จับโกหกนพดลได้อีก อ้างแถลงการณ์22พ.ค. ต้องรอให้ครม.อนุมัติ แต่ดูเอกสารกลับไม่มี! Thursday, 03 July 2008
จับโกหก นพดล อ้างแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา-ยูเนสโก เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 เป็นแค่การสรุปผลการประชุมร่วมกัน ที่ต้องเซ็นชื่อกำกับเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการลงนามร่วม แถมยังมีถ้อยคำที่ระบุว่า ไม่มีผลผูกพันจนกว่าครม.อนุมัติ แต่เมื่อมาดูในสมุดปกขาวของบัวแก้ว ที่แพร่ไม่กี่วันแล้วถูกระงับ กลับไม่พบว่ามีถ้อยคำที่นพดลอ้างถึง ส.ว.ปรียนันทนา ตามบี้ ควรเปิดเผยเนื้อหาของแถลงการณ์ฉบับนี้ให้สังคมรับรู้ ก่อนบินไปแคนาดาวันที่ 3 ก.ค. 2551 นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กล่าวผ่านรายการ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ ทางช่อง 3 อสมท. ถึงท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีปราสาทพระวิหารว่า เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล คือ 1.น่าจะเป็นการดีที่จะเลื่อนไปก่อน 2.เราไม่อาจสนับสนุนการขึ้นทะเบียนได้ ซึ่งทำตามคำสั่งศาล ส่วนการจดทะเบียนร่วมก็ต้องหารือกัน ตนจะไปหารือกับนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ก่อนการประชุมที่แคนาดา คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เราต้องมีท่าทีเดียวกัน เพราะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด ไม่สามารถสนับสนุนกัมพูชาได้
ส่วนข่าวเรื่องที่ไปลงนามวันที่ 22 พ.ค. 2551 นั้น นายนพดล ชี้แจงว่า เป็นการสรุปการประชุมกัน ซึ่งเป็นการเซ็นกำกับไป เหมือนการตกลงข้อความร่วมกัน ว่าเป็น copy ที่มีการพูดคุยกัน ผมเซ็นเพียง N.P. ว่าเป็นเอกสารที่ตนดูแล้ว และจะนำกลับมาให้ครม.พิจารณา N คือ นพดล P คือ ปัทมะ เขียนว่า ไม่มีผลผูกพันจนกว่าครม.จะอนุมัติ เพียงเซ็นรับทราบว่ามีการเจรจากัน
เรื่องนี้ทางยูเนสโก้ในไทยได้สร้างความสับสน ผมได้เชิญผอ.ยูเนสโก้ประจำกรุงเทพฯมาพบแล้ว เพื่อทำหนังสือประท้วงว่า เราไม่ได้ทำแบบนั้น ประเด็นที่บอกเซ็น 2 รอบจึงไม่จริง ผมจะอาสาทำไม เมื่อจะเอาเข้าครม. ทำไมต้องเอาคอขึ้นเขียงคนเดียว มันเป็นธรรมเนียมการเจรจาทุกที่ ซึ่งต้องมีการเซ็นกำกับว่านี่คือเอกสารเบื้องต้น ว่าห้ามเพิ่มเติมนะ งานสำคัญขนาดนี้ เราไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม โดยที่ครม.ยังไม่ทราบไม่ได้ N.P. ก็เพื่อเซ็นกำกับเท่านั้น ไม่ได้เซ็นลายเซ็นแบบจริงๆรมว.ต่างประเทศกล่าว
บอกเฉย "ไม่มีผลผูกพัน-ต้องให้ครม.เห็นชอบก่อน"นายนพดล กล่าวด้วยว่า เอกสารนี้ (หมายถึงฉบับวันที่ 22 พ.ค.) ไม่มีผลผูกพันระหว่างประเทศ เป็นแค่การลงนามกำกับว่าเป็นร่างเบื้องต้น และเขียนชัดว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.ก่อน การที่ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ส.ว.สรรหา จะกังวล ก็คงเข้าใจผิด ทูตของเราที่แคนาดา รายงานมาแล้วว่า ทางคณะกรรมการมรดกโลกรับทราบเรื่องท่าทีของไทยที่ไม่ยอมรับต่อการรับรองของกัมพูชาแล้ว
เมื่อไปถึงแคนาดา ผมจะคุยกับท่านปองพล เพราะท่าทีของไทยต้องเหมือนกัน ท่านคงหมายถึงเลื่อนไปก่อน แล้วไปจดร่วมกัน เพราะครั้งนี้ไทยไม่ได้ยื่นขอจดร่วม เพียงแต่เราปกป้องไม่ให้เสียดินแดน ยังยืนยันว่า สิ่งที่ทำมาถูกต้อง เพื่อรักษาอธิปไตยของไทย ส่วนท่าทีของกัมพูชานั้น เราก็เชิญท่านทูตมา เพื่อให้รับหนังสือว่า คำสั่งศาลห้ามไม่ให้เราสนับสนุน เพราะเรื่องนี้เป็นคำสั่งศาล ไม่อยากให้สัมพันธ์ของ 2 ประเทศมีปัญหา และการไปแคนาดาครั้งนี้ คงคุยนอกรอบกับกัมพูชาด้วยนายนพดลกล่าวและว่า ทั้งนี้ตนไม่ได้ต่อสายคุยกับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่เป็นเรื่องของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ตนจะคุยกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในเบื้องต้นก็คิดว่า เขาน่าจะเข้าใจ เราต้องทำทุกอย่างให้นิ่มนวล และตรงไปตรงมา
เมื่อถามว่า หนังสือที่เซ็นไปเมื่อ 22 พ.ค.นั้น จะเปิดเผยได้หรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า หากเปิดเผยแล้วจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะคำสั่งศาลห้ามไม่ให้ผมดำเนินการใดๆ
ส.ว.ย้ำไม่พบเห็นถ้อยคำ "ต้องให้ครม.พิจารณาก่อน"ด้านม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเห็นแถลงการณ์ร่วมของวันที่ 22 พ.ค.แล้ว ซึ่งไม่ได้เห็นข้อความที่บอกเลยว่า "ต้องให้ครม.พิจารณาก่อน" ไม่รู้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ จะแปลความอย่างไรก็แล้วแต่ แถลงการณ์วันที่ 22 พ.ค.นี้เป็นข้อผูกมัดหรือผูกพันแล้ว รมว.ต่างประเทศต้องไปถอนแถลงการณ์ร่วมนี้ออกมาก่อน และควรเปิดเผยเอกสารนี้ก่อนเดินทางไปแคนาดา เพราะยูเนสโก้บอกเองว่ามีผลผูกพัน ดังนั้นเพื่อความชัดเจนก็ควรเปิดเผยออกมา จึงควรแถลงการณ์ออกมาก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือเลขที่ 136.32/1038/08 ที่ นายเชลดอน เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพมหานคร ที่ส่งถึงม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต เมื่อวันที่ 1ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ในตอนท้ายระบุชัดว่า 'พันธะในอันที่จะให้ความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการและให้ความคุ้มครองปราสาทพระวิหารดังกล่าว ได้รับการเน้นย้ำและแสดงออกอย่างเป็นทางการแล้วโดย แถลงการณ์ร่วมซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและรองนายกรัฐมนตรี กัมพูชาที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2008 แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวถูกนำเสนอเพื่อรับการพิจารณาจากคณะกรรมการมรดกโลกใน ฐานะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของแฟ้มนำเสนอเพื่อการขอขึ้นทะเบียน และตามที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น คณะกรรมการมรดกโลกจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดสุดท้ายในเรื่องนี้'
หมัก ยังปกป้อง นพดล ทำอะไรผิด ย้ำทำตามคำพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ที่นครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กัมพูชาใช้แถลงการณ์ร่วม ที่นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ไปลงนาม ที่ กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ในการยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกว่า สิ่งที่นายนพดลทำเป็นความผิดอย่างไร ก็ให้บอกมา ตอนนี้ตนได้ทำทุกอย่างตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้ว และส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว จะให้ทำอย่างไรอีก ได้ทำอย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมายทุกอย่าง
โชว์หลักฐานจับโกหกนพดล-เช็คเอกสารแถลงการณ์แล้วไม่พบถ้อยคำที่บอกผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากการตรวจสอบสมุดปกขาวกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดทำขึ้น และแผยแพร่ผ่านเว็บไซต์
www.mfa.go.th เมื่อช่วงค่ำวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ต่อมาได้ถูกระงับการเผยแพร่สมุดปกขาวนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศให้เหตุผลว่า เพราะศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่ระงับไม่ให้มีการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งจากการตรวจสอบสมุดปกขาวดังกล่าวพบว่า ในส่วนของคำแถลงการณ์ร่วมไทย กัมพูชา ยูเนสโก ณ วันที่ 22 พ.ค. 2551 เวลา 23.35 น. ก็ไม่ได้มีถ้อยคำใดที่ปรากฏเลยว่า ต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาหรืออนุมัติก่อน เหมือนที่นายนพดลพยายามกล่าวชี้แจงในวันนี้
ปชป.อัด "หมัก"ทำคนไทยในจีนเข้าใจผิดเรื่องปราสาทพระวิหารนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวกับคนไทยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า กรณีปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องทางการเมืองที่มีการนำมาฟาดฟันในสภาฯ จากการที่ฝ่ายค้านนำเรื่องนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า นายกฯพูดในสิ่งที่คลาดเคลื่อน ทำให้คนไทยในประเทศจีนที่ไม่ได้มีโอกาสติดตามการอภิปรายดังกล่าว เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ทั้งนี้การที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารมาอภิปรายรมว.ต่างประเทศเป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านนำเสนอให้เห็นว่าเหตุใดนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กระทำไม่ถูกต้องในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชาเป็นผู้เสนอฝ่ายเดียว ไม่ใช่การนำมาฟาดฟันในสภาฯ อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อไมตรีที่ดีของทั้ง 2 ประเทศ
ศาลรธน.พิจารณาด่วนคำร้องสนธิสัญญาร่วมไทย-กัมพูชา ขัดรัฐธรรมนูญม. 190 หรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายชัช ชลวร ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
ภายหลังการประชุม นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาคำร้องของประธานวุฒิสภาที่ส่งความเห็นของส.ว. 77 คน และคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งความเห็นของส.ส. 151 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 เป็นหนังสือสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า จำนวนของส.ว.และส.ส.ที่เสนอความเห็นมีไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ใน 2 สภา คำร้องทั้ง 2 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคหก ประกอบมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องทั้ง 2 ไว้พิจารณาและให้มีคำสั่งรวมกรพิจารณาคำร้องทั้ง 2 เข้าด้วยกัน เนื่องจากมีประเด็นพิจารณาอย่างเดียวกัน
เรียก นพดล แจงภายในบ่าย 3 วันนี้หรือ 9 โมงเช้าวันศุกร์ หากไม่มาถือไม่ติดใจ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 มีมติเรียกนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ มาชี้แจงและให้ถ้อยคำพร้อมเอกสารประกอบในประเด็นที่เกี่ยวกับคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 3 ก.ค. หรือในวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.00 น. หากไม่มาตามกำหนดนัด ให้ถือว่าไม่ติดใจชี้แจงและให้ถ้อยคำ และขั้นตอนต่อไปคณะตุลาการฯก็จะประชุมเพื่ออภิปราย ซึ่งหากข้อมูลเพียงพอก็อาจจะสามารถวินิจฉัยและลงมติได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำร้องของประธานวุฒิสภานั้น ได้ส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในวันที่ 30 มิ.ย. ในขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งให้พิจารณาในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา และได้กำหนดในวาระการประชุมในวันที่ 3 ก.ค. เนื่องจากคณะตุลาการฯเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพิจารณา และระเบียบวิธีพิจารณาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญสามารถใช้ดุลพินิจหยิบยกคำร้องมาพิจารณาได้ตามดุลพินิจของตุลาการฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ระบุให้หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตไทย จะต้องออกเป็นพ.ร.บ. และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และมาตรา 154 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคำร้องว่าร่างพ.ร.บ.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าร่างพ.ร.บ.นั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้นให้ส่วนที่ขัดหรือแย้งนั้นตกไป และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้ ให้นายกฯระงับการดำเนินการไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย