กรุงเทพธุรกิจวันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2547
นิติฯมธ.จี้ฟ้องอาญา"ทักษิณ"อุระ หวังอ้อมกลาง" ออกเอกสารชี้แจงคดีซุกหุ้น อ้างเหตุไม่แจงหวั่นหมิ่นศาล แต่ยืนยันไม่เคยถูกเสนอผลประโยชน์ ขณะที่ 10 อาจารย์นิติฯ มธ.ออกแถลงการณ์ ตั้งข้อสงสัยคำวินิจฉัยคดี ชี้เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ "ทักษิณ" ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ด้าน กมธ.ยุติธรรม วุฒิสภา รับลูกเตรียมถกผลประโยชน์ซุกหุ้น 21 ต.ค. ระบุเป็นข้อมูลใหม่ ชี้ช่องผู้เสียหายร้องทุกข์ ฐานให้สินบนเจ้าพนักงาน
คดีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในคดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีฟ้อง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ และผู้บริหารหนังสือพิมพ์แนวหน้า กรณีการเบิกความของพยานในคดีหมิ่นประมาทที่กล่าวอ้างว่านายอุระ หวังอ้อมกลาง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ได้รับการเสนอประโยชน์จากพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงในคดีซุกหุ้นนั้น ได้มีความเคลื่อนไหวล่าสุด ในระหว่างการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วานนี้ (19 ต.ค.)
โดยนายอุระ ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่ตกเป็นข่าวได้รับการเสนอประโยชน์จากนายกรัฐมนตรี เพื่อแลกกับ 1 คะแนนเสียง ในคดีซุกหุ้น ว่า เหตุที่ไม่ออกมาแถลงข่าว เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอาญา จึงไม่ควรออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน มิเช่นนั้น จะเป็นการละเมิดอำนาจศาล
ส่วนที่มีการเสนอให้มีการรื้อฟื้นคดีซุกหุ้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ นั้น เขาไม่เห็นด้วย เพราะคดีซุกหุ้น พิจารณาเสร็จสิ้นไปนานแล้ว และแม้เขาจะเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย มีความเห็นที่แตกต่างกันในคดีดังกล่าว ก็ขอยืนยันว่า เสียงข้างมาก 8 คนได้ตัดสินคดีไปโดยเที่ยงธรรม ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนจากฝ่ายใดแต่อย่างใด และเขาก็ไม่เคยได้รับประโยชน์จากผู้ใดเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อ เพื่อให้นายอุระ ชี้แจง นับตั้งแต่ปรากฏข่าวดังกล่าว แต่นายอุระ ก็พยายามหลีกเลี่ยง และในการแจกเอกสารชี้แจงครั้งนี้ ข้อความที่ปรากฏก็เป็นลักษณะเหมือนการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แต่กลับไม่มีการชี้แจงในประเด็นว่า ได้รับการเสนอสินบนจากนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ จริงหรือไม่ และได้มีการนำเรื่องดังกล่าว ไปพูดคุยกับนายบัณฑิต ตามที่นายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายความของน.ต.ประสงค์ กล่าวอ้างจริงหรือไม่
ขณะที่นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้ว่า ศาลกำลังเจอโรคอุบาทว์ไครซิส เหมือนกับที่รัฐบาลเจอโรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นผลมาจากศาลไปตัดสินเรื่องที่หมิ่นเบื้องสูง คือ กรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ทำให้หลังจากนั้น ศาลก็มาเจออีกหลายเรื่อง อย่างกรณีซุกหุ้น ก็ไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งที่ผ่านมา 4-5 ปีแล้ว
10อาจารย์มธ.จี้ฟ้องอาญานายกฯวันเดียวกันนี้ 10 คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นายกิตติศักดิ์ ปรกติ, นายนพนิธิ สุริยะ, นางสาวจันทจิรา เอี่ยมมยุรา, นายบรรเจิด สิงคะเนติ, นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล, นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, นายณรงค์ ใจหาญ, นางสาวพิรุณา ติงศภัทิย์, นายต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ และ นายแสวง บุญเฉลิมวิภาส ก็ได้ออกแถลงการณ์ แสดงทัศนะทางกฎหมาย ต่อกรณีปัญหาจากการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรรมนูญในคดีซุกหุ้นของนายกรัฐมนตรี
โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว มีเนื้อหาแยกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1. กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายจุมพล ณ สงขลา โดยข้อเท็จจริงประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ให้การในฐานะพยานจำเลย ซึ่งนายจุมพล ก็ได้ยอมรับโดยเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ว่าได้ตัดสินโดยยึด "หลักประชาธิปไตยและหลักรัฐศาสตร์" ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิด เพราะเห็นว่าประชาชนพร้อมใจกันลงคะแนนเสียงให้พรรคไทยรักไทย 11 ล้านเสียง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 10 กว่าคนจะมาไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งได้อย่างไร
ทั้งด้วยความเกรงกลัวว่าศาลรัฐธรรมนูญถูกเผาหากตัดสินให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกจากตำแหน่ง นายจุมพล จึงตัดสินให้พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิดโดยให้เหตุผลในทางข้อกฎหมายว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มิใช่ "ผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง" ตามนัยของรัฐธรรมนูญ มาตรา 295 ที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นมีประเด็นทางกฎหมายให้พิจารณาดังนี้
1.1 เหตุผลในการวินิจฉัยคดีของนายจุมพล น่าจะมีปัญหาว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากขัดกับมาตรา 233 ซึ่งบัญญัติว่า "การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" เหตุผลแท้จริงของนายจุมพล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาชน 11 ล้านคน ลงคะแนนให้พรรคไทยรักไทย หรือเหตุผลที่กลัวว่าศาลรัฐธรรมนูญจะถูกประชาชนเผา มิใช่เหตุผลในทางกฎหมายแต่อย่างใด การตัดสินของนายจุมพล จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 233 ที่ตุลาการต้องพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเท่านั้น
1.2 เพื่อให้คำวินิจฉัยของตนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 นายจุมพล จึงวินิจฉัยว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 295 ทั้งๆ ที่นายจุมพล ได้วินิจฉัยมาโดยตลอดในคำวินิจฉัยส่วนตนว่า "แม้จะพ้นตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วก็ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน" ดังนั้นการที่นายจุมพล มีความมุ่งหมายที่ต้องการจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิดตามมาตรา 295 โดยวินิจฉัยในคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ให้แตกต่างตรงกันข้ามกับคดีอื่นๆ ที่ผ่านมา จึงเป็นการวินิจฉัยที่บิดเบือนข้อกฎหมายมาตรา 295
การวินิจฉัยของนายจุมพล ที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 233 ทำให้เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุที่อาจทำให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303 ได้
กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุระ โดยข้อเท็จจริงนายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายจำเลยได้เบิกความเป็นพยานด้วยตนเองว่า นายอุระได้เล่าให้ฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้มาพบ เพื่อขอความช่วยเหลือ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ขอคะแนนหนึ่งเสียง แล้วลูกชายของนายอุระ จะย้ายไปเป็นเลขานุการทูตที่ประเทศไหนก็ได้ ขณะที่นางเยาวภา มาพบกับนายอุระ ที่บ้านถึง 3 ครั้ง แต่นายอุระ ก็ไม่ได้ลงมติตามที่ถูกร้องขอ
หากข้อเท็จจริงตามที่นายบัณฑิต ให้การเป็นพยานในชั้นศาลเป็นความจริง กรณีนี้ย่อมถือได้ว่าการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ และนางเยาวภา เข้าองค์ประกอบการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 167 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันใดอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่น 4 พันบาท "
ในกรณีนี้ แม้ว่านายอุระ จะมิได้รับประโยชน์ และมิได้ลงมติตามที่ถูกร้องขอก็ตาม แต่การเสนอประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และนางเยาวภา หากว่าเป็นความจริงย่อมเป็นการ "ขอให้" ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด "เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ" ซึ่งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จตาม มาตรา 167 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว แม้ว่าตุลาการจะมิได้กระทำการในตำแหน่งอันมิชอบด้วยหน้าที่ เพราะความผิดอยู่ที่การขอให้ มิใช่ต้องมีการรับการให้หรือต้องดำเนินการตามที่ขอ
อย่างไรก็ตาม คำให้การของนายบัณฑิต ดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากคำเบิกความในฐานะพยานจำเลยในคดีหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นการเบิกความเพื่อพิสูจน์ให้พ้นจากความผิดอาญาของจำเลยในคดีหนึ่ง เพื่อจะพิสูจน์ความผิดของจำเลย (น.ต.ประสงค์) ในข้อหาหมิ่นประมาทว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่
ดังนั้นข้อเท็จจริงตามที่ได้เบิกความเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว ไม่ผูกพันศาลในคดีอื่นที่จะถือตาม การที่จะถือได้ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา 167 จริงหรือไม่ จึงควรได้รับการพิสูจน์ความจริงจากศาลยุติธรรม เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเพื่อเป็นการปกป้องผู้ที่ได้รับการพาดพิงถึง หรือมิเช่นนั้นก็เพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซงของอำนาจฝ่ายบริหารต่อองค์กรตุลาการ
ตอนท้ายของแถลงการณ์ ได้มีข้อเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องดังกล่าวต่อศาลอาญา เพื่อยุติความแคลงใจของสาธารณชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญและต่อนายกรัฐมนตรีในกรณีที่เกิดขึ้น และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของผู้ได้รับการกล่าวพาดพิงถึงด้วย
ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ยุติธรรม จึงขอให้มีการสรุปความจริงและชี้ขาดเพื่อความกระจ่างในข้อเท็จจริงนี้ โดยองค์กร ตุลาการอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน
กมธ.ยุติธรรมรับลูกถกซุกหุ้น21ต.ค. วันเดียวกันนี้ นายคำนวณ ชโลปถัมป์ ส.ว.สิงห์บุรี กรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา กล่าวถึงข่าวการให้สินบนในคดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณว่า ถือเป็นข้อมูลใหม่และเป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้ว และถือเป็นที่สิ้นสุดไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ แต่กรณีการเสนอผลประโยชน์ หากมีผู้ติดใจและรู้สึกว่าตนเองเสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในฐานะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา โดยผู้ที่จะเข้าร้องทุกข์จะเป็นใครก็ได้ สามารถแจ้งความกับกองปราบปรามได้เลย แต่ผลทางคดีจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการสอบสวน โดยคำเบิกความในศาลอาญาที่เบิกความไปก่อนหน้านี้ สามารถนำมาใช้เป็นพยานปากหนึ่งได้
สำหรับคณะกรรมาธิการการยุติธรรม จะพิจารณาเรื่องนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ต.ค.2547 นี้ โดยจะดูว่าควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะคดีผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว
ภาคปชช.จี้ศาลรธน.เคลียร์ตัวเอง ด้านนายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า จะเคลื่อนไหวและติดตามกรณีซุกหุ้นเพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แสดงจุดยืนที่ชัดเจน หลังจากมีข่าวการพยายามเสนอผลประโยชน์ และข่าว 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด
" เท่าที่ดู ก็เห็นว่า นายกฯ ไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา เพียงแต่อ้างว่า เรื่องอยู่ในศาล และนายอุระ ก็พยายามหลบสื่อฯ โดยไม่ชี้แจงข้อเท็จจริง และยังตั้งข้อสังเกตได้ว่าที่ผ่านมาเมื่อมีการกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญๆ ก็จะฟ้องทุกคน แต่ครั้งนี้เงียบ นี่คือความไม่ชอบมาพากล ถ้าไม่จริง ทำไม่ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้เสียหาย และเรื่องนี้นายจุมพล ก็ยอมรับ ผมยังเห็นว่า ถ้าเอาความจริงมาพูด ไม่ใช่การละเมิดอำนาจศาล แต่การพูดต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย อย่าไปล่วงละเมิดฐานหมิ่นประมาท"