ตลท.จับตาธุรกรรมฉาวหมื่นล. 'บางกอกแลนด์-เคเอ็มซี' อ่วม ตลาดหลักทรัพย์ฯเกาะติดธุรกรรมบริษัทจดทะเบียนมูลค่านับหมื่นล้าน บางกอกแลนด์ เคเอ็มซี อ่วม โดนรีดข้อมูลยับ รับผลจากเศรษฐกิจซบและช่วงนี้เป็นฤดูกาลประชุมผู้ถือหุ้นทำให้ต้องจับตาเป็นพิเศษ เหตุอาจพลิกผันทิศทางธุรกิจบางบริษัท โดยเฉพาะบจ.ที่ต้องหาแหล่งทุนขยายธุรกิจและครบกำหนดชำระหนี้ เผยอาจมีการใช้รูปแบบการหาเงินที่แยบยล โดยเฉพาะบริษัทที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงิน
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานกำกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ช่วงนี้ตลท.จะจับตาความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ใกล้ชิดเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของบจ.ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯบางบริษัทอาจจะต้องหาแหล่งเงินทุน ทั้งเพื่อขยายการลงทุนและเพื่อชำระหนี้เพื่อพยุงบริษัทให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และที่สำคัญช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตของบริษัท จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ตลท.จับตาและให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบริษัทที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางธุรกิจและบริษัทที่มีการเพิ่มทุน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบข้อมูลที่ควรเปิดเผยอย่างเพียงพอ โดยเชื่อว่าหลังจากนี้ไปจะมีรูปแบบของการเพิ่มทุนลักษณะใหม่ๆเกิดขึ้นอีก รวมถึงบริษัทในกลุ่มฟื้นฟูกิจการที่ยังมีปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้โดยแม้บริษัทเหล่านี้จะมีการหาผู้ร่วมทุน ขณะที่อาจมีกลุ่มทุนบางกลุ่มอาจใช้โอกาสนี้เพื่อเข้ามาซื้อกิจการบริษัทที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูฯ เพื่อหวังเพียงผลประโยชน์ระยะสั้นจากราคาหุ้น ไม่ได้มุ่งหวังจะแก้ไขปัญหาธุรกิจอย่างจริงจัง
พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงกรณีที่ช่วงนี้ตลท.ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรณีบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน)(บมจ.) (KMC) ที่ขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง ( PP) จำนวน 1,500 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละไม่ต่ำกว่า 1 บาท(พาร์ 2.3 0 บาท )นั้น กรณีดังกล่าวอาจจะมีผลต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจของKMC หากกลุ่มทุนใหม่ทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ) และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังมีกลุ่มทุนใหม่เข้ามา
อนึ่ง KMC ระบุในเอกสารที่แจ้งตลท.เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า จะขายหุ้นเพิ่มทุน 1,500 ล้านหุ้น ให้กับกลุ่มนักลงทุนโซฟาสต์ อินเตอร์คอร์ โดยผ่านตัวแทนที่เป็นบุคคล 4 ราย ประกอบด้วย นางสาวพรณรัตน์ โรจน์ชูพันธ์ สัดส่วน 53.33 % ของหุ้นเพิ่มทุน นางสาวสมลักษณ์ โสภาเสถียรพงศ์ สัดส่วน 10 % นายวิรุฬห์ วงศ์แสงนาค สัดส่วน 36 % และนายคิมเส็ง คิมคูน สัดส่วน 0.67 % โดยหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วจะทำให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน KMC สัดส่วน 64 % ของทุนชำระแล้วหลังเพิ่มทุน ส่วนเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนKMC ระบุว่าจะนำไปชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และใช้ลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพ
นายศักรินทร์ ยังกล่าวกรณีที่ตลท.ได้สอบถามข้อมูลไปยังบมจ.บางกอกแลนด์( BLAND )ที่ได้ขายหุ้นบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด หรืออิมแพค ออกไปนั้น ตลท.จะดูถึงความเกี่ยวโยงกันของผู้ถือหุ้นเดิมด้วย โดยบางกอกแลนด์ ซึ่งได้ขายธุรกิจหลักของบริษัทออกไป อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของซื้อ โดยตลท.สอบถามถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เข้ามาซื้ออิมแพค ว่ามีความเกี่ยวโยงกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบางกอกแลนด์หรือไม่ ซึ่งหากผู้ซื้ออิมแพคกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบางกอกแลนด์ มีความเกี่ยวโยงกันก็จะยิ่งส่งผลกระทบกับผู้ถือหุ้นรายย่อย
ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการขายธุรกิจซึ่งทำรายได้หลักและถือเป็นความอยู่รอดของบางกอกแลนด์ แต่เหตุใดจึงต้องขายธุรกิจหลักออกไปและเมื่อขายออกไปแล้วบางกอกแลนด์จะดำเนินธุรกิจใดต่อไป ซึ่งจะเห็นว่าผลกระทบได้ตกแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยแล้ว
นายศักรินทร์ กล่าวว่า หากข้อสมมติฐานข้างต้นเป็นจริง คือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบางกอกแลนด์เป็นกลุ่มเดียวกับผู้ซื้ออิมแพค ก็เท่ากับว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่เอาธุรกิจหลักออกไปจากบางกอกแลนด์ ซึ่งทำให้รายย่อยที่ถือหุ้นบางกอกแลนด์เสียประโยชน์ ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ประโยชน์ อนึ่งวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบมจ.บางกอกแลนด์ ชี้แจงเพิ่มเติมต่อตลท. กรณีขายหุ้นแอมแพ็ค ให้ผู้ซื้อคือ บริษัท จูตแลนด์ จำกัด ว่า จูตแลนด์ เป็นบริษัทที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายของเกาะเคย์แมน โดยบริษัทดังกล่าวจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 โดยมีนายมาร์ติน แลง เป็นคณะกรรมการและผู้บริหาร และดำเนินธุรกิจหลักคือ การลงทุนในบริษัทอื่น ๆ พร้อมกันนี้นายอนันต์ชี้แจงว่า ผู้ซื้อไม่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นบุคคลเกี่ยวโยงกับบางกอกแลนด์
ส่วนภายหลังการขายหุ้นอิมแพคสัดส่วน 40 % ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นเงิน 7,000 ล้าน(ราคาหุ้นละ 127.99 บาท/หุ้น) ขณะที่บางกอกแลนด์จะถือหุ้นในอิมแพค 60 % สำหรับผลกระทบต่อโครงสร้างรายได้บางกอกแลนด์ภายหลังการขายหุ้นอิมแพคนั้น
นายอนันต์ชี้แจงตลท.ว่า จะทำให้รายได้รวมของบางกอกแลนด์ลดลง 40 % จากกำไรสุทธิการดำเนินธุรกิจของอิมแพ็ค โดยถ้าคำนวณจากงบสอบทานของอิมแพ็ค ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 จะเป็นจำนวนประมาณ 140 ล้านบาท ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นอิมแพคครั้งนี้ บางกอกแลนด์จะนำเงินไปชำระคืนหนี้ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยของกลุ่มบริษัทลดลงทันทีประมาณ 400 ถึง 500 ล้านบาท
นายกิตติพงษ์ เลิศนางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ฟินันซ่า จำกัด กล่าวว่า กรณีที่บริษัทในประเทศเริ่มหาพันธมิตรต่างประเทศนั้น เนื่องจากพันธมิตรในประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังนั้นพันธมิตรในต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกเดียวที่สามารถช่วยได้ และที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยหาพันธมิตรต่างประเทศกันมาก ซึ่งหากดูถึงจุดประสงค์ของกลุ่มนี้ในการหาพันธมิตรต่างประเทศ ก็เพียงเพื่อต้องการแหล่งเงินทุนเท่านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องได้แนวทางหรือกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจนี้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่คือ ผู้ที่ชำนาญที่สุด
นายพัชร เนตรสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.แอ๊ดคินซัน กล่าวว่า สำหรับบริษัทที่ต้องการหาพันธมิตรเพื่อความอยู่รอดนั้น มี 2 แบบ คือ แบบที่ต้องการเงินทุนเพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ
http://www.thannews.th.com/detialNews.php?id=T0122144&issue=2214 ถ้าตลาดหลักทรัพย์ จะมีมุมมองเกี่ยวกับการซุกหุ้น การผ่องถ่ายหุ้น การซื้อหุ้น การขายหุ้นของทักษิณ และเส้นทางขายหุ้น 73000 ล้านบาทให้กองทุนเทมาเสค.....
คณะกรรมการ คตส. คณะกรรมการ ปปช. และขบวนการศาลสถิตยุติธรรม จะเบาแรงกว่านี้เยอะ.......ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า