแอมเพิล ริช ติดหนี้ค่าหุ้นกับทักษิณ
4. ทักษิณ โอนหุ้นให้บริษัทแอมเพิล ริชไปฟรีๆ (ข้อนี้ตัดออกเพราะคุณสุวรรณได้แถลงว่า ทักษิณ ขายหุ้นให้บริษัทแอมเพิล ริช ด้วยราคาพาร์)
สำหรับกรณีต่างๆ นี้ เราสามารถเดินบัญชีทรัพย์สินของทักษิณ ได้ 3 กรณี ดังนี้
1. ทักษิณต้องแสดง เงินสด เพิ่มขึ้นจำนวน 329.6 ล้านบาท (ต้องมีหลักฐานในการได้รับเงินสดจากบริษัทแอมเพิล ริช ณ วันที่ขาย) และต้องแสดงให้ได้ว่า บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืมเงินจากใครมาซื้อหุ้น ถ้ายืมจากพานทองแท้ พานทองแท้ต้องแสดงหลักฐานการโอนเงินสดให้บริษัทแอมเพิล ริช และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าพานทองแท้นำเงินสดจากที่ใดมาให้บริษัทแอมเพิล ริช กู้ยืม (ภาระในการพิสูจน์ความจริงนี้ควรตกอยู่ที่ทักษิณและพานทองแท้)
ถ้าพานทองแท้ยืมเงินจากทักษิณมาให้บริษัทแอมเพิล ริช ยืมต่อ ทักษิณต้องแสดง ทรัพย์สินว่า พานทองแท้-ลูกหนี้ ควบคู่ไปกับ เงินสด ที่ลดลงจำนวน 329.6 ล้าน บาท พูดอีกนัยหนึ่งก็คือทักษิณต้องแสดงบัญชี พานทองแท้-ลูกหนี้ แทนบัญชี เงิน สด
ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ทักษิณจะไม่แสดง เงินลงทุนในหุ้นชิน ในบัญชี แต่จะแสดง เงิน สด หรือ พานทองแท้-ลูกหนี้ จำนวน 329.6 ล้านบาทแทนก็ได้ (แต่ถ้าไม่แสดงเลย ก็แสดงว่าทักษิณแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ)
2. เมื่อทักษิณ ให้บริษัทแอมเพิล ริช ยืมเงินทักษิณ ต้องแสดง เงินสด ลดลงจำนวน 329.6 ล้านบาทเพราะว่าเอาเงินให้แอมเพิลริชยืม (ต้องมีหลักฐานในการโอนเงินสดไปให้บริษัทแอมเพิล ริช) ในขณะเดียวกัน ทักษิณจะบันทึกบริษัทแอมเพิล ริช เป็น บริษัทแอมเพิล ริช-ลูกหนี้ จำนวน 329.6 ล้านบาท และเมื่อทักษิณขายหุ้นชินให้บริษัทแอมเพิล ริชทักษิณต้องบันทึกตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ออก ในขณะเดียวกับที่บันทึก เงินสด เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 329.6 ล้านบาทในบัญชีจากการรับเงินค่าขายหุ้นชินให้แอมเพิลริช (ต้องมีหลักฐานการรับเงินจากบริษัทแอมเพิล ริช ณ วันที่ขายหุ้น)
สรุปว่า บัญชีทรัพย์สินของทักษิณจะไม่แสดง เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป แต่ จะแสดง บริษัทแอมเพิล ริช-ลูกหนี้ แทน เนื่องจากให้แอมเพิลริชยืมเงินไปซื้อหุ้นชินจากตนเองไปแล้ว
3.ทักษิณต้องแสดงบริษัทแอมเพิล ริช เป็น บริษัทแอมเพิล ริช-ลูกหนี้ จำนวน 329.6 ล้านบาท เมื่อทักษิณตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ออกจากบัญชี (ผลลัพธ์จะคล้ายกับกรณีที่สอง)
แต่ในทั้ง 3 กรณี ทักษิณยังคงเป็นเจ้าของ เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีมูลค่าเพียง 1 เหรียญสหรัฐ เพราะบริษัทแอมเพิล ริช มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นคือ เงินลงทุนเผื่อขาย-หุ้นชิน เงินลงทุนนี้ต้องแสดงในบัญชีด้วยราคาตลาด ส่วนต่างระหว่างราคาตลาดและราคาทุนในหุ้นชินคอร์ปถือเป็น กำไรที่ยังไม่เกิดจริงจากเงินลงทุนเผื่อขาย ซึ่งจะบันทึกในส่วนทุนของบริษัทแอมเพิล ริช (ควรเป็นจำนวนเดียวกับ เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ในบัญชีทรัพย์สินของทักษิณ)
ดังนั้น ถ้าทักษิณแสดง เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ด้วยราคา 1 เหรียญสหรัฐ บัญชีทรัพย์สินของทักษิณก็จะไม่สะท้อนจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงที่มีอยู่ในบริษัทแอมเพิล ริช (ทั้งนี้ต้องไปดูมาตรฐานการบัญชีที่เกาะฟอกเงินนั้น ถ้าบัญชีไม่มีมาตรฐาน รายการบัญชีนี้อาจไม่เกิดขึ้น)
รายการที่ 3 วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ทักษิณขายหุ้นบริษัทแอมเพิล ริช ให้กับพานทองแท้ โดยไม่ได้ระบุว่าขายไปด้วยจำนวนเงินเท่าไร
ธุรกรรมนี้จะทำให้ทักษิณต้องบันทึกตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิลริช ออกจากบัญชี และบันทึก เงินสด ที่ได้รับจากพานทองแท้ขึ้นมาแทน (ในเมื่อไม่ทราบจำนวนเงินที่ซื้อขาย จึงไม่สามารถระบุจำนวนที่ต้องนำมาบันทึกบัญชี) หากการซื้อขายระหว่างทักษิณและพานทองแท้ไม่มีการโอนเงินสดเกิดขึ้น การซื้อขายนี้น่าจะถือว่านายพานทองแท้ยังไม่ได้ชำระค่าหุ้นให้แก่ทักษิณ และทักษิณก็ควรบันทึก นายพานทองแท้-ลูกหนี้ แทนการบันทึกว่าได้รับเงินสดจากการขายหุ้นแอมเพิลริชให้ลูกชาย
นั่นหมายความว่า การตัด เงินลงทุนในหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช ออกจากบัญชีจะทำให้ทักษิณต้องบันทึก เงินสด หรือบันทึกนายพานทองแท้เป็น ลูกหนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทักษิณไม่บันทึก บัญชีทรัพย์สินที่แสดงต่อ ป.ป.ช. ก็จะเป็นเท็จ
อย่าลืมว่า สสารย่อมไม่สูญสลายไปจากโลกนี้ โดยเฉพาะในสมการบัญชีนั้นถ้าไม่ปรากฏอยู่ในรูปหนึ่ง ก็ต้องปรากฏอยู่ในอีกรูปหนึ่ง
ถ้าทักษิณไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ต่อ ป.ป.ช. หรือนำบัญชีทรัพย์สินของบริษัทแอมเพิล ริช และของพานทองแท้มาแสดงร่วมกับทรัพย์สินของตัวเอง (โดยลืมไปว่า บุคคลทั้งสามเป็นอิสระจากกัน) นั่นอาจชี้ให้เห็นว่า ทักษิณได้จัดฉากให้เกิดการทำนิติกรรมอำพรางขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เป็นเท็จได้เช่นกัน
ครั้งหนึ่ง เสธ. หนั่นเคยถูกตัดสินให้เว้นวรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจาก หนี้สิน ที่แจ้งในบัญชีไม่ปรากฏตัวตนที่แท้จริง
ครั้งนี้ หากทักษิณไม่ระมัดระวังในการเดินบัญชีและเตรียมหลักฐานสนับสนุนการทำธุรกรรมทางบัญชี (เช่น สัญญาและหลักฐานการโอนเงินสด) การแสดงบัญชีทรัพย์สินของทักษิณจะฟ้องให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและความไม่ชอบด้วยจริยธรรม รวมถึงการกระทำอันผิดกฎหมายที่จะทำให้ทักษิณขาดคุณสมบัติในฐานะผู้นำประเทศ
ใครที่เป็นกุนซือทางด้านบัญชีของทักษิณน่าจะออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนบ้าง ไม่น่าจะปล่อยให้กุนซือทางด้านภาษีออกมาแถลงข่าวแต่เพียงผู้เดียว
"ถ้าทักษิณไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ต่อ ป.ป.ช. หรือนำบัญชีทรัพย์สินของบริษัทแอมเพิล ริช และของพานทองแท้มาแสดงร่วมกับทรัพย์สินของตัวเอง (โดยลืมไปว่า บุคคลทั้งสามเป็นอิสระจากกัน) นั่นอาจชี้ให้เห็นว่า ทักษิณได้จัดฉากให้เกิดการทำนิติกรรมอำพรางขึ้น"
ตอนนี้เรื่องทั้งหมดอยู่ในมือ สตง. ปปช.รอดูคนโดนฟันได้เลย ติดคุกกี่ปีว่ากันไปตามกระทงความผิด เพราะเรื่องซุกหุ้นภาค2นี้เป็นแค่1กระทงในจำนวนหลายๆกระทงความผิดที่จะตามมา
บาปกรรมกำลังตามทันคนโกงชาติบ้านเมืองแล้ว