โทษใครไม่ได้อีกแล้ว
ย้อนกลับไปถึงวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษา การนายกรัฐมนตรี ประกาศลาพัก เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หยุดทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วระยะหนึ่ง ใช้เวลาไปกับการเก็บตัวอยู่ที่ทำการพรรคเดิมบ้าง ช้อปปิ้ง ดื่มกาแฟ ตามศูนย์การค้าบ้างนั้น ทำให้สถานการณ์ที่ตึง เครียดผ่อนคลาย จนถึงเดือนมิถุนายน อันเป็นวาระมหามงคลที่คนไทยทั้งประเทศมีส่วนร่วมในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีความสุขกันถ้วนหน้า นักการเมืองต่างก็สงบปาก สงบคำ ทำให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ปัญหาและความวุ่นวายที่นำไปสู่ความเสียหายจะหยุดลงได้ หากนักการเมืองโดยเฉพาะ พ.ต.ท. ทักษิณ ลดบทบาทลง
ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่าเดือนกรกฎาคมจะกลับมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ระบอบทักษิณ อีกครั้ง แต่ยังไม่ทันถึงกำหนดดังกล่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เปิดประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมทันที โดยกล่าวระหว่างประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานในช่วงรัฐบาลรักษาการตอนหนึ่งว่า ความวุ่นวายเกิดจากหลายอย่าง เมื่อใดองค์กรตามปกติถูกองค์กรที่นอกระบบครอบงำ หรือมีอิทธิพลมากกว่าองค์กรปกตินั้นวุ่นวาย แปลชัด ๆ คือวันนี้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญ คือบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป ไม่เคารพกติกา หลายฝ่ายหลายองค์กรไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามหน้าที่ที่ต้องทำ บางคนไม่พอใจกติกาแต่จะขอให้แก้กติกานอกระบบประชาธิปไตย นอกระบบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นไปไม่ได้ ผู้เสียผลประโยชน์ใช้กฎหมู่ แต่ไม่มีคนบังคับใช้กฎหมาย ในที่สุดก็กลายเป็นเรื่องการสร้างความวุ่นวาย
อันที่จริงก่อนหน้านั้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เตรียมแผน พิทักษ์เมือง เพื่อป้องกันปัญหาความวุ่นวาย กรณีเกิดการยุบพรรคการเมือง และมีรายงานว่ากระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้จังหวัดต่าง ๆ ทบทวนแผนป้องกันเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น จนน่าวิตกต่อสถาน การณ์เผชิญหน้าที่อาจมีขึ้นได้ การกล่าวอ้างถึงบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวาย ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นก่อนที่นายกรัฐมนตรีลาพักจะหวนกลับมาอีก
เหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เริ่มส่งผลร้ายให้เห็นขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะชะลอตัว การสำรวจความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลมีคะแนนตกลงเรื่อย ๆ การเลือกตั้งที่เสนอเป็นวันที่ 15 ต.ค. 49 ก็เริ่มเป็นที่กังวลกันว่าจะมีได้หรือไม่ ระบบการเมืองจะเกิดช่องว่างมากมาย ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลรักษาการจะต้องทำหน้าที่ไปอีกโดยไม่รู้จะสิ้นสุดหรือมีรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อใด ปัจจัยเพียงเท่านี้ก็ย่ำแย่แล้ว หากจะมีปัญหาใหม่การเผชิญหน้า การแตกแยก คงเสียหายยิ่งกว่า ทั้งหมดนี้คงจะโทษใครไม่ได้ ถ้านายกรัฐมนตรียังไม่ยุติบทบาทลง.
ข่าวบทความการเมือง โดย นสพ.เดลินิวส์ ลิงค์มาจาก
http://www.norsorpor.com/go2.php?u=http%3A%2F%2Fwww.dailynews.co.th%2Fdailynews%2Fpages%2Ffront_th%2Fpopup_news%2FDefault.aspx%3FColumnId%3D24034%26amp%3BNewsType%3D2%26amp%3BTemplate%3D1บทความสรุปส่งท้าย โดนใจน่าคิดมากครับ เพราะตอนนี้ประชาชน หายใจไม่เต็มปอดกันแล้ว
จะทำอะไรก็ไม่ค่อยสบายตัว ห่วงว่าพรุ่งนี้อนาคตประเทศ จะไปทางใดกันแน่