ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
03-12-2024, 06:29
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ห้องสาธารณะ  |  เอแบคโพลล์เผย ปชช.เชื่อมั่น3ศาล แนะ กกต.ลาออก 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
เอแบคโพลล์เผย ปชช.เชื่อมั่น3ศาล แนะ กกต.ลาออก  (อ่าน 1146 ครั้ง)
maninbox
สมาชิกสามัญขั้นที่ 2
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 74



« เมื่อ: 30-04-2006, 15:54 »

เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจหลังการประชุมผู้นำ 3 ศาล พบ ปชช.ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นบทบาทหน้าที่ของศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรรัฐธรรมนูญในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมทางการเมือง ขณะที่ วุฒิสภา ปปช. ภาพติดลบ โดยเฉพาะ กกต.วิกฤติหนักความเชื่อมั่นลดฮวบ ปชช.แนะลาออก

วันที่ 30 เม.ย. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง “อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์การเมืองภายหลังการประชุมผู้นำ 3 ศาล” ในครั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,863 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2549 โดยประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจ มีดังนี้

ผลสำรวจพฤติกรรมการติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59.8 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ร้อยละ 21.1 ระบุติดตาม 3 - 4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 11.7 ระบุติดตาม 1 - 2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 2.9 ระบุติดตาม น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 4.5 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างต่อวิกฤตการณ์การเมืองในขณะนี้นั้นพบว่า ประชาชนจำนวนมาก หรือร้อยละ 41.3 ระบุสถานการณ์การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 42.3 ระบุยังไม่วิกฤต และร้อยละ 16.4 ไม่ระบุความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความรู้สึกของตัวอย่างต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้นั้นพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 97.2 ระบุการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ร้อยละ 91.1 เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจากันถึงที่สุด ร้อยละ 74.0 ระบุรู้สึกเบื่อหน่ายต่อเรื่องการเมือง ร้อยละ 69.9 ระบุวิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมือง และร้อยละ 43.2 ระบุรู้สึกเครียดต่อเรื่องการเมือง

นอกจากนี้ ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของตัวอย่างที่มีต่อการทำงานขององค์กรอิสระในการทำหน้าที่ได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมทางการเมือง พบรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 70.2 ระบุเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลฎีกา ในขณะที่ร้อยละ 15.9 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 13.9 ไม่ระบุความคิดเห็น

ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.4 ระบุเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลปกครอง ในขณะที่ร้อยละ 15.0 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 16.6 ไม่มีความคิดเห็น

ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 62.7 ระบุเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ร้อยละ 16.4 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 20.9 ไม่ระบุความคิดเห็น

ตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 40.8 ระบุเชื่อมั่นต่อการทำงานของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในขณะที่ร้อยละ 33.2 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 26.0 ไม่ระบุความคิดเห็น

ตัวอย่างร้อยละ 33.6 ระบุเชื่อมั่นต่อการทำงานของวุฒิสภา ในขณะที่ร้อยละ 38.6 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 27.8 ไม่ระบุความคิดเห็นและความเชื่อมั่นต่อการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากผลสำรวจครั้งที่ผ่านมา คือจากร้อยละ 40.1 ลดลงเหลือร้อยละ 32.0 ในขณะที่ร้อยละ 43.3 ระบุไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 24.7 ไม่ระบุความคิดเห็น

ดร.นพดล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้คือความคิดเห็นของตัวอย่างกรณีการออกมาแสดงความรับผิดชอบของ กกต. หากศาลฎีกาชี้ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่สุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 51.4 ระบุ กกต.ควรลาออก ในขณะที่ร้อยละ 15.5 ระบุไม่ควรลาออก และตัวอย่างร้อยละ 33.1 ที่ยังไม่ระบุความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นของตัวอย่างต่อการหาคนกลางมาทำหน้าที่เป็นผู้นำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 47.1 ระบุควรหาคนกลางมาทำหน้าที่เป็นผู้นำ ได้แก่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นต้น ในขณะที่ตัวอย่างร้อยละ 11.3 ระบุไม่ควร และตัวอย่างร้อยละ 41.6 ไม่ระบุความคิดเห็น

เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งใหม่โดยมีพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมลงแข่งขันนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 81.9 เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 8.6 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 10.5 ไม่มีความเห็น

“นอกจากประเด็นสำคัญดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ในครั้งนี้ยังพบประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ ความคิดเห็นของตัวอย่างที่มีต่อนโยบายของพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง คือร้อยละ 54.2 ระบุนโยบายของพรรคไทยรักไทยตรงกับความต้องการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 7.5 ระบุนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ตรงกับความต้องการมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างร้อยละ 17.6 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 20.7 ไม่ระบุความคิดเห็น” ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวสรุปว่า ผลสำรวจหลังการประชุมของผู้นำ 3 ศาลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ที่ถูกศึกษายังคงไม่แน่ใจต่อสถานการณ์การเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลต่อปัญหาทางการเมืองและจำนวนมากยังคงรู้สึกเครียดต่อเรื่องการเมืองในขณะนี้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการสะท้อนความหวังของประชาชนที่มีอยู่คือประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นต่อบทบาทหน้าที่ของศาลฎีกา ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมทางการเมือง ในขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆ เช่น กกต. วุฒิสภา และปปช. ยังคงประสบกับวิกฤตความเชื่อมั่นของประชาชน


http://www.komchadluek.net/news/2006/04-30/p1--70108.html
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: