แกนนำม็อบ "สะอิ้ง" ถอยรถป้ายแดง ปัดใช้เงินคาราวาน
"สะอิ้ง ไถวสินธุ์" แกนนำคนจนหนุน "ทักษิณ" หลังกลับบ้านชีวิตดีขึ้น ออกรถปิกอัพป้ายแดง เจ้าตัวโวซื้อเงินสดที่ได้จากการลงทุนทำเหมืองแร่ที่ จ.เลย ถามกลับอยากรู้ใครที่กล่าวหาว่าอมเงิน ขณะที่ชาวบ้านซึ่งร่วมเดินทางไปด้วยโอดได้เงินค่าจ้างไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ รับปากให้ 2 หมื่นจ่ายจริงหมื่นเดียว
ภายหลังจากที่เครือข่ายคาราวานคนจน ซึ่งมีแกนนำคือ นายคำตา แคนบุญจันทร์ ประธานเครือข่ายคาราวานคนจน นายอรรถฤทธิ์ สิงห์ลอ เลขาธิการเครือข่าย และนางสะอิ้ง ไถวสินธุ์ กลับจากกรุงเทพฯ หลังเสร็จสิ้นภารกิจชุมนุมเพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีที่สวนจตุจักรนั้น
ผู้สื่อข่าวได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะนางสะอิ้ง ไถวสินธุ์ อายุ 53 ปี หนึ่งในแกนนำคาราวานคนจน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด พบว่าชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ มีเงินซื้อรถกระบะป้ายแดงขับไป-มาในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านด้วยกันต่างตั้งข้อสังเกตถึงฐานะที่ร่ำรวยในระยะเวลาอันรวดเร็ว
นางสะอิ้ง กล่าวยอมรับว่าซื้อกระบะอีซูซุ ดีแมคซ์ป้ายแดง และมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเอาเงินค่าจ้างจากการไปชุมนุมสนับสนุนนายกรัฐมนตรีมาซื้อรถ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วขอปฏิเสธในเรื่องนี้ เงินที่นำมาซื้อรถราคา 5.2 แสนบาท ได้มาจากการขายแร่ หลังจากไปร่วมทุนทำเหมืองแร่ที่บ้านนาปลาดุก ต.นาคำ อ.นาด้วง จ.เลย ซึ่งมีเพื่อนร่วมหุ้นหลายคน เหมืองแร่ดังกล่าวลงทุนทำร่วมกับชาวเวียดนาม และเงินที่ใช้ซื้อรถคันใหม่แท้จริงแล้วก็มีผู้ช่วยสนับสนุน ชื่อประสิทธิ์ อยู่กรุงเทพฯ ออกเงินให้ 3 แสนบาท ตนออกเงินส่วนสมทบ 2.2 แสนบาท ยืนยันว่าเงินที่ซื้อรถไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
"เงินที่ไหนจะได้มากขนาดนั้น ไปร่วมชุมนุมให้กำลังใจนายกฯ ไม่ได้เงิน ใครจะเอาเงินมาให้ พวกเราที่ไปไม่มีใครได้เงินสักคนหรอก ใครกล่าวหาอยากจะเห็นหน้ามาก ให้มาดู ให้มาพิสูจน์ได้เลย เช่นกันที่มีการพูดกันว่าไม่ยอมจ่ายเงินและอมเงินค่าจ้างวันละ 200 บาทให้กับชาวบ้านที่เดินทางไปเพื่อร่วมให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี อยากรู้ว่าใครกล่าวหา ที่ไปร่วมชุมนุมให้กำลังใจไม่ได้มีใครว่าจ้าง ไปเพราะอยากไป ไม่ได้เกี่ยวกับเงิน" นางสะอิ้ง ระบุ
ด้านนายนิพนธ์ ชาวบ้าน ต.คำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเคยร่วมชุมนุมให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากเดินทางกลับจากร่วมชุมนุมได้เงินค่าจ้าง 1 หมื่นบาท ทั้งที่ความจริงจะต้องได้มากกว่านั้น เนื่องจากตามข้อตกลงกัน ค่าจ้างที่จะได้รับคือรายวัน เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท เพราะจะต้องแบ่งเป็นค่าเช่ารถ 800 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงอีก 200 บาท รวม 1,000 บาท เมื่อคำนวณจากการไปร่วมชุมนุม 20 วัน จะต้องได้เงินทั้งหมด 2 หมื่นบาท แต่แกนนำจ่ายให้เพียง 1 หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่า
"หากผมไม่ไปร่วมชุมนุม และหารับจ้างในหมู่บ้าน ก็จะได้ค่าจ้างประมาณวันละ 200 บาท 20 วันก็จะได้ 4,000 บาท แต่ถ้าหากเช่ารถด้วยก็จะได้มากกว่านั้น แต่นี่ไปชุมนุม 20 วัน ต้องทิ้งบ้านช่องไป มันไม่ม่คุ้ม และหากมีใครมาชวนไปอีก ผมก็จะขอเงินสด ไม่เอาแล้วเงินเชื่อ พอเสร็จงานแล้วก็ไม่ยอมจ่าย ทั้งที่ตกลงกันไว้ก่อน" นายนิพนธ์ กล่าว
ด้านนายพรชัย ชาว ต.คำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ เช่นกัน กล่าวว่า ไปร่วมชุมนุมร่วม 2 เดือน ออกเดินทางจาก จ.อุบลราชธานี ตกลงกันเบื้องต้นจะให้ค่าตัววันละ 200 บาท แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว กลับได้รับเงินไม่เต็มจำนวน เพราะถูกหักเงินเอาไว้จากนายหน้า ขณะที่เพื่อนบางกลุ่มที่มาจากภาคเหนือเล่าให้ฟังว่าได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท จึงเกิดคำถามว่าทำไมได้ไม่เท่ากัน ตรงนี้เป็นไปได้ อาจจะเพราะถูกกลุ่มคนระดับแกนนำหักเงินบางส่วนเอาไว้ ไม่ได้จ่ายให้เต็มจำนวนดังที่ควรจะเป็น
"ผมคงไม่ไปอีกแล้ว อายเพื่อนบ้าน เพราะกลับมาแล้วเขาก็รู้ว่าเราไปเพราะมีคนจ้าง ไม่ได้ไปเพราะอยากจะไปจริงๆ และยิ่งได้เงินไม่สมกับที่คาดหวังเอาไว้ก็ยิ่งอายเพื่อนบ้านอีก" นายพรชัย กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มคาราวานคนจนดังกล่าว มีบทบาทสำคัญในการแสดงพลังสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเคยกล่าวชื่นชม และให้คำมั่นที่จะไม่ทอดทิ้งผู้ให้การสนับสนุนเหล่านี้ ขณะเดียวกันกลุ่มคาราวานคนจนก็ยังเคยมาปิดล้อมอาคารสำนักงานของบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ ทั้ง เดอะเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ "คม ชัด ลึก" และเนชั่นทีวี เพื่อประท้วงที่ "คม ชัด ลึก" ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
http://www.komchadluek.net/news/2006/05-13/p1--19734.htmlคิดไงกันครับ กับข่าวนี้