ที่ปรึกษาศก.ชี้ทำประชามติ'สายเกินแก้'ณรงค์ชัย อัครเศรณี:(Update) ครม.นัดพิเศษรวบรัดเห็นชอบทำประชามติหาทางออกวิกฤติ ด้านฝ่ายค้านชี้ประชามติขัดรธน. ส.ว."ประสาร-รสนา"ลั่น"สมัคร"ลาออกปัญหาจึงจะยุติ "ณรงค์ชัย"เชื่อไม่ทันสถานการณ์
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวภายหลังการประชุมครม.วาระพิเศษว่า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯได้เสนอเรื่องการทำประชามติรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์การเมือง และได้หยิบยกข้อกฎหมายเรื่องพ.ร.บ.ประชามติ ขึ้นมาหารือ ซึ่งการทำประชามติก็เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เพราะขณะนี้สังคมกำลังสับสน
ส่วนรายละเอียดของประชามตินั้น จะกำหนดกันอีกครั้งโดยจะต้องเร่งออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของรัฐสภาที่จะส่งให้ส.ว.พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้หลักประชาธิปไตยที่อยู่ในระบบรัฐสภาเดินไปได้ เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขโดย และยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไปนั้นถูกต้องมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามการชุมนุมของพันธมิตรฯประกอบด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่
เมื่อถามว่ามีการหารือเรื่องการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่สังคมเรียกร้องหรือไม่ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ไม่ได้คุยเรื่องนี้ แต่ที่ประชุมวันนี้มีการรับรองร่างกฎหมายสองฉบับโดยมอบอำนาจให้นายกฯเพื่อให้พ.ร.ก.ฉบับนี้เดินหน้าไปได้
ด้านนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม กล่าวถึงการทำประชามติ ว่า เป็นเพียงการหารือเท่านั้น
6พรรคร่วมรัฐบาลหนุนทำประชามติแก้วิกฤติชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 13.30 น.ส.ส. จากพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคพลังประชาชน นายเอกพจน์ ปานแย้ม ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาราช นายเกียรติกร พากเพียรศิลป์ ส.ส. ปราจีนบุรี พรรคมัชฌิมาธิปไตย นายอลงกต มณีกาศ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อแผ่นดิน และนางวศุลี สุวรรณปาริสุทธิ์ ส.ส.มุกดาหาร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ร่วมกันแถลงข่าวสนับสนุนหลักการและแนวทาง กรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้ทำประชามติ เพื่อขอเห็นความคิดเห็นของประชาชน ในการแก้ไขวิกฤตชาติ
นายพีรพันธุ์ กล่าวว่า จากการหารือของส.ส. 6 พรรคร่วมรัฐบาล ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในการสนับสนุนมติครม. ที่ให้ทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชน ในการแก้วิกฤติของประเทศ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองจึงต้องแก้ด้วยการเมือง โดยการถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่า คิดอย่างไร และรัฐบาลควรแก้ไขปัญหาอย่างไร
นายเกียรติกร กล่าวว่า นอกจากแนวทางการทำประชามติแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติจะดำเนินการโดยทางลับโดยประสานกับตัวแทนพันธมิตรฯ เพื่อเจรจาหาทางออกให้ประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการ และไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยการไปเจรจาจะเป็นการส่งตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน พรรคละ 1 คนไปเจรจา
ทั้งนี้ การไปหารือไม่ได้ไปในนามรัฐบาล แต่ไปในนามของพรรคการเมือง โดยมีกำหนดนัดหารือในเวลา 14.00 น. ของวันนี้
"ฝ่านค้าน"ชี้ประชามติขัดรธน. เชื่อรัฐบาลซื้อเวลา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทำประชามติเกี่ยวกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการบริหารประเทศของรัฐบาลว่า การแก้ปัญหาการชุมนุมโดยการใช้ประชามติ เท่าที่ตรวจสอบรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้
เนื่องจากการใช้กฎหมายประชามติเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมจะติดปัญหา 2 ข้อคือ 1.รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการทำประชามติ และการทำกฎหมายประชามติได้ระบุไว้ชัด ว่าการจัดการเอาเสียงประชามติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ
เพราะการชุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นเรื่องของตัวบุคคล อีกทั้ง หากมีการตั้งคำถามประชามติ โดยถามว่าต้องการให้พันธมิตรอยู่ต่อหรือไม่ อาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ การชุมนุมในทำเนียบซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ก็ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการทำประชามติกับการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก็ใช้งบประมาณเท่ากัน
นายสาทิตย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้รัฐบาลอาจใช้ทางเลือกอื่น เช่น การออกพ.ร.ก. ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการต้องออกเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะไม่หลับหูหลับตาทำตามคำสั่งรัฐบาล และสิ่งที่น่าห่วงวันนี้ไม่ใช่การทำประชามติ แต่เป็นท่าทีของนายกฯ โดยเฉพาะเมื่อเช้าวันนี้ (4 ก.ย.) ที่แข็งกร้าวดึงดันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้างหนักขึ้นไปอีก
ส.ว.ค้านทำประชามติ-จี้"สมัคร"ลาออก นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมติทำประชามติเพื่อหาทางออกกับวิกฤติของประเทศในขณะนี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้เลยระยะเวลาที่จะทำประชามติไปแล้ว และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำประชามติอะไร เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่ความชอบธรรมที่จะมาขอประชาชนมติของประชาชน เนื่องจากประชาชนได้ให้โอกาสรัฐบาลได้บริหารประเทศแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะนำพาชาติรอดไปได้ มีแต่จะสร้างการเผชิญหน้า จนนำไปสู่ความรุนแรงและทำให้ประชาชนเสียชีวิต
" หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือรัฐบาลจะต้องลาออก หรือ ยุบสภา เพราะประเทศชาติได้บอบช้ำไปมากแล้ว จาการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้นการหาออกดังกล่าวเป็นการซื้อเวลา และหาทางออกให้กับรัฐบาลเท่านั้น เชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ไปไม่ถึงจุดการทำประชามติอย่างแน่นอน "นายประสาร ระบุ
ส.ว.สรรหาผู้นี้ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการทำประชามติไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน เพราะรัฐบาลต้องปรึกษาคณะกรรมการกฤษฏีกา มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา กว่าจะผ่านสภา กว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา กว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะทำหนดวันเวลาในการลงมติ และทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างทั่วถึงต้องในเวลาเป็นเดือน และต้องใช้งบประมาณอย่างน้อยในการทำประชาพิจารณ์ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท ดังนั้นเมื่อเทียบระยะเวลากับงบประมาณที่ต้องสูญเสียไป จึงได้ไม่คุ้มเสีย
ด้านน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว กรุงเทพฯกล่าวไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะทำประชามติ เสียเวลาเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ เพราะปัญหาขณะนี้มาไกลกว่าที่จะทำประชามติ มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือ นายสมัคร ต้องลาออกหรือยุบสภาเท่านั้น ขณะนี้ประเทศชาติเสียหายมามากแล้วจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะมาขอประชามติจากประชาชนอีก ควรออกไปได้แล้วหากต้องการแก้ปัญหาของชาติอย่างแท้จริง
ทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ เชื่อทำประชามติไม่ทันการณ์ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการทำประชามติเพื่อหาทางออกทางการเมืองนั้น ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น คงไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เพราะขณะนี้ทั้งรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กำลังเผชิญหน้ากัน และเชื่อว่าเหตุการณ์ยังยืดเยื้ออีกนาน ปัญหาการเมืองไทยตอนนี้เปรียบเหมือนโรคซาร์ส หรือเรียกว่าโรคซาร์สการเมือง ที่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน ให้อยู่ได้ไม่ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
อธิการนิด้า ชี้ทำประชามติแก้ปัญหาไม่ได้ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวถึงกรณี ครม.นัดพิเศษเห็นด้วยทำประชามติ หาทางออกวิกฤติประเทศ ว่า รัฐบาลพยายามที่จะหาความชอบธรรมให้กับตัวเองอยู่ได้ ในขณะเดียวกันก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขาดความชอบธรรม แต่โดยหลักการของประชามติแล้วนั้นไม่ได้ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
หอการค้าจี้สปิริตนายกฯ-บริหารงานผิดพลาด!
ขณะที่ นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีควรออกมาแสดงความรับผิดชอบและพิจารณาตัวเองต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
"ในมุมมองของภาคเอกชนในด้านการบริหารธุรกิจ หากบริษัทฯประสบกับปัญหาหรือเกิดวิกฤติในการดำเนินธุรกิจ คณะผู้บริหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงลงได้ ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบ หรือเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นดำเนินการเลือกผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแทน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้ลุล่วงไป" นายดุสิต กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที เนื่องจากส่งผลกระทบให้นักลงทุนต่างประเทศสูญเสียความเชื่อมั่น และทำให้เครดิตของประเทศลดลง ทั้งนี้มองว่าหากรัฐบาลยังคงปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อออกไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงขณะที่มองว่าการทำประชามติก็จะส่งผลให้ยืดเยื้อออกไปเช่นเดียวกันและจะส่งผลกระทบให้ประเทศชาติถึงขั้นล่มสลายได้
"ปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่หากการแก้ไขปัญหาพยายามที่จะทำให้เหตุการณ์ยืดเยื้อออกไปอีกจะไม่ส่งผลดีต่อประเทศและอาจทำให้ประเทศล่มสลายได้"นายพงษ์ศักดิ์
http://www.bangkokbiznews.com/2008/09/04/news_291543.php