ผมอยากทราบว่าสำนักงานทรัพย์สินฯนี้เป็นองค์กรประเภทไหนครับ ถือเป็นองค์กรของรัฐหรือเอกชน
ทำไมสำนักงานทรัพย์สินฯจึงได้รับการยกเว้นภาษีครับ
สำนักงานทรัพย์สินฯมีองค์กรภายนอกตรวจสอบมั้ยครับ
อยากทราบเป็นวิทยาทาน
บังเอิญผ่านไปเจอ สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สมัยทักษิณ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544
ในเรื่องที่ 4. ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
มีเนื้อหาตรงกับคำถามของกระทู้พอดี ก็เลยนำมาลงเป็นคำตอบให้นครับ
โดยสรุปคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า สำนักงานทรัพย์สิน
ไม่ใช่ "หน่วยงานราชการ" และไม่ใช่ "รัฐวิสาหกิจ" แต่ถือเป็น "หน่วยงานของรัฐ"ผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ ในสังกัดสำนักงานทรัพย์สิน ถือเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง
ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาฯ
จึงอยู่ในอำนาจตรวจสอบของ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาฯ
ในขณะที่ คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติหน้าที่ในรูปคณะกรรมการ
จึงมิใช่พนักงานหรือลูกจ้างตามมาตรา 16 ดังกล่าว
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ยังมีข้อสังเกตว่าการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริง
ตามคำร้องเรียน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานั้น
ควรต้องเป็นไปตามพระราชประสงค์ และต้องไม่เป็นการกระทบต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย
...
สำหรับในเรื่องได้รับการยกเว้นภาษีนั้น ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในความดูแลของ
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้รับการยกเว้นภาษีอากรเช่นเดียวกับ
ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ
จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479
ในขณะที่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ในความดูแลของ สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์
ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีอากร ... อ่านสรุปในวิกิพีเดียก็ชัดเจนดีนะครับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 พฤษภาคม 2544http://www.dopa.go.th/gov/cab0501t.htm...
4. เรื่อง ข้อกฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
(คณะที่ 1) และข้อสังเกตเกี่ยวกับฐานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ได้ขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กรณี นายสุชัย ยอดโพธิ์ทอง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อขอให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง
กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมี
ประเด็นว่า คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้อำนวยการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนลูกจ้างของ
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะถือว่าเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาฯ มาตรา 16 หรือไม่อย่างไร
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็น
และข้อสังเกต ดังนี้
1. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น แม้จะจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่าย
พระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และเป็นนิติบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบ
ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 ก็ตาม
แต่ก็มิได้มีการจัดให้เป็น “หน่วยราชการ” ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือกฎหมายว่าด้วยการ
ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม หรือกฎหมายอื่น ฉะนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมิใช่หน่วยราชการ
2. ส่วนที่ว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็น “รัฐวิสาหกิจ” หรือไม่คณะกรรมการกฤษฎีกา
(กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 2) ได้เคยให้ความเห็นว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่เป็น “รัฐวิสาหกิจ”
ฉะนั้น จึงมีความเห็นในทำนองเดียวกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 2) ว่า
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ
3. สำหรับปัญหาที่ว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็น “หน่วยงานของรัฐ” หรือไม่ นั้น
เมื่อได้พิจารณานิยาม “หน่วยงานของรัฐ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
ผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภาฯ แล้ว ได้กำหนดให้หมายถึงหน่วยงานอื่นของรัฐนอกจากหน่วยราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
หรือของราชการส่วนท้องถิ่น การที่บัญญัติไว้เช่นนี้กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะให้มีความหมายอย่างกว้าง โดยหน่วยงานของรัฐ
จะหมายถึงกิจการของรัฐทุกส่วนที่รวมกันขึ้นเป็นรัฐ ซึ่งมิได้หมายถึงแต่คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรการบริหารเท่านั้น แต่รวมถึง
สถาบันอื่น เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย ฉะนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งทำ
หน้าที่ดูแลจัดหาผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ จึงถือได้ว่าเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาฯ โดยเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสถานะเป็นพิเศษมิได้ขึ้นอยู่ในกำกับของ
คณะรัฐมนตรีหรือกระทรวง ทบวง กรมใด และด้วยเหตุนี้ ผู้อำนวยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง
ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาฯ ส่วนคณะกรรมการ
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น โดยที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในรูปคณะกรรมการจึงมิใช่พนักงานหรือลูกจ้างตามมาตรา
ดังกล่าว
อนึ่ง การที่มีความเห็นว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภานี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีข้อสังเกตว่า ในการเข้าไป
ตรวจสอบโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเกี่ยวกับกิจการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น
จะต้องคำนึงถึงสถานะพิเศษของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ
ที่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยหรือที่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตนั้น บุคคลใดไม่พึงดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่กระทบ
กระเทือนต่อพระราชอำนาจดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิด
มิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 8 ซึ่งการจะพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนตาม
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้เพียงใดนั้น ควรต้องเป็นไปตามพระราชประสงค์และ
ต้องไม่เป็นการกระทบต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วย