บทบรรณาธิการ ไทยโพสต์สตรีภิวัตน์ นักรบ "อาซิ้ม-อาซ้อ"29 สิงหาคม 2551 กองบรรณาธิการ
ภาพของผู้หญิงวัยกลางคนวิ่งนำหน้าถือป้าย "พันธมิตรตลาดบัวตอง นครศรีธรรมราช" ยืนปักหลักยึดสนามหญ้าหน้าทำเนียบรัฐบาล
โดยไม่ได้มีความหวั่นเกรงกับกองกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถือปืนแก๊สน้ำตาอยู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการชุมนุมยึดอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ของกลุ่มพันธมิตรฯ
ร่วมเข้าวันที่ 4 แล้ว กับการปักหลักยึดทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่รัฐบาลนอมินี ท่ามกลางการไหลบ่ามาของประชาชนทั่วสารทิศที่มุ่งหน้าสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐมากขึ้นทุกวันๆ วันนี้สถานที่แห่งนี้จึงเป็นบ้านหลังใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่โยกย้ายจากบริเวณสะพานมัฆวานฯ มาปักหลักใช้ทำเนียบฯ เป็นกองบัญชาการเพียงหนึ่งเดียว
ส่งผลให้ศูนย์กลางอำนาจรัฐในวันนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยประชาชนมากหน้าหลายตา ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ แต่เมื่อจำแนกแยกแยะและมองด้วยตาเปล่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญยึดกุมรัฐบาลครั้งนี้มีพลังหลักเป็น "ผู้หญิง"
เหตุใดผู้หญิงจากทั่วสารทิศจึงตื่นตัว ทิ้งบทบาทแม่บ้าน คอยดูแลครอบครัว เปลี่ยนแปรตัวเองเป็นพลังทางการเมือง เป็นผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการขับเคลื่อนการเมืองของสังคมไทย
นภาภรณ์ สิริวโรธากุล อายุ 55 ปี อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ โชคชัย 4 กทม. ที่ปักหลักชุมนุมและยืนหยัดต่อสู้มาจนการเคลื่อนทัพมาสู่ทำเนียบรัฐบาล เล่าให้ฟังว่า เธอสนใจติดตามเรื่องการเมืองมาตั้งแต่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ของสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อได้รับข้อมูลเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการคอรัปชั่น หรือความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลทักษิณ ในช่วงนั้นก็ไม่ได้เชื่อในทันที จึงพยายามติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพิ่มเติมว่าเรื่องต่างๆ นั้นมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เวลาผ่านไปก็รับรู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เขานำมาเปิดเผยเป็นเรื่องจริง เลยติดตามรายการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าเป็นรายการที่กล้าพูดความจริง กล้าเปิดเผย แต่ไม่ใช่ทีวีช่องอื่นจะไม่ดู แต่ก็ดูเหมือนกันแล้วเอามาเปรียบเทียบเพื่อให้รู้ข้อมูลข่าวสารที่เท่าทัน ซึ่งก็โชคดีที่อยู่ในกรุงเทพฯ เพราะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าอยู่แล้ว
เธอบอกว่าหลังจากมีเอเอสทีวีก็ติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทีวีช่องนี้มาตลอด และมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างต่อเนื่อง จนมาถึงวันที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เชิงบริเวณสะพานมัฆวานฯ ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551
"วันนั้นได้ฟังการประกาศสลายการชุมนุมของนายสมัคร ก็รีบออกจากบ้าน คิดว่าต้องมาให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะมาอยู่เป็นเพื่อนกัน เพราะคิดว่าถ้าคนน้อยก็จะสลายได้ง่าย และจนนาทีนี้ก็ยังเชื่อมั่นว่าไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้ขับไล่รัฐบาลแล้วประชาชนจะเป็นผู้พ่ายแพ้"
เธอคิดว่าการชุมนุมครั้งนี้ ผู้หญิงในวัยรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นหน่วยพลังที่เข้มแข็งมาก มีความตื่นตัวทางการเมืองที่เธอเองก็รู้สึกแปลกใจไม่ใช่น้อย กับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในสิ่งที่รัฐบาลได้ทำกับประชาชน เพราะรัฐบาลสมัครดูถูกประชาชนจนเกินไป
"ขณะนี้ถือว่าเกิดประชาภิวัตน์ในสังคมไทย วันนี้จึงไม่แปลกที่เราจะบอกว่า เกิดผู้หญิงภิวัตน์ขึ้นเช่นกัน พลังบริสุทธิ์ของผู้หญิงที่มาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมากหลั่งไหลกันมาทั่วสารทิศมารวมกัน ปักหลักขับไล่รัฐบาลชั่วร้ายอยู่ในขณะนี้ เป็นการต่อสู้ด้วยสมองและข้อมูล ถือเป็นความรู้ ความกล้า ที่เกิดการรับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะลุกขึ้นปกป้องลูกหลาน ครอบครัว เพื่อรักษาบ้านเมืองให้กับลูกหลานของเรา"
ในขณะที่ นางจันทรา กุลอนุสรณ์สถิต อายุ 66 ปี ชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนั่งสนทนาอยู่ใกล้ๆ กับนภาภรณ์ บอกว่า ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ นั้นไม่ได้เคยรู้จักกันมาก่อน เพิ่งเห็นหน้ากันครั้งแรกในชีวิต แต่ก็คุยกันถูกคอ ตนและเพื่อนๆ ผู้หญิงนั่งรถทัวร์กันมาจากขอนแก่น เอาเงินมาบริจาค แล้วก็ออกเงินเหมารถทัวร์ให้เพื่อนๆ มากัน 11 คันรถ เพราะเพื่อนๆ บางคนอยากมา แต่ก็ไม่มีเงิน ตนเลยออกเงินให้
"คนกรุงเทพฯ เขาใจดี เอื้ออารีกับคนบ้านนอก เมื่อวานฝนตกหนัก เสื้อเปียกหมด เราตัวใหญ่ไม่มีเสื้อผ้าเปลี่ยน พวกเพื่อนๆ ที่ไม่เคยรู้จักกัน พวกคนกรุงเทพฯ เขารีบไปหาเสื้อตัวใหญ่ๆ ไปขอบริจาคกัน ใครมีเสื้อตัวใหญ่บ้างมาให้เราเปลี่ยน เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะไม่สบาย รู้สึกเอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน มีอาหารก็แบ่งกัน จะมีคนคอยถามไถ่กันตลอดว่ากินข้าวหรือยัง แบ่งร่ม แบ่งที่นั่งกัน คนกรุงเทพฯ เขาก็ถือเป็นกองหนุนสำคัญ ขาดตกบกพร่องอะไรเขาก็ช่วยโดยไม่คิดอะไร มันเหมือนกับว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกัน"
อาม่าบอกว่า ในชีวิตไม่เคยเข้ามาในทำเนียบรัฐบาลเลย ได้แต่ชะโงกมองเข้ามาเวลานั่งรถผ่านแถวนี้ สงสัยอยู่เหมือนกันว่าข้างในมันจะสวยงามแค่ไหน รัฐบาลเขาทำอะไรกัน ได้เข้ามาชุมนุมขับไล่รัฐบาลโกงประชาชนในทำเนียบฯ ครั้งนี้จึงถือเป็นความภูมิใจมากที่ได้เกิดมาในชาตินี้
"สองสามวันนี้ลูกๆ โทร.มาตลอดเขาเป็นห่วง เราก็บอกว่านอนโรงแรม ทั้งๆ ที่นอนอยู่แถวนี้แหละกับเพื่อนๆ จ่ายค่าโรงแรมเปล่าๆ คืนละ 900 ไปหลายหมื่นแล้ว เราต้องมา ลูกหลานเขาเป็นห่วง เพราะไม่สบายเป็นหลายโรค ทั้งเบาหวาน ตับ กระดูกทับเส้นประสาท ยาก็หมดแล้ว ตอนนี้ขอแต่ยาพาราทุเลาอาการไปก่อน ลูกหลานก็บอกอาม่ากลับเถอะ เราก็บอกว่า แม่กลับไม่ได้ ถ้าแม่ยังไม่ชนะ"
อาม่าบอกว่า เมื่อก่อนเคยเป็นหัวคะแนนให้กับทักษิณ แต่ตอนนี้เลิกหลงผิดแล้ว เพราะเห็นความจริง ที่ผ่านมาว่าเขาโกงการเลือกตั้ง ใช้เงินซื้อเอาทุกอย่าง ที่มาสู้ก็ให้สมัครลาออกไป จะเข้ามาเอาแต่งบประมาณ ไม่เคยพูดเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน มีแต่บอกว่าจะไม่ออก ไม่ออก แถมยังประกาศชัดเจนว่าเป็นนอมินีทักษิณอีก
"ไม่รู้จักหรอกว่าการเมืองภาคประชาชนมันเป็นยังไง รู้แต่ว่ารัฐบาลที่เราเลือกมาอย่าเข้ามาโกงกิน หลอกลวงประชาชน สามารถให้ประชาชนตรวจสอบได้ เราไม่ได้เข้าไปยุ่งอย่างอื่นหรอก แล้วอย่ามาอ้างว่าเราเลือกมา ถ้าอย่างนั้นเราก็บอกได้เหมือนกันว่า เราเลือกมาได้ เราก็เอาออกได้เช่นกัน หลังจากนี้คิดว่าการเมืองบ้านเราคงดีขึ้น อาจจะไม่รวดเร็ว แต่ก็คงดีขึ้นทีละนิด ซึ่งมันก็คงจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างแน่นอน"
ขณะที่คุณหมอวัย 68 ปี ที่มาชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ 94 วัน ขาดเพียง 2 วันที่ไม่ได้มาร่วม วิเคราะห์สัญชาตญาณของผู้หญิงกู้ชาติเหล่านี้ว่า ถือเป็นยุทธศาสตร์ชัยชนะสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ กับพลังบริสุทธิ์ของเพศแม่ และเป็นการส่งสัญญาณอันตรายกับรัฐบาลสมัคร ว่าถ้าสู้กับผู้หญิง "อันตราย" เพราะ "กัดไม่ปล่อย" เนื่องจากผู้หญิงจะไม่ยอมให้ทำลายครอบครัวหรือลูกหลานเป็นอันขาด
ผู้หญิงมีจุดยืนมั่นคง อ่อนนุ่ม เอื้ออารี มันเย็น แล้วก็มีพลัง การสู้ที่ยืดเยื้อครั้งนี้มันมีผู้หญิงเป็นตัวดัน เป็นทัพที่เข็มแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อย และจุดแข็งของการต่อสู้ คือผู้หญิงไม่ใช้ความรุนแรง มีความเอื้ออาทร ในขณะที่ผู้ชายมักใช้อารมณ์ ฉุนเฉียว นิยมใช้ความรุนแรง ไม่อดทน แตกหักได้ง่าย นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีสัญชาตญาณยึดถือความถูกต้อง รักครอบครัว ทำเพื่อลูกหลาน และต้องการความยั่งยืน เป็นธรรมชาติที่สู้จนวันตาย ในขณะที่ผู้ชายต้องการความเป็นใหญ่ ความเจริญ
ในขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้มุมมองในพลังการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้หญิงในครั้งนี้ว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ที่เราเห็นบทบาทของผู้หญิงกับการเมืองเข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวทีของการต่อสู้ในเมืองหรือในชนบท ถือเป็นภาพสะท้อนความตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองไทย ที่แต่เดิมการเมืองผูกพันอยู่แต่กับผู้ชายเป็นหลัก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ ซึ่งตนก็ตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่าเกิดจากปัจจัยอะไร ที่มีผู้หญิงตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุมาเป็นหลักในการชุมนุม
"ผมคิดว่ามีแรงจูงใจหลายประการ ประการแรก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักน่าจะเกิดจากประเด็นการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสมัยรัฐบาลทักษิณ ผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่อาจจะมีความคิดในเชิงอนุรักษนิยม ที่มีความผูกพันภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก ฉะนั้นการเปิดโปงขบวนการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และกลุ่มพันธมิตรฯ จึงทำให้สามารถระดมผู้หญิงสูงวัยเข้าร่วมได้อย่างต่อเนื่องจำนวนมาก ประการที่สอง พลังสื่อสารของเอเอสทีวี
โดยเฉพาะ new 1 ได้กลายเป็นทีวีของครอบครัวของคนไทยจำนวนมาก เป็นทีวีทางเลือกที่มีสาระ เป็นข่าวสาร สังคม การเมือง ที่สอดคล้องกับคนทุกกลุ่มของเป้าหมายในวันนี้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถระดมผู้หญิงให้ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ กับสามี และลูกๆ เนื่องจากมีจำนวนมากที่กลุ่มผู้ชุมนุมมากันเป็นครอบครัว ประการที่สาม การชุมนุมและการจัดกิจกรรมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีทั้งเนื้อหาและสีสันที่หลากหลาย มีดารา นักร้อง รุ่นตั้งแต่ 40 ขึ้นไป เป็นจำนวนมาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะเป็นแรงจูงใจหนึ่งในการกระตุ้นและดึงดูดผู้หญิงวัยสูงอายุให้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก"
ในขณะที่มุมมองของพี่สุทิน วรรณบวร ผู้สื่อข่าวเอพี หัวเรือหลักของน้องๆ ในสนามข่าวท่ามกลางสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ระอุเพิ่มขึ้นทุกวัน บอกว่า เงื่อนไขสำคัญของพลังการต่อสู้ครั้งนี้คือสื่อเอเอสทีวี ที่เป็นที่ติดอกติดใจของบรรดากลุ่มสตรีแม่บ้าน แล้วก็เป็นชนวนผลักดันมวลชนให้ออกมาสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งนี้ ปรากฏการณ์นี้เริ่มมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ที่เริ่มจากภาคใต้แล้วลามไปภาคตะวันออก ขยายไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ชุมพรลงไป หนังสือพิมพ์ต้องไทยโพสต์ และเอเอสทีวีเป็นทีวีของครอบครัว และคนส่วนใหญ่ที่ดูก็คือกลุ่มแม่บ้าน อาซิ้ม อาซ้อ คนพวกนี้ดูแล้วติด เปิดฟรีทีวี 3, 5, 7, 9 ไม่ได้
"ม็อบพันธมิตรฯ 80% เป็นผู้หญิง และเป็นคนชั้นกลางที่มีเงิน มีกิจการเป็นของตัวเอง คนพวกนี้ส่วนใหญ่เสพสื่อเอเอสทีวี ดูไปดูมาก็ดูกันทั้งครอบครัว แล้วผู้หญิงถ้าชอบอะไรแล้วก็ไม่โลเล สนับสนุนสุดลิ่ม นำครอบครัวมา มันก็เหมือนกับพวกแม่ยกลิเก ไชยา มิตรชัย นั่นแหละ แต่ตอนนี้มันแปรสถานะกลายเป็นแม่ยกพันธมิตรฯ ไปแล้ว"
พี่สุทิน เปรียบเทียบการต่อสู้ทางการเมืองในยุคผู้หญิงที่พูดเรื่องการเมือง และออกมาขับไล่รัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรม จนทำให้เพศแม่ต้องออกจากบ้านมาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชาย ทิ้งท้ายว่า เวลาเสพสื่อพอติด ก็ต้องเสพประจำหยุดไม่ได้ แล้วครั้งนี้ลองผู้หญิงได้ลงมือสู้แล้ว ไม่มีถอยหลังเด็ดขาด.
http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&iDate=29/Aug/2551&news_id=163202&cat_id=100