จะเข้าตำราลิงแก้แหหรือเปล่า เมื่อครอบครัวของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจขายหุ้นในเครือชินคอร์ป ให้กับบริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งของสิงคโปร์ทั้งหมด 49.595 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะตราบใดที่นายกรัฐมนตรีและครอบครัวยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เป็นสัมปทานและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็มีโอกาสจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่รัฐบาลออกนโยบายหรือออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจนั้น ๆ แต่ปรากฏว่า หลังจากการขายหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท แทนที่จะมีคำยกย่องชมเชย แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ มากขึ้นใน 3 ประเด็น ประการแรก มีการวิพากษ์วิจารณ์ในความรู้สึกของคนทั่วไปว่า เมื่อครอบครัวนายกรัฐมนตรีมีรายได้มากถึง 7.3 หมื่นล้านบาท แต่กลับไม่ต้องเสียภาษีสักบาทเดียว ผิดกับคนขายก๋วยเตี๋ยวที่ถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรไปนั่งนับชามกันถึงในร้านเพื่อเรียกเก็บภาษีให้ครบทุกบาททุกสตางค์ แม้นายกรัฐมนตรีและบริวารจะยกข้อกฎหมายมาชี้แจงว่า การขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กฎหมายยกเว้นว่าไม่ต้องเสียภาษี แต่ดูเหมือนคนทั่วไปก็ยังยอมรับไม่ได้ โดยเห็นจาก ผลการสำรวจเอแบคโพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนกรุงเทพฯ พบว่า 65.6 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า ครอบครัวนายกรัฐมนตรีควรจะเสียภาษี ฉะนั้นยิ่งนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นส่วนหนึ่ง ลูก ๆ จะนำไปทำประโยชน์กับสังคมผ่านมูลนิธิ ก็ยิ่ง ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้เกิดความคับข้องใจ เพราะรัฐบาลรณรงค์ให้ชาวบ้านช่วยกันเสียภาษีเพื่อนำไปสร้างบ้านแปงเมืองอยู่โครม ๆ แต่ครอบครัวนายกรัฐมนตรีกลับเลือกช่องทางในการขายหุ้นที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษี เมื่อไม่เลือกช่องทางที่จะเสียภาษีเพื่อเอาไปพัฒนาประเทศแล้วใครจะไปเชื่อว่า เศรษฐีตระกูลนี้คิดทำบุญตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ สรุปแล้วในทางจิตวิทยา การขายหุ้นครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความรู้สึกด้านลบกับมวลชนมากกว่าความรู้สึกด้านบวก ประการต่อมา การขายหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลายเป็นข่าวลือมานานแล้ว แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยอ้างว่า ให้ไปถามลูก ขณะที่ลูกก็บอกว่าให้ไปถามพ่อ การบ่ายเบี่ยงไม่ตอบตรงไปตรงมาตั้งแต่แรก ชวน ให้ผู้คนเกิดความสงสัยว่า หากทำอะไรตรงไปตรงมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปิด ๆ บัง ๆ ความรู้สึกในลักษณะนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมองในมุมการเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การขายหุ้นของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น แผนถอย เพราะหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น จะได้เก็บข้าวของได้ทัน ซึ่งทำให้มองได้ว่า สถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มั่นคง จึงต้อง เตรียมทางหนีทีไล่ไว้ก่อนเป็นผลให้หลายคนที่เคยถือหางฝ่าย พ.ต.ท. ทักษิณ จะต้องคิดอย่างหนักว่า จะถือหางต่อไปดีหรือไม่ อีกประการหนึ่ง รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ผลักดันแก้ไข กฎหมายให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมจาก 25 เปอร์ เซ็นต์เพิ่มเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกฎหมายผ่านสภาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 และหยุดเสาร์-อาทิตย์ 2 วัน พอเปิดทำการในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม ก็มีการเปิดแถลงข่าวขายหุ้นชินคอร์ปในสัดส่วน 49.595 ให้กับบริษัทเทมาเส็กโฮล ดิ้งของสิงคโปร์ทันที หากมองอย่างเชื่อมโยง หรือบูรณาการ ก็ทำให้ชวนสงสัยว่า การแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลนั้น เพื่อการขายหุ้นในครั้งนี้หรือไม่??
และมองให้ลึกไปยิ่งกว่านั้น ถ้าไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีก็จะขายหุ้นได้เพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งอาจทำให้บริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งไม่สนใจที่จะซื้อก็ได้ ที่สำคัญแทนที่จะได้รับการยกเว้นภาษีจากยอดขายหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเงิน ภาษี 2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อแก้ไขกฎหมายขยายสัดส่วนการถือครองของต่างชาติแล้ว ก็ทำให้ครอบครัวนายกรัฐมนตรีได้รับการยกเว้นภาษีจากการขายหุ้น 49.595 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดเป็นเงินภาษีถึง 4 หมื่นล้านบาท ประการสุดท้าย จากการขายหุ้นครั้งนี้ ฝ่ายค้านโดย นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ จากพรรคประชาธิปัตย์ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติทางตัวเลขประการหนึ่งก็คือ ก่อนหน้าที่จะขายหุ้นเมื่อปี 2548 นายพานทองแท้ ชินวัตร มีหุ้นอยู่ 293,950,220 หุ้น แต่กลับมีหุ้นเอามาขายบริษัทเทมาเส็ก 458,550,220 หุ้น มีส่วนต่างเกิดขึ้น 164,600,000 หุ้น ขณะที่นางสาว พิณทองทา เคยถือหุ้นอยู่ 440,000,000 หุ้น แต่มีหุ้นมาให้บริษัทเทมาเส็กฯ 604,000,000 หุ้น มีส่วนต่าง 164,000,000 หุ้น เมื่อรวมจำนวน ส่วนเกินทั้ง 2 ส่วนนี้แล้วจะมีหุ้นที่เกินมา 328,600,000 หุ้น ซึ่งมีตัวเลขใกล้เคียงกับที่นายบุญคลี ปลั่งศิริ กรรมการบริษัทชินคอร์ป เคยแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เมื่อปี 2542 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้น จาก 23.75 เปอร์เซ็นต์ เป็น 11.88 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับ 329,260,000 หุ้น เนื่องจากมีการโอนหุ้นของบริษัทชินคอร์ป จำนวนนี้ไปให้กับ บริษัทแอมเพิลริช ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น และยังระบุด้วยว่า บริษัทดังกล่าวนี้มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบอีกว่า บริษัทแอมเพิลริช ได้มอบหมายให้ธนาคารยูบีเอส ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้ดูแลหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ประเด็นที่น่าสงสัยก็คือ เมื่อปรากฏเป็นข่าวว่า 2 พี่น้องได้ซื้อหุ้นเพิ่มเติมจากบริษัทแอมเพิลริชจำนวน 328,600,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก่อนที่จะนำมารวมกับหุ้นเดิมของตัวเอง เพื่อขายกับบริษัทเทมาเส็ก ให้ครบสัดส่วน 49.595 เปอร์เซ็นต์ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้มีอำนาจในบริษัทแอมเพิลริช ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ขายหุ้นราคาต้นทุนให้กับลูก ๆ หรือไม่.??
เพราะข้อมูลครั้งสุดท้ายที่รายงาน ก.ล.ต. เมื่อปี 2542 ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทแอมเพิลริช 100 เปอร์เซ็นต์ หากในระหว่างปี 2542-2548 พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหรือโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่บริษัทแอมเพิลริชถืออยู่ในสัดส่วน 11.88 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะมีการแจ้งต่อ กลต. เพราะเป็นหุ้นจำนวนที่เกินกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่บริษัทแอมเพิลริชถือครอง อยู่ ไปให้คนอื่นก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้แจ้งให้ ก.ล.ต.ทราบ ก็ต้องถูกปรับ อย่างที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เคยถูก ก.ล.ต.สั่งปรับ 6 ล้านกว่าบาท ในกรณีซุกหุ้น แต่หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยังถืออยู่ และเป็นผู้ขายให้ลูก ๆ ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก็ต้องถูกฝ่ายค้านตรวจสอบว่ามีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.หรือไมเห็นตัวอย่างหนังกลางแปลงเรื่อง ซุกหุ้น ภาค 2 ตอน ลิงแก้แห แล้วก็ชักจะหวั่น ๆ ใจแทน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะมารินน้ำตาแก้ต่างให้เป็นความบกพร่องโดยสุจริต ต่อหน้าศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง คงไม่ได้แล้ว.บกพร่องโดยสุจริตในภาคแรก คงกลายเป็น บกพร่องโดยตั้งใจทุจริตในภาค 2 อย่างแน่นอน
