ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดระดมความคิดเห็นเรื่อง “รัฐสวัสดิการกับการปฏิรูปการเมือง” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายเห็นตรงกับว่า การปฏิรูปการเมืองในขณะนี้นอกจากเรื่องของสถาบันองค์กรต่างๆ แล้ว ควรนำเรื่องนโยบายรัฐสวัสดิการมาพูดกันด้วย เนื่องจากรัฐสวัสดิการจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อลดช่องว่างทางสังคม และส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน
การจัดสวัสดิการเป็นหน้าที่รัฐ
รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้กระแสต่อต้านเสรีนิยมใหม่มีมากขึ้น อย่างในละตินอเมริกา เช่น โบลิเวีย เวเนซุเอลา ที่ผู้นำออกมาต่อต้าน โดยจะเห็นว่ามีการเมืองภาคประชาชนคอยกำกับอยู่ จึงเห็นว่า ประชาชนควรมีบทบาทผลักดันให้รัฐจัดสวัสดิการให้ รัฐเองก็ควรบีบให้กลุ่มทุนซึ่งได้ประโยชน์จากคนงานและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบกับสุขภาพของคนงานด้วย
รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า แนวคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพของประชาชนนั้น ไม่เคยเกิดจากการริเริ่มของรัฐเลย โดยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนนั้นเริ่มมีขึ้นในพ.ศ.2475 จากหลัก 6 ประการของนายปรีดี พนมยงค์ แล้วก็ถูกทำลายไป ต่อมามีการพูดเรื่องสวัสดิการของคนจนที่เป็นลูกจ้างอีกในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้ จนมีการนำมาใช้ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งก็จำกัดให้แต่เฉพาะแรงงานที่มีนายจ้างชัดเจนเท่านั้น ทั้งที่แรงงานออกไปนอกระบบมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการจัดสวัสดิการสังคม ต้องเอาสังคมไทยเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ทุนเป็นตัวตั้ง โดยควรมาคิดกันว่า ใครจะได้ประโยชน์และทำอย่างไรรัฐสวัสดิการจึงจะเกิดขึ้นมาได้มากกว่าคิดว่ารัฐสวัสดิการจะเป็นอย่างไร
มายาคติของรัฐสวัสดิการ
นายสุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ยังมีมายาคติอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการที่ยังไม่สามารถทำลายได้ เช่น ถ้ามีรัฐสวัสดิการแล้วจะสนับสนุนให้คนขี้เกียจ ซึ่งหากดูตัวเลขในอังกฤษในอเมริกาแล้วจะพบว่า มีคนที่ไม่ทำงานหรือโกงสวัสดิการที่ถูกจับได้เพียง 2-3% เท่านั้น
นอกจากนี้ คนยังมองว่า รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของ “คอมมิวนิสต์” ที่โหดร้าย ทั้งที่ที่ผ่านมารัฐสวัสดิการในสังคมตะวันตกก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐสภาแล้วนำไปสู่จุดนั้น แม้จะมาจากฝ่ายซ้ายก็ตาม แต่เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องในสังคมอุตสาหกรรมทุนนิยมเพื่อให้เดินไปข้างหน้า พอมีคนมาเรียกร้องก็อุดปากมันซะ
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเราจะเลียนแบบสวัสดิการของตะวันตกไม่ได้ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า รัฐสวัสดิการของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อความสุขหรือสวัสดิการ แต่เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้ เราจึงต้องมีรัฐสวัสดิการในแบบของตัวเอง
ไทยพร้อมทุกด้านยกเว้น “ความคิด”
นายจอน อึ๊งภากรณ์ รักษาการวุฒิสมาชิก กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลพร้อมทุกด้านที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ ยกเว้นความพร้อมด้านความคิดทางสังคมที่ยังล้าหลังอยู่ นอกจากนี้ รัฐบาล นักวิชาการหรือรัฐมนตรีที่สนับสนุนเรื่องนี้ได้ยังน้อยมาก
เรายังอยู่ในยุคที่ช่วยคนแบบปัจเจกบุคคล ช่วยเป็นคนๆ ไป โดยมักมองว่า เป็นเรื่องของความเมตตาที่สังคมมีต่อคนมากกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลให้ทุกคนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานเพื่อชีวิตที่ดี
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน มีทรัพยากรเพียงพอ สามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีได้ แต่ยังขาดระบบ ขาดนักวิชาการที่จะมาลงรายละเอียดและร่างตุ๊กตาให้เห็นว่า ถ้ามีแล้วจะดีอย่างไร อีกทั้งเครื่องมือที่มียังชำรุด เนื่องจากกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ อำนาจตัดสินใจใช้เงินกองทุนอยู่ที่กระทรวง ผู้ประกันตนจึงไม่ได้เป็นเจ้าของจริง เพราะไม่มีโอกาสรับรู้การตัดสินใจใช้เงินกองทุน
สิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การศึกษาต้องฟรีจริงในทุกระดับ โดยรวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์ สำหรับระดับมัธยมนั้นคิดว่าอาจต้องมีการจ้างเรียน เพราะแม้เด็กจะมีศักยภาพที่จะเรียนได้ แต่ก็อาจต้องทำงานหารายได้ให้ครอบครัว ดังนั้น เด็กและผู้ปกครองจึงต้องมีรายได้
อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะยกเลิกกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพราะที่ผ่านมา กองทุนฯ นี้ทำให้เด็กที่ยากจนสามารถแบ่งเงินให้กับพ่อแม่ที่ไม่มีรายได้ได้ ส่วนในระดับอุดมศึกษาก็ควรให้ทุนเรียนฟรี เพราะเชื่อว่าจะการเรียนช่วยลดช่องว่างทางสังคมได้ นอกจากนี้ถ้าให้สิทธิ์ทุกคนเท่ากัน ก็จะจัดการง่ายและเป็นธรรมกว่า จะได้ไม่เกิดปัญหาการนิยามว่า ใครคือคนยากจน
ต่อมาคือ ด้านสาธารณสุข ที่ควรให้ความสำคัญกับคน 3 กลุ่ม คือ คนชรา คนพิการ และพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูตามลำพัง ลดภาษีของลูกที่ดูแลพ่อแม่ที่ชรา และให้ทุกคน ทั้งคนที่มีและไม่มีบัตรประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ มีสิทธิ์เข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นายจอน กล่าว
73,000 ล้าน ไม่ใช่ได้มาเพราะทักษิณทำโอที
รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า รัฐสวัสดิการ คือการสร้างมั่นคงในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่การให้ทานหรืออุปถัมภ์ โดยรัฐสวัสดิการจะช่วยสร้างสังคมอารยะและลดความเหลื่อมล้ำ
การรณรงค์เรื่องรัฐสวัสดิการในขณะนี้ เป็นสิ่งสำคัญเพราะมี 16 ล้านเสียงที่เลือกพรรคไทยรักไทย ส่วนตัวมองว่า 16 ล้านเสียงไม่ได้โง่ หรือพึงพอใจกับด้านเลวๆ ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เพราะไทยรักไทยเป็นพรรคเดียวที่สนใจคนจน ดังนั้น จึงต้องมาดูว่า อะไรที่ดีกว่าข้อเสนอของพรรคไทยรักไทย
ด้านหลักการคิดว่า รายได้ของรัฐสวัสดิการต้องมาจากภาษีก้าวหน้า ไม่ใช่ระบบสมทบทุน เพื่อให้ใช้ได้ทันที หากเป็นระบบประกันสังคมต้องมีระยะเวลาการเป็นสมาชิก จึงจะใช้เงินประกันได้
คนรวยในไทยต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เนื่องจากคนรวยที่มีรายได้ ส่วนใหญ่มาจากตลาดหุ้น ซึ่งเป็นการได้มาฟรี อย่าง 73,000 ล้านบาทที่เป็นหุ้นของชินคอร์ป มาจากการทำงานของพนักงาน ไม่ใช่เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณทำโอทีเต็มที่ ดังนั้น ที่เสนอระบบถ้วนหน้าจึงไม่ใช่การขอทาน แต่เป็นการขอคืนของชาวไร่ชาวนา คนทำงานออฟฟิศที่มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ
การใช้ระบบถ้วนหน้าจะมีประสิทธิภาพที่สุด เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการตรวจสอบ เช่น ค่าจ้างนักบัญชีออกไปได้ และทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างในอังกฤษ การจะรับสวัสดิการต้องพิสูจน์ว่าจนจริง กว่าจะพิสูจน์ได้ โรงพยาบาลต้องจ้างนักบัญชีมาตรวจสอบเอกสาร โดยลดการจ้างหมอและพยาบาลลง รศ.ใจ กล่าว
ทำอย่างไรให้มีสวัสดิการต่อไป
วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า จุดดีเพียงอย่างเดียวของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่รัฐบาลในอดีตทำน้อยมากคือ การที่สามารถใช้กลไกทางการเมืองดึงความต้องการของประชาชน ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข ผู้สูงอายุ และการส่งเสริมอาชีพในชุมชน ให้ปรากฏออกมาได้
ทั้งนี้ มีคำถามว่า จะจัดการภารกิจเหล่านี้ให้เป็นสถาบันได้อย่างไร ตามที่อาจารย์บางท่านเสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่เป็นเหมือนการให้ทานและผูกโยงกับตัวแทนทางการเมืองมากเกินไป ดังนั้น จึงไม่ชัดเจนว่าหากรัฐบาลนี้ไปแล้วจะสิ่งเหล่านี้จะมีอยู่ต่อไปรึเปล่า และควรคิดต่อว่า เมื่อมีความต้องการอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว จะจัดภารกิจเหล่านี้ให้เป็นระบบได้อย่างไร ซึ่งก็ยังหาคำตอบไม่ได้
ส่วนตัวแล้วคิดว่า บริการเหล่านี้ไม่ควรให้เปล่า ควรกำหนดชัดเจนว่า ใครสมควรได้ มีตัวอย่างในอเมริกาว่า มีคนแฝงชื่อเพื่อมารับบริการด้านยา ถ้าไม่กำหนดให้ชัดว่าใครควรได้จะอันตราย เพราะไทยไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยได้
ด้านการเงินของบริการสาธารณะนั้น คิดว่าไม่ควรเก็บภาษีก้าวหน้า เพราะตอนนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยก็ก้าวหน้าอยู่แล้ว ถ้าเก็บมากกว่านี้อาจมีผลเสียต่อการลงทุนได้ คิดว่ายังมีทรัพยากรบางอย่างที่ยังไม่ได้เก็บภาษี ซึ่งน่าจะผลักดันให้มีการเก็บ เช่น สิ่งใดก็ตามที่มีไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อย่างที่ดิน มรดก วีระศักดิ์ กล่าว
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=3799&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai