http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQwNzIxMDc0OQ==&srcday=MjAwNi8wNy8yMQ==&search=no"หนุ่มเมืองจันท์"
ฉะ แฉ ฉาว
(ตัดตอนมานะคะ)
ที่ผมชอบที่สุดในเล่มก็คือเรื่อง "วิษณุ เครืองาม" ผู้สัมผัสชีวิต 7 นายกฯ 9 รัฐบาล
เป็นบทสัมภาษณ์ตอนที่ยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ยังไม่ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี
และยังไม่ได้ลาออก
เขาเล่าถึงประสบการณ์ที่ทำงานกับนายกฯ แต่ละคน
ที่ละเอียดที่สุดคือการทำงานกับ "บรรหาร ศิลปอาชา"
ครั้งแรกที่เจอกัน คือ ตอนที่ "วิษณุ" เข้าไปขอบคุณ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นที่แต่งตั้งเขาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ชาติชาย แนะนำ "วิษณุ" ให้ "บรรหาร" รู้จัก
"อาจารย์วิษณุเขามาช่วยเรา"
"บรรหาร" มอง "วิษณุ" ตั้งแต่หัวจรดเท้า
"ผมเจอมาเยอะแล้ว พวกอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มาทำงานการเมือง อีกสักพักก็เปิดไป"
"วิษณุ" เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นในใจว่า "บรรหาร" ไม่น่าจะพูดกับเขาอย่างนั้นเลย
และเมื่อวันหนึ่ง "บรรหาร" ก้าวขึ้นมาเป็น"นายกรัฐมนตรี" ตอนนั้น "วิษณุ" เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว
นายกฯ คนใหม่เรียกเขาไปพบที่บ้านจรัญสนิทวงศ์เพื่อสั่งงาน พร้อมกับบอกว่า "เลขาฯ...คนในพรรคผมเขาไม่ชอบเลขาฯ นะ ดังนั้น ลองคิดดูแล้วกันว่าจะทำอย่างไร"
"รหัสนัย" ทางการเมืองแบบนี้ "วิษณุ" ตีความออกไม่ยาก
แต่ระหว่างนั้นประมาณ 1 เดือนครึ่ง ก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เขายังคงต้องทำงานในตำแหน่งนี้
การทำงานร่วมในช่วงนั้นโดยเฉพาะการแต่งตั้งคนเป็นรัฐมนตรีทำให้ "บรรหาร-วิษณุ" เริ่มรู้ใจกันมากขึ้น
"พระท่านว่า วิสสาสา ปรมาญาติ ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างหนึ่ง" เป็นคำคมของ "วิษณุ"
จนถึงวันนี้ "วิษณุ" รู้สึกว่า "บรรหาร" คือนายกรัฐมนตรีที่เขาสนิทที่สุด
"บรรหาร" เป็นนายกฯ ที่โทร.ตามงานตลอดเวลา
2 ทุ่มก็โทร. 5 ทุ่มก็โทร. ถ้านึกอะไรได้ตอนตี 3 ก็โทร.
และแต่ละครั้งที่โทร.มาจะมาไม่พูดเรื่องงานก่อน แต่จะถามว่าทำอะไรอยู่ ดูทีวีเรื่องอะไร สนุกไหม
นอกจากนั้นยังเป็นนายกฯ คนเดียวที่ส่งการ์ดอวยพรวันเกิดของ "วิษณุ" ทุกปีไม่เคยขาด
ครับ ความประทับใจของคนเราบางทีก็เกิดขึ้นจากรายละเอียดเล็กๆ เช่นนี้เอง
แต่ "จุดเริ่มต้น" ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเกิดขึ้นในวันที่นายกฯ บรรหารนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีไปถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย
พอเข้าเฝ้าฯ เสร็จ "บรรหาร" เดินมาตบบ่า "วิษณุ"
"เลขาฯ ทำงานกับผมได้หรือไม่"
เขาหัวเราะแล้วบอกว่า "แหม ท่านนายกฯ ไม่มีผู้บังคับบัญชาทีไหนหรอกที่ถามผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะทำงานด้วยได้หรือไม่ เพราะท่านมีอำนาจสั่ง อำนาจปกครอง และอำนาจบังคับบัญชา"
"ไม่ พูดกันอย่างลูกผู้ชายดีกว่าว่าเราทำงานกันด้วยใจได้หรือไม่ อย่าพูดถึงเรื่องหน้าที่"
"บรรหาร" เล่าว่าเมื่อสักครู่นี้ในหลวงทรงรับสั่งว่าท่านนายกฯ ข้าราชการเขาไม่ได้เป็นข้าราชการของพรรคใด หรือของนายกฯ คนใด แต่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งนั้น
ใครมาเป็นนายกฯ เขาก็ทำงานให้ มันเหมือนม้า เราเป็นคนบังคับม้า
ถ้าบังคับเป็นม้าก็เชื่อง แต่ถ้าบังคับไม่เป็น ม้าก็ไม่เชื่อ
เพราะฉะนั้น บางครั้งโทษม้าไม่ได้ ต้องโทษคนบังคับม้าด้วย
นี่คือ สิ่งที่ทรงรับสั่งจากนั้น "บรรหาร" ก็ถามว่า "คุณเชื่องไหม"
"ท่านบังคับม้าเป็นไหมล่ะครับ" เขาถามกลับ
"บรรหาร" หัวเราะ จากนั้นก็ไม่มีการพูดกันเรื่องนี้อีกเลย
ครับ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานประมาณ 10 ปีแล้ว
แต่การเปรียบเปรยเรื่อง "ม้า" กับ "คนบังคับม้า" หรือ "จ๊อกกี้"
ฟังดูคุ้นๆ คล้ายเหตุการณ์ที่เกิดในวันนี้ไหมครับ
-----------------------------------------------
ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ