ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10426
ปฏิวัติงดงาม
โดย วัลลภ ตังคณานุรักษ์
ประเทศไทยผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายต่อหลายครั้ง แทบทุกครั้งจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแนวลบเกือบทั้งสิ้น
แต่ล่าสุดของการปฏิวัติในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)" ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะ กลับได้รับความชื่นชมยินดีจากประชาชนอย่างล้นหลาม
ดังภาพปรากฏในข่าวที่ประชาชนหลั่งไหลมอบดอกไม้ มอบผ้าเย็นให้กำลังใจ รวมถึงหอบลูกจูงหลานไปร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันทั่วไป ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากสำนักสำรวจโพลต่างๆ ที่พบว่ามากถึงกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยกับการปฏิวัติในครั้งนี้
และที่งดงามมากอย่างยิ่งคือ เป็นการปฏิวัติที่เรียบร้อย ไม่มีการปะทะและเสียเลือดเสียเนื้อแต่ประการใดผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่สื่อมวลชนไต่ถามถึงความรู้สึกต่อการปฏิวัติในครั้งนี้ ซึ่งตอบไปว่า "เป็นการปฏิวัติที่มาได้ในจังหวะอันพอเหมาะพอควร เพราะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาหลายต่อหลายเรื่องที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน คือ
หนึ่ง การแตกแยกของประชาชนเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนและมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงเข้าปะทะกัน การเข้ามาจัดการโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่เป็นเสมือนคนกลางจะยุติปัญหาสองฝ่ายลงได้
สอง ความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดอื่นๆ ที่กำลังถูกคุกคามเพิ่มขึ้น ย่อมต้องการความเป็นเอกภาพที่ชัดเจนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา มากกว่าให้ฝ่ายการเมืองที่มากด้วยผลประโยชน์เข้าแก้ไข ดังที่เคยทำผิดพลาดมาแล้ว
สาม การทุจริตคอร์รัปชั่นและการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ซึ่งค้างคาใจประชาชนจำนวนมากว่าทำไมจัดการไม่ได้สักที เช่น กรณีการขายหุ้นไม่เสียภาษี การขายสมบัติของชาติ การทุจริตเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ รายได้จากหวยบนดินที่ไม่ทราบว่านำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ฯลฯ
การปฏิวัติครั้งนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งในตรวจสอบติดตามเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่และโปร่งใส
มาถึงวันนี้ วันที่ลงมือพิมพ์ต้นฉบับ (23 กันยายน 2549) ได้ส่งสัญญาณหลายประการที่เป็นความงดงามของการปฏิวัติในครั้งนี้
ตั้งแต่คำมั่นสัญญาของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เน้นชัดเจนว่าจะมีรัฐบาลโดยเร็วในสองสัปดาห์ ซึ่งก็เชื่อว่าเมื่อประกาศออกมาแล้ว สังคมจะชื่นชม ไม่ยี้อย่างแน่นอน
อีกทั้งยังได้เห็นรูปธรรมการดำเนินงานที่น่าสนใจและควรให้การสนับสนุนยิ่ง 2 ประการดังนี้
หนึ่ง...แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ผ่านการลงมติของวุฒิสภา เพื่อให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยังค้างคาอยู่ แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อจัดการกับบรรดาผู้ทุจริตและคดโกงอย่างเร่งด่วนรวมทั้งให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้ทำหน้าที่สืบสาวการทุจริตต่อไปได้
สอง...แต่งตั้งผู้รู้และผู้มากประสบการณ์ทางกฎหมาย ได้แก่ ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ อ.วิษณุ เครืองาม อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณบดีนิติศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย รวมกับผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นบังคับใช้ รวมทั้งกำหนดกรอบการมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จลงภายในแปดเดือน ซึ่งผมเห็นว่าชัดเจนทั้งวิธีการ ขั้นตอน และช่วงเวลา
เขียนมาด้วยความชื่นชมและเชื่อมั่นว่ากระบวนการดังกล่าวจะนำไปสู่ความสมานฉันท์ของคนในชาติ และจะมีการเลือกตั้งที่โปร่งใสชอบธรรมในเร็ววัน
หน้า 6<