มติครม.แปลงสภาพTITVเป็นทีวีสาธารณะ
24 เมษายน 2550 19:12 น.
ครม.มีมติแปลงสภาพ "ทีไอทีวี" เป็นทีวีสาธารณะ เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบพร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพ ด้าน "สมเกียรติ" เผยมีร่างไว้แล้ว "พลเดช" หนุนทำให้สอดคล้อง พ.ร.บ.องค์กรแพร่ภาพ
ได้แนวทางที่ชัดเจนแล้วสำหรับสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ล่าสุด นางดรุณี หิรัญรักษ์ ประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า มติ ครม.มีความชัดเจนว่าจะให้ทีไอทีวีเป็นสื่อสาธารณะ จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานชั่วคราวมาดำเนินการ เพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายของทีไอทีวีเสร็จสิ้นในรัฐบาลชุดนี้ จากนั้นจะมีการศึกษาเรื่องโครงสร้างต่างๆ เช่น รูปแบบรายการ ที่มาของรายได้
ทีวีสาธารณะจะไม่มีโฆษณา จะใช้งบประมาณจากภาษีสรรพสามิต มาเป็นกรณีพิเศษ หรือตั้งกองทุนขึ้นมา ทั้งนี้ จะให้เอกชนเสนอการจัดทำรายการและผลิตรายการให้สถานีช่องนี้ด้วย
"กฎหมายที่จะรองรับทีไอทีวี คือ จะใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เผยแพร่และกระจายเสียงสื่อสาธารณะของ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ที่เสนอเรื่องนี้ให้สภานิติบัญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว ทีไอทีวีจะเป็นองค์การมหาชน ดำเนินการโดยประชาชนและคณะกรรมการอิสระที่ปลอดจากทุนและการเมืองแทรกแซง รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะต้องไปเขียนระเบียบวิธีการคัดเลือกให้มีความชัดเจน" นางดรุณี กล่าว
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวก่อนให้ข้อมูลกับที่ประชุม ครม.ว่า จะนำเสนอการดำเนินการต่อที่ประชุมถึงแนวทางในการจัดตั้งทีวีเสรีและทีวีสาธารณะ โดยจะนำเสนอว่า การจัดทำทีวีเสรีควรดำเนินการตาม 3 แนวทาง คือ 1.การแก้ไขมาตรา 80 ขององค์การจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งคณะกรรมการจะไม่สนับสนุนวิธีนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) 2.รอให้เกิด กสช. และ 3.การผลักดัน พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการทีวีเสรีจะมีโครงสร้างที่ให้เอกชนสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ แต่จะมีวิธีการไม่ให้เอกชน หรือรัฐเข้าไปแทรกแซงทิศทาง และเนื้อหาสาระในการนำเสนอของสถานี ทั้งนี้ จะมีแนวทางให้สัมปทานภาคเอกชนในระยะเวลาที่เหมาะสมและเกิดการคุ้มทุน
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การผลักดันให้เกิดทีวีเสรี รัฐบาลจะต้องเสนอร่างกฎหมายเข้าไปประกบร่างกฎหมายของ สนช. ไม่ช้ากว่าวันที่ 11 พฤษภาคม ส่วนแนวทางของทีวีสาธารณะ รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนโดยผ่าน พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดองค์การมหาชนขึ้น จากนี้รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญว่า จะผลักดันทีวีลักษณะใดให้เกิดขึ้น แต่ส่วนตัวเห็นว่า แนวทางนี้ควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
"เพราะเราจะไม่มีความหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าผลักดันไม่ได้ในรัฐบาลนี้ รัฐบาลอื่นก็อาจไม่มีใครผลักดันแล้ว นายสมเกียรติ กล่าว
"พลเดช"หนุน"ทีไอทีวี"เป็นทีวีสาธารณะ
ด้าน น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ในฐานะเป็นรัฐบาลคุณธรรม ควรต้องตัดสินใจในเรื่องสื่อว่าจะไปในทิศทางใด โดยตนเสนอการแบ่งประเภทสถานีโทรทัศน์ที่ควรดำเนินการ คือ 1.สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี 2.สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 และ 3.สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ควรจัดทำทีไอทีวีเป็นสื่อสาธารณะ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายองค์การแพร่ภาพที่ฝ่ายวิชาการเสนอมาแล้ว ขณะที่ช่อง 11 ควรเป็นสื่อรัฐตามเจตนารมณ์เริ่มแรกในการจัดตั้ง โดยให้เป็นทีวีเพื่อการศึกษา สังคม และวัฒนธรรม โดยอาจมอบให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงวัฒนธรรม ดูแล ส่วนสถานีโทรทัศน์ระบะยูเอชเอฟควรให้เป็นสื่อเสรีที่เอกชนดำเนินการ แต่รัฐจะเป็นผู้กำหนดสัดส่วนเนื้อหาสาระ 70:30
"อันนี้ก็จะทำให้ระบบสื่อทีวีมีทั้งสามประเภท คือ สื่อสาธารณะ สื่อรัฐ และสื่อเสรี จะได้สมดุลกัน แล้วก็สังคมไทยจะได้ประโยชน์ ทิศทางของเรื่องนี้รัฐบาลคุณธรรมควรต้องตัดสินใจ" น.พ.พลเดช กล่าว
ผู้ผลิตรายการเดือดร้อน
นายเกียรติศักดิ์ อุดมนาค หรือ "เสนาหอย" หนึ่งในหุ้นส่วน บริษัท ลักษ์ 666 จำกัด ผู้ผลิตรายการทีไอทีวี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องยอมรับในมติ ครม. เมื่อพิจารณาแล้วเราก็ต้องทำตาม ตอนนี้ก็ต้องหาทางทำรายการต่อไป เรื่องนี้คงต้องคุยกับหุ้นส่วนทุกคนว่าจะทำอย่างไรต่อ
"ออกมาแบบนี้ก็ใจหายเหมือนกัน อยู่บ้านหลังนี้มานาน รายการก็เป็นที่รู้จัก มีทั้งรายการที่เป็นสาระและบันเทิง อาชีพเราทำทีวี ทำรายการ ถ้าไม่มีโฆษณา เราก็อยู่ไม่ได้ การทำรายการ ทำทีวีมันต้องมีโฆษณา จุนเจือในงานทำงาน ถ้าไม่มีโฆษณาเราก็แย่ ใครที่ทำตรงนี้จะรู้ดี ผู้จัดหลายเจ้าก็เดือนร้อนกันหมด แต่เราก็ต้องสู้กันต่อไป" นายเกียรติศักดิ์ กล่าว
นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้วางแผนประชาสัมพันธ์และซื้อสื่อโฆษณา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า การที่ภาครัฐให้ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสื่อโฆษณาหรือไม่ เพราะการวางแผนซื้อสื่อโฆษณาแต่ละครั้ง จะต้องมีการวัดเรตติ้งของผู้ชมของแต่ละรายการ รวมถึงดูรูปแบบรายการที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าที่จะซื้อเวลาลงโฆษณาหรือไม่
ความชัดเจนในขณะนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะคาดการณ์ได้ว่า หากทีไอทีวีเป็นรูปแบบทีวีสาธารณะแล้ว จะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการโฆษณาที่ลดลง เพราะยังต้องดูถึงโครงสร้างของสถานีภายใต้คณะกรรมการชุดใหม่และรูปแบบของรายการภายใต้การดูแลของภาครัฐว่า จะหน้าตาเป็นอย่างไร และรูปแบบรายการที่ผลิตออกมาจะสามารถทำเรตติ้งได้มากน้อยเพียงใดด้วย นายดนัย กล่าว
http://www.komchadluek.net/2007/04/24/a001_109938.php?news_id=109938