สังคมแห่งการคลิก ดร.อุทัย ดุลยเกษม
ท่านผู้อ่านที่ฝืนใจอ่านข้อเขียนของผมในเล่มนี้ คงรู้สึกได้ว่าพักหลังๆ นี้ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องการหย่าร้าง และปัญหาในครอบครัวบ่อย... ซึ่งผมต้องยอมรับว่า เป็นความจริง
เหตุผลก็เพราะผมเห็นว่าเรื่องของความเป็นปึกแผ่นของระบบครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก หากระบบครอบครัวอ่อนแอหรือพังทลายแล้ว ปัญหาอื่นๆ จะตามมามากมาย
ผมคิดว่าถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนกันอย่างถึงรากถึงโคน คงไม่มีหนทางใดดีไปกว่าการทำให้ระบบครอบครัวเป็นปึกแผ่น และได้ทำหน้าที่ของความเป็นครอบครัวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมอ่านสถิติเกี่ยวกับอัตราการหย่าร้างในสังคมไทยในรอบ 10 ปี (2535-2544) เห็นสถิติแล้วก็ตกใจ เพราะอัตราการหย่าร้างในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มขึ้นมากจนน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีหลังๆ ตัวเลขสถิติที่สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทยรายงานนี้เป็นการหย่าร้างที่เป็นทางการเท่านั้น
... ในปี 2535 อัตราการหย่าร้างมีเพียง 9.7%
ในปี 2540 อัตราการหย่าร้างสูงขึ้นเป็น 18.7%
... และในปี 2544 อัตราการหย่าร้างสูงขึ้นเป็น 23.4%
ผมจึงพยายามวิเคราะห์แบบไม่เป็นระบบนักว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็พบว่าน่าจะมีผลมาจากกระแสโลกาภิวัฒน์มากกว่าเหตุอื่น ที่ผมเห็นอย่างนี้ก็เพราะ ประการแรกกระแสโลกาภิวัฒน์ได้สร้างระบบคุณค่าอย่างใหม่ขึ้นหลายอย่าง และมีอิทธิพลต่อผู้คนจำนวนมาก ระบบคุณค่าที่ว่านี้ได้แก่
ระบบคุณค่าแบบฉาบฉวยผิวเผิน ทุกวันนี้เราจะสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่า ผู้คนจำนวนมากนิยมทำสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผินฉาบฉวย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การทำงาน การคบเพื่อน การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นต้น ล้วนแต่ฉาบฉวยผิวเผินกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก
ระบบคุณค่าแบบเน้นความรวดเร็ว โดยเฉพาะความรวดเร็วในการได้รับผล เราเห็นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่น การเดินทางก็นิยมการเดินทางแบบเร็วๆ การเรียนหนังสือก็นิยมการจบเร็วๆ การตรวจคนไข้ก็ยมตรวจเร็วๆ การทำธุรกิจอยากรวยเร็วๆ การเป็นนักการเมืองก็อยากมีอำนาจ และตำแหน่งหน้าที่สูงเร็วๆ เป็นต้น การนิยมความรวดเร็วนี้มิได้สนใจว่าผลที่ได้รับจะมีคุณภาพหรือไม่ เพราะไม่สำคัญ ดังที่นักธุรกิจชื่อดังหลายคนกล่าวว่า เก่งไม่กลัว กลัวช้า เป็นต้น
ระบบคุณค่าแบบเห็นแก่ได้ ไม่ว่าในเรื่องอะไร เมื่อลงมือทำก็จะคิดเฉพาะประโยชน์ที่ตนเองและพวกพ้องจะได้รับ แม้ว่าการได้รับประโยชน์นั้นจะเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นก็ตาม เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นทั้งในแวดวงธุรกิจ การเมือง และราชการ
ระบบคุณค่าแบบคลิก (Click) หมายความว่า เมื่อไม่ชอบใจก็ 'คลิก' ทิ้งคำว่า 'คลิก' นี้ เป็นมือชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า Remote Control เช่นเราใช้รีโมตในการเปิดปิดและเปลี่ยนช่องโทรทัศน์นั่นแหละ เวลาเราไม่ชอบรายการใดก็คลิกเปลี่ยนช่องทันที และหากอยากกลับมาดูอีกก็คลิกได้อีก
วัฒนธรรมการคลิกนี้กลายเป็นระบบคุณค่าที่คนจำนวนมากดูดซับไปโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเวลาไม่ชอบใจอะไรก็เปลี่ยนได้ง่ายๆ เหมือนการเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นการ 'คลิก' กันมากในกลุ่มเพื่อนทั้งชายและหญิง คนบางคน 'คลิก' บ่อยมากจนตามไม่ค่อยทัน ไม่เชื่ออ่านข่าวพวกดาราหรือลูกท่านหลายเธอที่มีเงินมีทองมากมากดูเถิด
เมื่อวัฒนธรรมการ 'คลิก' บวกเข้ากับระบบคุณค่านิยม 'ความฉาบฉวย' และระบบคุณค่านิยม 'ความเร็ว' เรื่องที่ไม่เคยเกิดมาก่อนก็ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ว่าจำเพาะเรื่องการหย่าร้าง เราก็เห็นได้ชัดว่าผู้คนจำนวนมากในยุคนี้ตกลงใจเป็นคู่ผัวเมียกันได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก และเมื่อไม่ชอบใจก็ 'คลิก' เปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ที่เห็นอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
การ 'คลิก' เพื่อเปลี่ยนคู่นั้นอาจกระทำได้ง่าย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับมีมากมาย เช่น สถิติจากกองวิชาการและแผนงาน กรมประชาสงเคราะห์ ได้รายงานว่า ในการสำรวจสถานการณ์เด็กถูกทอดทิ้ง (0-6 ปี) ในสถานสงเคราะห์ 21 แห่งที่อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ ... เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33.5 ในปี 2541 และจากการสำรวจจำนวนเด็กแรกเกิดถูกทิ้งในโรงพยาบาลรัฐรวม 40 แห่ง ... จาก 90 ต่อเด็กแสนคนในปี 2539 เพิ่มเป็น 120 ต่อเด็กแสนคนในปี 2541
สถิติเหล่านี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของความเป็นจริงเท่านั้น แต่ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจนัก เพราะคนส่วนใหญ่ก็นิยมความฉาบฉวยอยู่แล้ว หรือที่พอมีความอาทรอยู่บ้างก็จะช่วยเหลือ ในลักษณะฉาบฉวยเช่นบริจาคเงินสงเคราะห์ให้เท่านั้นเอง
ผมรู้สึกว่าการมีคู่ของผู้คนในยุนี้คล้ายๆ กับการเป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้น เมื่อแรกเห็นก็ชอบใจหลงใหลอยากได้เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ แต่เมื่อได้มาเป็นเจ้าของแล้ว ก็ชื่นชมอยู่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อหมดความชื่นชมแล้วก็ต้องการเปลี่ยนใหม่ คล้ายกับการเป็นเจ้าของรถยนต์หรือเครื่องประดับยังไงยังงั้น คนที่เก็บทั้งของเก่าไว้ และสามารถหาของใหม่มาเพิ่มได้ก็ทำทั้งสองอย่าง เราจึงเห็นคนบางคนมีรถยนต์หลายคัน มีนาฬิกาหลายเรือน มีเครื่องประดับหลายชุด
แต่ของจำพวกนี้ไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก แต่ในกรณีของคนนั้น คนเราไม่สามารถทนต่อการที่จะเป็นเพียงเครื่องใช้หรือเครื่องประดับสำรอง การระหองระแหงและความบาดหมางต่างๆ จึงเกิดขึ้นและนำไปสู่การแตกหักหย่าร้างในที่สุด
ผมคิดว่า ในยุคนี้อาจมีความจำเป็นอย่างมากที่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางสังคมชนิดอื่นๆ จักต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการช่วยให้ผู้ที่จะเริ่มมีครอบครัวได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การ 'มีคู่' ก็คือ การที่มีสมาชิกสองคนที่ตกลงใจร่วมมือร่วมใจกันสร้างองค์กรที่เรียกว่า 'ครอบครัว' ให้เป็นปึกแผ่น เฉกเช่นเดียวกับสมาชิกของบริษัทห้างร้าน ในการกระทำใดๆ สมาชิกทั้งสองคนจะต้องไม่คิดถึงตนเอง ให้มากกว่าคิดถึงเป้าหมายขององค์กร หากทำได้เช่นนี้ความขัดแย้งจะลดน้อยลงมากทีเดียว
ผมคิดว่าผู้คนจำนวนมากไม่ค่อยได้คิดเรื่องเป้าหมายของการมีครอบครัวมากไปกว่าการได้มีคู่ที่ตนเองรักใคร่ชื่นชม เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือการสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นก็คิดกันน้อย หาไม่ไฉนเลยอัตราการหย่าร้างจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ
น่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต่อเนื่องเพื่อให้ระบบครอบครัวไทยเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นขึ้น หากเราปล่อยปละละเลยไม่รีบหาทางแก้ไขก็เท่ากับว่าเรากำลังช่วยกันสร้างปัญหาสังคมให้ขยายวงกว้างขึ้น และเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นด้วย ดังจะเห็น ได้จากสถิติการใช้ยาและสารเสพติดของนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกจากระบบคุณค่าที่เกิดจากวัฒนธรรม 'คลิก' แล้วสังคมปัจจุบันนี้ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมแห่งการ 'รูด' ด้วยก็ยังได้ เพราะทุกวันนี้ผู้คนใช้วิธีรูดบัตรกันเป็นว่าเล่น หลายคนอาจไม่คิดว่าวัฒนธรรมการรูดบัตรมีนัยอะไร แต่ผมกลับเห็นว่าวัฒนธรรมการรูดบัตรนี้เป็นการสร้างระบบคุณค่าแห่งความฉาบฉวย ทำให้ไม่เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เช่นทำให้คนเรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างที่มาของเงิน (รายได้) และสัดส่วนของจำนวนเงินที่เรามีกับค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายออกไป (รายรับ-รายจ่าย) เป็นเหตุให้เราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเงินของเราได้ สำหรับคนรวยคงไม่มีปัญหามากเท่ากับคนที่ไม่รวย แต่ใช้ชีวิตแบบคนรวย
เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้เท่าทันกับสิ่งเหล่านี้ สังคมเราก็จะเผชิญปัญหามากมาย ผมยังมีความเชื่อมั่นในระบบครอบครัวว่าจะเป็นแกนของการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน จึงอยากเห็นระบบครอบครัวเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่น เพื่อจะช่วยให้ปัญหาสังคมหลายๆ ปัญหาลดน้อยลง
เราในฐานะพ่อแม่หรือนักวิชาชีพ วิชาการทั้งหลายคงต้องลงมือปฏิบัติการ เพื่อแก้ปัญหานี้กันอย่างจริงจังเสียละกระมัง
(update 5 มกราคม 2004)
[ ที่มา... กรุงเทพวันอาทิตย์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 5483 (360) วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ]
http://www.elib-online.com/doctors47/family_click001.html