3ศาลยกพระราชดำรัสปลุกนักกม.
ยึดถือจริยธรรม
วิตกสังคมไทยขาดคุณธรรมมองคนเลี่ยงภาษีเป็นเรื่องธรรมดา
ย้ำอย่าสักตีความตามตัวหนังสือ-แต่ต้องดูเจตนารมณ์ทุกมาตรา
องค์ภาฯทรงแนะอย่าใช้กฎหมายสร้างช่องว่างเกิดกับบ้านเมืองพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง
"บทบาทนักกฎหมายไทยใต้ร่มพระบารมี"โดยมีประธาน3ศาล
และนักวิชาการชั้นนำทั่วประเทศเข้าร่วมเสวนา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับองค์กรทางด้านกฎหมายจัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง"บทบาทนักกฎหมายไทยใต้ร่มพระบารมี"โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธาน มีผู้เสวนาประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง และนักกฎหมายชั้นนำจำนวนมาก
นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา อธิบายถึงหลักการ ของนักกฎหมายที่ต้องยึดความยุติธรรมเหนือลายลักษ์อักษร กฎหมายจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับคนใช้กฎหมาย หากพลิกแพลงด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ประสิทธิภาพของกฎหมายจะลดลง และเห็นว่ารัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมไว้เนื่องจากสังคมไทยมีปัญหามากทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกระดับ การเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น มีการซื้อตำแหน่ง ฮั้วประมูล ยักยอกเงินราชการ เลี่ยงภาษีที่ต้องชำระ จนเป็นเรื่องปกติทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนา
นอกจากนี้ประธานศาลฎีกาได้ยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ปลุกจิตสำนึกของนักกฏหมายให้มีจริยธรรม ดังนั้นนักกฏหมายที่ดีจะต้องมีความซื่อสัตย์ กล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่อคติ ไม่เอนเอียงเพราะหวาดกลัวอิทธิพล ซึ่งนักกฏหมายที่ดีจะต้องมีจริยธรรม มีความกล้าหาญไม่อคติหรือเอนเอียง(อ่านรายละเอียดหน้า2)
ด้านนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครอง กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำลังเป็นอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งสิ้น แต่นักกฎหมายลืมพื้นฐานในทางกฎหมายไปหมด ปสนใจกับเหตุการณ์วิวัฒนาการความคิดใหม่ ลืมพื้นฐานของกฎหมาย อย่างนิติรัฐคือการกระทำของฝ่ายปกครองต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องถูกตรวจสอบได้โดยองค์กรตุลาการ ความเป็นอิสระของตุลาการ การแบ่งอำนาจอธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยใช้อำนาจผ่านองค์กรทั้งสาม ไม่ได้หมายถึงว่าการขีดเขียน แปลตัวอักษร(อ่านรายละเอียดหน้า2)
ขณะที่นายผัน จันทรปาน ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมในศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การที่ได้มาทำงานอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องศึกษาว่าผู้พิพากษาควรตัดสินคดีอย่างไร และการตัดสิน ต้องจงรักภักดี มีความซื่อสัตย์ สุจริต ต้องมีความเป็นธรรม รวมทั้งการตัดสินจะต้องสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งศาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ต้องยึดมั่น ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกประการ
ส่วนนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด กล่าวว่า สามารถแบ่งนักกฎหมายไทยออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ไม่ได้รับราชการ เมื่อรู้กฎหมายดีแล้วไม่ควรไปบีบบังคับประชาชน โกงเพื่อน การใช้กฎหมายเช่นนั้น แสดงว่าไม่ได้เป็นนักกฎหมายที่ดี ส่วนที่ 2 คือ ส่วนของข้าราชการ คือ ผู้รับใช้ในงานของพระราชา ไม่ว่าเป็นข้าราชการที่รักษากฎหมายจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต การรับใช้พระราชาจะต้องมีเกียรติ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนี้ หากทุกฝ่ายลดทิฐิ ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วความวุ่นวายก็จะไม่เกิด พวกเรานักกฎหมาย ถ้าทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย แล้วหาคำตอบเดียวกัน คิดเพื่อบ้านเมือง ประชาชนก็จะสงบสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะมีความปิติสุข เป็นสิ่งที่นักกฎหมายทำได้ในวโรกาสนี้
ขณะที่นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ติดตามพระบรมราโชวาทและได้ฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอจะเห็นว่าพระองค์ติดตาม เหตุการณ์ในแต่ละปี เมื่อเห็นว่าปีไหนมีคำพิพากษาออกมาแปร่งๆ พระราชดำรัสจะออกมาค่อนข้างหนัก พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นการสะท้อนอุณหภูมิในแต่ละปีของคนที่ทำงานด้านกฎหมาย โดยเฉพาะของฝ่ายตุลาการเป็นหลัก ตนดีใจที่วันนี้ศาลยังได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ หากจะย้อนกลับไปดูว่าวิกฤตเกิดจากอะไรนั้น ตนคิดว่าเกิดจากการละเมิดกฎเกณฑ์บ้านเมือง ละเมิดกติกา เหมือนกับว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิด กว่าจะรู้ตัวว่าเม็ดที่ 5 มันผิด มันก็กลับมาแก้เม็ดที่ 4 ได้ยาก ถ้าจะกลับไปแก้เม็ดที่ 1 ก็ต้องแกะออกให้หมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากอย่างปัญหาภาคใต้
นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นวุ่นวายในปัจจุบันนี้ยอมรับว่านักกฎหมายก็มีส่วน ซึ่งต้องฝากทุกองค์กรที่เป็นสถาบันวิชาการดูแลสร้างนักกฎหมายต่อไป เพราะหากไม่ตอกย้ำในเรื่องกระบวนการยุติธรรมมากๆ คนเราเป็นมนุษย์มีอคติมีโอกาสหลุด จนเกิดอคติได้ตลอดเวลา แต่เรื่องสำคัญคือเราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกฏหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ นายโภคิน อภิปรายประชาชนหลายร้อยคนที่นั่งฟังการถ่ายทอดสดผ่านทีวีวงจรปิดในห้องจี๊ด เศรษฐบุตร ต่างโห่ร้องด้วยความไม่พอใจกับการแสดงความคิดเห็นของนายโภคินเป็นระยะและยังได้ตะโกน"ทักษิณออกไป"อีกด้วย
เมื่อการเสวนาดำเนินการถึงช่วงสุดท้าย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เจ้าฟ้านักกฎหมาย ทรงร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ขอฝากว่า บทบาทนักกฎหมายนอกจากจะเผยแพร่ตัวบทกฎหมายแล้ว น่าจะรวมถึงการเผยแพร่บทบาทขององค์กรต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจ เพราะกฎหมายเป็นเรื่องของสังคมการเข้าใจผิดอาจก่อให้เกิดปัญหาและเกิดช่องว่างด้วย อย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรศาล ทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนๆ ที่เป็นคนนอกก็เข้ามาถามอยู่บ่อยครั้ง องค์กรไหนทำหน้าที่อะไรความเข้าใจผิดเหล่านี้ทำให้เกิดความคลางแคลง ไม่น่าเชื่อถือ จริง ๆ บางทีเราคงต้องการกาวใจ นั่นคือ ความเข้าใจ ความสามัคคี ซึ่งเป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด ซึ่งความสามัคคีนี้นอกจากจะอยู่ในหมู่เองแล้ว ต้องรวมถึงประชาชนและสังคมอีกด้วย
ด้านนายกำชัย จงจักรพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์มธ.ได้กล่าวว่าได้มีการประชุมของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ มากกว่า100 คน โดยได้มีการร่างปณิธานของนักกฎหมายร่วมกัน โดยมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะใช้กฎหมายเพื่อความยุติธรรมเพื่อประโยชน์และเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองภายใต้"นักกฎหมายไทยใต้ร่มพระบารมี"
http://www.naewna.com/news.asp?ID=11871