อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา นักกฎหมายที่เคยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารหลายคณะให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหลายสมัย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2550 โดยกล่าวในท่อนหนึ่งว่า สถานการณ์บ้านเมืองในด้านต่างๆ ขณะนี้ หนักหนายิ่งกว่าช่วงก่อนการรัฐประหารมาก และสถานการณ์ในอนาคตอันใกล้ก็ส่อเค้าว่าจะรุนแรงจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.คดีความที่กล่าวหาว่าหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเบื้องสูง ปรากฏว่าอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่เป็น 1 ใน 4 เหตุผลของการยึดอำนาจ และ 3.การตรวจสอบทุจริตที่ไม่ยึดหลักนิติธรรม
เมื่อยึดอำนาจแล้ว คณะทหารและรัฐบาลบอกว่าจะปกครองบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งหลักนิติธรรมก็คือ ต้องถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่ากระทำผิดจริง แต่การตั้ง คตส. แล้วออกข่าวเกือบจะเรียกว่า 3 เวลาหลังอาหาร ว่าคนนั้นทุจริตเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยระบุชื่อชัดเจน แบบนี้ถือว่าขัดหลักนิติธรรม เพราะจะผิดหรือถูกยังพิสูจน์ไม่ได้ คนพิสูจน์คือ ศาล ไม่ใช่ คตส
ถ้าสุดท้ายเหตุการณ์กลับตาลปัตร เอาผิดไม่ได้เลย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ"ที่สำคัญก็คือ ไม่มีหลักนิติธรรมที่ไหนที่เอาฝ่ายปฏิปักษ์มาสอบสวนพิจารณาความผิดของคู่กรณี ทำไมไม่ตั้งคนกลางจริงๆ เหมือนสมัย รสช. ผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินในขณะนั้นคือ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือในความซื่อสัตย์สุจริต แต่การตั้ง คตส.สมัยนี้ผิดกัน ทำให้การยอมรับไม่เกิดขึ้น คนเราเวลาใครมากล่าวหา ญาติพี่น้องและผู้สนับสนุนก็ต้องเดือดร้อน ความโกรธนั้นไม่อันตราย แต่เมื่อความโกรธกลายเป็นความแค้น นั่นแหละคือ สิ่งที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดอะไรบางอย่าง"
อดีตประธานรัฐสภาผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง ยังตั้งคำถามด้วยว่า ประเทศของเราต้องการปกครองกันด้วยระบอบอะไร เพราะขณะนี้เรากำลังพูดคนละเรื่องเดียวกัน ขณะที่เรากำลังบอกว่าประเทศไทยต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ถามจริงๆ ว่าเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยแค่ไหน
"สมมติฐานของเราก็คือ ต้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ดีกว่าช่วงก่อนวันที่ 19 กันยายน แต่ขณะเดียวกันเราต้องกลับไปหาประชาชนเพื่อใช้สิทธิในระบอบประชาธิปไตย ถามว่าช่วง 1 ปีเราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคิดทางการเมืองของประชาชน 30-40 ล้านคนได้หรือไม่ เพราะเราให้บทเรียนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแก่ประชาชน เราอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เราได้อำนาจมาโดยวิธีการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเราจะไปเรียกร้องให้ประชาชนเป็นประชาธิปไตยได้หรือ"
"ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยเสียก่อน โดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ฉะนั้นในที่สุดเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องกลับไปหาประชาชน แต่ตอนนี้เรากำลังหลงทาง กลายเป็นว่าความคิดของคนบางกลุ่มเหนือกว่าประชาชนที่เป็นเสียงข้างมากของประเทศหรือเปล่า ถ้าเราเชื่อว่าความคิดนี้ถูก ก็ต้องเลิกเป็นประชาธิปไตย"
"อนาคตของประเทศจะล่มจม จะพัง หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าจะพังก็ประชาชนเขาเลือกที่จะพัง ทำไมเราไม่ปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย ประชาชนอาจจะคิดถูกก็ได้ คิดผิดก็ได้ เราเอาอะไรมาเป็นเครื่องวัดว่าเรารู้ดีกว่าประชาชน ถ้าเราจะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่าดูถูกประชาชน อย่าคิดว่าฉันมีการศึกษา ฉันมีข้อมูลดีกว่า เพราะหลายๆ เรื่องชาวบ้านรู้ดีกว่าเราเสียอีก"
ศ.ดร.อุกฤษ ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ระบบการเมืองทุกวันนี้มั่วไปหมด แม้แต่หลักการพื้นฐานที่สุดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทาง 3 สถาบันคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ปัจจุบันก็ดูจะถูกหลงลืมไป
"อำนาจบริหารนั้น อำนาจตุลาการจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว แต่เดี๋ยวนี้ต้องไปศึกษากันใหม่แล้ว ถนนสามเลนวิ่งกันมั่วหมด ทุกคนอยากมาวิ่งในเลนที่ไม่ใช่ของตัว โดยเฉพาะไม่ได้รับมอบฉันทะจากประชาชน วันหนึ่งมันจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย เพราะการวิ่งรถผิดเลนคือ ต้นตอของปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน แล้วนับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที เพราะเราไม่รู้จักว่าขอบเขตสิทธิหน้าที่ของเราอยู่ตรงไหน เขามีเส้นขีดไว้ เราข้ามเส้น ล้ำเส้นหรือเปล่า ไปคิดเอาเอง"
.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=7894&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai