ที่มา:
http://www.bangkokbiznews.com/2006/03/31/w001_91529.php?news_id=91529เอแบคโพลล์ชี้คนกรุง74%ไปเลือกตั้ง แต่กาไม่ลงคะแนนมากสุด31 มีนาคม 2549 14:23 น.
31 มี.ค. -- ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง
ความคิดเห็นและความตั้งใจของประชาชน ในการเลือกตั้ง 2 เมษายน เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 3,606 ตัวอย่าง
สำรวจในวันที่ 29-30 มีนาคม 2549 ซึ่งผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด แต่จำนวนไม่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มที่คิดว่าปัญหาการเมืองในขณะนี้ อยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว กับกลุ่มที่คิดว่ายังไม่วิกฤตคือร้อยละ 42.6 ต่อร้อยละ 40.0 ที่เหลือร้อยละ 17.4 ไม่มีความเห็น
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.2 ทราบว่าวันเลือกตั้ง ส.ส.ตรงกับวันที่ 2 เมษายน
และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 ตั้งใจจะไปเลือกตั้งแน่นอน ในขณะที่ร้อยละ 11.5 ไม่ไป และร้อยละ 14.5 ยังไม่แน่ใจ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้พบว่า
ประชาชนที่มั่นใจและไม่มั่นใจต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้ง มีสัดส่วนไม่แตกต่างกันคือร้อยละ 40.3 ต่อร้อยละ 43.8 ยิ่งไปกว่านั้น
ประชาชนเพียงร้อยละ 26.3 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการใช้ตรายางประทับบนบัตรเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าสะดวก แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.0 ไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า จะมีการทุจริตได้ง่าย มีความน่าเชื่อถือมากกว่า และเป็นวิธีใหม่ที่ประชาชนไม่คุ้นเคย ดังนั้นควรใช้การกากบาทด้วยลายมือของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเอง
ประเด็นร้อนทางการเมืองอื่นๆ ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจล่าสุดครั้งนี้หลายประเด็นชี้ให้เห็นว่า
พรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรี กำลังได้รับการสนับสนุนของสาธารณชนลดน้อยลง จากร้อยละ 46.0 ที่บอกว่าจะเลือกพรรคที่ตั้งใจจะเลือกในการสำรวจวันที่ 25 มีนาคม ลดลงเหลือร้อยละ 34.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
ในขณะที่กลุ่มที่ตั้งใจจะไปงดลงคะแนน เริ่มมีสัดส่วนสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การสนับสนุนของประชาชนต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มมีแนวโน้มลดลง เมื่อผลสำรวจออกมาว่า คนที่ระบุไม่ควรลาออกทันที หลังการเลือกตั้งเริ่มลดลงเห็นได้ชัดเจนจากร้อยละ 44.5 ในวันที่ 11 มีนาคมเหลือร้อยละ 40.2 ในการสำรวจครั้งล่าสุดวันที่ 30 มีนาคม ในขณะที่จำนวนประชาชนที่คิดว่า ควรลาออกทันทีกลับเริ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 21.9 มาที่ร้อยละ 24.7 จำนวนประชาชนที่แต่ละฝ่ายมีต่ำกว่าร้อยละ 50 เช่นนี้ทำให้สถานการณ์การเมืองอยู่ในสภาวะที่อ่อนไหวมาก ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพูดอะไรทำอะไร มักจะมีแรงเสียดทานตลอดเวลา ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ปัจจัยหลักน่าจะเป็นเรื่องท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงก้าวร้าวของกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้การสนับสนุนของกลุ่มพลังเงียบเปลี่ยนไปสนับสนุนกลุ่มตรงข้าม และบางส่วนกลับไปอยู่กลางๆ ที่เดิม และวันนี้คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นเดิม เพื่อดูว่าแนวโน้มการสนับสนุนนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทย ที่เริ่มลดต่ำลงจะลดลงไปกว่านี้อีกมากน้อยเพียงไร เนื่องจากมีตัวแปรใหม่เพิ่มเข้ามาในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ คือการขับไล่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์และการชุมนุมหน้าตึกเนชั่น ที่สกัดห้ามแม้แต่คนป่วยหนัก คนตั้งครรภ์ ออกจากตึก โดยกลุ่มคาราวานคนจน หลังจากได้ผลสำรวจแล้วคณะผู้วิจัยจะนำเสนอต่อสังคมต่อไป ในขณะที่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นเช่นกัน ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร ซึ่งผลที่ตามมามักจะส่งผลเสียต่อรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีมากกว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนจึงอาจกลายเป็นเพียงละครอีกฉากหนึ่งของวิกฤตการเมืองขณะนี้เท่านั้น
ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่ส่งผลต่อความนิยมของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรี มากเท่ากับการเลือกตั้งใหญ่สองครั้งที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าจะเกิดสภาวะอิ่มตัวของตลาดการเมือง ซึ่งนักธุรกิจทั่วไปมักจะตัดสินใจขาย หรือปิดกิจการ เนื่องจากทำธุรกิจต่อไปก็ไม่มีทางจะกอบกู้สถานการณ์กลับคืนมาได้ หลังการเลือกตั้ง 2 เมษายนน่าจะเป็นโอกาสเหมาะของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ที่จะพิจารณาทบทวนว่า หากคะแนนนิยมไม่สูงไปกว่าร้อยละ 50 ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล คงจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้น การลาออกในช่วงเวลาดังกล่าว น่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย ด้วยนโยบายสาธารณะที่โดนใจประชาชนมากกว่าพรรคอื่นในขณะนี้ เพราะเป็นการถอยที่ได้รับใจจากประชาชนทั้งประเทศ และไม่ถือว่าแพ้ต่อทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ที่ว่าคนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาลแต่คนกรุงฯ ล้มรัฐบาล ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร น่าจะเอาแบบอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ท่านรู้จักคำว่าพอ แม้ว่า สังคมในขณะนั้น ต้องการให้ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ถ้า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ตัดสินใจตามแบบอย่างของ พล.อ.เปรม ประเทศไทยก็จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไป คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปรับปรุงระบบและภาพลักษณ์ขององค์กรอิสระ เช่น กกต. ให้เป็นที่เชื่อถือยอมรับของสังคม และการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่จะเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ