โดย นิคม พุทธา มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ
การขยายถนนหมายเลข 304 ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดนครราชสีมา-ปราจีนบุรี ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมทางหลวงกำลังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก เพราะต้องผ่านผืนป่าและชุมชนใกล้เคียงทั้งที่เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เหตุผลว่า การขยายถนนดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าและระบบนิเวศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก
ในขณะที่กรมทางหลวงอ้างว่าได้มีการออกแบบและงบประมาณตกมาแล้ว จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ
หากมองย้อนอดีตจะเห็นได้ว่า ผืนป่าเขาใหญ่ หรือเรียกรวมกันว่า ป่าดงพญาเย็น หรือถ้ารวมเอาผืนป่าในอุทยานแห่งชาติทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และดงใหญ่เข้าด้วยกัน ทั้งเทือกเขาพนมดงรักนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่กรณีกับการตัดถนนที่ขัดแย้งกันมาโดยตลอด
ถ้าดูแผนที่บริเวณตั้งแต่สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว จนถึง จ.บุรีรัมย์ เราจะเห็นถนนที่ตัดผ่านผืนป่าบริเวณนี้อยู่แล้วอย่างน้อย 5 สาย ดังนี้
1.ถนนเชื่อมระหว่าง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี-อ. บ้านนา จ.นครนายก ผ่านผืนป่าทางด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
2.ถนนเชื่อมระหว่าง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ผ่านกลางป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ลงมาทางด้านเนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
3.ถนนเชื่อมระหว่าง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ถึง กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้
4.ถนนเชื่อมระหว่าง อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ถึง อ.เมือง จ.สระแก้ว ผ่านใจกลางของผืนป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ไปจนถึงอุทยานแห่งชาติปางสีดา
5.ถนนเชื่อมระหว่าง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ถึง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผ่านผืนป่าอุทยานแห่งชาติตราพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ รวมทั้งพื้นที่ป่าที่ติดชายแดนประเทศกัมพูชา
ถนนสายต่างๆ ดังกล่าว ที่เชื่อมระหว่างภาคอีสานกับภาคตะวันออก ลงมาสู่ภาคกลาง ล้วนจำเป็นสำหรับการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากก็คือ ผลกระทบที่จะเกิดกับผืนป่าและระบบนิเวศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนหมายเลข 304 ในปัจจุบันถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางการท่องเที่ยว เป็นต้น
ผืนป่าเขาใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมือปี พ.ศ.2505 ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มีพื้นที่กว่า 1,300,000 ไร่
ในขณะที่พื้นที่ป่าทับลานได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2524 มีเนื้อที่ 1,397,375 ไร่ ใหญ่เป็นนอันดับสองรองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
แต่ที่มาของถนนสาย 304 ดังกล่าวนี้เกิดจากความต้องการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการขนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ จากท่าเรือน้ำลึกสัตหีบ จ.ชลบุรี ขนย้ายขึ้นไปที่ฐานทัพสหรัฐ ใน จ.อุดรธานี ในยุคสงครามอินโดจีน ราวปี พ.ศ.2483-2489
ในปี พ.ศ.2548 องค์กรยูเนสโก ได้ประกาศรับรองพื้นที่ป่าตั้งแต่เขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตราพระยา และดงใหญ่ ใน 6 จังหวัด บริเวณนี้ ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก (Natural World Heritage) แห่งที่สองของประเทศไทยต่อจากผืนป่าตะวันตกทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง
จากนั้นมาก็มีปัญหาเรื่องการที่กรมชลประทานขอสร้างเขื่อนใสน้อย-ใสใหญ่ ที่อยู่ในป่าเขาใหญ่ และเขื่อนห้วยโสมงที่อยู่ในพื้นที่ป่าทับลาน
ตอนที่ประเทศไทยได้มีการเสนอให้พื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นมรดกโลกนั้น คณะกรรมการนอกจากจะพิจารณาถึงคุณค่า ความสำคัญของระบบนิเวศ ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่าแล้ว คณะกรรมการยังต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขของการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกด้วย
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไทยได้เสนอก็คือ การให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ผืนป่าทั้ง 5 แห่งดังกล่าวนั้นมีพื้นที่เชื่อมติดกันให้ได้ รวมทั้งต้องแสดงให้เห็นถึงหลักประกันหรือประสิทธิภาพในการที่จะปกป้องคุ้มครองผืนป่ามรดกโลกดังกล่าว
จนกระทั่งมาถึงขณะนี้ กรมทางหลวงได้ขยายถนน 304 เป็น 4 เลน โดยที่ไม่ผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลาน ทั้งไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504
อีกทั้งกรมทางหลวงไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ไม่ได้รับรู้ ตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ที่เป็นอุทยานแห่งชาติ
จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า อะไรที่อยู่เบื้องหลังของการเร่งรัดในการขยายถนนสายดังกล่าว และทำไมกรมทางหลวงจึงไม่ทำตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งเบื้องหน้าเบื้องหลังและการเร่งรัดดังกล่าวนี้ อาจจะต้องไปดูว่ามีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนที่ได้ผลประโยชน์ และนอกจากกรมทางหลวงแล้ว บริษัทที่รับเหมาก่อสร้างเป็นใคร
กรมทางหลวงอาจจะอ้างว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการปักหลักสองข้างทาง และกำหนดพื้นที่ทางหลวงเพื่อรองรับการขยายถนนแล้ว แต่อย่าลืมว่าการปักหลักดังกล่าวนั้นเป็นการปักหลักเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งพื้นที่ป่าโดยเฉพาะเขาใหญ่ ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504
การขยายถนน 4 เลนสาย 304 นี้ จะทำอย่างไรก็ได้แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องทำให้พื้นที่ป่าทั้งเขาใหญ่และทับลานเชื่อมติดกัน อย่างน้อยบริเวณที่มีพื้นที่ป่าเดิมที่เชื่อมติดกันอยู่แล้ว ในเขต อ.วังน้ำเขียว และหมู่บ้านในเขต อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี
ถนนดังกล่าวจะทำให้มุดลงไปในดินเป็นลักษณะอุโมงค์ หรือจะทำให้ลอยฟ้าบางช่วงก็ได้ เหมือนกับทางด่วนในกรุงเทพฯ ประเด็นนี้หากรัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโก ตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าและระบบนิเวศจริงต้องกล้าที่จะลงทุน กล้าที่จะคิด จะทำในเรื่องดังกล่าวนี้
ข้อมูลจากการศึกษาสำรวจเส้นทางการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ระบุว่า อย่างน้อยมีสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ รวมทั้งพื้นที่ป่าเขาแผงม้า ถึงแม้ว่าจะอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ พยายามที่จะใช้พื้นที่ป่าที่เชื่อมติดกันดังกล่าว เป็นเส้นทางการเคลื่อนย้ายตามฤดูกาล เช่น ช้างป่า เสือโคร่ง กระทิง เก้ง กวาง ฯลฯ เป็นต้น
เราต้องเข้าใจด้วยว่า ความมั่นคงของระบบนิเวศคือ ความมั่นคงของคนเราด้วยเช่นกัน การที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงทางระบบนิเวศให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องมีหน่วยของพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะควบคุมระบบกลไกในการรักษาความสมดุลของพืชและสัตว์ เพราะผืนป่าบริเวณดังกล่าวนี้เป็นทั้งแหล่งต้นน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ได้แก่ ลำพระเพลิง ลำมูล ลำปลายมาศ หล่อเลี้ยงอีสานใต้ และลุ่มน้ำบางปะกงที่มีความสำคัญกับการอุปโภคบริโภคในภาคตะวันออก
การตัดถนนหรือการขยายถนนก็ตาม นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ปาในประเทศไทย ปัญหาที่เห็นได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ดินถล่ม ดินพังทลาย การเปลี่ยนเส้นทางไหลของน้ำ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมและความแห้งแล้งตามมา
ข้อถกเถียงเรื่องการขยายถนนกับการรักษาพื้นที่ป่ามรดกโลกนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศ ที่ไม่เข้าใจ "องค์รวม" (Holistic view) จึงเปรียบได้เหมือนคำพูดที่ว่า "ตาบอดคลำช้าง"
ในที่สุดก็ต้องตัดสินใจที่จะต้องลือกว่า จะปล่อยให้มีการถนน 4 เลน บุกรุกไปยังพื้นที่ป่ามรดกโลกอย่างที่กรมทางหลวง หรือจะปรับปรุงแบบแผนของถนนดังกล่าว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยที่ไม่ทำลายป่า เช่น การที่จะออกแบบถนนให้มุดลงไปในดินหรือลอยฟ้าอย่างที่เคยพิจารณากันมาแล้ว
สุดท้ายมีข้อเสนอว่า หากเราจัดการดังกล่าวไม่ได้ ก็ควรจะเสนอให้มีการเพิกถอนพื้นที่มรดกโลกเสีย จะได้ไม่ต้องขายขี้หน้าเขาไปมากกว่านี้
หน้า 5
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lif05060549&day=2006/05/06