....ตัวอย่างการเลี่ยงเสียภาษี อย่างข่าวข้างล่างนี้ สื่อทุกสื่อควรเผยแพร่
ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง และหลายๆครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเลี่ยงภาษี
การโกงภาษี อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ที่นักการเมือง
ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง----------------------------------------------------------------------------------------------
เปิดผลสอบ แอมเพิลริช เลี่ยงภาษี คตส.สั่งคาย 2.2 หมื่นล้าน
จากแผนผังการกระจายชื่อผู้ถือหุ้นชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตรข้างต้นจะพบว่ามีการโอนหลายจุด เกิดเป็นตำแหน่งภาษีให้ต้องตรวจสอบหลายตำแหน่งด้วยกัน เฉพาะที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบไปแล้ว มีดังนี้
1) การโอนหุ้น 4.5 ล้านหุ้น จากคุณหญิงพจมาน ให้แก่พี่ชาย เมื่อ ปี 2540 อ้างว่าขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ คตส.พบว่าแท้ที่จริงเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี จึงเสนอกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีและเงินเพิ่ม 546.12 ล้านบาท และเสนออัยการนำความผิดส่วนอาญาขึ้นสู่ศาล จนเป็นคดีอยู่ในปัจจุบัน
2) การขายหุ้น 329.2.2 ล้านหุ้น ที่ถือไว้ในนามบริษัทแอมเพิลริช ให้แก่กลุ่มทุนเทมาเส็กเมื่อเดือนมกราคม 2549 ที่ทำเป็นการขายโดยอ้อม คือให้แอมเพิลริช ขายให้นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทาก่อน ในราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วจึงให้บุคคลทั้งสองขายต่อให้เทมาเส็กอีกครั้ง ในราคา หุ้นละ 49.25 บาท เป็นเงิน 1 หมื่น 5 พันล้านบาท แล้วไม่ยอมเสียภาษี ซึ่งในส่วนนี้ คตส.ได้ตรวจสอบและวินิจฉัยเสนอให้สรรพากรเรียกเก็บภาษีบุคคลทั้งสองไปแล้วเป็นจำนวน 5.6 พันล้านบาท (หากไม่ยอมชำระเมื่อกรมสรรพากรมีหมายเรียกจะต้องคิดเบี้ยปรับเพิ่มอีก 1 เท่า และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน)
3) คดีต่อไปที่วินิจฉัยในวันนี้ (23เม.ย.50) เป็นคดีภาษีเงินได้นิติบุคคล ของบริษัท แอมเพิลริช ครอบคลุมตั้งแต่ตั้งบริษัทเป็นต้นมา ครอบคลุมเงินได้ทั้งเงินปันผลที่ได้รับทุกปี ทั้งเงินได้จากการขายหุ้นเมื่อมกราคม 49 ทั้งภาระปลอดหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ ตลอดจนการจำหน่ายกำไรไปยังต่างประเทศ ทั้งหมดนี้คือผลการตรวจสอบที่ขอรายงานในวันนี้
ผลการตรวจสอบภาระภาษีของบริษัท แอมเพิล ริช โดยรวม ภาพรวมผลการตรวจสอบ พบว่า
ข้อหนึ่ง การประกอบการของบริษัท แอมเพิล ริช เป็นการประกอบการของบริษัทต่างประเทศ ที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นการประกอบการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มอัตราตามกฎหมายไทย
ข้อสอง จากปี 2542 ถึง 2547 แอมเพิล ริช มีเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณเป็นภาษี ดังนี้
- เงินค่าปันผลหุ้นชินคอร์ป 2546-2548 จำนวน 1.77 พันล้านบาท
- เงินรายได้จากการขายหุ้น ปี 2549 จำนวน 1.62 หมื่นล้านบาท
- เงินได้เนื่องจากเจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ 340 ล้านบาท
- กำไรสุทธิที่จำหน่ายไปต่างประเทศ 1.24 พันล้านบาท
เงินได้ทั้งหมดนี้ บริษัทไม่เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและชำระภาษีเลย ต้องเสียทั้งภาษีจริง เบี้ยปรับ สองเท่า และเงินเพิ่มรวมเป็นเนื้อภาษีทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาท ภาระภาษีทั้งหมดนี้ แม้ในปัจจุบัน ครอบครัวชินวัตรจะขายบริษัทแอมเพิล ริช ให้ผู้อื่นในราคา 5 เหรียญ ไปแล้วก็ตาม แต่กรรมการบริษัท ในขณะที่เกิดหนี้ภาษี คือ นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ก็ยังต้องรับผิดแทนบริษัทในหนี้ภาษี 2.2 หมื่นล้านบาทนี้
ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้พิจารณาผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการแล้ว เห็นว่าชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง จึงพร้อมกันมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอผลการตรวจสอบนี้ต่อกรมสรรพากร เพื่อดำเนินการเรียกเก็บภาษีตามกฎหมายต่อไป
(รายนามคณะอนุกรรมการตรวจสอบ
1.นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ประธานฯ 2.นายกล้านรงค์ จันทิก 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ 4.นายสัก กอแสงเรือง 5.นางสาวสุชาดา กรวิทยาศิลป 6.นายวงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ กับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งหมด 12 นาย)
บริษัท แอมเพิล ริช กับกฎหมายภาษีเงินได้ไทย ข้อเท็จจริง
1.ประวัติ แอมเพิล ริช
12 มีนาคม 2542 บริษัท แอมเพิล ริช ถูกจดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายเกาะบริติชเวอร์จิ้น โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้น 100% ด้วยทุน 5 หมื่นเหรียญ แต่ลงทุนจริงเพียง 1 เหรียญสหรัฐ ไม่มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ที่ใด นอกจาสถานที่ติดต่อเป็นตู้ไปรษณีย์ที่สิงคโปร์
11 มิถุนายน 2542 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำหุ้น 32.92 ล้านหุ้น (ราคาพาร์ หุ้นละ 10 บาท) ที่ได้จากการเพิ่มทุน ขายให้แก่บริษัท แอมเพิล ริช หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นเงิน 329.2 ล้านบาท จากการตรวจสอบได้รับคำชี้แจงว่า บริษัท แอมเพิล ริช ต้องยืมเงินจากคุณหญิงพจมานมาชำระเป็นเช็คให้แก่ผู้ขาย แล้ว พ.ตท.ทักษิณ ชินวัตร นำเช็คไปคืนให้ภรรยาอีกชั้นหนึ่ง หนี้เงินยืมนี้ไม่มีการลงบัญชีไว้ และต่อมาก่อนขาย แอมเพิล ริช ให้ชาวสิงคโปร์ ครอบครัวชินวัตรก็ได้ทำหนังสือปลดหนี้ทั้งปวงให้แอมเพิล ริช ไปในที่สุด (หนี้ที่ปลดให้ 329.2 ล้านบาทนี้ คตส.เห็นควรนำมาคำนวณเป็นเงินได้อีกก้อนหนึ่งต่อไป )
1 ธันวาคม 2544 เป็นวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อ้างอิงอธิบายแก่ ก.ล.ต. (เมื่อ ตุลาคม 2544) ว่า ตนได้ขายหุ้น 100% ในแอมเพิล ริช ให้แก่บุตรชายไปแล้ว ในราคา 1 เหรียญ
16 พฤษภาคม 2548 เป็นวันที่บุตรสาวได้อธิบายว่า หุ้นแอมเพิล ริช ได้ตกมาเป็นของตน 20% โดยพี่ชายแบ่งขายให้ในราคา 1 เหรียญ
20 23 มกราคม 2549 ได้มีการกล่าวอ้างว่า แอมเพิล ริช ได้ขายหุ้นชินคอร์ปทั้งหมด ให้แก่บุตรชาย-บุตรสาวนายกรัฐมนตรี ราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วผู้ซื้อทั้งสองได้นำไปขายต่อให้กลุ่มทุนสิงคโปร์ในทันที ราคาหุ้นละ 49.25 บาท เงินขายหุ้นที่แอมเพิล ริช ได้จากลูกนายกฯ นั้น ลูกนายกฯ อธิบายว่าได้ให้แอมเพิล ริช หักกลบเอาจาก เงินปันผลหุ้นชินคอร์ป ที่แอมเพิล ริช ถือแทนตนอยู่ในบัญชีบริษัท
เมื่อชำระบัญชีค่าเงินปันผลคืนให้ครอบครัวชินวัตร และครอบครัวชินวัตรปลดหนี้ให้ทั้งหมดแล้ว แอมเพิล ริช จึงถูกขายให้แก่ชาวสิงคโปร์ผู้หนึ่ง ในราคา 5 เหรียญ เมื่อปลายปี 2549 ในที่สุด
2.บทบาทแท้จริงของแอมเพิลริช
1) เป็นบริษัทจัดการหลักทรัพย์ มองในแง่กฎหมายก็จะพบเป็นเบื้องต้นว่า แอมเพิล ริช ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อถือครองและจัดการหลักทรัพย์เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ทั่วไป เพราะมิได้กระทำการใดเลยนอกจากถือครอง และจัดการหลักทรัพย์เท่านั้น
2) เป็นบริษัทถือหุ้นชินคอร์ปแทนครอบครัวชินวัตรโดยเฉพาะ แต่เมื่อพิเคราะห์ลึกลงไป แอมเพิล ริช ก็มิได้เคยซื้อหรือถือหุ้นอื่นใดเลยนอกจากหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรก้อนนี้เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นก็มิได้เคยนำหุ้นก้อนนี้ไปค้าขายในตลาดหลักทรัพย์ใดในโลกเลย คงถือไว้เฉยๆ แล้วรับเงินปันผล แล้วมอบให้เด็กที่อยากจะอยู่ในครอบครัวชินวัตรเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนตนเองอยู่ตลอดเวลา
ผู้ถือหุ้นแอมเพิล ริช ก็มีแต่คนในครอบครัวชินวัตรเท่านั้น ตัวกรรมการก็เช่นกัน มีเพื่อนสิงค์โปร์ ของนายกฯ มาร่วมเป็นกรรมการกับลูกนายกฯ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงเปลี่ยนมาให้เลขานุการคุณหญิง เป็นแทนในระยะหลัง
ข้อกฎหมาย
ทำไมต้องเกิด แอมเพิล ริช? ครอบครัวชินวัตรได้พยายามอธิบาย ชี้ชวนให้เชื่อมาตลอดว่า เหตุที่ต้องตั้งบริษัทแอมเพิล ริชไว้ที่ต่างประเทศ ก็เพื่อนำหุ้นชินคอร์ปไประดมเงินจากตลาดสากล แต่ก็ตอบไม่ได้อยู่ดีว่าเหตุใดจึงไปตั้งไว้ในระบบกฎหมายเกาะบริติชเวอร์จิ้น ที่ไม่ได้รับความเชื่อถือจากสากลเลย และจนบัดนี้ก็มิได้เคยนำหุ้นชินคอร์ปไประดมทุนใดในตลาดใดเลยแม้แต่น้อย คงมีแต่พฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ฝากหุ้นให้บริษัทดูแลหลักทรัพย์ในสิงค์โปร์ดูแลรักษาและใช้ชื่อถือหุ้นแทนเป็นระยะๆ มาตลอด
คตส.มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า กระบวนการให้แอมเพิล ริช ถือหุ้นแทนนี้ ทำไปก็เพื่อให้หุ้นชินคอร์ป ของครอบครัวชินวัตร 11.2% มูลค่า 1.5 หมื่นล้านนี้ หลุดพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมายภาษีอากรไทยเป็นสำคัญ เพราะหากทำให้เชื่อและเห็นว่า บริษัทแอมเพิล ริช เป็นเช่นบริษัทต่างประเทศ ที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในไทย ผ่านโบรคเกอร์อิสระเป็นครั้งคราวแล้ว แอมเพิล ริช ก็จะ แบกรับภาระภาษี อันเนื่องจากหุ้นชินคอร์ป ดังนี้
1. เสียภาษีเงินปันผล หัก ณ ที่จ่ายเพียง 10% แทนที่จะเป็น 37% ในกรณีที่เป็นการประกอบการในไทย
2. เสียภาษีเงินได้จากการขายหุ้นเมื่อมีกำไรเพียง 15% แทนที่จะเป็น 37% ในกรณีที่เป็นการประกอบการในไทย
พฤติกรรมที่ผ่านมาของ แอมเพิล ริช กรมสรรพากรไทย ไม่เคยตรวจสอบเลยว่าแอมเพิลริช เป็นฝรั่งแท้หรือฝรั่งหัวดำหรือฝรั่งเน่ากันแน่ ปล่อยให้แอมเพิล ริช ทำตัวเป็นฝรั่งแท้ จ่ายภาษี 10% หัก ณ ที่จ่ายจากเงินปันผล แล้วนำเงินปันผลไปฝากที่ธนาคารสิงคโปร์มาตลอด
ต่อมาเมื่อครอบครัวชินวัตร ตัดสินใจรวมหุ้นชินคอร์ป 49.2% ขายให้แก่กลุ่มทุนเทมาเส็ค หุ้น 11.2% ที่แอมเพิลริช ถือไว้ ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาทันทีว่าจะขายอย่างไร เพราะถ้าขายโดยตรงก็จะมิได้รับยกเว้นภาษี เพราะเป็นแม้จะเป็นการขายในตลาดหลักทรัพย์ก็จริง แต่ก็ไม่ได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นการขายโดยนิติบุคคล (ต้องเสีย 2.3 พันล้าน หรือ 5.6 พันล้าน แล้วแต่จะวินิจฉัยว่าเป็นฝรั่งแท้หรือฝรั่งหัวดำ หรือฝรั่งเน่าๆ)
เพื่อหลีกหนีภาษีข้างต้น ผู้วางแผนจึงได้กำหนดให้ใช้วิธีขายโดยอ้อม คือให้แอมเพิล ริช ขายนอกตลาดให้แก่บุตรนายกฯ 2 คนก่อนในราคาเท่าทุนที่เคยซื้อมาหุ้นละ 1 เหรียญ แล้วให้ทั้งสองคนนี้ขายให้แก่เทมาเส็กอีกทอดหนึ่ง ในตลาดหลักทรัพย์ในวันเดียวกันในราคาหุ้นละ 49.2 บาทได้รายได้ 1.5 หมื่นล้านโดยอ้างว่าไม่ต้องเสียภาษี เพราะเป็นการขายในตลาดโดยบุคคลธรรมดา
พฤติการณ์ขายหุ้นโดยอ้อมโดยขายให้แก่บุตรนายกฯ ก่อนนั้น คตส.ได้วินิจฉัยไปแล้วว่า การขายหุ้นครั้งแรกที่ทำไปไม่อาจหลีกพ้นเงื้อมมือกฎหมายไทยไปได้ เนื่องจากบุตรนายกฯเป็นกรรมการบริษัท และได้ซื้อหุ้นไปในราคาถูก หุ้นละ 1 บาท ทั้งๆที่มูลค่าตลาดอยู่ที่ 49.2 บาท มูลค่าที่เกินมานี้กฎหมายไทยถือว่าเป็นการให้ประโยชน์แก่คนของบริษัทเป็นพิเศษ ต้องนับรวมเป็นเงินได้ด้วย และ คตส.ก็ได้อาศัยข้อกฎหมายนี้ กำหนดให้บุตรนายกฯ ทั้งสองต้องเสียภาษีเงินได้ รวม 5.6 พันล้านบาท ไปแล้ว
ภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลของ แอมเพิล ริช ข้อวินิจฉัยที่กล่าวมาเป็นภาษีในส่วนบุตรนายกฯ ในฐานะเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ยังมิได้ก้าวล่วงถึงภาระภาษีนิติบุคคลในส่วนของแอมเพิล ริช เลย ซึ่งก็จะมีปัญหาข้อกฎหมาย ปรากฏขึ้นโดยลำดับดังนี้
1. การถือหุ้นและจัดการหุ้นชินคอร์ปของแอมเพิล ริช เป็นการประกอบการในประเทศไทยหรือไม่
2.หากเป็นการประกอบการในประเทศ จะคำนวณเงินได้ประเภทใด เป็นจำนวนเท่าใด ในอัตราใดบ้าง
ข้อวินิจฉัย 1 : แอมเพิล ริช ประกอบการในไทย
โดยข้อความคิดทางกฎหมายนั้น บริษัท คือ กองทรัพย์สินที่รวมกันเข้าเพื่อประกอบการค้ากำไรในวัตถุประสงค์ที่กำหนด มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่อาจเกิดขึ้นได้โดยอำนาจกฎหมายของประเทศต่างๆ แต่ในส่วนการดำเนินงานนั้นกลับไม่มีพรมแดน สามารถประกอบการไปได้ทั่วโลก และเกิดรายได้ขึ้นในประเทศต่างๆได้หลายประเทศและหลายลักษณะ และแต่ละประเทศก็มีอำนาจอธิปไตยที่จะเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้เหล่านั้น โดยไม่จำกัดว่าบริษัทนั้นจะจดทะเบียนในประเทศใดก็ตาม
ประมวลรัษฎากรไทย ได้กำหนดว่า การประกอบการของบริษัทต่างประเทศ ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้รัฐไทยนั้น มีทั้งที่เป็นการประกอบการในประเทศ และนอกประเทศ ซึ่งทั้งสองระบบนี้ถ้าเป็นการประกอบการในประเทศแล้วจะมีอัตราภาษีสูง เช่นเดียวกับบริษัทไทยเลยทีเดียว
การประกอบการใดจะถือว่าเป็นการประกอบการในประเทศนั้นก็มีหลักเกณฑ์ในมาตรา 76 ทวิดังนี้
1. บริษัทต่างประเทศนั้น เป็นผู้มีเงินได้
2.เงินได้นั้น มาจากการดำเนินงานของ ลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อประกอบการในไทย โดยทั้งหมดนี้มีฐานะเป็น ตัวแทนไม่อิสระคือเป็นเช่นมือไม้ของบริษัทเท่านั้น
3. การประกอบการของบุคคลตามข้อ 2 ได้ก่อให้เกิดเงินได้หรือผลกำไรขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายกันด้วยวิธีใด ณ ที่ใดก็ตาม
4. ในกรณีที่เป็นการขายสินค้าหรือทรัพย์สิน บริษัทผู้ขายต้องมีการกระทำผ่านบุคคลตามข้อ 2 อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) มีการลงนามทำสัญญาขายในประเทศไทย
(2) มีการส่งมอบสินค้าหรือทรัพย์สินในประเทศไทย
(3) มีการติดต่อเจรจา หรือหาคำสั่งซื้อในประเทศไทย
ข้อวินิจฉัย
จากข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบมาเพียงพอให้วินิจฉัยได้ว่า เงินได้ของแอมเพิล ริช ได้มาจากการประกอบการในไทย ด้วยเหตุผลโดยลำดับดังนี้
1. เงินได้ทั้งปวงเป็นของแอมเพิล ริช การถือหุ้นชินคอร์ป แทนครอบครัวชินวัตรนี้ ทำให้บริษัทมีเงินได้จากเงินปันผลประจำปีที่สั่งสมไว้ตลอดมาและอีกก้อนหนึ่งก็เป็นเงินได้จากการขายหุ้นทั้งหมด เมื่อมกราฯ 2549 เงินทั้งหมดนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มิใช่ของกรรมการที่เป็นบุคคลธรรมดา แม้บุคคลเหล่านี้เสียภาษีไปแล้ว แอมเพิล ริช ก็ยังต้องมีภาระภาษีในส่วนของตนอยู่อีก
2. การจัดการ และการขายหุ้นชินคอร์ป ได้ดำเนินการในไทยโดยกรรมการแอมเพิลริชมาตลอด ตัวหุ้นชินคอร์ปในแอมเพิล ริช ได้ถูกนำไปฝากไว้ในศูนย์ฝากหลักทรัพย์ประเทศไทยมาตลอด จึงไม่มีใบหุ้นให้นำไปสลักหลังซื้อขายโดยการส่งมอบได้ และหุ้นประเภทนี้หากจะโอนนอกตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องใช้วิธีจดแจ้งการโอนต่อศูนย์ฝากเท่านั้น จึงจะมีผลเป็นการโอนที่ใช้ยกยันบุคคลภายนอกได้ นับแต่วันจดแจ้งเป็นต้นไป
จากการตรวจสอบได้พบว่า บริษัท แอมเพิล ริช มิได้ดำเนินการขายหุ้นให้แก่ลูก นายกฯ ผ่านโบรคเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ เหมือนกองทุนหรือบริษัทตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีคำสั่งซื้อขายมาจากต่างประเทศแต่อย่างใด หากแต่เป็นการขายตรงนอกตลาดด้วยการดำเนินงานของกรรมการบริษัท จนการโอนนี้เกิดขึ้นในไทยอย่างชัดแจ้ง แต่ครอบครัวชินวัตรก็ได้พยายามกล่าวอ้างหลีกเลี่ยงเงื้อมมือกฎหมายไทยไว้ว่า
หุ้นชินคอร์ปของแอมเพิล ริช มีผู้ดูแลเป็นบริษัทในสิงคโปร์ ต่อปัญหานี้ คตส.เห็นว่าไม่เป็นประเด็นในคดี เพราะผู้ดูแลหุ้น หรือ custodian นี้ เป็นผู้ทำตามคำสั่งของกรรมการแอมเพิล ริช อีกชั้นหนึ่งหาใช่ตัวแทนของตัวบริษัทแอมเพิล ริช แต่อย่างใดไม่ จะตั้งอยู่ที่ไหน หรือดำเนินการที่ไหนในโลกก็ไม่อาจถือเป็นการประกอบการของแอมเพิล ริช ในดินแดนนั้นๆ แต่อย่างใด
3.เงินได้ของแอมเพิล ริช เกิดขึ้นในประเทศไทย ตามกฎหมายนั้นถือว่า หุ้นชินคอร์ปได้เปลี่ยนมือจากแอมเพิล ริช ไปยังบุตรนายกฯ เมื่อมีการจดแจ้งในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 จึงต้องถือว่า เงินได้จากการขายหุ้นครั้งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย มิได้เกิดที่สิงคโปร์เช่นที่ฝ่ายชินวัตรได้กล่าวอ้างไว้โดยเลื่อนลอยว่ามีการซื้อขาย แล้วแจ้งผู้ดูแลรักษาหลักทรัพย์ที่ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 20 มกราคม 2549 แต่อย่างใดเลย
ข้อวินิจฉัย 2 : ประเภทและจำนวนเงินได้ ที่ต้องเสียภาษี เงินปันผล
บริษัท แอมเพิล ริช ได้รับเงินปันผลหุ้นชินคอร์ป 329.2 ล้านหุ้น ทุกปี รวมเป็นเงินได้ย้อนไปถึง ปี 2546 เป็นเงิน 1.77 พันล้านบาท ซึ่งแม้ในแต่ละปีบริษัทชินคอร์ปจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 10% แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นเงินได้จากการประกอบการในประเทศ จึงต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 20% และแอมเพิล ริช ก็ยังมิได้ยอมยื่นชำระภาษีในส่วนนี้เลยจนบัดนี้
กำไรที่จำหน่ายไปต่างประเทศ
เงินปันผลที่ได้รับหลังหักภาษีนี้ แอมเพิลริช ได้จำหน่ายไปฝากไว้ที่ธนาคารต่างประเทศ จึงต้องชำระภาษีเงินได้ในส่วนนี้ด้วย อีก 7% ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังมิได้ชำระในส่วนนี้เลย
ภาระปลอดหนี้ที่ได้รับ
หุ้นชินคอร์ป ของแอมเพิล ริช ได้มาด้วยการซื้อจากผู้ขาย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในราคาหุ้นละ 1 บาท เป็นเงิน 329.2 ล้านบาท เมื่อปี 2542 เงินค่าซื้อหุ้นนี้ กรรมการบริษัทคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยืมมาจากภรรยา มาให้แอมเพิล ริช ชำระให้แก่ตนเองอีกชั้นหนึ่ง แอมเพิล ริช จึงเป็นหนี้ครอบครัวชินวัตรอยู่ 329.2 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อในปี 2549 ที่ครอบครัวชินวัตรได้มีหนังสือยืนยันว่าได้สะสางยกเลิกหรือปลดหนี้ใดๆ ให้แก่บริษัทเรียบร้อยแล้ว คำยืนยันนี้จึงมีค่าเป็นการยกเงินได้ในส่วนนี้ให้แก่บริษัทเป็นจำนวน 329.2 ล้านบาท และต้องมีภาระชำระภาษีในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
เงินได้ของแอมเพิลริชจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้ลูกนายกฯ
ทฤษฎีถ่ายเทผลประโยชน์ (Transfered pricing) ในวงการค้าการลงทุนปัจจุบันมีเทคนิคการโยกย้ายรายได้ของบริษัทในรูปของการขายของถูก จากบริษัทแม่ให้บริษัทลูก หรือจากบริษัทให้กรรมการบริษัทอยู่เสมอ การกระทำดังกล่าวทำให้เสียหายทั้งต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยและระบบจัดเก็บภาษีของรัฐกฎหมาย สมัยใหม่จึงได้ปรับตัวไม่ยอมเชื่อถือราคาการซื้อขายภายใน ตามจำนวนที่แจ้งให้ทราบหรือทำสัญญากันอีกต่อไป โดยในส่วนกฎหมายภาษีนั้นก็มีสองมาตรการสำคัญดังนี้
1) ให้กำหนดรายได้ในฝั่งผู้ซื้อตามราคาที่สมเหตุผล ดังเช่นกรณีแอมเพิลริช ที่ขายหุ้นราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ให้แก่กรรมการของตนในราคา หุ้นละ 1 บาท แล้วนำไปขายต่อได้กำไรหุ้นละ 48.2 บาท โดยไม่เสียภาษีนี้ คตส.ก็ได้นำมาตรา 39 มาตรา 40 มาตรา 41 ประกอบคำวินิจฉัยภาษีอากรฯ ที่ 28/2538 ฯลฯ แห่งประมวลรัษฎากร. มาใช้บังคับไปแล้วว่า กรรมการบริษัททั้งสองได้ประโยชน์เป็นพิเศษจากบริษัท หุ้นละ 48.25 บาท จึงต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้ เป็นเงินภาษี 5.6 พันล้านบาทด้วย
2) อย่างไรก็ตาม การไล่เก็บภาษี 5.6 พันล้านบาท ที่ทำไปนั้น ก็เป็นเพียงการติดตามหนี้ที่ควรชำระให้แก่รัฐเท่านั้น ติดตามได้เมื่อใดก็เป็นเพียงตัวอย่างของลูกหนี้ที่ไม่ชำนาญ จนหนีไม่พ้นภาระตามกฎหมายเท่านั้นเอง ซึ่งผลเพียงเท่านี้ก็หาได้ยังผลป้องปรามการหนีภาษีในอนาคตของรายอื่นๆ แต่อย่างใดไม่ ซึ่งลำพังแต่การลงโทษทางอาญา ฐานหนีภาษีนั้น ก็ทำได้จำกัดและไม่เพียงพอต่อการป้องปรามความผิดทางการเงินเช่นนี้แต่อย่างใด เนื่องจากมีผลประโยชน์เย้ายวนสูงมาก
ด้วยเหตุดังกล่าวกฎหมายภาษีปัจจุบัน จึงได้วางกลไกลงโทษทางภาษีเป็นภาระทางการเงินสำทับลงไปด้วยว่าหากผู้ใดโอนหรือขายทรัพย์ในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยไม่มีเหตุผล ส่อแสดงว่ามุ่งเอื้อประโยชน์ผ่อนเบาภาระภาษีให้ผู้รับโอนแล้ว ผู้โอนนั้นจะต้องรับโทษในทางภาษีด้วย นั่นก็คือให้ถือว่าผู้โอนได้โอนขายในราคาท้องตลาดด้วยนั่นเอง มาตรการเช่นนี้นี่เองที่จะมีผลป้องปรามบริษัททั้งหลายได้ว่า ไม่ควรยักย้ายถ่ายเทราคาให้แก่ผู้ใด เพราะหากถูกจับได้เมื่อใดแล้วตนเองก็กลับจะต้องถูกลงโทษให้ต้องเสียภาษีในส่วนมูลค่าที่ยักย้ายนั้นด้วย
ดังในคดีขายหุ้นชินคอร์ปของแอมเพิล ริช นี้ แม้ คตส.จะวินิจฉัยให้รัฐติดตามเก็บภาษีจากประโยชน์ที่ลูกนายกได้ไปตามความเป็นจริง จนเป็นยอดภาษี 5.6 พันล้านบาทแล้วก็ตาม แต่ ผู้เกี่ยวข้องคือ แอมเพิล ริช ก็ยังยืนเชิดหน้า โดยมิได้รับโทษจนต้องก้มหน้าเลยว่าตนนั้นผิดไปแล้ว
ต่อปัญหานี้กฎหมายไทยก็มีความทันสมัย มีทั้งโทษทางภาษีและทางอาญามอบให้แก่การยักย้ายผลประโยชน์โดยทุจริต ให้บริษัทที่ทุจริตต้องยืนก้มหน้าอยู่แล้ว ดังความในมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1)
(4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยนั้น ตามราคาตลอดในวันที่โอน ให้บริการหรือให้กู้ยืมเงิน
(เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักการลงโทษที่ซ่อนอยู่ในมาตรการภาษีนี้ ในปัจจุบันได้ปรากฏตัวอยู่ในกฎหมายอื่นๆ อย่างพร้อมหน้าเลยทีเดียว เช่นการกำหนดค่าเสียหายในทางละเมิด กฎหมายแพ่งก็ให้นำความร้ายแรงของพฤติการณ์มาเป็นเกณฑ์ด้วย หรือหากเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นความผิดทางการเงินโดยเฉพาะ ก็จะนำความร้ายแรงอุกอาจของการกระทำมาเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดค่าเสียหายด้วยเช่นกัน) ด้วยฐานทางทฤษฎี และข้อกฎหมายข้างต้น คตส.จึงเห็นควรวินิจฉัยว่า
1) แอมเพิล ริช ได้เงินได้ตามความเป็นจริงจากการขายหุ้นให้ลูกนายกฯ เป็นจำนวน 329.2 ล้านบาท เงินส่วนนี้ถือเป็นการขายในราคาทุนเท่ากับที่ซื้อมา จึงไม่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้
2) แอมเพิลริช ได้สมคบกับผู้ซื้อ ขายหุ้นในราคาถูกเพื่อช่วยให้ผู้ซื้อไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนต่าง 48.25 บาท จึงต้องลงโทษในทางภาษีเพื่อมิให้ผู้ใดเอาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยวินิจฉัยว่า ส่วนต่าง 48.25 มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทนี้ ต้องถือเป็นเงินได้ที่แอมเพิล ริช ได้ไปจากการขายหุ้นครั้งนี้ด้วย และต้องเสียภาษีเต็มในอัตรา 30%
3) โดยสรุปแล้ว ส่วนกำไรจากการขายหุ้นต่ำกว่าความเป็นจริงในคดีนี้ จึงตกเป็นเงินได้ทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขายด้วยเหตุผลทางกฎหมายที่ต่างกัน และไม่ถือเป็นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนแต่อย่างใดกล่าวคือ
(3.1) ตกเป็นเงินได้ ตามประโยชน์ที่เป็นจริง ที่บุตรนายกฯ ได้ไป 1.59 หมื่นล้านบาท
(3.2) ตกเป็นเงินได้ในฐานะที่เป็นโทษทางภาษี แก่บริษัท แอมเพิล ริช ที่สมคบกับผู้ซื้อ
ขายหุ้นในราคาถูกกว่าความเป็นจริง 1.59 หมื่นล้านบาท
สรุปเนื้อภาษีที่ แอมเพิล ริช มีหน้าที่ต้องชำระ
เมื่อวินิจฉัยว่า บริษัท แอมเพิล ริช มีเงินได้สืบเนื่องจากหุ้นชินคอร์ป ที่ต้องเสียภาษีในฐานะเป็นการประกอบการในประเทศไทย ทั้งเงินปันผล, เงินได้จากการขายหุ้น,การจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ และภาระปลอดหนี้ ดังเช่นที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว คตส.จึงเห็นควรใช้อำนาจตามกฎหมาย คตส.เสนอให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล จากบริษัท แอมเพิล ริช หรือกรรมการบริษัทแอมเพิล ริช ในขณะเกิดหนี้ภาษี คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ดังต่อไปนี้
ภาษีเงินได้จากฐานกำไรสุทธิ (เงินปันผล, เงินขายหุ้นชินคอร์ป, ภาระปลอดหนี้ 2542 2549)
แยกเป็นเนื้อภาษีจริง 5.22 พันล้าน เบี้ยปรับสองเท่า 10.44 พันล้าน และเงินเพิ่ม 723 ล้าน
รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 1.64 หมื่นล้าน
เงินเพิ่มพิเศษเนื่องจากไม่ยื่น ภงด.51 ถึง 3 รอบปีบัญชี
ประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ในมาตรา 67 ตรี ให้ นิติบุคคลที่ไม่ยื่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ในแต่ละรอบปีบัญชี ต้องเสียเงินเพิ่มในแต่ละปี อีก 20% ของภาษีเงินได้ในปีนั้น รวมเป็น 0.512 พันล้าน
ภาษีเงินได้จากการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ (เงินได้หลังหักภาษีที่ส่งไปต่างประเทศ)
แอมเพิล ริช นำเงินปันผลส่งออกต่างประเทศตลอดเวลา ต้องเสียภาษีส่วนนี้อีก 7% เป็นเนื้อภาษี 1.26 พันล้าน เบี้ยปรับสองเท่า 2.52 พันล้าน เงินเพิ่ม 0.20 พันล้านบาท รวม 3.98 พันล้าน
(ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของ บุตรนายกฯ (ประโยชน์ที่ได้รับจากบริษัทฯ เนื่องมาจากการซื้อหุ้น)
อนึ่งเนื่องจาก แอมเพิล ริช ถ่ายเทประโยชน์ในหุ้นชินคอร์ปให้กรรมการ คือ บุตรชาย บุตรสาวนายกฯ เป็นพิเศษ ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่บริษัทมิได้หักไว้ ณ ที่จ่าย แอมเพิล ริช จึงต้องเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ภาษี 6.53 พันล้าน ของบุตรนายกฯ ทั้งสองด้วย)
รวมยอดหนี้ภาษีในส่วนเงินได้ แอมเพิล ริช ทั้งหมด 20.89 พันล้าน
จะเห็นได้ว่าหากทำตามกฎหมายทุกประการ คือยอมรับว่าตนประกอบกิจการในไทย และขายหุ้นตรงไปตรงมาให้แก่เทมาเส็กเลย แอมเพิล ริช จะมีเนื้อภาษีจริง 6.48 พันล้าน เท่านั้น ส่วนบุตรทั้งสองของนายกฯ ก็ไม่ต้องเสียภาษีใดเพราะไม่มีเงินได้ แต่เมื่อบุตรทั้งสองนี้ ถูกนำชื่อมาซื้อหุ้นในทอดแรกในราคาถูกก่อน จึงต้องพลอยเสียภาษีไปด้วย อีก 6.53 พันล้าน รวมแล้วครอบครัวชินวัตรจึงต้องเสียภาษีในส่วนนี้ ทั้งเนื้อภาษีจริง เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มต่างๆ รวมเป็นเงิน 27.42 พันล้านบาท หรือ 4.5 เท่าของภาษีที่ควรจะเสียโดยถูกต้อง อีกทั้งยังได้ลากเด็กๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจนเสี่ยงภัยเสี่ยงโทษตามกฎหมายโดยมิสมควรอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือผลงานของผู้เป็นบิดา มารดา กับนักวางแผนภาษีตระกูลชินวัตร และคำวินิจฉัยในวันนี้ คือคำตอบที่กฎหมายไทยควรจะมอบให้แก่การหลีกเลี่ยงภาษีของนักธุรกิจการเมืองในครั้งนี้
รวม ทำตามกฎหมาย เสีย 6.48 พันล้าน ทำผิดกฎหมายเสีย 27.42 พันล้าน
..............................................................................................................................
ข่าวที่เกี่ยวเนื่องกับภาพนี้ ที่กำลังฮือฮาอยู่ในตอนนี้ ถามหน่อยเหอะว่าให้แง่คิดอะไรกับสังคมบ้าง ??...