ประภัสร์ ไม่เห็นด้วยกับ BRT
BRT ประชันโฉม METRO ใครตัวจริง.....ใครตัวปลอม
ในการเสวนาเรื่อง BRT ประชันโฉม METRO ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) มีประเด็น ฮอต ที่กระชากใจผู้คนในเมืองใหญ่หลายประการด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมของ
ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) ที่ออกมาท้าทายโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษของผู้ว่า ฯ อภิรักษ์โกษะโยธินว่า เจ๊งมากกว่าเจ๋ง หรือแนวคิดของ ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมการศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ที่เสนอให้เก็บค่าที่รถยนต์ส่วนตัวของคนกรุงเทพวันละ 50 บาททั้งในที่บ้านและที่สาธารณะเพื่อนำเงินลงทุนรถไฟฟ้าของรัฐบาลได้ทุกระบบ เป็นต้น
**ขนส่งมวลชน สิ่งจำเป็นของคนเมือง
สมเกียรติ พงษ์กันทา ที่ปรึกษา บ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความจำเป็นในการสร้างระบบขนส่งว่า ระบบขนส่งมวลชน ถือเป็นส่วนหนึ่งในความสุขของชุมชนเมือง เนื่องจากสามารถช่วยลดความเครียดจากวิกฤติการจราจรที่นำมาซึ่งโรคหัวใจและอีกสารพัดของคนเมือง
ทั้งนี้ ระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าสามารถขนคนได้มากถึง 50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง โดยต้องการทางกว้างเพียง 9 เมตร ขณะที่รถเมล์ต้องการ 35 เมตรc]tรถยนต์ส่วนบุคคลต้องการ 175 เมตร ที่สำคัญคือ เกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าทางถนนอย่างน้อย 12 เท่า กล่าวคือมีอัตราการเสียชีวิต 0.48 คน ต่อ 1,000 ล้านคนต่อกิโลเมตร ในขณะที่ทางถนนตาย 6 คน สามารถขนผู้โดยสารทั่วโลกเฉลี่ยมากกว่า 150 ล้านคน
สำหรับในด้านการใช้พลังงาน รถไฟฟ้าในเมืองใช้พลังงานน้อยกว่ารถยนต์ 5 ถึง 20 เท่า รถไฟฟ้าชานเมืองใช้พลังงานน้อยกว่ารถยนต์ 3 ถึง 17 เท่า รวมทั้งสามารถลดปัญหาการจราจรโดยลดปริมาณลดยนต์
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยังข้องใจและไม่เข้าใจก็คือ ทำไมถนนสุขุมวิท และถนนรัชดาภิเษกรถยังติดอยู่ทั้งๆที่มีรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว สมเกียรติให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การจัดระบบขนส่งมวลชนควรมีการพัฒนาบุคลากรเพราะปัจจุบันต้องซื้อทุกอย่างตั้งแต่ที่ปรึกษา ราง ล้อ ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วงประเทศไทยมาก รวมถึงต้องพัฒนาระบบคมนาคม โทรคมนาคม การตรวจสอบความปลอดภัยของผู้โดยสาร การก่อการร้าย อุตสาหกรรมด้านนี้ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ของการก่อการร้ายด้วย
**เสนอเก็บค่าจอดรถคนกรุงวันละ 50 บาท
ทีนี้ ก็มาถึงไอเดียเด็ดของ ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมการศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ที่เสนอให้เก็บค่าจอดรถคนกรุงเทพวันละ 50 บาทกันบ้างว่า เป็นอย่างไร
ผศ.ดร.สิทธาขยายความว่า ระบบขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถบีอาร์ทีหรือเมโทร ต่างก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองแต่ไม่สามารถทำให้การใช้ลดยนต์ลดลงได้ ดังนั้น แก้ปัญหาจราจรติดขัดไม่ได้จึงต้องใช้มาตรการด้านอื่นจัดการแทน
กล่าวคือ ภาครัฐควรจัดเก็บภาษีค่าจอดรถยนต์ส่วนบุคคลกว่า 3 ล้านคัน ใน กทม. จำนวน 20 บาทต่อคันต่อวัน คิดเป็นเงิน 12,000 ล้านบาทต่อปี มาดำเนินโครงการบีอาร์ที 120 กิโลเมตร หรือเก็บภาษีจำนวน 50 บาทต่อคันต่อวัน จะได้เงิน 30,000 ล้านบาทต่อปี เพียง 7 ปี ก็สามารถลงทุนในทุกโครงการที่ภาครัฐวางแผนไว้ได้ทุกเส้นทาง
การจะลงทุนระบบขนส่งมวลชนไม่ว่าระบบ บีอาร์ที หรือ รถไฟฟ้า ผู้ลงทุนต้องประเมินว่า เมื่อลงทุนไปแล้ว ในอนาคตระบบดังกล่าวจะรองรับปริมาณผู้ใช้และการจราจร ที่จะแออัดเพิ่มสูงขึ้นได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ต้องมีการวางแผนการเดินทางสำหรับทุกกลุ่มคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และที่สำคัญที่สุดนักการเมืองต้องกล้าเปลี่ยนแปลงการทำงาน
**ผู้ว่าฯ รฟม.ค้านบีอาร์ทีกทม.
ขณะที่ ประภัสส์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) ฟันธงตรงไปว่า โครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะจะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการความจุไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ขณะที่ก่อนจะมีการลงทุนในโครงการดังกล่าวทาง กทม. ควรจะมีการทดลองระบบก่อนว่า รถบีอาร์ที จะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่
โดยส่วนตัวเห็นว่า รถบีอาร์ทีควรเป็นระบบ Feeder ที่อยู่ข้างนอกไม่ใช่ในเมือง และการจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนใช้รถส่วนตัวให้มาใช้รถบีอาร์ทีไม่ง่ายเลย ระบบตั๋วร่วมที่จะใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าก็ควรที่จะคุยให้ชัดเจนว่าเป็นร่วมแบบไหนเสียค่าแรกเข้าครั้งเดียวหรือใช้ได้ตลอดหรือต้องเสียทุกครั้งแต่ใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียว ผมกลัวว่ารถบีอาร์ทีที่อื่นประสบความสำเร็จจริงแต่เมื่อนำมาใช้ที่กทม.อาจไม่ประสบความสำเร็จ
ประภัสร์กล่าวอีกว่า ปัญหาระบบขนส่งมวลชนของไทยเป็น เพราะนโยบายทางการเมืองของรัฐบาล มีทิศทางที่ไม่ชัดเจน และสับสน เช่น ไม่สนับสนุนให้นำเงินกองทุนน้ำมันกว่า 4 หมื่นล้านบาทมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้า , การสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ติดก๊าซเอ็นจีวี และรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์) ซึ่งเป็นนโยบายสวนทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในปัจจุบันที่ควรลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล หรือนโยบายตั๋วร่วมระหว่างบีทีเอสกับรฟม. เพราะหากค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยระบบรางมีต้นทุนสูงกว่า ค่าใช้จ่ายด้วยรถส่วนบุคคล ย่อมส่งผลให้ประชาชนไม่นิยมใช้บริการ
**เชียงใหม่เดินหน้าบีอาร์ที ดร. รังสรรค์ อุดมศรี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ หัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทและออกแบบการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่(BRT) เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่ารถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีมีความเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุนในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่เนื่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่มีมติไม่ให้สร้างรถไฟฟ้า และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบหลายด้านแล้วรถบีอาร์ทีจึงลงตัวที่สุดโดยมีโครงข่าย 4 เส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่เขตเมือง 150 ตารางกิโลเมตร รองรับผู้โดยสารสูงสุด 301,400 เที่ยวต่อคนต่อวัน คาดว่าจะมีผู้โดยสารเต็มระบบในปี 2563
ทั้งนี้ แต่ละเส้นทางในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้ใช้บริการอยู่ระหว่าง 2,500-7,500 คนต่อชั่วโมงซึ่งจะทำให้สัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27.5 จากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 8 จะช่วยทำให้ลดปัญหาวิกฤติจราจร พลังงาน และสิ่งแวดล้อมอย่างได้ผล มีการใช้ระบบขนส่งอัจฉริยะ ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ โดยแบ่งงบประมาณในการลงทุน 2 เฟส คือ เฟสแรก
8,041.8 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี จากระยะทาง 50 กิโลเมตร และ 10 ปีหลังในเฟสที่ 2 อีก 50 กิโลเมตร ทั้งนี้ตั้งเป้าจะมีประชาชนมาใช้บริการร้อยละ 30 ในส่วนของรถ 4 ล้อแดงนั้นจะให้เป็น Feedder ขนคนเข้าระบบบีอาร์ที
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แผนแม่บทรถบีอาร์ทีเมืองเชียงใหม่ได้ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) แล้ว
**กทม.โต้เดือด BRT เจ๋งจริง
หลังจากผู้ว่าฯ รฟม.ออกมาให้สัมภาษณ์ วันต่อมา พนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็ออกมาตอบโต้โดยยืนยันว่า รถเมล์ด่วนพิเศษ BRT เป็นทางเลือกหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนเพื่อแก้ปัญหาจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเดินหน้า BRT สายแรก จากช่องนนทรีย์-ราชพฤกษ์ ให้แล้วเสร็จกลางปีหน้า และผลักดัน BRT สายที่ 2 จากหมอชิต - ศูนย์ราชการแห่งใหม่ แจ้งวัฒนะ แม้ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะออกมาระบุว่า BRT อาจไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
ทั้งนี้ ขอยืนยันอีกด้วยว่า การผลักดัน BRT ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ กทม. ต้องการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ทั้งยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่ง BRT ใช้เงินลงทุนเพียง 100 ล้านบาท/กิโลเมตร ถูกกว่าการสร้างรถไฟใต้ดินถึง 30 เท่า และจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีครึ่งขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดิน ใช้เวลาสร้างนานถึง 4 ปี จึงต้องการให้นายประภัสร์กลับไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ BRTให้ครบถ้วน และให้มีการเปิดบริการ BRT ก่อน แล้วจึงค่อยออกมาแสดงความคิดเห็นว่าโครงการดังกล่าวล้มเหลว
ข้อมูลของประภัสร์ เป็นข้อมูลเก่า น่าจะกลับไปศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน อย่าเพิ่งมาบอกว่าโครงการบีอาร์ทีจะล้มเหลว ขอให้กทม.ได้เปิดใช้บีอาร์ทีสายแรกก่อนแล้วค่อยมาวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกทม.ก็พร้อมจะรับเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ตอนนี้ยังไม่ทันได้เห็นก็วิจารณ์ก่อนแล้ว เรื่องตัดกระแสจราจรก็ไม่กระทบมาก เพราะตัดแค่ 3 แยกเท่านั้นคือบนถนนนราราธิวาสฯ 2 แยก และอีกแห่งคือที่ถนนพระราม 3 ตัดนราธิวาสฯ ส่วนจะให้นำเอารถเมล์ขสมก.มาทดลองวิ่งก่อน มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะประสิทธิภาพรถมันต่างกัน อีกทั้งยังไม่ได้มีการก่อสร้างสถานีเกาะกลางก็จะไม่ปลอดภัยกับประชาชน รองผู้ว่าฯกทม.สรุป.-
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์มาจากที่นี่อีกที
http://www.thainhf.org/index.php?module=news&page2=detail&id=118