ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
02-01-2025, 01:15
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  บทความ recommended "ความเห็นการตีความธรรมนูญ เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนวันเลือกตั้ง" 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
บทความ recommended "ความเห็นการตีความธรรมนูญ เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนวันเลือกตั้ง"  (อ่าน 1808 ครั้ง)
istyle
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 853



« เมื่อ: 05-05-2006, 15:21 »

ความเห็นการตีความธรรมนูญ เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนวันเลือกตั้งทั่วไป

โกเมศ ขวัญเมือง *อดีต ส.ส.ร.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ *อาจารย์คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยตาปี สุราษฎร์ธานี

ก่อนที่ผู้เขียนจะอภิปรายในรายละเอียด เพื่อค้นหาแนวความคิด เจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา 115 และภายหลังที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ตามมาตรา 116

ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราได้กำหนดวันเลือกตั้งไว้ต่างกันคือ

กำหนดให้เลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน นับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนสิ้นสุดลง คือ ครบวาระ 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 115 ประกอบมาตรา 114)

และกำหนดให้เลือกตั้งทั่วไปภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 116 วรรคสอง)

ผู้เขียนใคร่ทบทวนแนวความคิด (Critical Review) เกี่ยวกับหลักวิชา เกี่ยวกับการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญไว้ในเบื้องต้นนี้เสียก่อน เพื่อจะได้ใช้เป็น "เครื่องมือ" ในการค้นหาความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 115 และ 116 ข้างต้น อันจะเป็นประโยชน์ให้บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตีความความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเนื่องเวลาได้เพียง 37 วันเท่านั้น จะได้ช่วยพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างรอบคอบ ถูกต้อง และมีเหตุมีผลทางหลักวิชาการตีความรัฐธรรมนูญรองรับ

และในที่สุดจะทำให้สังคมรับรองคำวินิจฉัยของศาลอย่างเต็มใจไม่อีหลักอีเหลื่อ

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ข้างต้น ผู้เขียนขออนุญาตเสนอบททบทวนแนวคิดเกี่ยวกับหลักและทฤษฎีการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามที่ผู้รู้ได้เสนอไว้โดยสังเขปดังนี้

บททบทวนแนวคิด เกี่ยวกับหลักและทฤษฎีการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ

1.ในข้อเขียนของศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร และวิชามหาคุณ เรื่อง "การตีความกฎหมาย" ท่านทั้งสองเห็นว่า "โดยที่การตีความรัฐธรรมนูญ มีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากการตีความกฎหมายธรรมดา คือ นอกจากตีความตามตัวอักษร รวมทั้งการตีความตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว การตีความรัฐธรรมนูญจะต้องตีความถือความมั่นคงของชาติ หรือความสงบสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง" (ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร และวิชา มหาคุณ : 2539, หน้า 625)

นอกจากนี้ ในบทความเรื่อง "ความเป็นมาและหลักการใช้นิติวิธีในระบอบซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์" กิตติศักดิ์ ปรกติ เสนอว่า "ตามหลักทฤษฎีทั่วไปที่ถือเป็นแบบฉบับและยอมรับทั่วไปในการตีความกฎหมายในระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (ระบบซีวิลลอว์) ทุกวันนี้มีอยู่ 2 ประการคือ

ประการแรก หลักการตีความตามหลักภาษา

(Grammatical Interpretation)

ประการที่สอง หลักการตีความตามเหตุผลทางตรรกะ

(Logical Interpretation)

โดยหลักการตีความทางภาษานั้น มุ่งใช้สำหรับการตีความจากถ้อยคำที่ผู้บัญญัติกฎหมายได้บัญญัติไว้

ส่วนการตีความตามทางตรรกะมุ่งที่จะใช้แสดงความมุ่งหมาย (เจตนารมณ์) อันแท้จริงของกฎหมาย ซึ่งการตีความตามหลักภาษาย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องคำนึงถึงหลักเหตุผลอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการตีความทางตรรกะด้วย" (กิตติศักดิ์ ปรกติ 2547 หน้า 50-52)

นั้นก็หมายความว่า ถ้าตีความทางภาษาว่า เลือกตั้งภายใน 45 หรือ 60 วัน ก็หมายความโดดๆ ว่า 1 ถึง 45 หรือ 1 ถึง 60 วันเท่านั้น แต่ถ้าหากนำหลักตีความทรงตรรกะมาพิจารณาด้วยก็หมายความว่า การเลือกตั้งในกรณียุบสภา ต้องเริ่มตั้งแต่ 46-60 วันนั้นเอง

2.นอกจากนี้ ในคำบรรยายวิชา "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นการบรรยายครั้งที่ 4 วันที่ 25 มีนาคมถึง 3 เมษายน พ.ศ.2547 ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ท่านให้ความเห็นว่า "การตีความรัฐธรรมนูญต้องตีความตามเจตจำนงหรือเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจก่อตั้งองค์กรทางการเมือง" (ผู้มีอำนาจก่อตั้งองค์กรทางการเมือง มาจากคำฝรั่งเศสคำว่า Pouvoir Constituante ซึ่งในที่นี้หมายถึง สภาร่างรัฐธรรมนูญ : ผู้เขียน)

มีผู้พยายามอ้างว่าการตีความรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน ต้องถือเอาตัวรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ถูก ต้องดูเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจก่อตั้งองค์กรทางการเมือง โดยอ้างเอาทฤษฎีของเยอรมนีที่เรียกว่า "ทฤษฎีอำเภอการณ์"

ทฤษฎีดังกล่าวมีหลักว่า การตีความกฎหมายไม่ต้องไปยึดถือเจตนารมณ์ของคนเขียน ต้องตีความตาม "สถานการณ์"

ซึ่งต่างจากทฤษฎีหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ทฤษฎีอำเภอจิต" ทฤษฎีนี้บอกว่า การตีความกฎหมายต้องตีความตามเจตนารมณ์ของคนออกกฎหมายเท่านั้น

ความจริงทั้งสองทกฤษฎีถูกต้อง ทฤษฎีอำเภอจิตจะใช้ต่อเมื่อกฎหมายออกมาใหม่ สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก...

แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปมากแล้ว เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาใช้บังคับตั้งแต่ปี ค.ศ.1787 บัดนี้ 200 ปีแล้ว หากยึดถือทฤษฎีอำเภอจิตไปค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงต้องใช้ทฤษฎีอำเภอการณ์แทน

สำหรับรัฐธรรมนูญไทยปัจจุบัน เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นเวลาเพียง 7 ปี

"จึงยังต้องใช้ทฤษฎีอำเภอจิต คือต้องไปค้นหาเจตจำนงของผู้ร่าง" (ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, รวมคำบรรยาย, สมัยที่ 57 ปีการศึกษา 2547 เล่น 9, หน้า 37-38)

เมื่อเราได้ศึกษาผลการทบทวนทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญตาม 1 และ 2 แล้ว สามารถสรุปยืนยันในชั้นนี้ได้ว่า การค้นหาเจตจำนงของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเหตุผลการกำหนดจำนวนวันเป็นภายใน 45 วัน ในกรณีอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามวาระ (มาตรา 115) และภายใน 60 วัน นับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ (มาตรา 116)

ซึ่งผู้เขียนใคร่ขอเสนอเจตจำนงของ ส.ส.ร.ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 115 และ 116 โดยขออนุญาตสรุปความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และความเห็นของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในขั้นแปรญัตติในวาระที่ 2 เพื่อประกอบการพิจารณา ค้นหาเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 115 และ 116

ดังความตั้งเป็นประเด็นพิจารณา 2 ประเด็นดังนี้

1.การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 115 ว่าด้วยการกำหนดจำนวนวันเลือกตั้งทั่วไปภายหลังสภาผู้แทนราษฎรสิ้นวาระเพราะครบอายุ 4 ปี

ร่างมาตรา 114 เดิม (ปัจจุบันคือมาตรา 115) กำหนดให้เลือกตั้งทั่วไปภายใน 30 วัน ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ

2.การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ว่าด้วยการกำหนดจำนวนวันเลือกตั้งทั่วไปภายหลังสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ

ร่างมาตรา 115 เดิม (ปัจจุบันคือมาตรา 116) กำหนดให้เลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน ภายหลังพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้

ประเด็นแรก การพิจารณามาตรา 115 (มาตรา 114 เดิม) ว่าให้คงไว้ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างเป็นตุ๊กตาเสนอ 30 วัน ให้ที่ประชุมพิจารณาวาระ 2 พิจารณา มีการอภิปรายเสนอความเห็นและการแปรญัตติดังนี้

1) ในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2548 ประธานในที่ประชุม (อานันท์ ปันยารชุน) กล่าวเปิดประชุม...

ระเบียบวาระที่ 3 พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ....ประธาน : "...ในมาตรา 114 เป็นกรณีที่เน้นการปิดสภาตามวาระ 4 ปี ก็ให้เวลา 30 วัน เหตุผลที่ได้ทราบจากผู้ร่างฯ (คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้เขียนทำหน้าที่อยู่ด้วย) ก็คือว่า อายุสภา 4 ปีนั้นเป็นอายุที่แน่นอน เพราะฉะนั้น ความจำเป็นที่จะให้ระยะเวลานานเกินไปก็ไม่ดี 30 วันคิดว่าเพียงพอ เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ทราบล่วงหน้าว่าสภาจะสิ้นวาระเมื่อไหร่ แต่มีเวลาหลายเดือนก่อนล่วงหน้า เพราะคาดการณ์ได้ว่าสภาจะปิดเมื่อใด..." (อานันท์ ปันยารชุน, รายงานชวเลข, หน้า 1/1-1/2)

นายประชุม ทองมี : "...ผมยังไม่ค่อยเห็นพ้องด้วยกันในการที่จะวางหลักเกณฑ์ลงไปว่า หลังจากสภาครบอายุ 4 ปีแล้ว ให้ระยะเตรียมการแค่ 30 วัน...อย่าลืมนะครับว่าระบบที่เราสร้างขึ้นมามี 2 ระบบ คือ ระบบปาร์ตี้ลิสต์ กับระบบแบ่งเขต ในการที่เลือกสรรคนลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ มันก็จะมีปัญหา...น่าจะขยายไปประมาณ 45 วัน เพื่อให้ระยะเวลาเป็นกลางพอสมควร..." (ประชุม ทองมี, รายงานชวเลข, หน้า 1/2)

รองศาสตราจารย์วิสุทธิ์ โพธิแทน : "...ขออนุญาตให้ข้อมูลเพื่อสะดวกในการพิจารณาผลได้ไปค้นมาจากหนังสือชื่อ Electioneering พิมพ์เมื่อปี 2537 เวลาในการหาเสียง ออสเตรเลียให้ 21 วัน เยอรมนี 63 วัน สวีเดน 35 วัน สหรัฐอเมริกา 21 วัน บราซิลให้ 4 เดือน โคลัมเบีย 1 ปี เวเนซุเอลาให้ 180 วัน...แต่ก็เมื่อพิจารณาถามเหตุผลตามที่กรรมาธิการที่พูดมา ผมมีความเห็นโน้มเอียงว่า ถ้าครบวาระควรเป็น 45 วัน ถ้ายุบสภา 60 วัน" (รองศาสตราจารย์วิสุทธิ์ โพธิแท่น, รายงานชวเลข, หน้า 1/4)

ประธาน : "...อยากจะเรียนถามคุณวรพจน์ วงศ์สง่า เพราะว่าในข้อเสนอ (แปรญัตติ) เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพียงแต่บอกว่าให้เปลี่ยนเป็น 60 วัน แต่ตอนคุณวรพจน์เสนอเติมถ้อยคำด้วยวาจาว่า ทั้งนี้ไม่น้อยกว่า 45 วัน เชิญคุณวรพจน์ครับ" (อานันท์ ปันยารชุน, รายงานชวเลข, หน้า 1/6)

นายวรพจน์ วงศ์สง่า : "...ถ้าหากจะกำหนดแค่ภายใน 60 วัน กระผมไม่ติดใจ แต่ว่าถ้าจะการันตีว่าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 45 วัน...แล้วแต่ที่ประชุมครับ" (วรพจน์ วงศ์สง่า, รายงานชวเลข, หน้า 1/6)

ประธาน : "...ผมจะขอนำไปสู่การออกเสียงลงมตินะครับ..."

ญัตติแรก กรรมาธิการเห็นว่าคงไว้ตามร่างเดิม 30 วัน 9 เสียง กรรมาธิการเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลง 13 เสียง

มติของที่ประชุมเห็นว่าให้เปลี่ยนแปลง

ญัตติที่สอง กรรมาธิการเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเป็น 45 วัน 17 เสียง เห็นว่าควรเป็น 60 วัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน 1 เสียง

สรุปมติที่ประชุมคือ ให้เปลี่ยนจาก 30 วัน ตามร่างเดิมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็น 45 วัน (รายงานชวเลข, หน้า 1/7)

ประเด็นที่สอง การพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายหลังสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ มาตรา 115 ของร่างเดิม (ปัจจุบันมาตรา 116) กำหนดไว้ 45 วัน การพิจารณาของกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญสรุปได้ดังนี้

นายวรพจน์ วงศ์สง่า : "...เนื่องจากมาตรา 114 เดิมเสนอไว้ 30 วัน มาตรา 115 เสนอ 45 วัน เมื่อมาตรา 114 ขยายขึ้นเป็น 45 วันแล้ว มาตรา 115 ก็ควรขยายขึ้นเป็นไปในทำนองเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า การยุบสภา และการเลือกตั้งแบบนี้ไม่มีใครเตรียมตัวทัน เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ควรจะขยายขึ้นไปเป็น 60 วัน นั้นนอกจากจะสมเหตุสมผลแล้วยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (พ.ศ.2534)..." (วรพจน์ วงศ์สง่า, รายงานชวเลข, หน้า 3/3)

ศาสตราจารย์กระมล ทองธรรมชาติ : "...กระผมเห็นด้วยที่กรรมาธิการวรพจน์เสนอ เพราะเมื่อแก้มาตราก่อนไปแล้วว่าเป็น 45 วัน อันนี้ก็ควรจะเป็น 60 วัน เพราะนี่เป็นการเลือกตั้งโดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้า งานก็ต้องยุ่ง การจัดเตรียมอะไรต่างๆ มากมายครับ ฉะนั้นขอให้เป็น 60 วัน..." (ศาสตราจารย์กระมล ทองธรรมชาติ, รายงานชวเลข, หน้า 3/3)

ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : "...ผมว่ากรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นสมควรให้แก้ไขญัตตินะครับ ผมก็ขอคงตามที่เสนอครับคือ 60 วัน" (ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, รายงานชวเลข, หน้า 3/3)

นายคณิน บุญสุวรรณ : "...ผมเห็นว่าระยะเวลา 45 วัน ที่กำหนดไว้ตามร่างเดิมน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม ผมขอยืน 45 วันครับ" (คณิต บุญสุวรรณ, รายงานชวเลข, หน้า 3/3)

สรุปมติที่ประชุมภายหลังประธานปิดอภิปราย ผลมติดังนี้

คงไว้ตามร่างเดิม (45 วัน) 3 เสียง เห็นควรแก้ไขเป็น 60 วัน 18 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เพราะฉะนั้น ความในมาตรา 115 (เดิม) จึงเปลี่ยนแปลงจาก 45 วัน เป็น 60 วัน (รายงานชวเลข, หน้า 3/4)

มาถึงขั้นนี้ เราคงค้นพบเจตจำนงของผู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญว่ามีตรรกะ มีเหตุผลอย่างไรจึงต้องขยายเวลาจาก 45 วัน เป็น 60 วัน ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ถ้าจะให้ชี้เหตุผลชัดก็คงเห็นได้ 2-3 ประเด็นหลักดังนี้

1) การยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่มีผู้ใด พรรคการเมืองใด ทราบล่วงหน้า

2) เวลาเพียง 45 วัน ไม่เพียงพอในการเตรียมการคัดสรรคนลงในบัญชีรายชื่อพรรคและ ส.ส.เขต

3) เมื่อขยายเวลาเป็น 45 วัน ในกรณีสภาผู้แทนราษฎรหมดวาระ 4 ปีแล้ว ควรขยายเวลาเป็น 60 วัน ในที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงค้นพบตรรกะทางเหตุผลในการตีความมาตรา 116 ได้ 2 ประการว่า

1) "การกำหนดวันในกาลเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบโดยพระราชกฤษฎีกา ควรกำหนดให้มากกว่าวันเลือกตั้งทั่วไปในกรณีสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามวาระครบ 4 ปี"

2) "เมื่อกำหนดให้เป็น 60 วัน ในกรณีสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบแล้ว พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งในกรณีนี้จึงควรมากกว่า 45 วันนั่นเอง"

โดยสรุปเบื้องต้น หากใช้ทฤษฎีอำเภอจิตและหลักการตีความตามตรรกะ (Logical Interpretation) มาใช้ในการตีความว่า พระราชกฤษฎียุบสภาและการกำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ซึ่งกำหนดจำนวนวันเลือกตั้งทั่วไปเพียง 37 วันเท่านั้น จึงพออนุมานในเบื้องต้นได้ว่า พระราชกฤษฎีกาที่กำหนดวันเลือกตั้งเพียง 37 วัน ที่นายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ซึ่งศาลที่เกี่ยวข้องจะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

"มาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"

ขั้นตอนพิจารณาต่อไปควรจะมีดังนี้

1.พระราชกฤษฎีกายุบสภา ตามมาตรา 116 ที่กำหนดให้เลือกตั้งทั่วไปเพียง 37 วัน ไม่เกิน 45 วัน ไม่มากกว่า 60 วัน เป็น "กฎ" ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ข้อพิจารณา

1.1 จากการวิเคราะห์เหตุผลทางตรรกะของการตีความมาตรา 116 และเจตนารมณ์ของมาตรา 116 ที่ขยายเวลาวันเลือกตั้งไปถึง 60 วัน พออนุมานในชั้นนี้ได้ว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ "มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" กล่าวคือ มีข้อความ (บทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกา คือ จำนวนวัน 37 วัน นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ประกอบมาตรา 6)

1.2 พระราชกฤษฎีกายุบสภาฉบับดังกล่าวนี้ มีฐานะทางกฎหมายเป็น "กฎหมาย" หรือเป็น "กฎ" ข้อพิจารณามีดังนี้

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา 3 อันเป็นบทนิยามได้ให้ความหมายคำว่า "กฎ" ดังนี้

"กฎ" หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ฯลฯ

ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 27/2544 วินิจฉัยสรุปว่า

"กฎหมาย คือ กฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด แต่พระราชกฤษฎีกา มีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายเป็นเพียง "กฎ" ที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร"

ฉะนั้น ก็พอสรุปได้ว่า การจะให้ศาลใดเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยว่า "กฎ" พระราชกฤษฎีกายุบสภาที่กำหนดวันเลือกตั้งน้อยกว่า 45 วัน และ 60 วัน นั้นมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลที่ว่านั้นคือ "ศาลปกครอง"

ทราบว่าหลายวันที่ผ่านมา มีบุคคล คณะบุคคลหลายฝ่ายได้ยื่นคำร้องให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกายุบสภาต่อศาลปกครองนั้น นับว่าได้ยื่นถูกที่ ถูกช่องทาง ถูกกาลเวลาแล้ว

จึงเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของศาลปกครองว่าจะพิจารณาอย่างไร

ที่ผู้เขียนเสนอมาทั้งหมดไม่มีเจตนาล่วงล้ำก้ำเกินอำนาจศาลปกครอง เพียงแต่มีความประสงค์จะเสนอข้อมูลอันเป็นเจตจำนงของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 และ 116 พร้อมเจตนารมณ์ของการกำหนด 45 วัน ในกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ และ 60 วัน ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ตามทฤษฎีอำเภอจิตและตามหลักการตีความกฎหมายตามหลักตรรกะ เพื่อศาลปกครองจะได้นำไปประกอบการพิจารณาในฐานะที่ผู้เขียนอยู่ใกล้ชิดข้อมูลอันเป็นเจตนารมณ์ของการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ในท้ายที่สุดนี้ หวังว่าศาลปกครองจะได้ใช้ดุลพินิจเป็นอิสระ มีเหตุผลรองรับในทางกฎหมาย ซึ่งหวังว่าประชาชนทุกคน ทุกฝ่าย ที่ต่างรอคอยคำวินิจฉัยอย่างใจจดใจจ่อ ก็ขอให้ใจเย็นๆ อย่างเร่งรัดศาล เพื่อให้ศาลได้มีเวลาสืบค้นหลักการเหตุผลได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

และในระหว่างการรอคอยคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ขอให้คนไทยทุกคน ทุกฝ่าย ได้นอนหลับฝันสบายดี


อยากให้อ่านกันนะครับ
 
ขอโทษด้วยลืมใส่ที่มา แต่มีชื่อผู้เขียนแล้วนะครับ ปล(ม่ายยนะ ผมลืมหนังสือพิมพ์ไว้ที่คณะ)
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act02050549&day=2006/05/05
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05-05-2006, 15:44 โดย istyle » บันทึกการเข้า
Sweet Chin Music
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1,613



« ตอบ #1 เมื่อ: 05-05-2006, 15:36 »

ใส่ที่มาด้วยก็ดีนะครับ คาดว่า จขกท น่าจะเอามาจากลิงค์นี้

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act02050549&day=2006/05/05
บันทึกการเข้า


You'll Never Walk Alone
เข้าไปกันได้ค๊าป- - - >http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=sweetchinmusic&group=1
หน้า: [1]
    กระโดดไป: