มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลรักษาการทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ในการแต่งตั้งนายรองพล เจริญพันธ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และแต่งตั้ง พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอย่างมากมายว่า รัฐบาลรักษาการมีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน และเป็นผู้รักษากฎหมาย กติกา มารยาทที่เป็นหลักชัยในการบริหารบ้านเมืองมากน้อยแค่ไหน
ลำพังเพียงแค่ความเหมาะสมที่มีการแต่งตั้ง นายรองพลผู้ซึ่งเคยเป็นประธานในการตรวจสอบสัญญาของไอทีวีที่กลุ่มตระกูลของนายกรัฐมนตรีถือหุ้นแล้วมีปัญหาในการแก้สัญญาสัมปทานกับรัฐจนทีวีเสรีกลายเป็นทีวีของเอกชนก่อนที่จะขายให้กับกลุ่มทุนสิงคโปร์และการแต่งตั้ง พล.ต.ต.พีรพันธุ์ อดีตเลขาฯ ปปง.ที่ใช้อำนาจกระบวนการของ ปปง.ไปจัดการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสื่อมวลชน นักการเมือง เอ็นจีโอ ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แถมปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลเรื่องข้อสัญญาของไอทีวีกับสำนักปลัดสำนักนายกฯ ท่ามกลางข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนรัฐบาลรักษาการก็ยากที่จะตอบคำถามต่อสาธารณะแล้วว่ามีความเหมาะสมแค่ไหนกับการแต่งตั้งกลุ่มเครือข่ายเข้ามากำกับดูแลหน่วยงานสำคัญของบ้านเมือง
แต่โจทย์ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลรักษาการชุดนี้จักต้องตอบคำถาม และ ต้องหันมาทบทวนบทบาทของตัวเองให้มากที่สุดคือ รัฐบาลที่เป็นเสมือนตัวแทนของประชาชนเข้ามาบริหารจัดการ สร้างกลไก กติกาให้กับ บ้านเมือง ได้ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่
เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 7 ตามมาตรา 215 กำหนดไว้ชัดเจนใน (2) ที่ระบุว่า เมื่ออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจะใช้อำนาจแต่งตั้งหรือย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งมิได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
จะเห็นได้ว่า รัฐบาลรักษาการชุดนี้กลับเพิกเฉยไม่ได้รักษากฎหมายใดๆ ที่เป็นหลักชัยเป็นมาตรฐานการปฏิบัติของบ้านเมืองแม้แต่น้อย ขณะที่ กกต.เองในฐานที่เป็นผู้รักษากฎหมายก็ละเลยในการเล่นตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานไป
ขณะที่คนไทยและหน่วยงานรัฐอีกจำนวนไม่น้อยก็ได้แต่ยืนมอง ปล่อยให้คณะรัฐบาลรักษาการดำเนินการแต่งตั้งใครต่อใครในห้วงสุญญากาศทางการเมือง แถมยังบอกว่าจะแจ้งให้หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติภายหลังก็ได้ กฎหมายรัฐธรรมนูญของบ้านเมืองนี้กลายเป็นไม้หลักปักขี้เลนไปหมดแล้ว
การเมืองไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ ปัญหาเรื่องการที่ระบบเหตุผลทางการเมืองกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายบางประการ (instrumental rationality) มากกว่า เป้าหมายที่จะบรรลุซึ่งเสรีภาพ และกลไกที่พยายามสร้างให้คะคานกัน
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถูกออกแบบและประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นว่าจะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ส่งเสริมระบบการบริหารจัดการประเทศมีเหตุมีผลกลับถูกฉีกทิ้งอย่างไม่มีเยื่อใยจากรัฐบาลที่มุ่งเน้นสนองความต้องการของคนใดคนหนึ่งไปแล้ว
http://www.posttoday.com/newsdet.php?sec=editorial&id=107021