ก็พอดีเห็น หลาย ๆ คนในที่นี้ยังข้องใจกัน..และเอามาแปะเพื่อให้กระจ่าง..ถ้าได้อ่านจนจบก็หวังว่าจะเข้าใจทั้งสองฝ่าย และ สุดท้าย(สำหรับฝ่ายเชียร์) ทุกอย่างยุติหมดแล้ว กกต จะเป็นชุดใหม่..ที่ทำๆ กันในพันทิพย์..ตัวเว็บพันทิพย์เองอาจจะโดนไปด้วย แม้จะไม่รู้ด้วยก็ตาม
นี่จากเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ครับ
กรณีการพิจารณาว่า "หมิ่นศาล"
(คำถามที่ถามไปยังเว็บไซต์)
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลฎีกา ได้มีการประชุมร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง จนมีข้อสรุปออกมาจากผลการวินิจฉัยของศาลปกครองแบบไม่เป็นเอกฉันท์ ให้การเลือกตั้งเมือวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ตามข่าวที่ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้วนั้น ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด มีข้อสงสัยที่อยากถามอาจารย์เพื่อเป็นความรู้ ดังนี้
1.การประชุมร่วมกันในการตัดสินคดีใดๆ นั้น ศาลทั้ง 3 มีอำนาจในการประชุมคดีกันหรือไม่ หากมีข้อโต้แย้งในการตัดสิน ผู้โต้แย้งจะสามารถอุทธรณ์ต่อศษลใดได้อีก ?
2.ในการตัดสินให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนเป็นโมฆะของศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าการจัดคูหาการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น (ไม่เป็นความลับ) ใช้หลักฐานใดในการตัดสินคดี มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ ? การตัดสินดังกล่าวจะถือว่าเป็นคำตัดสินที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือ ?
3.การออกมาพูดในเชิงกดดันของเลขานุการศาลฎีกา เพื่อให้ กกต.ลาออกนั้น เป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจของศาลฎีกาหรือไม่ ?
4.การวิพากษ์วิจารณ์ผลของคำตัดสินที่เชื่อว่าไม่เป็นธรรมนั้น จะถือเป็นการเข้าข่ายการหมิ่นศาลหรือไม่ ? และคำว่าหมิ่นศาลนั้นมีขอบเขตขนาดไหน เพียงใด ?
5.การที่บุคคลจะวิพากษ์วิจารณ์ใด ย่อมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อวิจารณ์ผลการตัดสินของศาลที่เชื่อว่าไม่เป็นธรรม กลับจะถูกศาลดำเนินคดีข้อหาหมิ่นศาลนั้น อยากทราบว่าข้อหาดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หมวดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ ?
ทั้งหมดนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อข้องใจที่ผมมีต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทาง การเมืองของประเทศไทย โดยเฉพาะศาล ที่เชื่อว่าหากศาลกระโดดลงมาเล่นเอง ตัดสินเองเยี่ยงนี้แล้ว ต่อไปเราจะมีใครเป็นที่พึ่งได้อีก
ขอขอบพระคุณสำหรับคำตอบที่จะได้รับมาล่วงหน้า
คนภูเก็ต
คำตอบ1. ถ้าเป็นการพิจารณาคดีใดคดีหนึ่ง ศาลแต่ละศาลย่อมมีอำนาจโดยอิสระที่จะพิจารณาและพิพากษาไปตามดุลพินิจของศาล นั้นเอง แต่ที่ประธานศาลทั้ง ๓ ศาลท่านมานั่งหารือกันนั้น สืบเนื่องจากพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นว่าการเมืองกำลังถึงทาง ตัน จึงฝากฝังให้ประธานศาลทั้งสามศาลซึ่งเป็นประมุขของเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจ หนึ่งในสามอำนาจของอธิปไตยไปปรึกษาหารือกัน เพื่อพิจารณาว่าจะมีส่วนช่วยเหลือให้เหตุการยุติลงได้อย่างเป็นประโยชน์ต่อ ประเทศชาติ ประมุขของทั้ง ๓ ศาลจึงไปนั่งปรึกษาหารือกัน การหารือกันนั้นมิใช่เป็นการดำเนินคดีในศาล หากแต่เป็นเรื่องของการปรึกษาหารือเพื่อหาทางออก เมื่อท่านหารือได้ข้อยุติอย่างไรท่านก็ออกมาบอกให้ประชาชนทราบ จะสังเกตเห็นได้ว่า ท่านมิได้ก้าวก่ายเข้าไปถึงอำนาจอิสระในการพิจารณาคดีของแต่ละศาล เพราะท่านได้เน้นอยู่แล้วว่า แต่ละศาลต่างรับฟังและนำไปประกอบการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของตน
ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อองค์กรที่ใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ กระทำการใดไปตามกรอบแห่งอำนาจหน้าที่ของตน ศาล ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งใน ๓ อำนาจอธิปไตย ก็มิได้ออกมายุ่งเกี่ยวด้วย คนจึงมักจะเลือน ๆ ถึงอำนาจขององค์กรตุลาการแต่ตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันมีองค์กรอื่น ๆ อีกหลายองค์กรที่มีอำนาจอิสระสอดแทรกเข้ามา และเมื่อเกิดการดำเนินการที่ไม่น่าจะถูกต้องจนเป็นปัญหาวุ่นวายขึ้น จนประชาชนส่วนไม่น้อยหมดความเชื่อถือในองค์กรอื่น ๆ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการจึงเป็นเพียงองค์กรเดียวที่เหลืออยู่ที่ผู้คนยัง เชื่อถือตามสมควร จึงกลายเป็นที่พึ่งที่จะชี้ทางออกให้แก่สังคม
2. การดำเนินการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีกฎเกณฑ์และกติกาตามที่กำหนดไว้ และเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ยุติ ผูกพันทุกองค์กรให้ต้องปฏิบัติตาม ก็ต้องยุติตามนั้น เว้นแต่ใครจะมีหลักฐานว่าศาลรัฐธรรมนูญทุจริตต่อหน้าที่ก็มีช่องทางที่จะ ดำเนินการเอากับท่านได้ การตัดสินของศาลนั้นส่วนใหญ่เมื่อเราได้รับประโยชน์หรือถูกใจเรา ก็มักจะบอกว่าศาลเป็นที่พึ่ง บริสุทธิและยุติธรรม แต่ถ้าเมื่อไรคำวินิจฉัยนั้นไม่ถูกใจ ก็มักจะนึกไปว่าไม่ยุติธรรม แต่เมื่อมีกติกาให้ถือเป็นที่สุด ก็ต้องถือกันตามนั้น จะเอาแต่อารมณ์ความถูกใจอย่างเดียวคงไม่ได้ ส่วนในทางวิชการจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปในเชิงวิชาการ
3.-4 ดูเหมือนท่านไม่ได้ทำในฐานะผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ถ้าจะว่าไปก็เป็นการแสดงความเห็นหรือรายงานผลสรุปของการปรึกษาหารือของ ประธานทั้ง ๓ ศาล
อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเรื่องในคดี และวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม ก็อาจละเมิดอำนาจศาลได้ ถ้าอยากรู้ว่าอย่างไรบ้างเป็นการละเมิดอำนาจศาล และมีโทษอย่างไร ก็ต้องไปดู ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๔ แต่เมื่ออ่านแล้ว ก็อย่าไปนอนใจว่ามีเพียงเท่านั้น เพราะผู้พิพากษาท่านก็เป็นบุคคล ที่มีสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลอื่น หากไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรในลักษณะเป็นการใส่ความท่าน ก็อาจถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทได้อีกทางหนึ่งด้วย ข้อสำคัญเวลาจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ต้องดูให้ถ่องแท้ว่าท่านพูดอย่างไร เพราะผมสังเกตดูด้วยความสนใจว่า เวลาที่คุณจรัลท่านออกมาพูดนั้น ท่านออกจะระมัดระวังถ้อยคำอย่างยิ่ง ไปตัดถ้อยคำอะไรของท่านออกไปคำหรือสองคำอันจะทำให้ความหมายเปลี่ยนไปนั้น อาจเข้าข่ายการหมิ่นประมาทเอาได้ง่าย ๆ
5.เสรีภาพในการพูดนั้น มิใช่เป็นเสรีภาพที่สัมบูรณ์ หากแต่เป็นเสรีภาพที่ควบคู่ไปกับหน้าที่ กล่าวคือ ผู้ใช้เสรีภาพนั้นมีหน้าที่ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย การวิพากษ์วิจารณ์นั้นทำได้ แต่ต้องทำด้วยความเป็นธรรม ด้วยเหตุและผล ถ้าไปกล่าวหาว่าท่านตัดสินไม่เป็นธรรม ก็เท่ากับไปกล่าวหาว่าท่านทำผิดหน้าที่ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นประมาทได้ และถ้าเป็นเรื่องในคดี ก็อาจเป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาลได้อีกด้วย
มีชัย ฤชุพันธุ์
18 พฤษภาคม 2549
ไม่รู้ผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่า..แต่ก็ยอมเอามาขายอีกรอบเผื่อจะมีคนซื้อ