![](http://www.alittlebuddha.com/News%20pics%2007/Rakang.jpg)
ระฆังมงคลที่สนธิ ลิ้มทองกุล ยืมไปจากวัดชนะสงคราม
เพื่อใช้ตีเริ่มต้นขับไล่รัฐบาลทักษิณที่ท้องสนามหลวง
อันเป็นกุญแจไขว่า ทำไมสนธิต้องไปบวชที่วัดชนะสงคราม
จากแยกบางลำพู เลี้ยวมายังป้อมพระสุเมรุไปตามถนนพระอาทิตย์ วกกลับย้อนขึ้นมาเลียบเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า
กลับมายังย่านบางลำพูหน้าวัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร เป็นย่านเก่าแก่ยาวนานมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์
การนำเสนอภาพชุมชนแห่งนี้ให้ชัดเจนที่สุด ต้องกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนคือ
1. วัดชนะสงคราม 2. ชุมชนดั้งเดิมที่เป็นชาวมอญ และ 3. เจ้าวังหน้า เรื่องราวในอดีตย้อนลงไปกว่า 200 ปีของชุมชนแห่งนี้ สามารถเชื่อมโยงร้อยเรียงเพื่อนำมาอธิบายภาพ
ที่ปรากฏเป็นชุมชนพระอาทิตย์ในปัจจุบันได้อย่างไม่ขาดตอน เพราะทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไปสืบทอดต่อเนื่องกัน
ยุคต้นรัตนโกสินทร์ - - ที่ดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงถนนพระอาทิตย์ตั้งแต่ปากคลองบางลำพู ตรงข้างวัดสังเวชฯ
จนถึงบริเวณท่าช้างวังหน้า (ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า) เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวมอญที่เข้ามาสวามิภักดิ์แหล่งใหญ่แห่งหนึ่ง
หัวหน้าชุมชนรับราชการเป็น เจ้ามหาโยธา (ทอเรียะ) ต้นตระกูล คชเสนี โดยมีจุดศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ วัดตองปุ
อันเป็นวัดเก่ามีมาก่อนตั้งกรุงฯ ต่อมาพระราชทานนามว่า วัดตองปุ และตั้งสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายรามัญมาดูแล
เพื่อให้เหมือนกับวัดของชุมชนมอญอาสาครั้งกรุงเก่าฯ
ละแวกดังกล่าวอยู่ใกล้เขตพระราชฐานของกรมพระราชวังบวรฯ หรือ วังหน้า ...
ครั้งเมื่อ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ชนะศึกสงครามเก้าทัพ
เสด็จมาทำพิธีสรงน้ำและเปลี่ยนเครื่องทรงตามพระราชพิธีโบราณที่วัดตองปุก่อนเสด็จเข้าพระบรมมหาราชวัง
จึงทรงโปรดฯ ให้บูรณะพระอารามใหม่เมื่อปี 2330 จากนั้นรัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังคงเรียกชื่อ วัดตองปุเรื่อยมาจนถึงประมาณสมัยรัชกาลที่ 5
เจ้ามหาโยธา ทอเรียะ มีบุตรรับราชการสืบต่อ นามว่า พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย)
มีธิดาถวายตัวเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ชื่อว่า เจ้าจอมมารดากลิ่น ซึ่งให้ประสูติพระราชโอรส ทรงพระนามว่า
พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์
ตระกูล คชเสนี จึงถวายที่ดินบริเวณถนนพระอาทิตย์เพื่อเป็นวังที่ประทับของพระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร
ปัจจุบันคือ 'บ้านมะลิวัลย์' ที่ตั้งของสำนักงาน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ไม่ไกลนักกับบ้านพระอาทิตย์
ด้วยทำเลที่ตั้งและความเป็นมาเกี่ยวข้องกับชุมชนมอญ
วัดชนะสงคราม จึงเกี่ยวข้องกับเจ้านายวังหน้า ชุมชนมอญพระอาทิตย์มาตั้งแต่ต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (วังหน้า) ทรงนำไม้ที่รื้อพระพิมานดุสิตา
ซึ่งเคยเป็นหอพระสร้างเสนาสนะถวาย จนมาถึงการบูรณะใหญ่อีกครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 พระศรีพัชรินทรา ฯ พระพันปีหลวง
ทรงมอบหมายให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (หลานทวดของพระมหาโยธา ทอเรียะ ซึ่งมีวังอยู่ใกล้กับวัด )
บูรณะจนเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7
รัตนโกสินทร์ยุคกลางถึงยุคปัจจุบัน - - ละแวกถนนพระอาทิตย์และวัดชนะสงคราม เป็นเขตพระราชฐานของวังหน้า
จึงเป็นธรรมเนียมที่ เจ้านายวังหน้า ได้พระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัง หรือ ตำหนักประทับ ต่อเนื่องกันมาในแต่ละรัชกาล
โรงเรียนการข่าวทหารบกปัจจุบัน เคยเป็นวังของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าในรัชกาลที่ 5
ลึกเข้าไปในตรอกโรงไหม เคยเป็นที่ตั้ง วังของพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์ พระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ
บ้านเจ้าพระยา ที่ทำการของ เอเอสทีวี. เดิมเป็นวังของ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวรัตน์ กรมหมื่นสถิตยธำรงสวัสดิ์
พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (วังหน้า) ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6
พระราชทานที่ดินและอาคารแก่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ พระบิดาของ ม.ร.ว.เสนีย์-คึกฤทธิ์ ปราโมช
ส่วน บ้านพระอาทิตย์ นั้น เดิมเป็นบ้านของ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์(ม.ร.ว เย็น อิศรเสนา)
เจ้านายผู้สืบเชื้อสายมาจากพระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศร์ พระโอรสใน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์-วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2
โดยได้สร้างขึ้นใหม่แทนวังเดิมที่ทรุดโทรมลงเมื่อพ.ศ.2475
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกับชุมชนมอญพระอาทิตย์-วัดชนะสงคราม อย่างแนบแน่น
บิดาของท่านคือ ม.จ.เสาวรส อิศรเสนา สมรสกับ หม่อมมุหน่าย อิศรเสนา เชื้อสายมอญชุมชนพระอาทิตย์
เมื่อยังเด็ก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ไปเรียนหนังสือกับหลวงตา (บิดาของหม่อมมุหน่าย) ซึ่งบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงคราม
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เจ้าของบ้านพระอาทิตย์ จึงมีสายใยผูกพันกับชุมชนมอญ และ วัดชนะสงคราม อย่างแยกไม่ออก
กาลเวลาเปลี่ยนแปร ...สถานที่ในอดีตบ้างแปรเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหรือองค์การต่างประเทศ
ขณะที่ชุมชนมอญดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปมากแทบไม่เหลือเค้าลาง-ร่องรอย
แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปเช่นไร ผู้ที่มาอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้
ยังคงซาบซึ้งกับสิ่งดีงามในอดีต .. บ้าน กับ วัด ยังคงอุปถัมภ์ค้ำจุนกันเป็นสายใยผูกพันสืบเนื่องกันมานับจากรุ่นสู่รุ่น
พวกเรา ชาวผู้จัดการ/เอเอสทีวี. และกิจการในเครือ ที่ได้มาอาศัยพักพิงอย่างสงบร่มเย็นในสถานที่
ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ต่างยึดมั่นและเคารพในวิถีปฏิบัติ เคารพและเห็นคุณค่าของสายใยผูกพันที่บรรพชนในอดีตสร้างเอาไว้
ชาวผู้จัดการแทบทุกคนต่างเคยเดินผ่านเข้าออกวัดชนะสงคราม-บางคนวันละหลายเที่ยว
ล้วนมีความเคารพศรัทธาบารมีแห่งพระพุทธคุณ เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นความผูกพันของคนทำงาน
ที่ได้เข้าไปพึ่งพาร่มโพธิ์ร่มไทร ได้พึ่งพาบารมีของ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ อยู่เนือง ๆ
แม้กระทั่งเมื่อครั้งออกรบใหญ่ เปิดเวทีกู้ชาติครั้งแรก ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า 4 กุมภาพันธ์ 2549
ก็ได้รับเมตตาสูงสุดจาก เจ้าพระคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรุณาให้ยืม ระฆังมงคล ประจำอยู่บนเวทีใหญ่
ให้สนธิ ลิ้มทองกุล ได้เคาะระฆังสัญญาณดังกล่าวร้องทุกข์ถวายฎีกา อันเป็นจุดเริ่มของการต่อสู้ใหญ่ของมวลมหาประชาชน
ในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเวลาต่อมา
นับเป็นความผูกพันแนบแน่นระหว่าง วัด กับ บ้าน ... ชุมชน กับ วัด ที่สืบเนื่องทอดยาวนับจากอดีตมาถึงปัจจุบันที่งดงามยิ่ง
หมายเหตุปิดท้าย-วันนี้มาในท่วงทำนองสารคดี แต่อดไม่ได้ต้องกล่าวถึงสภาเครือข่ายชาวพุทธแห่งชาติ...ให้ดี
ควรเสนอพรรคการเมืองใกล้ชิด (ที่สนับสนุนให้มาม็อบ?) หากได้เป็นรัฐบาลน่าจะออกประกาศเอาผิดอุปัชฌาย์
ที่บวชให้ผู้มีหนี้บัตรเครดิต / หนี้ผ่อนรถ / ผ่อนบ้าน / หนี้ ธกส. และหนี้โรงรับจำนำ ฯลฯ
... คนเหล่านี้ห้ามบวชเด็ดขาด !! ใช่หรือไม่ ? หือ! สภาเครือข่ายชาวพุทธแห่งชาติ ?
ข่าว : ผู้จัดการ
2 พฤศจิกายน 2550