อังเดร อากัสซี่ ปิดฉาก 21 ปีแห่งความทรงจำ
มติชน วันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10405
แม้จะไม่ใช่ตอนจบที่ **ยิ่งใหญ่** เหมือนกับเมื่อคราว **พีต แซมพราส** เพื่อนนักหวด
ร่วมรุ่นคว้าแชมป์ **ยูเอสโอเพ่น 2002** เป็นแกรนด์สแลมที่ 14 ก่อนปิดฉากชีวิตนักเทนนิส
อาชีพของตัวเอง แต่ **ตอนจบ** ของ **อังเดร อากัสซี่** หนึ่งในนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
อีกคนหนึ่งของวงการสักหลาดโลกก็เต็มไปด้วยอารมณ์ร่วมที่ยากจะลืมเลือนสำหรับเจ้าตัวและ
แฟนๆ ทุกคน
ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า กองเชียร์ 23,000 คนในอาร์เธอร์แอช สเตเดียม วันนั้น ต่างเป็น
กำลังใจให้สิงห์เฒ่าวัย 36 ปี ที่แบกสังขารกัดฟันสู้กับอาการเจ็บหลังวิ่งไล่ตามทุกช็อตทุกลูก
ของคู่แข่งขัน
ขณะเดียวกัน ที่อีกฟากของคอร์ต **เบนจามิน เบ๊คเกอร์** นักหวดหนุ่มชาวเยอรมันผู้เป็น
**ตัวประกอบ** คนสำคัญของฉากนี้ก็สมควรได้รับเครดิตจากแฟนๆ ทั่วโลก ในฐานะที่
สามารถคุมสติไม่ให้เตลิดเปิดเปิงไปกับเสียงโห่ฮาของแฟนๆ ในสนามทุกครั้งที่เขาได้แต้ม
เกมที่เต็มไปด้วยอารมณ์ร่วมนี้สิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของอดีตนักเทนนิสหมายเลข 1 ของ
โลก และเจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 8 รายการ 5-7, 7-6 (7-4), 4-6, 5-7 ใช้เวลาแข่งขัน
ไป 3 ชั่วโมงเศษ
และทันทีที่เบ๊คเกอร์เสิร์ฟเอซปิดแมตช์ ผู้ชมทั้ง 23,000 คนในสนามต่างก็พร้อมใจกันยืน
ปรบมือและส่งเสียงเชียร์กึกก้องราวกับว่าอากัสซี่คว้าแชมป์รายการนี้มาครองได้แล้วก็ไม่ปาน!
และนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้หนุ่มใหญ่วัย 36 ปล่อยให้น้ำตาที่สะกดกลั้นไว้นานเอ่อล้นออกมา...
จนทำให้หลายๆ คนในสนามและผู้ที่ชมอยู่ทางบ้านอีกหลายสิบหลายร้อยเผลอปาดน้ำตาตาม
ไปด้วย...
ก่อนจะไปบรรยายถึงช่วงเวลาแห่งความทรงจำนั้นต่อ ขออนุญาตกลับไปย้อนถึงเรื่องราวชีวิต
ฉบับย่อของหนึ่งใน **ตำนาน** ที่มีสีสันที่สุดของวงการสักหลาดโลกกันสักเล็กน้อย...
**อังเดร เคิร์ค อากัสซี่** เกิดในครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน (ปนยุโรปตะวันตก)
ที่รัฐเนวาดา เมื่อปี 1970
ตั้งแต่ยังไม่ทันรู้ความ อากัสซี่ก็ถูกกำหนดอนาคตไว้แล้วว่าจะต้องเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นแชมป์
**แกรนด์สแลม** ทั้ง 4 รายการให้ได้ เพราะนั่นคือความใฝ่ฝันอันสูงสุดของ **เอ็มมานูเอล**
พ่อของเขาซึ่งเป็นอดีตนักมวยโอลิมปิคทีมชาติอิหร่าน
เอ็มมานูเอล หรือ **ไมค์** พัฒนาเทคนิคการสอนเทนนิสของเขาด้วยการใช้พี่ชาย 2 คน
ของอากัสซี่เป็น **หนูทดลอง** และเริ่มให้ลูกชายคนใหม่ของเขาคุ้นเคยกับกีฬาชนิดนี้
ด้วยการผูกลูกสักหลาดไว้เหนือเปลของอากัสซี่แทนโมบาย และให้เขาหัดจับไม้พลาสติคตี
ลูกโป่งตั้งแต่ยังเดินไม่แข็งเสียด้วยซ้ำ
พออายุ 5 ขวบ อากัสซี่ก็หัดเล่นเทนนิสจริงจัง และมีโอกาสได้ซ้อมมือกับตำนานของโลก
สักหลาดอย่าง **จิมมี่ คอนเนอร์ส** และเมื่อเริ่มปีกกล้าขาแข็ง พ่อก็ส่งเขาไปเรียนวิชากับ
ครูดัง **นิค บอลเลตเทียรี่** ที่ฟลอริดา ตอนอายุ 14
อากัสซี่เทิร์นโปรในอีก 2 ปีให้หลัง ซึ่งนับจากนั้นชีวิตนักเทนนิสของเขาก็เต็มไปด้วยสีสันซึ่ง
ต่างก็เป็น **ไฮไลต์** ไม่ว่าจะในด้านบวกหรือลบก็ตาม
ช่วงแรกๆ นั้น แฟนเทนนิสต่างรู้จักอากัสซี่ในนาม **เจ้าหนูบลูยีนส์** ที่มาพร้อมกับรูปลักษณ์
แสบซ่า ผมยาวสยายสไตล์นักร้องเพลงร็อค ใส่ตุ้มหูกับเสื้อสีฉูดฉาด จนถูกเรียกขานเป็น
**กบฏ** ของวงการเทนนิสในยุคที่ยังไม่มีใครกล้าแหกกฎมากมายขนาดนั้น
พอดีกับที่ **แคนอน** จับอากัสซี่ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ขายกล้องภายใต้สโลแกน "Image is
Everything" มุมมองของใครต่อใครเลยเป็นไปในทางนั้นหมด
อย่างไรก็ตาม อากัสซี่ไม่ได้มีดีแค่บุคลิกภายนอกอย่างเดียว ฝีมือของเขาเองก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
ด้วยสไตล์การเล่นเบสไลน์ที่เหนียวแน่น อากัสซี่ก้าวไปคว้าแชมป์แกรนด์สแลมแรกที่
**วิมเบิลดัน** เมื่อปี 1992 ต่อเนื่องด้วยยูเอสโอเพ่นปี 1994
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 ปีแรกของชีวิตนักเทนนิสอาชีพ อากัสซี่กลับเมินการแข่งขัน
**ออสเตรเลียน โอเพ่น** แกรนด์สแลมแรกของปี เช่นเดียวกับการไม่ยอมร่วมแข่งวิมเบิลดัน
ระหว่างปี 1988-1990 โดยให้เหตุผลว่า "ระเบียบจัด" เกินไป (แต่หลายคนวิจารณ์ว่าน่าจะ
เป็นเพราะเขากลัวสไตล์การเล่นไม่เข้ากับคอร์ตหญ้ามากกว่า)
ปี 1995 อากัสซี่คว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่นหนแรกได้สำเร็จ พร้อมกับไต่ขึ้นสู่บัลลังก์มือ 1
ของโลกได้อย่างงดงาม
แต่ยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของวงการได้ราว 2 ปี ชีวิตของอากัสซี่ก็ดิ่งลงจนถึงก้นเหว เพราะ
ในปี 1997 นอกจากจะคว้าแชมป์รายการสำคัญๆ ไม่ได้เลยแล้ว อันดับโลกของหนุ่มอเมริกัน
ยังร่วงไปอยู่ที่ 141 ของโลก ซ้ำร้ายชีวิตคู่กับดาราสาว **บรู๊ค ชีลด์** ก็มาล่มเอาพร้อมๆ
กันอีก เลยกลายเป็นฝันร้ายสองต่อสำหรับเจ้าตัวเลยทีเดียว
...ถึงอย่างนั้น ชีวิตนักเทนนิสที่ใครๆ คิดว่าคงจะปิดฉากลงอย่างบริบูรณ์แล้วก็กลับมามี
ความหวังอีกครั้ง เขาเริ่มต้นด้วยการโกนหัว แล้วกลับไปไต่เต้าจากรายการระดับชาลเลนเจอร์
จนสามารถจบปี 1996 ในอันดับ 6 ของโลก (ทั้งที่เริ่มต้นปีในอันดับ 141)
หลังจากนั้นเขาก็เดินหน้ากวาดแชมป์แกรนด์สแลมถึง 5 รายการ คือ ออสเตรเลียน โอเพ่น
ปี 2000, 2001, 2003 เฟร้นช์โอเพ่น 1999 และยูเอสโอเพ่น 1999 จนกลับไปอยู่บนยอดสุด
ของวงการเทนนิสโลกได้อีกครั้ง พร้อมกับการสร้างผลงานเป็นนักเทนนิสชายหนึ่งใน 5 คน
ของโลกที่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย
พร้อมๆ กับที่ชีวิตในสนามกลับสู่ขาขึ้น ชีวิตส่วนตัวของเขาก็สดใสไม่แพ้กัน เมื่ออากัสซี่พบรัก
กับ **สเตฟฟี่ กราฟ** อดีตราชินีสักหลาดโลกชาวเยอรมัน จนตัดสินใจจูงมือกันเข้าสู่ประตู
วิวาห์ในเดือนตุลาคม 2001 และมีพยานรัก 2 คน คือ **ยาเดน กิล** กับ **แจ๊ซ แอล**
ภาพลักษณ์ของอากัสซี่ในวันนี้เปลี่ยนจากเพลย์บอยสุดซ่าเป็นแฟมิลี่แมนตัวจริงเสียงจริง
เรียกว่าไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนก็จะเห็นแต่ภาพครอบครัวอบอุ่นชนิดที่ใครต่อใครต้องอิจฉา
ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันเหล่านี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับความเรียบง่ายแต่แรงดีไม่มีตกของ
อัจฉริยะร่วมยุคอย่างแซมพราส และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันและแฟนเทนนิส
ทั่วโลกรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับแต่ละแมตช์แต่ละเกมของอากัสซี่มากกว่านักหวดหลายๆ คน
...ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านจุดสูงสุดและต่ำสุดของชีวิตนักเทนนิสอาชีพมาจนถึงรอบสาม
ของการแข่งขันยูเอสโอเพ่น 2006 อากัสซี่ในวัย 36 ปี จึงตัดสินใจโค้งคำนับและส่งจูบ
สุดท้ายให้กับแฟนๆ รอบสนามพร้อมน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม
เขาใช้เวลาหลายนาทีต่อจากนั้น บอกเล่าความในใจด้วยน้ำเสียงกระท่อนกระแท่นว่า "คะแนน
บนสกอร์บอร์ดอาจจะบอกว่าผมแพ้ แต่มันไม่ได้สื่อความหมายถึงสิ่งที่ผมได้พบเจอตลอดเวลา
21 ปีที่ผ่านมาเลย ทุกๆ คนคือกำลังใจที่มีค่ายิ่งสำหรับผมทั้งในและนอกสนาม พวกคุณทุกคน
ต่างอวยพรให้ผมแม้ในวันที่ตกต่ำที่สุดของชีวิต นี่คือความอบอุ่น คือที่พึ่งพิงที่ผมค้นพบ และจะ
บันทึกความทรงจำอันมีค่านี้ไปตลอดชีวิตของผม"
...กล่าวกันว่า ไม่มีนักเทนนิสคนใดปรากฏตัวในโลกสักหลาดได้เข็ดฟันเท่ากับเขา และไม่มีใคร
โบกมือลาสถานที่แห่งเดียวกันนี้ไปได้เหมือนกับลูกผู้ชายที่มานะพยายามกว่าใครคนนี้
และเมื่อถูกถามว่า เขาตั้งใจจะทำอะไรต่อจากนี้ อากัสซี่ก็ยิ้มและตอบด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น
มั่นคงกว่าเดิมว่า...
"แรกสุดเลย ผมคงต้องไปอธิบายกับลูกๆ ก่อนว่าทำไมผมถึงร้องไห้เป็นเด็กๆ อย่างนี้ เพราะ
พวกเขาต้องไม่ชอบใจแน่ๆ ที่เห็นผมในสภาพนี้น่ะครับ!"
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01spo20050949&day=2006/09/05
ไปดีมีสุขนะจ๊ะ หายเจ็บแล้วกลับมาเล่นประเภทคู่ผสมกับศรีภรรยาอย่างที่เคยประกาศไว้
หลังได้แชมป์ Ausrtralian Open ปี 2003 (แต่แผนการพับไปเพราะ Steffi ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2)
ก็ได้ จะรอดู