ขอปรบมือดังๆ ให้กับ
สว.เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ผู้ยื่นเรื่องนายกขัดรัฐรรมนูญ
ในรายการ ชิมไป บ่นไป
เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
จนประสบผลในที่สุด
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะอดีตกมธ.ชี้โทษถึงถอดถอน กกต.คาดต้นเดือนมิย.ชี้ชะตา
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ ดอทคอม ได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สส.สรรหา ผู้ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กรณีรับเป็นพิธีกรในรายการ"ชิมไปบ่นไป"ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนติดตามเรื่องนี้มานาน และมีการเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ไว้ทั้งหมดว่าใครพูดใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร จากนั้นมีการทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาและทำหนังสือถึงประธานกกต.เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของนายสมัคร
ยันหมักขัดรธน.สิ้นสุดสถานะ
ทั้งนี้เนื่องจากนายสมัครในฐานะนายกฯที่เข้ารับเป็นพิธีกรและบันทึกเทปในรายการต่างๆ ให้กับบริษัทเฟซมีเดียจำกัดเพราะเห็นว่าไม่ใช่เพียงการพูดคุยเรื่องอาหารการกินเท่านั้น แต่เป็นการกระทำให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรซึ่งเป็นกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 อันเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตร182(7) แล้ว
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ดังนั้นตนจึงได้ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 62 ร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือนายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต่อป.ป.ช.และกกต. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
โต้อย่าเลี่ยงบาลีเป็นแค่ผู้รับจ้าง
"การที่นายกฯออกมาชี้แจงผ่านรายการ "สนทนาประสาสมัคร" นั้นก็เป็นเจตนาที่จะเลี่ยงว่า เป็นแค่ผู้รับจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้าง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เอาหุ้นไปให้คนใช้ถือครอง เพราะประเด็นคือเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำให้บริษัทมีผลกำไร ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ห้ามเอาไว้ และยิ่งเป็นการดีเสียอีกที่นายกฯจะทำหนังสือชี้แจงถึงกกต.เพราะถือเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่านายกฯได้กระทำพฤติกรรมเช่นนี้จริง"นายเรืองไกรกล่าว
และยังตั้งข้องสังเกตกรณีนายศักดิ์ชัย แก้ววรรณีสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัดได้จัดงานมหกรรมอร่อยทั่วแผ่นดิน"7ปีชิมไปบ่นไป" ที่ศูนย์ประชุมสิริกิตติ์ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและเชิญนายสมัครไปเปิดงานและทำอาหารโชว์ด้วย แต่สงสัยว่าทำไมไม่ให้ผู้ที่สนใจจองพื้นที่บูธโอนเงินเข้าบริษัท หรือมีเจตนาเลี่ยงอะไรหรือไม่
"สดศรี"คาดสรุปผลได้ต้นมิย.
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีนายสมัคร จะส่งเอกสารการชี้แจงการรับจ้างจัดรายการ"ชิมไปบ่นไป"ว่า กกต.ยังไม่ได้รับการชี้แจงดังกล่าว เนื่องจากวันนี้เป็นหยุดราชการ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นกกต.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสอบสวนกรณีดังกล่าวแล้ว โดยกำหนดระยะเวลา 15 วัน คาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วง ต้นเดือนมิถุนายน
ข่าวแจ้งว่า ขณะนี้กกต.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมาตรวจสอบรายการ"ชิมไปบ่นไป"ของนายสมัครแล้วโดยมีพล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณอดีตกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นประธาน
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า แม้การเป็นพิธีกรรายการแนะนำอาหารของนายสมัคร จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่เหมาะสม
ปชป.ยันหมักเข้าข่ายขัดรธน.
ส่วนนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ในฐานะที่ตนมีประสบการณ์ด้านพิธีกร ขอยืนยันว่าพิธีกรหรือนักจัดรายการวิทยุมีสถานะเป็นลูกจ้างบริษัท ไม่ใช่ลักษณะของผู้ทำของ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ได้รับจ้างหรือมอบหมายจากบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ให้ผลิตงานหรือสินค้า เพื่อส่งมอบให้บริษัทที่จ้าง
"หมายความว่านายสมัครมีสถานะเป็นลูกจ้างบริษัท และได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ชัดเจน ดังนั้นแม้นายสมัครประกาศจะหยุดการกระทำงดจัดรายการไปแล้ว แต่อยากเรียกร้องให้ออกมาแสดงความชัดเจนว่าได้รับผลประโยชน์ต่อรายการดังกล่าวหรือไม่ และควรทำตามกติกาบ้านเมือง ไม่อย่างนั้นก็อย่ามาเป็นนายกฯดีกว่า"นายบุญยอด
อดีตกมธ.ชี้ความผิดสำเร็จแล้ว
ด้านนายคมสันต์ โพธิ์คง อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แม้นายสมัครจะยกเลิกการจัดรายการแต่ก็ถือว่าได้การกระทำผิดกฏหมายไปแล้วเพราะตามบทบัญญัติของมาตรา 267 ให้นำมาตรา 265 มาใช้บังคับ และยังระบุด้วยว่า นายกฯ จะดำรงตำแหน่งใด ในห้างหุ้นส่วน บริษัท องค์กรธุรกิจ ที่มุ่งผลกำไรหรือเป็นลูกจ้างของผู้บุคคลใดก็มิได้"
"แล้วคุณสมัคร บอกว่าคุณเป็นเพียงการรับจ้างก็ถือเป็นลูกจ้างนั่นแหล่ะ ซึ่งไม่ต่างกันเลย ซึ่งการรับจ้างหรือเป็นลูกจ้างก็ต้องดูว่าเป็นลูกจ้างอย่างไร ลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างรับทำของ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเข้าข่ายในมาตรา267" นายคมสันต์ กล่าว
โทษถึงขั้นต้องโดนถอดถอน
และย้ำว่าพูดง่ายก็คือเป็นการรับจ้างจัดรายการ ในการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ ส่วนที่ถ่ายทำไปแล้วก็ถือว่าทำความผิดไปแล้ว กกต.ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ความผิดจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของผลที่สำเร็จไปแล้วและกกต.เพิ่งพบความผิด ก็ต้องดำเนินการ
"โทษมาตรานี้ก็ไม่ได้มีความผิดอะไรมากมายเป็นแค่เรื่องของการถอดถอน เพราะเป็นลักษณะต้องห้าม ห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ซึ่งต่อไปนี้ ปปช.ก็ต้องดำเนินการต่อไป เพราะเรื่องนี้ที่นายสมัครอ้างว่า เป็นการรับจ้างไม่สมเหตุสมผล"นายคมสัน ระบุ
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า