http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03040449&day=2006/04/04โดย รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไหนๆ ผู้เขียนก็เคยแสดงความเป็นกัลยาณมิตรกับมติชน ทั้งในยามสงบและในยาม (เกือบ) "ถูกฮุบ" มาแล้ว คราวนี้คงไม่ผิดกติกาที่จะแสดงตัวเป็นกัลยาณมิตรกับ "คมชัดลึก" ด้วย
กรณีที่เกิดขึ้นนั้น โดยกฎหมายแล้ว สถาบันเป็นสิ่งที่ใครๆ อาจเอื้อมไม่ได้
แต่ในเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ไฉนกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพฉับไว แต่ปล่อยให้มีกลุ่มบุคคลนับร้อยนับพันลุกขึ้นมาใช้กำลังข่มขู่คุกคามกับสื่อเช่นนั้น (ซึ่งเกินเลยไปจากการ "แสดงความเห็น" ต่อสื่อเป็นอย่างมาก)
แม้ความรู้สึกของผู้คนจำนวนหนึ่งจะรู้สึกเศร้าสลดใจกับกระบวนการคุกคามสื่อ จนกระทั่งคมชัดลึกต้อง "ยอมถอย" โดยการลาออกของ บ.ก. และยุติการตีพิมพ์ 5 วัน
ทว่าในการ "ยอมถอย" ครั้งนี้ กลับทำให้สังคมได้มองเห็นแสงสว่างบางอย่างที่เป็นมุมบวกต่อ "เสรีภาพของสื่อ" และสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมให้คนไทย
ประการแรก การประกาศลาออกของ บ.ก.และยุติการตีพิมพ์ 5 วัน เป็นกระบวนการตัดสินใจอย่างกล้าหาญของทีมงานคมชัดลึก
เป็นที่คาดหมายได้ไม่ยากว่า หากคมชัดลึก "ไม่ยอมถอย" เหตุการณ์ความรุนแรงน่าจะลุกลามไปอย่างกว้างขวางและยากที่จะหยุดได้ เพราะมันจะเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" ที่ไปเข้าทางของพวก "ขวาจัด" ที่จ้องจะพิฆาตเสรีชน
จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งที่คมชัดลึกยอม "เชือดเนื้อตัวเอง" เพื่อคลี่คลายปัญหานี้ทันทีโดยมิลังเล ซึ่งก็ทำให้ทุกอย่างสงบลงอย่างรวดเร็วภายในชั่วข้ามคืน
ที่จริงแล้ว ความกล้าหาญของทีมงานคมชัดลึกที่ "เชือดเนื้อตัวเอง" นี้ ว่าไปแล้วคมชัดลึกได้ตัดสินใจกระทำไปมากเกินกว่า "กติกา" ด้วยซ้ำ
กล่าวคือ หากคมชัดลึกยืนยันให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามกติกา เช่น ให้มีการดำเนินคดีทางกฎหมายก็ย่อมทำได้ แม้ว่า "ฝ่ายยุติธรรม" ในบ้านเมืองจะทำงานเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลเพียงใด แต่กระบวนการ "เอาผิด" กับคมชัดลึกก็จะต้องกินเวลาไปอีกพอสมควร
แต่คมชัดลึกก็ตัดสินใจ "เชือดเนื้อตัวเอง" ทันที ก่อนที่กระบวนการทางกฎหมายจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ
หรือหากมีการนำประเด็นของคมชัดลึกไปร้องเรียนต่อสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (สนช.) กล่าวหาว่า คมชัดลึกกระทำผิดต่อจริยธรรม สนช.ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการวินิจฉัย
และคำวินิจฉัยของ สนช.หากคมชัดลึกทำผิดจริง ก็จะถูกลงโทษเพียงแค่ประกาศให้สาธารณชนรับทราบว่า คมชัดลึกทำอะไรผิด เพราะอะไร--ถือเป็นการแถลงให้ได้อาย
โทษลาออก หรือปิดโรงพิมพ์นั้น ไม่มีอยู่ในข้อบังคับของ สนช. แต่เป็นสิ่งที่คมชัดลึกเลือกที่จะยุติปัญหาโดยลงโทษตัวเอง
ความเป็นสุภาพชนผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมของคมชัดลึก จึงเป็นความดีงามของสื่อมวลชนที่ควรค่าแก่การจารึกเอาไว้
ประการที่สอง ที่เป็นมุมบวกจากเหตุการณ์ปิดล้อมอาคารเนชั่นก็คือ สังคมได้เรียนรู้ว่าความขัดแย้งในสังคม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และจัดการได้
เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องเผชิญหน้ากับประเด็นขัดแย้งนั้นอย่างตรงไปตรงมา ใช้เหตุและผลในการมองหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
มิใช่หลบฉากซื้อเวลา แล้วสร้างประเด็นอื่นๆ มากลบ เพื่อให้คนลืมความขัดแย้งนั้น ทว่าปัญหาที่แท้จริงไม่เคยถูกแก้ไขเลย
ประการสุดท้ายที่เราต้องยินดีก็คือ จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เรามองเห็นว่า "ม็อบประชาชน" บางม็อบนั้น มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่สู้จะตรงไปตรงมา
พูดอีกอย่างคือ "ยังทำได้ไม่เนียน"
ม็อบอีแต๋น ตอนเข้ากรุงเทพฯ นอกจากมีอาหารการกินต้อนรับตามหัวเมืองต่างๆ แล้ว ยังมีรถตำรวจทางหลวงนำขบวนตลอดทางเข้ากรุงเทพฯให้ด้วย บางจังหวะมี ส.ส.หรือรัฐมนตรีมาคอยอำนวยการมิให้ขาดเหลือ
ขณะที่กลุ่มนักศึกษารามฯ จะขึ้นรถเมล์จากรามฯไปที่ราชดำเนิน กลับถูก "ใครไม่รู้" ขัดขวางการเดินทาง จนนักศึกษาต้องเดินเท้าไปหาประชาชน โดยไม่มีคนของรัฐสักคนเดียวออกมาเต้นที่จะ "เอาผิด" กับผู้ที่ขัดขวางการเดินทางโดยเสรีของนักศึกษาเหล่านั้น
นอกจากนี้เมื่อม็อบพันธมิตรสร้างสรรค์กิจกรรมอะไรขึ้นมา เช่น กิจกรรม "ดาวกระจาย" เยี่ยมสีลม ประท้วง กกต. หรือประท้วงไอทีวี ม็อบอีกกลุ่มหนึ่งก็ "ก๊อบปี้" กิจกรรมเหล่านั้นบ้าง เช่น ดาวกระจายไปโกนหัวประท้วงที่ธรรมศาสตร์ หรือปิดล้อมคมชัดลึก
หรือขณะที่ม็อบพันธมิตรถูกคุณทักษิณถากถางอย่างซ้ำซาก ทุกวี่ทุกวัน เช่น ไม่เคารพกติกา สร้างความวุ่นวาย ฯลฯ แต่อีกม็อบหนึ่งแม้จะปิดถนน และปิดล้อมอาคาร ฯลฯ แต่กลับไม่เคยถูกคุณทักษิณพูดถึงเลย มิหนำซ้ำคุณทักษิณยังแวะไปเยี่ยมเยียนก่อนม็อบจะเข้ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้ เป็นมุมดีๆ ที่คมชัดลึกช่วยทำให้สังคมได้เรียนรู้
สังคมไทยต้องมีสื่อที่มุ่งมั่นต่อจรรยาบรรณเช่นนี้ เพื่อเป็น "แบบอย่างที่ดี" ให้แก่ "คนทุกระดับ" ในสังคม