เลือกตั้งส่อยุ่ง! เจิมศักดิ์ เผยปม รธน.ห้ามอดีต ส.ว.ลงสมัคร 2 ปี โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2550 00:03 น.
เจิมศักดิ์ เผยเลือกตั้ง 23 ธ.ค.วุ่นแน่ หลังพบปมอดีต ส.ว.ที่ลงสมัคร ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 บัญชีรายชื่อพรรคระบบสัดส่วนกระเทือนแน่ เหตุผู้สมัครคุณสมบัติไม่ครบ แนะออก พ.ร.ฎ.รับสมัครใหม่ ปล่อยเลยตามเลย หลังเลือกตั้งยุ่งเหยิงแน่ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในรายการ รู้ทันประเทศไทย ทางเอเอสทีวี วันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.ที่จะถึงนี้อาจจะเกิดปัญหาใหญ่ เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็นอดีต ส.ว.ยังอยู่ในช่วงที่ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นระยะเวลา 2 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีที่มาจาก ร.ต.อนุกูล สุภาไชยกิจ อดีตผู้ว่าราชการ จ.พัทลุง และเป็นอดีต ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรก เมื่อปี 2543 รุ่นเดียวกับตน กำลังเตรียมตัวจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง ร.ต.อนุกูล จึงได้หารือกับตนว่า อดีต ส.ว.ชุดนี้จะต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 วรรค 2 หรือไม่
เมื่อดูรายละเอียดของ มาตรา 116 วรรค 2 ระบุว่า บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีจะเป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ ซึ่งเท่ากับว่า อดีต ส.ว.ชุดดังกล่าวจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรีได้ เพราะสิ้นสุดสมาชิกภาพเพียง 1 ปีเศษๆ หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น อดีต ส.ว.ที่ลงสมัคร ส.ส.ครั้งนี้ อาทิ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ นายการุณ ใสงาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า นายสมบูรณ์ ทองบุราณ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร เป็นต้น จะมีปัญหาในการดำรงตำแหน่งทันที หากได้รับการเลือกตั้ง
นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า
แม้จะมีบทเฉพาะกาลไม่ให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 116 วรรค 2 แต่ก็ยกเว้นให้เฉพาะอดีต ส.ว.ที่ได้รับเลือกตั้งชุดที่ 2 ในปี 2549 ส่วน อดีต ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกไม่มีการยกเง้นแต่อย่างใด ดังรายละเอียดในมาตรา 296 ความว่า "ในวาระเริ่มแรก ห้ามมิให้ผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะมีการได้มาเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ และมิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 115 (9) และมาตรา 116 วรรคสอง มาใช้บังคับกับผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งครั้งหลังสุด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540"
ดังนั้น มาตรา 116 วรรคสอง จึงส่งผลกระทบต่อผู้สมัครที่เป็น อดีต ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกอย่างแน่นอน และกรณีนี้นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้ปรึกษากับนักกฎหมายแล้ว จะอ้างว่าไม่มีผลย้อนหลังไม่ได้ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญเพิ่งมีคำวินิจฉัยว่า กรณีคุณสมบัตินั้นให้มีผลย้อนหลังได้ จึงได้วินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองอดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตาม สำหรับอดีต ส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งชุดที่ 2 นั้น
แม้จะมีบทเฉพาะกาลมาตรา 296 ยกเว้นให้ แต่ก็เป็นยกเว้นให้เฉพาะกรณีการลงเลือกตั้ง ส.ว. ส่วนกรณีการลงสมัคร ส.ส.นั้น บทเฉพาะกาลดังกล่าวไม่ได้ยกเว้นให้แต่อย่างใด และเมื่อดูคุณสมบัติบุคคลต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามมาตรา 102 (10) ระบุว่า เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงแล้วยังไม่เกินสองปี จึงเท่ากับว่าอดีต ส.ว.ที่ได้รับการเลือกตั้งในรุ่นที่ 2 เมื่อปี 2549 ก็ถูกห้ามลงสมัคร ส.ส.ด้วยเช่นกัน
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้ปรึกษานายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะอดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว นายจรัญยอมรับว่า ตอนร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้คิดเรื่องนี้ แต่เรื่องคุณสมบัตินั้นมีผลบังคับย้อนหลังได้ เพราะมีข้อห้ามคนที่ถูกพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังลงสมัคร ก็รวมถึงคนที่เคยถูกจำคุกมาก่อนรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ด้วย กรณีอดีต ส.ว.ก็เรื่องเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ส.ว.รุ่นแรกจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นอะไรไม่ได้ จนกว่าจะเลยวันที่ 19 ก.ย.2551 ส่วน ส.ว.รุ่น 2 หากจะลงสมัคร ส.ส.ก็ต้องรอเช่นเดียวกัน เว้นแต่อดีตว่าที่ ส.ว.บางคนที่ กกต.ยังไม่รับรอง เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย และ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ สามารถลงสมัคร ส.ส.ครั้งนี้ได้
นายเจิมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า อดีต ส.ว.จากการเลือกตั้งรุ่นแรก ที่ลงสมัคร ส.ส.ครั้งนี้ ในระบบสัดส่วนมีทั้งหมดประมาณ 28 คน สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน 6 คน รวมใจไทยชาติพัฒนา 2 คน ประชาธิปัตย์ 4 คน พลังประชาชน 9 คน ประชาราช 1 คน และมัชฌิมา 6 คน ส่วนที่สมัคร ส.ส.ระบบเขตเท่าที่ตรวจสอบพบลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน พรรคมัชฌิมา 4-5 คน และพรรคอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ผมได้ปรึกษาคุณจรัญแล้ว ท่านบอกว่า จะต้องไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรต่อไป และผมก็ได้หารือคุณกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แล้วเช่นกัน ท่านก็บอกว่า จะเป็นปัญหาใหญ่ นายเจิมศักดิ์กล่าว
นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากยังเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป ปัญหาจะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบสัดส่วน เนื่องจากมาตรา 97 (1) ของรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้ว่า บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ครบตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนที่จะมีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง และต้องเรียงตามลำดับหมายเลข แล้วให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนวันเปิดสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
ซึ่งในทางกฎหมายนั้น ถ้าผู้สมัครขาดคุณสมบัติก็มีผลเท่ากับไม่ได้ยื่นรายชื่อผู้สมัคร แม้ กกต.จะรับสมัครไว้แล้วก็ตาม แต่ กกต.ต้องไปดูในรายละเอียดว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องหรือไม่
ส่วนมาตรา 103 วรรคสองที่ว่า เมื่อพรรคการเมืองใดส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งครบจำนวน ตามวรรคหนึ่งแล้วแม้ภายหลังจะมีจำนวนลดลงจนไม่ครบจำนวน ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งครบจำนวนแล้ว นั้น การที่ผู้สมัครมีจำนวนลดลงดังกล่าวเป็นกรณีการลดลงจากสาเหตุอื่น ไม่ใช่การมีคุณสมบัติไม่ครบ ซึ่งถือว่าไม่ได้สมัครตั้งแต่แรก
นายเจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเจตนารมณ์ของ มาตรา 116 วรรคสอง ตามที่ได้บันทึกไว้นั้น ต้องการห้าม ส.ว.ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่จะขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง ส.ว. และต้องการให้ให้ ส.ว.ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่
ส่วนที่มีบทเฉพาะกาลยกเว้นให้อดีต ส.ว.จากการเลือกตั้งรุ่นที่ 2 ก็เพราะเห็นว่า ยังไม่ได้ทำหน้าที่ แต่สิ้นสภาพเพราะการยึดอำนาจเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ได้ยกเว้นให้เฉพาะการลงสมัคร ส.ว.เท่านั้น
หลายคนก็เข้าใจว่าจะลงสมัครได้ แต่เมื่อมาดูตัวหนังสือโดยละเอียดแล้วมันไม่ใช่ ปัญหานี้ เป็นประเด็นทางกฎหมายที่โดนกันทุกพรรค ถ้ามีการเลือกตั้งไปก่อน แล้วมาตีความทีหลัง จะมีปัญหาหนัก ถ้าเกิดอดีต ส.ว.เหล่านั้นได้รีบเลือกตั้งขึ้นมาแล้วอดเป็น ส.ส. อดเป็นรัฐมนตรี ปัญหามันจะไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ไขปัญหานี้ก่อนวันที่ 23 ธ.ค.
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อผู้สมัครขาดคุณสมบัติ คือทำให้บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคมีไม่ครบ เพราะฉะนั้นจะยังเลือกตั้งไม่ได้ แต่ถ้ายืนยันจะเลือกตั้งตามกำหนดเดิม อาจจะต้องออกพระราชกฤษฎีการับสมัครใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งให้ทันวันที่ 23 ธ.ค. ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของผู้สมัคร และ กกต.จะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000137343**************************************************************
มาตรา ๓๐๕ ในวาระเริ่มแรก
มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้มาใช้บังคับกับกรณีต่าง ๆ
ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้(๒) ภายใต้บังคับมาตรา ๒๙๖ วรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๒ (๑๐) เฉพาะในส่วน
ที่เกี่ยวกับการเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา มาตรา ๑๑๕ (๙)
และมาตรา ๑๑๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้