สิ้น!รัฐบาลทักษิณ โฮมสเตย์อวสาน [6 ก.พ. 50 - 17:30]
"โฮมสเตย์" เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลชุดก่อนเคยให้การส่งเสริม
แต่วันนี้มีทีท่าว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เอาด้วย ปล่อยให้นับถอยหลังอวสานไปเองการท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ (Home Stay) ซึ่งเน้นการได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านในชนบท โดยการไปพักอาศัยอยู่กินร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรมในชุมชน เป็นโครงการที่แจ้งเกิดและเคยเรืองรองในยุครัฐบาลทักษิณ
เป้าหมายหลักของโครงการ นอกจากหวังส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวที่นิยมธรรมชาติหรือสนใจศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น มีโอกาสได้สัมผัสซึมซับกลิ่นอายร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดแล้ว
รัฐบาลชุดก่อน ยังหวังใช้โฮมสเตย์ช่วยโปรโมตสินค้าโอทอปหลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ขยายตัวไปทั่วประเทศ แต่เป็นที่น่าสังเกต มักประสบความสำเร็จในจังหวัดที่ยังไม่มีโรงแรมขนาดใหญ่ ไปตั้ง ทั้งที่จังหวัดนั้นมีศักยภาพในการท่องเที่ยว
กลุ่มลูกค้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโฮมสเตย์คือ นักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติที่หลงใหลการท่องเที่ยวและพักผ่อนลักษณะนี้ โดยเฉพาะชาวฝรั่งเศส สเปน ออสเตรเลีย อเมริกา และญี่ปุ่น
โดยหลักการแล้ว แม้โฮมสเตย์จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชน หรือสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น แต่จะต้องไม่เน้นหนักในเชิงธุรกิจอย่างออกหน้า
เสน่ห์ที่เป็นจุดขายแท้จริงของโฮมสเตย์อยู่ที่ชาวบ้าน ต้องไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมของตนที่มีอยู่ หรือพูดอีกอย่าง มีจุดขายอะไร ก็ขายทั้งสภาพดิบๆ...ทั้งยังให้ชาวบ้าน ระดับรากหญ้ามีรายได้เสริมจากอาชีพดั้งเดิมหรือการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลัก
ที่สำคัญ...รัฐบาลชุดก่อน ยังหวังให้โฮมสเตย์เป็นฟันเฟืองผลักดัน ให้เมืองไทยผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน
ในสังคมชนบท การที่ชาวบ้านมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นมาเดือนละ 1,000-2,000 บาท ต่อครัวเรือน เทียบกับความเป็นอยู่เดิมที่มีแต่รายได้จากการทำนาหรือหัตถกรรม ถือเป็นน้ำเลี้ยงที่ช่วยให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนอกจากรายได้ส่วนที่นักท่องเที่ยวไปพักและอยู่กินกับโฮมสเตย์ ชาวบ้านยังมีรายได้จากการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า ผลิตหรือแปรรูปเป็นของฝาก ของที่ระลึก ขายให้นักท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มรายได้ให้อีกส่วน
แต่หลังจากรัฐบาลมีการผลัดใบขั้วอำนาจ ทุกวันนี้นอกจาก “โฮมสเตย์” หลายแห่งขาดการเหลียวแลจากผู้บริหารประเทศ ยังถูกปล่อยปละให้มีชะตากรรมไม่ต่างกับ ขยะ ที่รอวันบูดเน่าสูญสลายหายไปเอง
แม้แต่โฮมสเตย์ทั้ง 36 แห่ง ที่ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานชี้วัดระดับชาติ (Home Stay Standard) ทั้งด้านที่พัก อาหาร ความปลอดภัย การจัดการ กิจกรรมท่องเที่ยว สภาพแวดล้อม ฯลฯ จาก สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
...ก็ล้วนมีชะตากรรมเดียวกันทั้งประเทศ
นพ.สุขสันติ พักธรรมนัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายบางระจัน ที่ปรึกษาโครงการโฮมสเตย์ “บ้านท่าข้าม” อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี หนึ่งในโฮมสเตย์ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานชี้วัดระดับชาติ เล่าให้ฟังว่า
โฮมสเตย์บ้านท่าข้ามถือกำเนิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งมีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย จำนวน 20 หลัง ภายใต้การสนับสนุนจากโรงพยาบาลค่ายบางระจัน อบต.ท่าข้าม อำเภอค่ายบางระจัน สำนักงานเกษตรอำเภอฯ สำนักงาน ททท.ภาคกลาง เขต 7 และสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว
“เราพยายามดึงศักยภาพที่มีมาเน้นให้น่าสนใจและแตกต่างจากที่อื่น”
คุณหมอสุขสันติว่า
กิจกรรมหลัก มีให้เลือกทั้ง การจัดทัวร์สุขภาพตรวจเช็กร่างกาย ร่วมกับ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และ การเกษตร หรือจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
รูปแบบกิจกรรม ประกอบด้วยการนอนค้างคืนและทานอาหารร่วมกับเจ้าของบ้าน (อาหารเย็น 1 มื้อ อาหารเช้า 1 มื้อ) ของใส่บาตรพระเช้า พาเยี่ยมชมเครื่องอัฐบริขาร เมื่อครั้งที่ ร. 5 เสด็จประพาสต้นแม่น้ำน้อย และได้ทรงถวายเครื่องอัฐบริขารแด่หลวงพ่อเพื่อน อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางท่าข้าม สมัยเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ซึ่งปัจจุบันหาดูที่อื่นได้ยาก
ต่อด้วยการพาชมของใช้พื้นบ้านในอดีต เช่น ตะเกียงรั้ว เครื่องสีฝัดข้าว ลอบ ไซ เบ็ด ชันโลง ไม้คานหางหงส์ กระบุง ตะกร้า ปฏัก คันไถ ปืนแก๊ป ฉมวก หน้าไม้ ครก เก้าอี้นั่งตัดผม รถจักรยานโบราณ ฯลฯ
ข้าวของแต่ละชิ้นล้วนสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนภาคกลาง ชนิดที่คนรุ่นใหม่ ไม่มีโอกาสได้เห็น หรือเคยได้ยินเพียงแค่ชื่อ
นอกจากนี้ กรณีที่นักท่องเที่ยวประสงค์จะชมการแสดงพิเศษ ซึ่งเป็นศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านเก่าแก่ของชาวชุมชนท่าข้าม เช่น การรำโทน รำกลองยาว และเพลงกล่อมลูก ตามแบบฉบับของ ชาวบ้านบางระจัน
หรืออยากล่องเรือชมวิถีชีวิตชุมชนเก่าริม 2 ฝั่งแม่น้ำน้อย โฮมสเตย์บ้านท่าข้ามก็จัดให้ได้
คุณหมอสุขสันติบอกว่า การได้ร่วมกินอาหารกับเจ้าของบ้านโฮมสเตย์ และพูดคุยกับชาวบ้านในละแวกนั้น ทำให้เกิดการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างซึ่งกันและกัน
สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของเจ้าของบ้านและคนในชุมชน ทำให้ พวกเขามีกำลังใจ และอยากอนุรักษ์คุณค่าความดีงามที่สั่งสมมาแต่ครั้งบรรพชน
“ผมเคยคุยกับผู้ที่มาพักโฮมสเตย์ครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนมีชื่อในกรุงเทพฯ เขาต้องการให้สมาชิกในครอบครัวมาสัมผัสชีวิตในชนบท หรือพูดง่ายๆ อยากให้ลูกติดดิน”
“สิ่งที่ครอบครัวนี้ได้รับกลับไป ไม่เพียงได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวขยายซึ่งมีบุคคลหลายวัย ทั้งพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และลูกหลานรวมอยู่ในบ้านเดียวกัน ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีให้เห็น ยังได้เห็นวิถีการทำมาหากิน ความเหนื่อยยากของครอบครัวชนบท การกิน การนอน เช่น กินอาหารเท่าที่ หาได้ และนอนในมุ้ง ไม่มีแอร์ มีแต่ลมเย็นธรรมชาติ”
สิ่งเหล่านี้ ชีวิตคนเมืองที่เคยชินกับความสุขสบายและสิ่งอำนวยความสะดวก น้อยนักที่จะมีโอกาสได้เห็นหรือสัมผัส
เมื่อพวกเขาได้มาเห็นถึงความเป็นอยู่ที่แตกต่าง อาจเป็นแรงบันดาลใจติดตัวกลับไป ให้ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำมาหากิน หรือใช้เงินอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น
คุณหมอบอกว่า นับแต่กิจการโฮมสเตย์บ้านท่าข้ามเปิดดำเนินการเมื่อปี 2547 ดำเนินการอย่างราบรื่นมาตลอด จนกระทั่งย่างเข้าสู่ปี 2549 จนถึงขณะนี้ เหตุการณ์กลับตาลปัตร
จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติผลัดเปลี่ยนกันไปพัก กลายเป็นไร้เงาผู้มาเยือน จนทุกวันนี้มีสภาพเหมือน...โฮมสเตย์ร้างเจ้าของบ้านทั้ง 20 หลังในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ยังมีไฟหรือใจรักที่จะทำต่อ บางรายถึงขนาดอยากให้จัดตั้งเป็นเครือข่ายประสานงานโฮมสเตย์ทั่วประเทศ แต่ติดขัดตรงทุกวันนี้ ภาครัฐไม่ยอมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้เหมือนที่ผ่านมา
ลำพังชาวบ้านในชุมชน ไม่มีขีดความสามารถหรืองบประมาณพอที่จะไปทำแผนประชาสัมพันธ์หรือส่งเสริมการตลาด ดังเช่นธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไป
“การมานอนพัก 1 คืน และกินอาหาร 2 มื้อ เจ้าของบ้านโฮมสเตย์จะเหลือรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย อย่างมากหัวละไม่เกิน 100 บาท เดือนหนึ่งมีแขกเข้าพัก บ้านละไม่เกิน 20 คน พวกเขามีรายได้เสริมแค่ 2,000 บาท รายได้แค่นี้จะเอาไปวางแผนประชาสัมพันธ์ทำการตลาดสู้กับใครได้” นพ.สุขสันติชี้ปัญหา
ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่หน่วยราชการในจังหวัดได้รับการประสานมาว่า จะมีกลุ่มคณะผู้ศึกษาดูงานหรือนักท่องเที่ยว ไปประชุมสัมมนาและพักค้างคืนที่ จ.สิงห์บุรี
ที่ผ่านมา มีคณะศึกษาดูงานจาก จ.ปัตตานี กลุ่มใหญ่ 2 คันรถบัส ต้องการมาศึกษาวิถีชีวิตคนภาคกลาง ที่ จ.สิงห์บุรี แทนที่ทางจังหวัดซึ่งเป็นผู้ประสานงาน จะพาผู้มาเยือนคณะนี้ไปนอนพักค้างแรมที่โฮมสเตย์ กลับส่งให้ไปนอนพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง
คุณหมอสุขสันติทิ้งท้ายว่า
“ตราบใดที่ความอยู่รอดของโฮมสเตย์เชื่อมโยง กับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของคนชนบทในหลายพื้นที่ ขืนปล่อยให้โฮมสเตย์มีสภาพเหมือนซากขยะที่ถูกทิ้งร้าง ย่อมไม่ต่างกับการบดขยี้หัวใจของใครอีกหลายคน”ที่มา
http://www.thairath.co.th/news.php?section=hotnews02&content=35912