บ้านเมืองไม่มีหลักรัฐศาสตร์มีแต่หลักนิติศาสตร์เท่านั้น 2 มิถุนายน พ.ศ. 2550 00:00:00
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : การวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบ 5 พรรคการเมือง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งการอ่านคำวินิจฉัยนานเกือบ 10 ชั่วโมง โดยผลการวินิจฉัยสั่งยุบ 4 พรรคการเมืองและลงโทษกรรมการบริหารพรรคด้วยการตัดสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี ในขณะที่มีพรรคการเมืองที่หลุดจากข้อกล่าวหาโดยคะแนนเอกฉันท์
หากใครที่ติดตามการวินิจฉัยของศาลโดยตลอดและติดตามอย่างละเอียด ก็จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีการหยิบยกหลักฐานตามข้อกำหนดทางกฎหมายทุกประการ หาใช่มองไปที่ประเด็นทางกฎหมายเฉพาะเหมือนที่เคยวิพากษ์วิจารณ์กันก่อนหน้านี้ ซึ่งแน่นอนว่า มีทั้งฝ่ายที่พอใจและไม่พอใจกับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากเราไม่เคารพศาล ประเทศเราจะเหลืออะไรให้ยึดถือ ก่อนหน้านี้ มีข้อเสนอและคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาพอสมควร
ซึ่งมีหลักคิดอันหนึ่งที่ค่อนข้างแปลกประหลาดและเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั่นคือ หลักคิดแบ่งแยกระหว่างหลักรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ ซึ่งหลักคิดดังกล่าวนับว่าติดตลาดพอควร เนื่องจากมักจะมีการหยิบยกขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเกิดกรณีความขัดแย้งที่มีแนวโน้มกระทำผิดทางกฎหมาย เพราะจะมีประเด็นเรื่องการใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหา โดยอ้างว่าหนักนิติศาสตร์ไม่อาจแก้ปัญหาได้ ซึ่งก็นับว่าแปลกประหลาดอย่างมากสำหรับสังคมไทย ที่มีสองหลักการในการแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งๆ ที่หลักกฎหมายไทยมีนักกฎหมายจำนวนมาก เห็นว่ามีหลักกฎหมายที่รัดกุมมาก
ก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีการกล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยึดทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไปพร้อมๆ กันในการวินิจฉัย เพราะคนกลุ่มนี้เห็นว่าหากยึดแต่หลักกฎหมายแล้ว บ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวายและเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม
หากดูรายละเอียดจากคำวินิจฉัย เราจะเห็นว่าศาลยึดหลักนิติศาสตร์อย่างเคร่งครัด แม้จะมีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ในบางประเด็น โดยไม่สนใจว่าจะเกิดปัญหายุ่งยากทางการเมืองตามมาดังที่คาดไว้จากกลุ่มผู้ที่เสียประโยชน์จากการวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยครั้งนี้ถือเป็นการลบล้างการแบ่งแยกหลักนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ที่เคยรับรู้กัน นั่นคือ ต่อจากนี้ไป บ้านเมืองจะยึดหลักกฎหมายเท่านั้นในการแก้ปัญหาประเทศ อันที่จริง คำว่าหลักรัฐศาสตร์ในความหมายที่ใช้กันจนเคยชินในปัจจุบันนั้น มักใช้ในความหมายแก้ปัญหาความขัดแย้งกรณีพิเศษ และเป็นนโยบายเพื่อให้การแก้ปัญหาจบลงด้วยสันติวิธี แต่หากยึดความหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะความหมายในระบอบประชาธิปไตยแล้ว สังคมต้องไม่แบ่งแยกระหว่างหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เพราะในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นระบอบการปกครองที่ยึดตามตัวบทกฎหมาย ดังนั้น หากสมาชิกของสังคมปฏิบัติตามกฎหมายเสียแล้ว ปัญหาทางการเมืองจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็ไม่ถึงระดับที่จะสร้างความเสียหายให้กับสังคมในวงกว้าง
แต่ปัญหาก็คือ คนเรามักไม่เคารพกฎหมาย และยิ่งมีการตีความเข้าข้างผู้มีอำนาจทางการเมืองเช่นสังคมไทยด้วยแล้ว ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้น ดังนั้น ในสังคมประชาธิปไตยที่ยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อความสงบสุขของสังคม หากหลักกฎหมายให้ความเป็นธรรมกับคนทุกคนในสังคม ก็จะไม่มีคำว่า "บกพร่องโดยสุริต" เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด และที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดค่านิยมเช่นนี้เอง จึงทำให้เกิดความวุ่นวาย สังคมไทยใช้หลักรัฐศาสตร์กันมากเกินไปเช่นนี้เอง จึงก่อให้เกิดปัญหา ทั้งๆ ที่ในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพกฎหมาย จะไม่มีคำว่ารัฐศาสตร์เข้ามาตัดสิน มีแต่หลักนิติศาสตร์เท่านั้น และความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นยืดเยื้อ ก็เพราะคนในสังคมไม่ยึดหลักนิติศาสตร์นั่นเอง การอ้างหลักรัฐศาสตร์เป็นวิธีคิดของคนที่จ้องเอารัดเอาเปรียบคนอื่น และหากใช้มากเกินระดับที่สังคมจะรับได้ บ้านเมืองจึงเข้าใกล้มิคสัญญีดังเช่นปัจจุบัน http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/02/WW12_1237_news.php?newsid=76195 ทั้งๆ ที่ในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพกฎหมาย จะไม่มีคำว่ารัฐศาสตร์เข้ามาตัดสิน มีแต่หลักนิติศาสตร์เท่านั้น และความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นยืดเยื้อ ก็เพราะคนในสังคมไม่ยึดหลักนิติศาสตร์นั่นเอง การอ้างหลักรัฐศาสตร์เป็นวิธีคิดของคนที่จ้องเอารัดเอาเปรียบคนอื่น และหากใช้มากเกินระดับที่สังคมจะรับได้ บ้านเมืองจึงเข้าใกล้มิคสัญญีดังเช่นปัจจุบัน