on the way
แหล่งรวมความคิด ความเห็น ว่าด้วยปรัชญา-ศาสนา และสื่อสารมวลชน
Permalink :
http://www.oknation.net/blog/chakkrish วันอังคาร ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550
อย่าห้ามปลา ไม่ให้กินน้ำ
Posted by jk : 14:20:12 น. | หมวดหมู่ : สื่อสารมวลชน
การกดดัน PTV ในนามของ กฎหมาย ก็เท่ากับส่งมอบชัยชนะให้ PTV แม้การแข่งขันจะยังไม่เริ่มต้น
เนื่องเพราะประเด็นสาธารณะของ PTV มิใช่เรื่องการแข่งขันในเชิงธุรกิจ หรือความไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ที่มีปัญหาในการแต่งตั้ง กสช. หากแต่เป็นเรื่องความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่
ไม่ว่า คมช.และรัฐบาล จะพยายามแสดงราคาเผด็จการรูปแบบใหม่ ที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยเปี่ยมล้นเพียงใด แต่เมื่อทอดระยะเวลาเนิ่นนานออกไป คมช.และรัฐบาล ซึ่งมีที่มาจากการเมืองนอกกติกา จะเป็นฝ่ายแพ้เปรียบในท่ามกลางการตอกย้ำของสื่อวิทยุชุมชนบางสถานี และกลุ่มรากหญ้าที่ยังรวมตัวกันเหนียวแน่นแน่นอนว่า PTV เกิดขึ้นเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มอำนาจเก่า และได้แสดงเจตจำนงเช่นนั้นชัดเจน ความเคลือบแคลงสงสัยสำหรับ PTV จึงไม่มี ในขณะที่รัฐบาล และคมช.ใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างในการสะกัดกั้น PTV ซึ่งก็กลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี ในประเด็นยามเฝ้าแผ่นดิน ของเอเอสทีวี ที่พ่วงไปออกอากาศทางช่อง 11 จุดก่อเกิดของ PTV อาจมีนัยสำคัญไม่แตกต่างไปจาก ไอทีวี ในการประกาศตัวเป็นสื่ออิสระ
ไอทีวี ก็เริ่มต้นด้วยปรัชญาเช่นนั้น
โทรทัศน์เสรีช่องแรก (Independent Television) หรือ ไอทีวี เคยเป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงปรัชญาแห่งวิชาชีพของนักสื่อสารมวลชนสาขาโทรทัศน์ จากภาพที่เคยเป็นสื่อหาเสียงและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล แต่ก็ดำรงสถานะความเป็นสื่ออิสะเพียงช่วงเวลาสั้นๆ
เนื่องเพราะการเริ่มต้นของไอทีวี มาจากการแข่งขันในเรื่องทุน ทุนจึงเป็นตัวกำหนดอนาคตของ ไอทีวี ในเวลาต่อมา
ภายหลังที่กลุ่มชินเข้ามายึดครองไอทีวี จนกระทั่งถ่ายโอนให้เทมาเส็ก พร้อมหนี้สิน 7.7 หมื่นล้านบาท ไอทีวี ก็มิได้มีนัยสำคัญที่แตกต่างไปจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐช่องอื่นๆ ที่มุ่งให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่ผู้บริโภคข่าวสารมากกว่าเนื้อหาสาระ อีกทั้งทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตสารโฆษณาชวนเชื่อให้กับระบอบทักษิณ และพรรคไทยรักไทย
หลังการเลือกตั้งคราวหนึ่ง ไอทีวี ได้สัมภาษณ์สดว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก่อนใคร เพราะสถานที่ทำการพรรคไทยรักไทย และสถานีโทรทัศน์ไอทีวี อยู่ภายในกลุ่มอาคารเดียวกัน
แม้ภายหลังการยึดอำนาจ ภาพและข่าว คมช. กับรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ปรากฎบนจอไอทีวี ก็สามารถสังเกตุเห็นคลื่นรบกวนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ความพยายามที่จะลบภาพทักษิณ ออกไปจากไอทีวี ในยุคหลัง จึงไม่สัมฤทธิ์ผล ไม่ว่านักสื่อสารมวลชนของไอทีวี จะแสดงความเป็นสื่ออิสระเพียงใดก็ตามพีทีวี กับ ไอทีวี ยุคหลังชินและเทมาเส็กก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกัน
ฉะนั้น การประกาศตัวว่าเป็นสื่ออิสระ การอ้างประชาชนเป็นคาถาป้องกันตัวเอง จึงไม่สำคัญเท่ากับภาพความจริงที่ประชาชนสัมผัสรับรู้ได้ ไอทีวี เคยเป็นตัวแทนคนชั้นกลาง หลังยุคพฤษภาคม 2535 เมื่อไอทีวี เปลี่ยนไป เอเอสทีวี สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของไทยเดย์ ด็อท คอม เครือผู้จัดการ ก็กลายเป็นฐานที่มั่นแห่งใหม่สำหรับกลุ่มคนชั้นกลาง
ความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบทักษิณ ของ เอเอสทีวี คือโมเดลของ พีทีวี ที่จะกลับมาฟื้นระบอบทักษิณ
โดยนัยเดียวกัน พีทีวี ก็คือสื่อตัวแทนกลุ่มอำนาจและผลประโยชน์ทักษิณ แทนที่ ไอทีวี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติยึดคืนให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ววันนี้ (27)เราคงไม่อาจบอกปลาที่อยู่ในน้ำมิให้กินน้ำ
แต่เราอาจจะบอก รัฐบาลและคมช.ได้ว่า หากปรารถนาจะจมน้ำตาย อย่าทรมานตัวเองด้วยการจมน้ำเพียงตื้นๆ
ผมไปคัดลอกมาจาก...http://www.oknation.net/blog/chakkrish/2007/02/27/entry-2เป็นแง่มุมมองหนึ่งที่น่าสนใจครับ...