ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
10-01-2025, 12:21
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  แถลงการณ์สื่อไทย : เสรีภาพสื่อไทยยุครัฐบาลทักษิณอยู่ในภาวะถดถอย 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
แถลงการณ์สื่อไทย : เสรีภาพสื่อไทยยุครัฐบาลทักษิณอยู่ในภาวะถดถอย  (อ่าน 1968 ครั้ง)
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« เมื่อ: 04-05-2006, 02:39 »

เสรีภาพสื่อไทยยุครัฐบาลทักษิณอยู่ในภาวะถดถอย
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ สถานการณ์สื่อมวลชนไทยในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2549 ยุคการสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวและความเกลียดชัง

ตลอดยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะถดถอยมาโดยตลอด เนื่องจากถูก”แทรกซึม-แทรกแซง-แบ่งแยก" ภาวะเช่นนี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองในช่วงปลายปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่า เสรีภาพสื่อมวลชนไทยในรอบปีที่ผ่านมา เข้าสู่ “บรรยากาศแห่งความกลัวและความเกลียดชัง"

ยิ่งกว่านั้น ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่มีความขัดแย้งทางความคิดสูง ผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังพยายามบิดเบือนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง และความเข้าใจผิดว่าสื่อได้คุกคามนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งกล่าวหาว่าสื่อไม่เป็นกลาง จ้องทำลายรัฐบาลและความสงบสุขของประเทศ พฤติกรรมดังกล่าว นับว่าเป็นการตอกย้ำให้สื่อถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ถึงแม้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ได้เคยสัญญาว่า จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย แต่กลับกระทำในสิ่งตรงกันข้ามตลอดเวลา มีความพยายามใส่ร้าย ป้ายสี เพื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน ควบคู่ไปกับการฟ้องร้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายในมูลค่ามหาศาล เพื่อสกัดการเปิดโปงข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน เช่น การฟ้องร้องหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กรณีการนำเสนอข่าว รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าว และการฟ้องคดีการปั่นหุ้นของบริษัทปิกนิคแก๊ส หนังสือพิมพ์เครือมติชน โดยเรียกค่าเสียหายหลักพันล้าน

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามใช้อำนาจทุนที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจทางการเมือง เข้ามาครอบงำกิจการสื่อสารมวลชน เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนและบางกอกโพสต์ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้แสดงความเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย ด้วยการส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองอำนาจ ในกลับกัน ผู้นำรัฐบาลได้แสดงตนเป็นต้นแบบในการฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวในเชิงตรวจสอบเพื่อจงใจข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่อย่างตรงไปมาของสื่อมวลชนในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการใช้อำนาจรัฐของนักการเมือง

ทั้งนี้ แทนที่รัฐบาล จะส่งเสริมและพัฒนาวิทยุชุมชนให้เป็นสื่อของประชาชนโดยประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กลับเลือกปฏิบัติและใช้อำนาจทางการเมือง ปิดสถานีวิทยุชุมชนที่นำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ สั่งถอดรายการวิทยุ แทรกแซงการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์ ปลดพิธีกรรายการวิทยุ โทรทัศน์ที่ นำเสนอรายการ ไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจ

สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อรัฐบาลประสบภาวะวิกฤติทางการเมือง โดยมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่า คนวงในรัฐบาลให้การสนับสนุนและจัดตั้งกลุ่มคนเพื่อกระทำการคุกคามสื่อ ในรูปแบบที่ไม่น่าเกิดขึ้นในอารยะประเทศ เช่น กรณีมีกลุ่มบุคคลใช้กำลังปิดล้อมหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก หรือการนำขบวนรถจักรยานยนต์รับจ้างไปสร้างความกดดันที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และหนังสือพิมพ์แนวหน้า

นอกจากนี้ ยังเกิดขบวนการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อทำสงครามข่าวสารกับสื่อมวลชน เช่น การตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ ตั้งทีมส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (เอสเอ็มเอส) ด้วยข้อความที่ใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงการโทรศัพท์เข้าไปรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อปลุกปั่นให้คนในสังคมเกิดความแตกแยก โดยหวังผลทำลายล้างทางการเมือง ที่สำคัญคือ มีการใช้ผู้ดำเนินรายการในรายการวิทยุและโทรทัศน์เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล

สถานการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่ามีการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่รุนแรง โดยหวังจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตกอยู่ใน “อาณาจักรแห่งความกลัว” เพื่อสยบยอมต่ออำนาจทางการเมืองหรือยอมเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร โดยได้มีความพยายามแทรกแซง แบ่งแยก ทำลายความน่าเชื่อถือ กระทั่งใช้วิธีการต่างๆ ที่ไม่ชอบธรรมเพื่อคุกคามปิดกั้นเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การกระทำต่างๆ เหล่านี้

ในโอกาสวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พวกเราในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนหยัดจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไปโดยยึดหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ พร้อมยอมรับการตรวจสอบจากสังคมด้วยวิถีทางอันชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเราเชื่อว่าการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ที่จะเป็นเกราะคุ้มกันสื่อมวลชนไม่ให้ถูกใส่ร้ายกล่าวหา และตกเป็นเหยื่อของขบวนการบ่อนทำลายที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ในขณะนี้ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อของสื่อมวลชนจะต้องดำเนินต่อไป เพราะเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน
 
 
ที่มา : ไทยรัฐ
บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 04-05-2006, 03:46 »



ไทยติดโผประเทศสื่อ (ไร้) เสรีเนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก

องค์กรสื่อสารมวลชนนานาชาติออกมาแสดงความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีจุดยืนด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกของมนุษยชนตลอดมา ได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชนจะช่วยให้ประเทศทั้งหลายบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาองค์ความรู้ของประชาชนทั่วโลกได้ และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

นับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ยูเนสโกได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีคือวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานเสรีภาพแก่สื่อมวลชน รวมถึงการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนด้วย ยูเนสโกถือว่าวันนี้คือวาระที่รัฐบาล ประชาชน และสื่อมวลชนของแต่ละประเทศจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันปลูกฝังจิตสำนึกของคนในสังคม เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและการพัฒนาข้อคิดต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของทุกฝ่าย

 

นอกจากนี้ ยูเนสโกยังระบุอีกด้วยว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรี มีผลคุ้มครองไปถึงสิทธิอื่นๆ อีกหลายประการทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม แสดงให้เห็นว่าการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของประชาชนมีความสอดคล้องกันทั้งทางปัญญา ศีลธรรม และการปฏิบัติ

 

อย่างไรก็ตาม รายงานของคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้สื่อข่าว (CPJ: Committee to Protect Journalist) ได้สรุปผลไปคนละทางกับจุดมุ่งหมายของยูเนสโกอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากคณะกรรมการฯ ได้จัดอันดับประเทศทั้ง 10 ที่มีการตรวจสอบและครอบงำด้านข่าวสารมากที่สุดในโลก หรือ 10 Most Censored Countries เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 โดยประเทศที่ติดอันดับหนึ่ง คือ เกาหลีเหนือ และประเทศอื่นๆ ที่ติดอันดับ ได้แก่ พม่า เติร์กเมนิสถาน อีเควทอเรียลกินี ลิเบีย อิริเทรีย คิวบา อุซเบกิสถาน ซีเรีย และ เบลารุส

 

รายงานของคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้สื่อข่าวระบุว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือคอยควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด และมักจะเรียกร้องให้สื่อรายงานเฉพาะแต่ข่าวในด้านดีของผู้นำ เช่น ข่าวที่สรรเสริญการกระทำของคิมจองอิล ซึ่งถูกกล่าวถึงในฐานะ 'ผู้นำที่รัก' แทบทุกวัน แต่ข่าวคราวความอดอยากของชาวเกาหลีเหนือตลอดทศวรรษ 1990 กลับไม่ได้รับการนำเสนอสักเท่าไหร่

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลพม่าได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้สื่อมวลชนในประเทศรายงานข่าวที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกต่อต้านรัฐบาล ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลมีอำนาจในการเซ็นเซอร์ข่าวทุกชิ้น และมีสิทธิ์ในการถอดถอนหรือเพิกเฉยต่อรายงานใดๆ ก็ได้

 

ทางด้านสื่อมวลชนในเติร์กเมนิสถานถูกบังคับให้ลงภาพและข่าวของประธานาธิบดี และรัฐบาลจะเป็นผู้อนุมัติว่าข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ๆ ของประเทศควรจะลงข่าวใดบ้าง และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการลงภาพผู้นำประเทศบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เป็นประจำ

 

นอกจากนี้ สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (IFJ: International Foreign Journalist) ได้สรุปเพิ่มเติมว่าในปี 2548 ที่ผ่านมา สถิติผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนที่เสียชีวิตในหน้าที่มีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ คือ 150 คน และสถิตินี้มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ทำให้อาชีพนักข่าวเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น

 

นอกเหนือจากการเสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม นักข่าวและสื่อมวลชนทั่วโลกยังต้องเผชิญหน้ากับการข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐบาล มีสื่อมวลชนโดนกักกันหรือจำคุกมากกว่า 500 คน และมีนักข่าวได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามอิรักเพียงแห่งเดียวถึง 60 คน

 

ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมเสรีภาพสื่อของยูเนสโกประจำปี 2549 จะมุ่งเน้นที่ประเด็นการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของมนุษยชนในการแสดงออก และส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนเพื่อเป็นการประกันสิทธิที่จะหลุดพ้นจากความยากจนของมวลชน แต่ก็คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเมืองและการปกครองไม่เอื้ออำนวย ซึ่งองค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontires) ได้รายงานสถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชีย โดยระบุว่าสื่อมวลชนในแถบทวีปเอเชียส่วนใหญ่ถูกรัฐบาลคุกคาม แทรกแซง และควบคุมการนำเสนอข้อมูลอย่างใกล้ชิด ทำให้ข้อมูลมากมายถูกปล่อยปละละเลยทั้งที่ควรจะเป็นข่าวสำคัญ

 

ประเทศต่างๆ ที่ยังมีความ ‘น่าเป็นห่วง’ เรื่องเสรีภาพสื่อ ได้แก่ ประเทศเนปาล เพราะนับตั้งแต่กษัตริย์กิเนนดรารวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศเมื่อปี 2548 สื่อต่างๆ ในเนปาลก็พลอยถูกปิดลงไปเป็นจำนวนมาก โดยกษัตริย์กิเนนดรามักจะอ้างถึงความมั่นคงภายในประเทศในการสั่งปิดสื่อต่างๆ และสถานีวิทยุชุมชนหลายแห่งถูกสั่งปิดไปประมาณ 567 ครั้ง เนื่องจากสถานีวิทยุเหล่านั้นเสนอข่าวและกล่าวถึงการชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านกษัตริย์กิเนนดรา

 

แม้กระทั่งสื่อในไซเบอร์สเปซของประเทศจีนก็ถูกรัฐบาลตรวจสอบอย่างเข้มงวด และบางเวบไซต์ถูกปิดไปโดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเนื้อหาภายในเวบไซต์มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ทั้งที่เวบไซต์ดังกล่าวเพียงแค่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น

 

ส่วนการใช้อำนาจทางกฎหมายเล่นงานสื่อ เช่น การฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากสื่อมวลชนที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยก็เข้าข่ายเดียวกับการคุกคามเสรีภาพสื่อเช่นกัน กรณีดังกล่าวถูกเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของออสเตรเลีย ซึ่งร่างขึ้นในปี 2548 โดยรัฐบาลออสเตรเลียเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้สื่อข่าวหรือบุคคลใดๆ ก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการสืบสวนเบื้องต้น ทำให้นักข่าวจำนวนมากถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย

 

ทางด้านปากีสถานและอัฟกานิสถานยังคงติดอันดับต้นๆ ของประเทศในแถบเอเชียที่มีการแทรกแซงสื่อมวลชน เพราะรัฐบาลปากีสถานได้สั่งปิดนิตยสารเพื่อผู้หญิงฉบับหนึ่งด้วยข้อหาว่านิตยสารดังกล่าวเผยแพร่เนื้อหาที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับบรรณาธิการนิตยสารที่ถูกตัดสินให้จำคุกทันที และอัฟกานิสถานมีการสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการลอบสังหารผู้สื่อข่าวหลายรายที่นำเสนอข้อมูลในเชิงต่อต้านรัฐบาล

 

สำหรับประเทศในเอเชียที่สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ได้แก่ อินเดีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนให้เหตุผลว่า วงการสื่อสารมวลชนของ 3 ประเทศที่กล่าวมาเต็มมีความหลากหลายในการนำเสนอข้อมูล และมีการส่งเสริมให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างอิสระ ทำให้การพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้พัฒนาสังคมมีความหลากหลายและเป็นระบบ


ที่มา : ประชาไท

บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 04-05-2006, 03:55 »

วันเสรีภาพสื่อโลก ตื่นเผชิญรัฐพันธุ์ใหม่คุกคามหนัก

3 พฤษภาคม 2549 19:47 น.

นักวิชาการชี้สื่อโลกเผชิญ "ยุคพันธุ์ทุน-รัฐตกแต่งพันธุกรรมใหม่" ผู้มีอำนาจต้องการครอบงำ หลอมรวม และบูรณาการเป็นเจ้าของข้ามสื่อทุกภาคส่วน อาจทำผ่าน'นอมินี' เพื่อสร้างประชานิยมอุปถัมภ์ กุมเบ็ดเสร็จทั้งโครงสร้างสื่อ โครงสร้างสังคม
*กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
---------------------------


ตั้งแต่วานนี้(2พ.ค.) กลุ่มนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน หรือวารสารศาสตร์ จากสถาบันอุดมศึกษา ร่วมออกเดินรณรงค์ในกรุงเทพฯ มหานคร เพื่อให้สังคมตระหนักถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน

  และวันนี้ (3พ.ค.) กลุ่มเพื่อนสื่อ(Friends Of Press) นำโดย พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ประธาน"ชมรมตุลาประชาธิปไตย" มามอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่ตัวแทนสื่อมวลชนชาติเอเซีย เพื่อแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้าง เนื่องในวันวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งกำหนดขึ้นวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี

  ซึ่งสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนเอเชียอาคเนย์(ซีป้า) และองค์การยูเนสโก้ขององค์การสหประชาชาติ จัดสัมมนาสื่อหัวข้อ “อาการกลายพันธ์การคุกคามสื่อในประเทศไทย และประสบการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

  ในการสัมมนาครั้งนี้ มี ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) นายตุลสถิตย์ ทับทิม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ของสมาคมนักข่าวฯ นางเมลินดา ควินตอส เดเฮซุ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ศึกษาเพื่อการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อและความรับผิดชอบ ประเทศฟิลิปปินส์ และนายเมยาตามะ ซูโยดินันกลัท บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์จาร์กาตาร์โพสต์ อินโดนีเซีย

รื้อโครงสร้างสื่อวิทยุทีวี ตามมาตรา40

 เริ่มจาก ดร.พิรงรอง เสนอรายงานเรื่อง “ภาพรวมการคุกคามสื่อของประชาธิปไตยไทย” โดยชี้ให้เห็นว่า การคุกคามสื่อในเมืองไทยแบ่งเป็น 3 ยุคคือ 

 ยุคที่ 1 พันธุ์เผด็จการ ปี2475 - 2516 จากสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีระบบเซ็นเซอร์ ออก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484 ใช้สื่อมวลชนเผยแพร่ลัทธิชาตินิยม ควบคุมเบ็ดเสร็จผ่านการจับกุม และกวาดล้างโดยตำรวจ มีการปิดโรงพิมพ์ ใช้วิทยุเพื่อโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายรัฐ เช่น “รายการนายมั่น-นายคง” มีลักษณะเดียวกับรายการวิทยุในเช้าวันเสาร์

 ต่อมาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์แบบเฉียบขาด ออกประกาศคณะปฎิวัติฉบับที่17 ลิดรอนเสรีภาพหนังสือพิมพ์ ห้ามออกหนังสือพิมพ์การเมือง และออกหัวหนังสือพิมพ์ใหม่

  รัฐบาลมีหนังสือพิมพ์ของตนเองชื่อ “สารเสรี” เป็นกระบอกเสียงให้ตัวเอง ยุคนี้เองถือเป็นการเริ่มต้นของระบบ"ซองขาว" ในวงการหนังสือพิมพ์ ซึ่งเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในยุคเผด็จการถนอม กิตติขจร

 ยุคที่ 2 พันธุ์อำนาจเก่า-ทุนใหม่ ปี2517-2543 ยุคนี้มีการตั้ง ก.บว. อำนาจในการควบคุมค่อยๆ เคลื่อนย้ายจากอำนาจรัฐ เข้าสู่ทุนใหม่ แต่ก็ยังเป็นทุนของคนไม่กี่กลุ่ม แต่รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2540 ก็ให้อำนาจทุนเจ้าของสื่อในการขัดขืนต่อต้านมากขึ้น

 ยุคที่ 3 พันธุ์ทุน-รัฐตกแต่งพันธุกรรมใหม่ หรือ Genetically modified capital ( GMC) ปี 2544 -2549 เป็นยุคที่ผู้มีอำนาจต้องการครอบงำ หลอมรวม และบูรณาการเป็นเจ้าของข้ามสื่อทั้งหมดทุกภาคส่วน

  ถ้าไม่ทำเองก็ใช้พันธมิตรทางการเมือง ดำเนินการแทน เพื่อปฏิสัมพันธ์กันภายใต้ระบอบประชานิยมอุปถัมภ์ พร้อมกับควบคุมเบ็ดเสร็จในแง่โครงสร้างสื่อวิทยุโทรทัศน์ด้วย เช่น กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น มีฐานอยู่ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย กลุ่มธุรกิจดาวเทียม และธุรกิจระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ และ กลุ่มสื่อสารมวลชนและโฆษณา

 นอกจากนี้ ยังมีการใช้วิทยุและโทรทัศน์ของรัฐ สร้างวาทกรรมประจำวันและสัปดาห์ จัดวาระข่าว จัดตั้งข้อความเอ็สเอ็มเอสในรายการโทรทัศน์ รวมไปถึงออกกฏหมาย ที่เอื้อให้คุมสื่อได้เด็ดขาด เช่น การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในสามจังหวัดภาคใต้ ใช้กระบวนการยุติธรรมสร้างความหวาดกลัว เช่น การฟ้องร้องหมิ่นประมาท ตั้งแต่ปี 2546-2548 มีมูลค่ารวมประมาณ 4.5 พันล้านบาท

 ดร.พิรงรอง เสนอแนวทางที่จะลดการคุกคามสื่อว่า ต้องพิจารณาจากส่วนต่างๆ ของสื่อสารมวลชน ในสื่อสิ่งพิมพ์จะไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไร แต่ส่วนวิทยุโทรทัศน์ โครงสร้างยังเป็นปัญหา จึงต้องไปแก้ตรงนั้น เพราะวิทยุโทรทัศน์จะมีอิทธิพลมากสำหรับคนไทย เนื่องจากคนไทยอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ไม่มาก เท่ากับการดูโทรทัศน์

 ดังนั้น การจะปรับเปลี่ยนค่านิยม ต้องไปรื้อโครงสร้างตามมาตรา 40 อาจต้องจัดสรรคลื่นความถี่กันใหม่ เพื่อให้ภาคประชาชนส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาครัฐ หรือเอกชน ที่มุ่งหวังแต่เรื่องกำไร เข้าไปมีส่วนทำเนื้อหามากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยมแก่ประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะใช้เวลาเพียงข้ามคืนแล้วจะเสร็จ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร แต่ก็ยังดีกว่าไม่เริ่มทำอะไรเลย

มีขบวนการเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบต่อสื่อ

 นายตุลสถิตย์ กล่าวว่า การคุกคามสื่อในปัจจุบัน ใช้ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงิน เข้าไปแทรกแซงกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน จนทำให้เกิดบรรยากาศแห่งกลัวขึ้นอย่างกว้างขวาง แม้แต่นักข่าวตัวเล็กๆ ที่หาข่าวอยู่สนามข่าว ปัจจุบันนี้ก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผยชื่อของตัวเอง เนื่องจากกลัวว่าจะได้รับผลกระทบ

  ในขณะที่รัฐบาลนี้ มีเสียงข้างมากคุมได้ทั้งหมด แต่องค์กรตรวจสอบง่อยเปลี้ยเสียขา มีเพียงสื่อมวลชนเท่านั้น ที่เป็นสถาบันเดียวที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่วันนี้ถ้าเข้าไปดูในเว็ปไซต์ จะพบว่าสื่อถูกตั้งคำถามมากมาย ในเรื่องจรรยาบรรณ

 ทั้งที่ สื่อทำหน้าที่ขุดคุ้ยหาความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ใช่ข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลให้ประชาชนได้รู้ ถ้าเป็นในอดีตประชาชนจะสนับสนุนการทำงานของสื่อเป็นอย่างมาก ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า และคมชัดลึก ทำให้เราเห็นว่า มีขบวนการที่พยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนที่มีต่อสื่อ

สื่อถูกคุกคามต้อง'เซ็นเซอร์'ตัวเอง

 น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า สถานการณ์การคุกคามสื่อจากผู้มีอำนาจ ทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ในบทบาทของตัวเองได้อย่างเต็มที่ จะต้องคอยเซ็นเซอร์ตัวเองตลอดเวลา โดยเฉพาะการรายงานข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมา ทั้งนี้ เหตุการณ์การคุกคามสื่อที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า หนังสือพิมพ์คมชัดลึก หรือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

 "ขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ จัดการเอาตัวผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการคุกคามสื่อมาลงโทษให้ได้ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการดำเนินคดี แต่ก็สาวไม่ถึงตัวผู้บงการ หรือเงียบหายไป ทำให้สื่อเกิดความไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในการทำงาน"

สื่อฟิลิปินส์ถูกจับจ้องยิ่งกว่า'บิ๊กบราเธอร์'

  นางเมลินดา กล่าวว่า ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่นางมาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้ใช้การประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจ ทหาร ตำรวจ เข้ามาควบคุมสื่อ นางอาร์โรโย่ ประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุม เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การเดินขบวนเพื่อโค่นล้มมากอส นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้าน ตลอดจนการจับกุมคอลัมนิสต์ ที่เขียนวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

  "การคุกคามสื่อในสมัยอาร์โรโย ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งการตักเตือนทางโทรศัพท์ เข้าควบคุมองค์กรสื่อ นอกจากนี้ยังมีการคุกคามเป็นพิเศษ กับองค์กรข่าวที่ทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวนแบบเจาะลึก โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสะกดรอยตาม มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กับการนำเสนอข่าวต่างๆ ที่เป็นผลเสียกับรัฐบาล การสืบหาแหล่งข่าว เป็นที่รับรู้กันในบรรดาสื่อมวลชนว่า

ในขณะที่กำลังทำข่าว ก็จะมีคนจ้องดูการทำงานของนักข่าวตลอดเวลา ยิ่งกว่ารายการบิ๊กบราเธอร์ สิ่งเหล่าทำให้เกิดอาณาจักรความกลัวไปทั่วฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะนักข่าวใหม่ๆ ทั้งนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะมีการสังหารนักข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่เท่าที่ทราบ การสังหารดังกล่าวไม่ได้มาจากนโยบายของรัฐ แต่มาจากพวกมาเฟียท้องถิ่น” นักหนังสือพิมพ์ชาวฟิลิปปินส์ กล่าว

  นางเมลินดา กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์มีการรวมตัวของสื่อมวลชน เพื่อตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการกระทำของกับอาร์โรโย่ ที่บอกว่ามีสิทธิที่จะจับตามองการทำงานของสื่อ เพื่อความมั่นคงของประเทศ ว่าใครเป็นคนตัดสิน และ สื่อต่างๆ ได้รวมตัวเข้ากับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการคุกคามสื่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพสื่ออย่างแท้จริง รวมถึงเพื่อขยายประเด็นการคุกคามสื่อ ให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากขึ้น

อินโดนีเซียถึงขั้นใช้กำลังคุกคามสื่อ

 ด้านนายเมยาตามะ กล่าวว่า สถานการณ์คุกคามสื่อของอินโดนีเซีย จะเป็นรูปแบบการใช้กฎหมาย รวมทั้งปรากฏการใช้กลุ่มกำลังต่างๆ โจมตีการทำหน้าที่ของสื่อ โดยพรรคการเมืองต่างๆ ของอินโดนีเซีย จะมีกลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่ค่อนข้างบู๊ให้การสนับสนุน นอกจากนี้สื่อจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์ของอินโดนีเซีย จะถูกควบคุมโดยกลุ่มธุรกิจต่างๆ เนื่องจากมองเห็นว่า การควบคุมสื่อนอกจากเพื่อผลกำไรแล้ว ยังสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองได้ด้วย

 อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อและประชาธิปไตย จะต้องดำเนินการมากกว่านี้ โดยให้สังคมยอมรับคุณค่าของการเป็นประชาธิปไตย คือ

1.สื่อต้องตอบสนองต่อสังคม มองตัวเองอย่างถ่อมเนื้อถ่อมตัว ไม่ใช่อยู่ในสถานะพิเศษ
2.สื่อต้องเข้าใจว่าไม่มีใครผูกขาดข้อมูล เนื่องจากมีการสื่ออิเลคทรอนิกส์กันอย่างแพร่หลายในขณะนี้
3. สื่อต้องมีความรับผิดชอบ โดยควรสนับสนุนให้เกิดสื่อประชาชน ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทุกภูมิภาค


กรุงเทพธุรกิจ
บันทึกการเข้า

Haa
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 161



« ตอบ #3 เมื่อ: 04-05-2006, 21:31 »

ถ้าปลดแอกสื่อ TV ของไทยเราได้ก็เจ๋ง จะว่าไปแล้ว สื่อหนังสือพิมพ์ไทยเราก็มีเสรีภาพดีในระดับหนึ่ง
แต่สื่อ TV ของเราถูกตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลมาตลอด อย่างน้อยต้องเอา iTV คืนมาให้ได้ครับ
บันทึกการเข้า

All tyranny needs to gain a foothold is for people of good conscience to remain silent.

Thomas Jefferson
หน้า: [1]
    กระโดดไป: