พระสงฆ์กับการเมือง
เขียนโดย Webmaster
Sunday, 24 August 2008
การ เมือง คืองานของรัฐหรืองานของแผ่นดินโดยเฉพาะ ได้แก่การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม สร้างสรรค์ประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงของประเทศชาติ โดยเนื้อแท้จึงเป็นสิ่งที่ทั้งดีงาม และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมกันนั้นก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องมีผลกระทบถึงบุคคลทุกคนในชาติบ้านเมือง นั้น ๆ ด้วยเหตุนี้การเมืองจึงเกี่ยวข้องกับทุกคน
ในทางกลับกัน บุคคลทุกคนก็เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย ทุกคนย่อมมีหน้าที่ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม บทบาทของบุคคลต่อการเมืองย่อมต่างกันไปตามภาวะและสถานภาพของตน "พระสงฆ์" ก็เป็นบุคคลประเภทหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่จำเพาะในทางการเมือง บทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ในทางการเมืองก็คือ " การแนะนำสั่งสอนธรรมเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะการแสดงหลักการปกครองที่ดีงาม ชอบธรรม และเป็นธรรม สอนให้นักการเมืองหรือผู้ปกครองเป็นนักการเมืองหรือผู้ปกครองที่ดีมีคุณธรรม ดำเนินกิจการเมืองและปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน" เมื่อทำหน้าที่นี้ พระสงฆ์เองก็จำเป็นที่จ้องตั้งอยู่ในธรรม คือมีความเป็นกลางที่จะแสดงธรรมเพื่อมุ่งประโยชน์สุขของประชาชน มิใช่เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์สุขส่วนตัว แก่บุคคล กลุ่มคน หรือฝ่ายหนึ่งพวกใด และในทางกลับกัน ก็มิใช่เพื่อได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนเอง อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือการที่จะต้องรักษาความเป็นอิสระของสถาบันของตนไว้ในระยะยาว อันจะเป็นหลักประกันให้พระสงฆ์ในยุคสมัยต่าง ๆ แสดงบทบาทปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองของตนสืบต่อกันได้เรื่อยไปอย่างราบรื่น เพื่อผลนี้ จึงมีสิ่งที่เรียกได้ว่า "เป็นธรรมของสถาบัน" หรือเป็นทำนองจรรยาบรรณของพระสงฆ์ในด้านการเมืองที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว กับผลประโยชน์ทางการเมือง และความเป็นฝักฝ่ายอย่างหนึ่งอย่างใด เข้ากับหลักที่ว่า สถาบันสงฆ์นี้ไม่ขึ้นต่อระบบต่าง ๆ ในสังคม และไม่วุ่นกับสถาบันต่าง ๆ ที่กำหนดกันไว้ของสังคมนั้นโดยตรง
ในสังคมไทย บทบาทและหน้าที่ทางการเมืองของพระสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะที่เข้ารูปเป็น มาตรฐานพอสมควร พระสงฆ์สั่งสอนหลักธรรมในการปกครองและสอนนักปกครองให้มีธรรม แต่ไม่เข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายในกิจการเมือง ท่างฝ่ายบ้านเมืองก็ยกชูสถาบบันสงฆ์ไว้ในฐานะที่เหนือการเมือง โดยมีประเพณี ทางการเมืองที่ปฏิบัติมาเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ เช่นว่า ผู้ใดหนีเข้าไปในพัทธสีมาของวัดก็เป็นอันพ้นภัยการเมือง เหมือนลี้ภัยออกไป ในต่างประเทศ ผู้บวชแล้วเป็นผู้พ้นภัย และเป็นผู้พ้นภัยจากปรปักษ์ทางการเมือง ดังกรณีของข้าราชบริพารของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระสงฆ์สมมตติพระราชวังเป็นพัทธสีมาแล้วอุปสมบทให้ พาออกจากวังผ่านกองทัพของผู้ยึดอำนาจ ไปสู่วัดได้โดยปลอดภัย และกรณีของขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ในรัชการพระเจ้าเอกทัศน์เป็นต้น แต่ เมื่อใดมีพระสงฆ์ละเมิดธรรมที่เป็นกติกา โดยเข้ายุ่มย่ามก้าวก่ายและเป็นฝักฝ่ายในวงการเมือง ก็ย่อมเป็นข้ออ้างให้นักการเมืองได้มีโอกาสที่จะเข้ามารุกรานสถาบันสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์ไม่อาจทำหน้าที่ทางการเมืองตามบทบาทที่ถูกต้องของตน เป็นการทำลายประโยชน์และหลักการของสถาบันในระยะยาว อีกประการหนึ่ง เมื่อพระรูปหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเข้าไปฝักฝ่ายกับนักการเมืองกลุ่มหนึ่งพวก หนึ่งแล้ว ในไม่ช้านัก ก็จะมีพระรูปอื่นกลุ่มอื่นไปเข้าฝักฝ่ายสนับสนุนนักการเมืองกลุ่มอื่นพวก อื่นบ้าง ต่อมาไม่เฉพาะวงการเมืองเท่านั้นที่จะวุ่นวาย สถาบันสงฆ์เองก็จะแตกเป็นฝักฝ่ายวุ่นวายด้วย และในยามที่ฝ่ายบ้านเมืองระส่ำระสายกระจัดกระจาย สถาบันสงฆ์เองก็จะพลอยตกอยู่ในสภาพเดียวกัน โดยไม่มีสถาบันใดเหลืออยู่เป็นหลักยึดเหนี่ยวให้แก่ประชาชน ดังมีเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่นในประเทศญี่ปุ่น ยุคเมืองนาราเป็นราชธานี ราชสำนักมีศรัทธาในพระศาสนามาก เลื่อมใสในพระสงฆ์ถึงกับทรงสถาปนาพระภิกษุเป็นมุขมนตรี เรียกตำแหน่งว่า "ดะโชไดจินเซนจิ" เมื่อกาลเวลาผ่านมา พระสงฆ์ก็เข้าวุ่นวายพัวพันมีอิทธิพลในกิจการบ้านเมืองมากขึ้น จนในที่สุด ทางการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกิจการแผ่นดินใหม่ โดยหาทางลิดรอนอำนาจของวัด ปลดเปลื้องราชการจากอิทธิพลของพระสงฆ์ และถึงกับต้องย้ายราชธานีใหม่จากนาราไปยังเกียวโต ในยุคต่อมา บางวัดถึงกับต้องสร้างกองกำลังขึ้นเพื่อป้องกันรักษาตนเอง และมีเหตุการณ์ที่ฝ่ายบ้านเมืองยกกองทัพมาบุกและเผาวัด
กรณีสันติอโศก ซึ่งมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองค่อนข้างมาก จนน่าพิจารณาว่าอยู่ในขอบเขตแห่งธรรมของสถาบัน คือทำหน้าที่ทางการเมืองตามบทบาทของพระสงฆ์ หรือว่าจะเลยขอบเขตจนกลายเป็นการก้าวก่ายเข้าไปในการดำเนินการทางการเมือง ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง และทำตนเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง คำพูด ข้อเขียน และคำให้สัมภาษณ์ของพระโพธิร้กษ์ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลที่ควรพิจารณา
"..แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี ที่คุณจำลองได้รับเลือก เขามีดีในตัวเองที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองศรัทธาเลื่อมใสอยู่แล้ว และที่นี่เราก็เห็นเช่นนั้นจริงด้วย เราจึงเป็นหัวคะแนนจัดตั้งให้ และเราเป็นหัวคะแนนให้ด้วย.." (หลักไท ปีที่ 4 ฉบับที่ 7-8,27 พ.ย.2528,หน้า 32)
"เมื่อจะตั้งพรรค พล ต.จำลองมาปรึกษาหรือไม่"
"..พูดกันตอนเย็นวันก่อนยุบสภาวันหนึ่ง ที่ปฐมอโศก นครปฐม อาตมายังเทศน์ว่ายังไม่ได้ตั้งพรรค เพราะ พล ต.จำลองยังเป็นผู้ว่าอยู่ ลาออกมาจะเสียงบประมาณเลือกตั้งกันอีก แต่พอบ่ายมาคุยกันใหม่ มีข้อมูลมาก จึงเห็นว่า ถ้าไม่ตั้งไม่ได้ จะเอาไปฝากคนนั้นคนนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ตั้งพรรคก็ไม่มีแรงพอ คนรับฝากจะว่าอย่างไร ลูกนอกใส้จะเป็นอย่างไร ดูข้อมูลแล้วเห็นว่าตั้งพรรคดีกว่า เขาบอกว่าตั้งพรรคชื่อ "พรรคพลังธรรม" พล ต.จำลองตั้งชื่อเอง อาตมาเอาอย่างไรก็ได้ อย่างไรมีคำว่า "พลัง" ไว้คำนึงแล้วกัน เตรียมงานกันวันอาทิตย์ พอวันจันทร์ก็ไปยื่นหนังสือ.."
"การคัดเลือกตัวบุคคลมีส่วนด้วยหรือไม่"
"ตกลงเป็นสำคัญอันหนึ่งว่า ไม่หวังเอาตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่หวังใหญ่หวังโต แต่จะต้องออกมาเป็น ส.ส. เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง" (มติชนรายวัน,10 พ.ค. 31,หน้าพิเศษ1)
"ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ อาตมาจะทำงานการเมืองอยู่ในพระ ไม่รับหน้าที่ตำแหน่ง แต่จะเป็นปุโรหิต จะแนะนำให้แง่คิดความรู้แนวนั้นแนวนี้" (ข่าวพิเศษ-อาทิตย์ 11-17 พ.ค. 31,หน้า 21)
..ถึงแม้ว่าโพธิรักษ์จะมีเจตนาดีเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าล้ำเลยขอบเขตออกไป ก็ต้องถือเป็นความผิดพลาด เพราะธรรมของสถาบันเป็นสิ่งที่จะต้องรักษา พระโพธิรักษ์ดำรงอยู่ชั่วอายุไม่นาน บุคคลและกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนก็ดำรงอยู่ชั่วระยะกาลหนึ่ง แต่พระศาสนาและสถาบันสงฆ์ควรจะต้องดำรงอยู่ต่อไปนานเท่านาน ถ้าธรรมของสถาบันเสื่อมสิ้นไปแล้ว ก็จะไม่มีใครเห็นคุณค่าที่จะต้องมีสถาบันนั้นอยู่อีกต่อไป จึงควรจะช่วยกันรักษาธรรมของสถาบันไว้ อย่าทำลายเสียเพียบเพราะเห็นแก่ประโยชน์สั้น ๆ หรือเพียงเพราะมุ่งจะเชิดชูบุคคลหรือกลุ่มชนพวกหนึ่งพวกใด ขอจงตั้งจิตให้เป็นธรรม แล้วพิจารณาความที่กล่าวมานี้.."
จากหนังสือ.."กรณีสันติอโศก" พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
http://www.watsaikhan.org/index.php?option=com_content&task=view&id=59&Itemid=43พอหามาให้ได้บางส่วน