ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์นักการเมืองเช่นคุณบรรหาร ศิลปอาชา รวมทั้งคุณทักษิณ ชินวัตร มักพูดเสมอว่า สังคมไทย
เวลานี้เกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วก็เสนอให้หันหน้าเข้าหากัน หรือเสนอตัวว่า
เป็นคนกลางบ้าง เป็นกลางบ้าง
ผมคิดว่าจำเป็นต้องเข้าใจฝักเข้าใจฝ่ายให้ดีเสียก่อนที่จะหันหน้าเข้าหากัน หรือเป็นกลาง
เพราะต้องชัดเจนหน่อยว่าจะเป็นกลางระหว่างอะไรกับอะไร
สังคมไทยเวลานี้ แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันจริง แต่ไม่ใช่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างพรรค
การเมืองนะครับ คนที่ไม่ชอบพรรค ทรท. ก็ใช่ว่าจะชอบพรรคประชาธิปัตย์หรือชาติไทย
ว่ากันที่จริงแล้วฝักฝ่ายของสังคมเวลานี้ แบ่งออกเป็นฝ่ายที่เอาทักษิณกับฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ
ในทางการเมือง ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณเสียเปรียบ เพราะไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งตัวชื่นชอบ
มากเป็นพิเศษ ร้ายไปกว่านั้น ที่ไม่เอาทักษิณก็ไม่ใช่ตัวบุคคลที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่
ยอมรับวิธีดำเนินการทางการเมือง และวิธีบริหารแบบของคุณทักษิณต่างหาก หลายอย่าง
ในนั้นจะว่าไปก็ไม่ใช่ของคุณทักษิณคนเดียว หากเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยทำกันเป็นปรกติ
อยู่แล้วเวลาได้อำนาจ (ตามความเห็นของผู้ไม่เอาทักษิณ ก็เช่นสนับสนุนหรือหลับตาให้แก่
การฉ้อฉลเอาเปรียบของพรรคพวกบริวาร หรือคนที่ลงทุนให้แก่พรรค)
ร้ายยิ่งไปกว่าที่ร้ายอยู่แล้ว ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณไม่สามารถสร้างความชัดเจนได้ว่า นโยบาย
อะไรของคุณทักษิณที่ตัวไม่เอาอย่างหัวเด็ดตีนขาด เพราะความไม่พอใจไม่ได้เกิดจากนโยบาย
โดดๆ แต่เป็นเรื่องของนโยบายที่ถูกผลักดันด้วยวิธีดำเนินการทางการเมืองและวิธีบริหารซึ่งตัว
เห็นว่าฉ้อฉลหรือไม่ชอบธรรมต่างหาก
ผมขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นสักสองเรื่อง
ในท่ามกลางการพังทลายของระเบียบการค้าโลกภายใต้การกำกับขององค์กรการค้าโลก คง
ไม่มีใครคัดค้านว่า ไทยจำเป็นต้องสร้างหลักประกันบางอย่างในความไร้ระเบียบนี้ เอฟทีเอก็
อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหลักประกันดังกล่าว ฉะนั้น จะพูดว่าไม่ได้ต่อต้านการทำเอฟทีเอ
เสียทีเดียวก็ได้ แต่นโยบายเปิดประเทศด้วยเอฟทีเอของคุณทักษิณถูกดำเนินการทางการเมือง
และบริหาร โดยขาดการตรวจสอบและต่อรองจากคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งๆ ที่จะมีคนได้และ
คนเสียจากข้อตกลงเหล่านี้จำนวนมาก ในขณะเดียวกันยังมีความห่วงใยว่า การทุ่มลงไปที่
เอฟทีเอเพียงอย่างเดียว โดยไม่สร้างเงื่อนไขการต่อรองอื่นๆ เลย ไม่ว่าจะในการจับกลุ่มกับ
ประเทศอื่นในองค์กรการค้าโลกก็ตาม ในการเกาะกลุ่มของอาเซียนก็ตาม ฯลฯ จะสร้างความ
มั่นคงด้านการค้าให้แก่ไทยละหรือ
การปิดประตูไม่ให้สังคมไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางนโยบายสำหรับประกันผลประโยชน์
ของไทยในการค้าโลกเช่นนี้ ยิ่งทำให้มิติอื่นๆ ของเอฟทีเอในฐานะกลไกอันหนึ่งไม่ถูกพิจารณา
เอาเลย จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้คนพากันตั้งข้อสงสัยว่า เอฟทีเอเหล่านี้ทำกันขึ้นเพื่อสนอง
ผลประโยชน์ทางธุรกิจของบางครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของคุณทักษิณเอง หรือ
ครอบครัวของบริษัทบริวาร - เป็นข้อสงสัยที่อาจจะเกินเหตุ แต่คุณทักษิณก็ไม่เคยพิสูจน์
ให้เห็นอย่างน่าเชื่อว่าเกินเหตุ
จะเห็นได้ว่า
ไม่ใช่ตัวนโยบาย ทำเอฟทีเอโดยตรงที่ฝ่ายไม่เอาทักษิณต่อต้าน
แต่ไม่ชอบวิธีการที่คุณทักษิณใช้ในการตัดสินใจ และผลักดันนโยบายต่างหาก
สุวรรณภูมิมหานครก็เหมือนกัน ใครๆ ก็คงเห็นด้วยว่าบทเรียนจากดอนเมืองทำให้รู้ว่าเราจำเป็น
ต้องมีกฎหมายพิเศษในการจัดการเกี่ยวกับการใช้ที่ดินในอาณาบริเวณของสนามบินนานาชาติ
แต่จะจัดอย่างไร จัดโดยวิธีไหน เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ไม่ใช่คิดเอง
คนเดียวแล้วเอาลูกกระเป๋งที่เป็น ร.ม.ต.มาร้องเย้วๆ อยู่ข้างๆ จะเห็นได้ว่า
ไม่ใช่ตัวนโยบายจัดการที่ดินและสาธารณูปโภคของสุวรรณภูมิ
แต่ฝ่ายไม่เอาทักษิณ
รับไม่ได้กับวิธีสร้างนโยบาย,ดำเนินนโยบาย และวิธีบริหารนโยบายต่างหาก และก็เช่นเคยฝ่ายไม่เอาทักษิณก็สามารถชี้ให้
คนอื่นเห็นได้ว่า อาจมีผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกทับซ้อนอยู่ในนโยบายนั้นแยะ
ฉะนั้นผมเชื่อว่า หากถามฝ่ายไม่เอาทักษิณว่า ไม่เอานโยบายอะไรของทักษิณบ้าง คงต้อง
เถียงกันเละทีเดียว พรรค ทรท.และฝ่ายเอาทักษิณจึงไม่เคยพูดเรื่องวิธีสร้าง, ดำเนิน และ
บริหารนโยบายเลย แต่พูดเฉพาะเรื่องนโยบายอันประเสริฐเลิศดีของตนเองอย่างเดียว เพราะ
รู้อยู่แล้วว่าหลักการของนโยบายเหล่านั้นไม่มีใครเขาต่อต้านคัดค้าน
ผมคิดว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองในสังคมไทยครั้งนี้ มีความลึกกว่าที่เคยแบ่งๆ กันมา
ในอดีต ไม่ใช่เรื่อง "กบเลือกนาย" อย่างที่พูดกันเป็นบางครั้ง (อันที่จริง ขึ้นชื่อว่านายแล้ว
เราก็ควรมีสิทธิเลือก ไม่ว่าเราจะเป็นกบหรือเป็นคน เพราะเราไม่ใช่ทาสอย่างอีสป และไม่ได้
อยู่ในสังคมที่ไม่ยอมรับความเสมอภาคของมนุษย์อย่างอียิปต์โบราณ) ไม่ใช่แค่วิธีการได้มา
ซึ่งอำนาจระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย, ไม่ใช่แค่เรื่องใครจะพัฒนาเก่งกว่ากัน แต่เป็น
เรื่องของแนวทางการพัฒนาโดยตรง, ไม่ใช่เรื่องความจำเริญทางเศรษฐกิจโดดๆ แต่ให้
ความสำคัญแก่ความเป็นธรรมในความจำเริญทางเศรษฐกิจด้วย, ฯลฯ
ประเด็นซึ่งเป็นทางเลือกที่สำคัญเช่นนี้ อาจมีความสำคัญในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ไม่เคย
ประสบความสำเร็จที่จะแทรกตัวเข้าไปเป็นทางเลือกทางการเมือง จนกระทั่งบัดนี้ ถ้าไม่มี
คุณ ทักษิณ ชินวัตร และสมุนของเขาเถลิงอำนาจอยู่ในเวลานี้ ทางเลือกเหล่านี้อาจไม่ชัดแก่
ผู้คนในสังคมเท่านี้
ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมขณะนี้ จึงเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่มีความสำคัญ
อย่างมาก เพราะประเด็นที่เป็นหัวใจที่แท้จริงของประชาธิปไตยก็ตาม การพัฒนาก็ตาม
โลกาภิวัตน์ก็ตาม ถูกนำขึ้นมาใคร่ครวญตรวจสอบและเรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชน
อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งมีการนำเอามิติอื่นๆ อันหลากหลายของสิ่งเหล่านี้เข้ามา
พิจารณา อันล้วนเป็นมิติที่ถูกละเลยมาก่อนเกือบทั้งสิ้น จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้
การเมืองไทยสนองตอบประเด็นปัญหาที่เป็นจริงของพลเมือง เช่นหากประชาธิปไตยมี
ความหมายแต่เพียงคนชั้นกลางในเมืองมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
ในขณะที่คนระดับรากหญ้าได้แต่รอคอยการเจือจานเพื่อให้นโยบายที่ตัวเสียเปรียบดำเนินไป
ได้อย่างราบรื่น ประชาธิปไตยก็ไม่มีความหมายแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มิติของโอกาสอัน
เท่าเทียมกันของประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่เคยมีความสำคัญในพัฒนาการประชาธิปไตยไทย
(ยกเว้นในช่วงที่ฝ่ายซ้ายมีกำลังกล้าแข็งในเมืองช่วง 2516-19)
และคงเห็นได้ด้วยว่า ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ ไม่อาจคลี่คลาย (resolved) ลงได้
ด้วยการเลือกตั้ง เพราะเขาไม่ได้เลือกพรรค ไม่ได้เลือกคน แต่เลือกพรรคหรือคนที่จะเป็น
เครื่องมือไปสู่เป้าประสงค์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นเป้าประสงค์ที่แท้จริงของนักการเมือง
หรือพรรคการเมือง
ในขณะที่นักการเมือง ไม่ว่าในฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ยังไร้เดียงสาพอที่จะคิดว่าจำนวนที่นั่ง
ในสภาคือการคลี่คลายความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผมคิดว่าสังคมไทยกำลังคิดอะไร
เลยหน้าไปกว่านั้นมาก และเมื่อสังคมคิด ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีความคิดหลายกระแส ซึ่ง
ขัดแย้งกันเองด้วย
แทนที่จะคิดแต่ว่า ทำอย่างไรสังคมไทยจึงจะหันหน้าเข้าหากัน เลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผมกลับ
เห็นว่า การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ใช่เพื่อเลือกข้าง แต่เลือกแนวทางการบริหารบ้านเมืองที่เรา
ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีมั่งคั่งหรือคนเล็กคนน้อย จะอยู่ร่วมกันอย่างที่ทุกฝ่ายพอมีพื้นที่
หายใจของตัวเองตามสมควร เป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ดี และเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่จะทำ
ความก้าวหน้าให้แก่การเมือง, เศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต
เราจำเป็นต้องผ่านความขัดแย้งกัน ผ่านการถกเถียงกัน ผ่านการจัดองค์กรขึ้นมาต่อสู้กัน
โดยสงบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่กำลังมองหาความเปลี่ยนแปลง ถ้านักการเมือง
ประกาศว่าเขาเป็นกลาง ก็หมายความว่าเขาไม่ใช่พลังของความเปลี่ยนแปลง เคยอยู่กันมา
อย่างไรก็อยู่กันไปอย่างนั้น (โดยพวกเขาสบาย)
สังคมไทยสมัยใหม่กำลังเผชิญการทดสอบที่ตัดสินอนาคตของตัวเอง นั่นคือการทดสอบว่า
สังคมนี้มีพลังรองรับความ
ขัดแย้งโดยไม่แตกแยกได้เพียงใด หากสังคมไทยขาดพลังที่จะรองรับ
ความขัดแย้งได้เลย ก็อาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดแก่สังคมไทยในภายภาคหน้า
จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่กำหนดมาจากภายนอก เพราะภายในไม่มีพลังที่จะกำหนดความ
เปลี่ยนแปลงของตัวเองได้ แปลว่าชะตากรรมของคนไทยจะถูกกำหนดจากภายนอก (พลังตลาดโลก,
ทุนข้ามชาติ, เทคโนโลยีของสังคมอื่น, นโยบายของมหาอำนาจ ฯลฯ) โดยคนไทยไม่มีส่วน
กำหนดชะตากรรมของตนเองเลย
ที่มา มติชน วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10397http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03280849&show=1§ionid=0130&day=2006/08/28
เคยเขียนไปในกระทู้ก่อนๆ หลายครั้งแล้วว่า
ไม่ใช่ตัวนโยบายของไทยรักไทยที่ไม่ดี
แต่วิธีการที่คุณทักษิณใช้นั้นแย่ เพราะเป็น
การปฏิบัติแบบเผด็จการรวบอำนาจ
โดยไม่มีการแก้ไข รับฟัง หรือยอมให้สังคม
โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน ตรวจสอบได้
และนั่นเป็นเหตุที่มิอาจไว้วางใจท่านให้นำพา
ประเทศต่อไปได้
หวังว่าการแตกแยกเลือกข้างในสังคมปัจจุบัน
จะไม่รุนแรงถึงขั้นเกิดการใช้กำลังปะทะนองเลือด
และเป็นความ แตกต่างที่ไม่แตกแยก ได้อย่างแท้จริง