ท่านประธาน คมช. เอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมาน่าจะเป็นข่าวไปอีกหลายวัน หลายคนสนับสนุนเพราะมีความเชื่อว่าวันนี้ดาวเทียมไทยคมได้ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติแล้ว แน่นอนครับ เรื่องทั้งหมดนี้หนีไม่พ้นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการที่คนในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นชินทั้งหมดให้กับหน่วยงานลงทุนของรัฐบาลสิงค์โปร์ที่ชื่อเทมาเส็กนั่นเอง
ความจริงถ้าจะดูกันตามตัวอักษร ตามข้อกำหนดสัญญาสัมปทานแล้ว ดาวเทียมทั้ง 5 ดวง บริษัทชินฯได้ยกกรรมสิทธิ์ของดาวเทียมทุกดวงให้เจ้าของสัญญาสัมปทาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (เดิมคือกระทรวงคมนาคม) หลังจากส่งดาวเทียมเข้าสู่ตำแหน่งวงโคจรและผ่านการทดสอบการใช้งานเรียบร้อยแล้ว ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียมและอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตกเป็นของกระทรวงหลังการจัดตั้งและทดสอบประสิทธิภาพเช่นกัน
สัญญาดำเนินกิจการได้ระบุไว้ด้วยว่า กระทรวงต้องมอบทรัพย์สินทั้งหมดนี้ให้บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ไปครอบครองเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ ความกังวลของท่านประธาน คมช. ผมเดาว่าไม่ใช่เรื่องความต้องการดาวเทียมคืนหรอกครับ แต่ท่านไม่ต้องการให้การดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารไปตกอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเป็นนักลงทุนที่แปลงร่างมาจากรัฐบาลต่างชาติ แบบที่พวกเรารู้ๆ กันอยู่
ท่านประธาน คมช.กล่าวว่า อยากได้คืน แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
ผมค้นข้อมูลบางส่วนมาให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณา จะได้ช่วยท่านประธาน คมช.คิดหาทางออก บ้านเมืองช่วงนี้ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ
เริ่มต้นกันที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (ดูตารางประกอบ)
ไม่เห็นชื่อต่างชาติแม้แต่คนเดียว เกิดอะไรขึ้น
ข่าวที่ว่าเทมาเส็กไม่ค่อยจะสนใจกิจการดาวเทียมมากนัก น่าจะมีมูล
เป็นเพราะอะไรครับ ตอบแบบนักธุรกิจได้เลยว่า กิจการดาวเทียมเพื่อการสื่อสารเป็นธุรกิจที่อาจกำไรดีแต่มีปัจจัยเสี่ยงสูง (high risk high return) ผมจะไม่นำรายะเอียดมาประกอบคำอธิบายให้มากความ แต่จะนำข้อมูลเกี่ยวกับดาวเทียมที่เราอยากได้คืน มาเล่าให้ฟัง
ดูเรื่องอายุใช้งานกันก่อน ส่วนใหญ่ดาวเทียมจะมีอายุใช้งานประมาน 15 ปี ดาวเทียมที่ชื่อ ไทยคม 1A และ ไทยคม 2 สองดวงนี้สู่วงโคจรเมื่อปี 2536 ใช้งานมา14 ปีแล้ว กำลังจะกลายป็นเศษเหล็ก ส่วนไทยคม 3 เกิดปัญหาทางเทคนิค ต้องปลดระวาง ตัดบัญชีออกไป เหลือแค่ไทยคม 4 และไทยคม 5 ไทยคม 4 ไอพีสตาร์น่าจะดังที่สุด มีเรื่องให้นินทามากที่สุด ถูกส่งขึ้นโคจรเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 นี้เอง ยังใหม่ อายุใช้งานอีกกว่า 10 ปี ส่วนไทยคม 5 ปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา สดๆ ร้อนๆ เพื่อทดแทนไทยคม 3 ที่ถูกปลดระวางไป
ดูต่อครับ ดูรายได้ของบริษัทกันครับ กำไรไม่มาก ปี 2548 กำไร 1,383.72 ล้านบาท ปี 2549 ผมยังไม่เห็นตัวเลข แต่เชื่อว่าขาดทุน เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปลดระวางไทยคม 3 สำหรับเงินปันผลนั้นไม่ได้จ่ายมาหลายปีแล้ว จ่ายช่วงปี 2546 ได้เงินปันผลหุ้นละ 0.50 บาท หลังจากนั้นก็เงียบหายไป
ธุรกิจดาวเทียมใช้เงินลงทุนไม่น้อยครับ (ไม่รวมไทยคม 5)
อาคารและอุปกรณ์ภายใต้สัญญาสัมปทานสุทธิ ณ 31 ธันวาคม 2548
(ดูตารางประกอบ)
ราคาหุ้นของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซื้อขายกันประมานหุ้นละ 7-8 บาท นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในนามของบริษัทชินไม่เกิน 451 ล้านหุ้น ถ้าอยากได้ดาวเทียมนี้จริง ใช้เงินไม่น่าจะมากไปกว่า 5,000 ล้านบาท ครับ
อ่านข้อมูลเบื่องต้นแล้วเห็นชัดว่าเรื่องดาวเทียมไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ใช่ไหมครับ
ไม่ครบถ้วนเสียทีเดียว เพราะผมยังไม่ได้พูดเรื่องที่สำคัญที่สุด
ตำแหน่งวงโคจรและการประสานงานความถี่ครับ ตรงนี้ครับคือทรัพยากรของชาติที่แท้จริง ที่ต้องหวงแหน เพราะมีน้อย พื้นที่วงโคจรค้างฟ้าไม่ได้มีมากมายเหมือนที่คิดนะครับ แต่ละชาติก็แย่งกันทั้งนั้น รัฐบาลไทยให้นักธุรกิจนำไปใช้ทำประโยขน์ เราก็ต้องมั่นใจว่าประเทศจะได้รับประโยนชน์สูงสุดและคุ้มค่า โดยเฉพาะต้องหวงแหน ไม่ให้ธุรกิจนี้ตกอยูในมือรัฐบาลต่างชาติ
เนื่องจากวงโคจรค้างฟ้าเป็นของส่วนรวม ต้องมีการจัดสรรให้ถูกต้อง สหประชาชาติจึงทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล มีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลเกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นเจ้าภาพ ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก เรียกกันว่าสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ประเทศไทยเป็นสมาชิกด้วยและกระทรวงไอซีทีทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการเจรจา
เข้าใจเรื่องนี้ง่ายที่สุด ต้องสมมุติกันหน่อย สมมุติว่าวันนี้ท่านผู้อ่านอยากจะลงทุน ประกอบธุรกิจกิจการดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร ส่งดาวเทียมไปโคจรรอบโลก ทำได้ไหม
หลายปีที่ผ่านมา ท่านไม่มีสิทธิ ทำไมได้ เพราะสัญญากิจการดาวเทียมที่บริษัทชินลงนามไว้กับกระทรวงคมนาคมนั้น คุ้มครองบริษัทชินและห้ามผู้อื่นประกอบกิจการแข่งขันเป็นเวลา 8 ปี ถึงวันนี้ท่านผู้อ่านขอประกอบการได้แล้วครับ ธุรกิจนี้เปิดเสรีแล้ว ขั้นตอนการขออนุญาตมีมาก เมื่อรัฐบาลเห็นชอบในโครงการของท่าน รัฐบาลยังต้องเจรจากับรัฐบาลต่างประเทศที่เป็นสมาชิก ข้อมูลทางเทคนิคของระบอบดาวเทียมของท่านต้องพร้อม กระทรวงไอซีทีจะต้องแจ้งความประสงค์เพื่อจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมส่งไปยังหน่วยงานของสหประชาชาติ ข้อมูลจะถูกส่งเวียนไปยังประเทศสมาชิก ถ้ามีการทักท้วง ก็จะเป็นเรื่องยาว กำหนดไว้ 4 เดือนครับ จะส่งดาวเทียมแต่ละดวงต้องทำอย่างนี้ทุกครั้ง
ถ้าท่านไม่ใช่คนที่ตั้งกระทรวงไอซีที ไม่ใช่คนที่ตั้งรัฐมนตรีว่าการของกระทรวงนี้ด้วยมือ หรือแม้แต่ความพยายามที่จะส่งคนของตัวเองไปเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ อย่าหวังเลยครับที่จะประกอบธุรกิจดาวเทียมได้อย่างสะดวกโยธิน
ช่วงที่เทมาเส็กซื้อหุ้นชิน รัฐบาลสิงค์โปร์บอกว่าเป็นเรื่องของการลงทุนทางธุรกิจ ของภาคเอกชน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล วันนี้กระทรวงต่างประเทศสิงค์โปร์ได้ให้สัมภาษณ์พาดพิง แสดงออกชัดถึงความกังวล เวลาอาจเหมาะที่จะเริ่มคุยกัน
ผมมีข้อเสนอหาทางออกครับ
สัญญาสัมปทานดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร ลงนามโดยกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันโอนภารกิจนี้ไปที่กระทรวงไอซีที กับบริษัท ชินคอร์ป บริษัทเดียวหรือรวมบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ด้วย ตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะเมื่อบริษัทชินคอร์ปเป็นคู่สัญญาสัมปทาน ไม่ใช่บริษัทชินแซทเทลไลท์ โอกาสเรียกมานั่งเจรจากันจะทำได้ง่ายกว่า
หัวใจของเรื่องนี้จึงอยู่ที่บริษัทกุหลาบแก้วว่าเป็นบริษัทนอมินีหรือไม่ คดีความอยู่ที่กรมตำรวจ ทำท่าจะเงียบหายไป ถ้าเรื่องนี้ชัดเจน บริษัทชินคอร์ปจะกลายเป็นบริษัทต่างชาติผิดสัญญาสัมปทาน รัฐมีสิทธิยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ แต่ถ้าจะสมานฉันท์ไม่เอากันถึงตายก็นั่งโต๊ะเจรจา นักธุรกิจเจรจาได้อยู่แล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่แนวทางการหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายควรได้ประโยชน์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ครับ
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pol02200250&day=2007/02/20§ionid=0133[/color]