ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
25-11-2024, 10:27
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ตั้ง"แก้วสรร"สอบนายกฯอุ้ม"ไอทีวี" 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ตั้ง"แก้วสรร"สอบนายกฯอุ้ม"ไอทีวี"  (อ่าน 1077 ครั้ง)
soco
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,842



« เมื่อ: 13-03-2007, 20:41 »

คตส.ตั้ง"แก้วสรร"รวบรวมข้อมูล ไอทีวี ก่อนชงบอร์ดชุดใหญ่พิจารณาสัปดาห์หน้า กรณีนายกฯ และผู้เกี่ยวข้อง ทำผิดกฎหมาย กรณี ไอทีวีตามคำร้องของกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน ข้อหาใช้งบกว่าพันล้านจ้างอดีตพนักงานไอทีวีเข้าข่ายฮั้วราคา ด้าน คนไอทีวี ท้อแท้ หลังถูกสังคมกดดัน ร้องรัฐเร่ง ตัดสินอนาคต
นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคตส.กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า การที่กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.)จะรับเรื่องข้อร้องเรียนประเด็นไอทีวี ไว้พิจารณา ซึ่งต้องดูว่าเรื่องมีความสำคัญหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่เอกชนทำเสียหาย น่าจะไปดำเนินการกับเอกชนมากกว่า อย่างไรก็ตามคงต้องนำเรื่องเข้าหารือที่ประชุมก่อน และยืนยันว่า คตส.มีอำนาจที่ตรวจสอบเรื่องนี้

นายสัก กอแสงเรือง กรรมการและโฆษก คตส. กล่าวหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมอบหมายให้นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการและเลขานุการคตส. ไปรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคตส.พิจารณาว่าจะรับเรื่องไว้ในการตรวจสอบหรือไม่ในสัปดาห์หน้า

โดยช่วงเช้าวานนี้นายการุณ ใสงาม สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และ ท.พ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชนภาคอีสาน 19 จังหวัด ในนามกลุ่มประชาชนเข้ายื่นหนังสือกล่าวโทษ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ต่อคตส.กรณีดำเนินการกับสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยมิชอบ โดยมีคุณหญิงจารุวรรณ

เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะกรรมการคตส.เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นายการุณ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องยื่นเรื่องให้คตส.ตรวจสอบเพราะการบริหารจัดการไอทีวีนั้นบุคคลทั้ง 4 คนร่วมกันกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากเมื่อรัฐบาลยึดคลื่นคืนแล้ว ได้อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่แก่พนักงานไอทีวีเดิม เพื่อออกอากาศตามปกติ ทั้งที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว

ชี้ใช้งบกว่าพันล.จ้างอดีตพนักงานไอทีวีเข้าข่ายฮั้วราคา

นอกจากนี้ยังจัดงบประมาณไปเหมาจ้างพนักงานไอทีวีเดิมเดือนละ 60 ล้านบาท ถือเป็นการให้อภิสิทธิ์แก่พนักงานไอทีวี จึงถือว่าทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และการมอบคลื่นให้อดีตพนักงานไอทีวีออกอากาศต่อ เสมือนการฮั้วราคา

นายการุณ ยังระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ภาครัฐเสียหาย เพราะต้องว่าจ้างอดีตพนักงานไอทีวีปีละ 1,560 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน พ.ศ. 2530 แต่รัฐบาลฝ่าฝืนและย่ำยีกฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดได้ดำเนินการต่อไป ถือเป็นการเลือกปฏิบัติและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติราชการ

“การกระทำดังกล่าวถือว่าผิดต่อกฎหมายหลายบท ทั้งกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 12 และ 13 ฝ่าฝืน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157”นายการุณ ระบุ

"สุรยุทธ์" หวังแก้ปัญหาทีไอทีวีเสร็จในรัฐบาลนี้

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯและรมว.พัฒนาสังคมฯ และนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯและรมว.อุตสาหกรรม ได้เข้าพบพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นนายไพบูลย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าพบนายกฯ หารือเรื่องแบ่งงานของรองนายกฯ โดยแบ่งงานต่างๆ ออกเป็น 3 ส่วนคือ นายกฯ ดูแลเองส่วนหนึ่ง ตนเองดูแลหน่วยงานด้านสังคม เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ และนายโฆสิตดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ส่วนงานที่คาบเกี่ยวกันนั้นต้องหารืออีกครั้ง แต่นายกฯเน้นว่าต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การแบ่งงานในครั้งนี้ คาดว่านายกฯน่าจะดูแลรับผิดชอบกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการคลัง เพราะเป็นกระทรวงที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และเป็นกระทรวงใหญ่

ขณะที่การแบ่งงานของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ระหว่าง ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ กับคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ค่อนข้างลงตัวแล้ว คือดร.ธีรภัทร์ ที่เคยกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์และอสมท อาจจะดูแล อสมท เพียงหน่วยงานเดียว เพราะได้ส่งคนใกล้ชิดไปเป็นบอร์ดอสมท แล้ว ส่วนคุณหญิงทิพาวดี ก็จะดูแลกรมประชาสัมพันธ์และทีไอทีวี

รายงานข่าวแจ้งว่า ทราบมาว่านายกฯต้องการแก้ปัญหาทีไอทีวี ให้จบในรัฐบาลชุดนี้ โดยจะทำให้ทีไอทีวีเป็นสื่อสาธารณะให้ได้ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า การที่นายกฯเรียกคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มาหารือนั้น น่าจะมาหารือเรื่องทีไอทีวี เพราะคุณหญิงสุพัตรา เคยดูแลเรื่องนี้ และทราบขั้นตอนเกี่ยวกับการแก้สัญญาสัมปทานไอทีวีด้วย

ครป. เสนอ รัฐขีดกรอบเวลา ภารกิจบริหารทีไอทีวี

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เสนอทางออกกรณีปัญหาสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ในระยะสั้น ว่า เมื่อให้กรมประชาสัมพันธ์ เข้ามาบริหารชั่วคราว โดยรัฐบาลและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กำหนดกรอบเวลาและภารกิจให้ชัดเจน ทบทวนสัญญาจ้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติ หรือรัฐกลายเป็นจำเลย รวมทั้งทบทวนผังรายการที่อาจมีการได้ช่วงเวลามาโดยมิชอบ ส่วนในระยะยาว รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการดำเนินการรับฟังกำหนดกรอบการปฏิรูปสถานี เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม แล้วออกพระราชบัญญัติรับรองสถานะไอทีวีในระยะยาว และกำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้ไอทีวี มีสถานภาพเป็นทีวีสาธารณะ ปลอดจากการครอบงำของรัฐและทุน นอกจากนี้ สปน. ต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้บริหารไอทีวีที่ทำผิดสัญญา และอนุญาโตตุลาการที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต

เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ความขัดแย้งที่ผ่านมา สังคมเห็นใจพนักงานไอทีวี แต่พนักงานต้องเห็นใจสังคมที่กำลังแตกแยกจากระบอบทักษิณ และต้องไม่ลืมว่า สังคมก็ตั้งคำถามถึงจุดยืนไอทีวีต่อการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับรัฐบาลทักษิณ แต่ที่ผ่านมา ผู้บริหารไอทีวี ไม่เคยยอมรับความจริง ซ้ำร้ายกลับพยายามฉวยโอกาสจากความขัดแย้งปลุกระดมมวลชน ซึ่งสังคมต้องจับตาเล่ห์เหลี่ยมผู้บริหารไอทีวีชุดเก่าบางคน แม้ลาออกไปแล้วแต่ยังมีอิทธิพลครอบงำพนักงานบางกลุ่ม เพื่อกุมสภาพการเปลี่ยนแปลงในไอทีวี

คนข่าวไอทีวี ท้อแท้ หลังถูกสังคมกดดัน

แหล่งข่าวจากระดับสูงอดีตพนักงานไอทีวี กล่าวกับ"กรุงเทพธุรกิจ"ว่า ขณะนี้พนักงานที่ทำงานอยู่แบบที่ยังไม่รู้อนาคตและไม่มีใครเป็นผู้นำตามสายงานแต่ก็ทำงานด้วยสปิริต มาตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ยังเป็นการใช้เงินกองทุนและในขณะนี้ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเรี่ยไรออกเงินกันเองเพื่อทำงาน

ที่ผ่านมามีการพูดถึงพนักงานไอทีวีหลายส่วน เช่น ไม่ไปเรียกร้องกับผู้บริหารซึ่งที่ผ่านมาพนักงานเรียกร้องให้รักษาคลื่นโดยที่ไม่ต้องปิดจอดำ ในขณะที่สถานะของพนักงานเองยังไม่รู้ว่าจะอยู่ตรงไหน ถึงวันนี้พนักงานเหล่านี้ที่ทำงานก็ยังไม่มีความมั่นใจใดๆ เพราะว่ากรมประชาสัมพันธ์ยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับการจ้างงาน และเกี่ยวกับอนาคตคลื่นส่วนหนึ่งที่ทำงานเพื่อมิให้จอทีวีต้องมืดไป

ในขณะที่หลายฝ่าย ออกมาระบุ ถึงแรงกดดันเช่น การที่ผู้บริหารช่องได้ยกเลิกธุรกิจต่างๆ ทำให้ดูเหมือนว่า ตัดตอนไอทีวีนั้น จริงๆ แล้ว ต้องเข้าใจว่า อดีตผู้บริหารไอทีวี ไม่สามารถจะปล่อยให้ธุรกรรมเหล่านี้มีผลต่อไปได้เพราะทางกฎหมายไอทีวีถูกถอนสัมปทานแล้วจะจ่ายเงินค่าสัญญาณดาวเทียมให้ใคร จ่ายไปแล้ว ก็ผิด ไม่ได้เป็นการตัดตอนเพราะว่ากรมประชาฯ กับผู้บริหารไอทีวีก็ร่วมมือกันเพื่อให้ช่องได้ออกดำเนินการไปก่อน ด้วยการขอให้ซัพพลายเออร์เหล่านั้น ดำเนินการไปก่อนจนกว่า รัฐจะเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการดับสัญญาณ ตามนโยบายรัฐ ซึ่งทางภาคธุรกิจ การใช้ การรับรู้รายได้ของไอทีวี ตั้งแต่วันที่ 8 มาเป็นเครดิต ซึ่งกรมประชาฯ ทำได้อยู่แล้วว่ามีรายได้และมีความสามารถในการจ่าย

"เราอยากให้ รัฐเร่งดำเนินการเปิดประมูล ซึ่งพอถึงที่สุดแล้วพอประมูลใหม่ บริษัทนี้ก็หยุด ยกให้บริษัทประมูลได้ต่อไป เขาจะต่อรองว่า ราคาพนักงานสูงไป ก็ได้และไม่จำเป็นต้องรับทั้งหมดก็ได้ แล้วแต่เจ้าของใหม่จะพิจารณา ใครค่าตัวแพงไปก็ลดลงไป ปัญหามันไม่มีอะไรเลย คนพันคนมาตอกบัตรทุกวัน จะบังคับบัญชายังต้องออกตัวว่า เป็นระบบช่วยเหลือกันเอง ไม่ใช่เจ้านายลูกน้อง ในเมื่อศาลให้ออกอากาศ ปิดไปมันก็ไม่มีใครได้ประโยชน์"แหล่งข่าวระบุ

พนง.ไอทีวี แจ้งถังแตก รอสปน.เสนอ ครม.วันนี้

แหล่งข่าวจากผู้บริหารระดับสูงจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เปิดเผยว่า วานนี้ (12 มี.ค.) นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดี กรมประชาสัมพันธ์ ได้ส่งตัวแทนเข้ามาประชุมหารือกับคณะพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เพื่อประเมินสถานการณ์การทำงานในระหว่างสุญญากาศและรับฟังความคิดเห็นในปัญหาการดำเนินการตลอดจนการวางแผนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่า ขณะนี้ เงินกองทุนพนักงานซึ่งได้จากรางวัลการประกวดผลงานด้านข่าวจำนวน 7-8 แสนบาท ในขณะนี้ทางสถานีได้นำมาใช้ในการดำเนินการแล้ว โดยขณะนี้เหลือไม่มากนัก ทำให้พนักงานต้องประหยัดค่าใช้จ่าย

วิธีแก้ไขในขณะนี้ มีหลายข้อเสนอ ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอที่เป็นไปได้คือ ได้มีกลุ่มสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนรายการได้เสนอทางออก 2 วิธีในเรื่องงบประมาณที่จำเป็นต้องนำมาใช้หมุนเวียนของการทำข่าวและดำเนินการในช่วงนี้ คือ 1.กลุ่มสปอนเซอร์ยินดีที่จะจ่ายค่าโฆษณาให้กับสถานีเป็นการล่วงหน้า และ 2.กลุ่มสปอนเซอร์ยินดีที่จะยื่นข้อเสนอให้สถานีทำการยืมเงินไปก่อน แต่ว่าข้อเสนอดังกล่าวติดปัญหาเรื่องสถานภาพของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งยังคงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการตามข้อเสนอลักษณะดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนดังกล่าว ยังกล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญหนึ่งที่คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันนี้ก็คือ การจัดตั้งให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ให้เป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่จะทำให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีสามารถดำเนินการทำสัญญาหรือธุรกรรมการค้าต่างๆ ทั้งที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ และที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวกับสัญญาต่างๆ เกิดจากการที่ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ยกเลิกสัญญาการค้ากับคู่ค้าทั้งหมดและมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือ สปน. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ คาดว่าจะไม่มีประเด็นเรื่องการขอเสนองบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีในระหว่างนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีหนทางอื่นในการบริหารจัดการทีไอทีวีแทนการนำเงินงบประมาณจากรัฐบาลมาดำเนินการ

http://www.bangkokbiznews.com/2007/03/13/news_23052282.php?news_id=23052282
***********
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
    กระโดดไป: