จากนั้นในปี 2545จึงขึ้นตำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และในปีถัดมา (2546) ก็ถูกนายกฯ ดึงตัวข้ามห้วยมานั่งกุมกองเงินกองทองที่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแทนนายชัยวัฒน์ พสกภักดี
หลังจากขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี 2546
พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ก็เปรียบเสมือนกระเป๋าเงินส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณไปโดยปริยาย โดยสื่อมวลชนสังเกตว่าไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปราชการเยี่ยมเยียนประชาชนที่ใด จะจัดครม.สัญจร หรือจัดทัวร์นกขมิ้นที่จังหวัดใดก็มักจะเห็นเพื่อนรักนายกฯ ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนนี้เดินติดเป็นเงาตามตัวไปด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2546หลังจากที่รัฐบาลทักษิณมีนโยบายนำหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน กลายเป็น 'หวยบนดิน' (หรือในชื่ออย่างเป็นทางการคือ สลากแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว) และมีมติคณะรัฐมนตรีระบุว่ารายได้ส่วนเกินหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วของ 'หวยบนดิน' นั้นไม่ต้องนำส่งส่วนกลางคือกระทรวงการคลัง แต่ให้นำคืนสู่สังคมโดยใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแทน
ด้วยเหตุนี้เองการอนุมัติเงินกำไรจาก 'หวยบนดิน' ที่มีมากถึง 300-500 ล้านบาทต่องวด หรือราว 7,000-12,000 ล้านบาทต่อปีจึงกลายเป็นเงินนอกงบประมาณที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ แต่อย่างใดเลย
การนำเงินส่วนรวมไปใช้อย่างไม่โปร่งใสของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และการปฏิบัติตัวเยี่ยงกระเป๋าเงินส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีของพล.ต.ต.สุรสิทธิ์ ผอ.สำนักงานสลากฯ นั้นถึงกับถูกสื่อมวลชนนำไปเปรียบเทียบกับการกระทำของรัฐบาลเผด็จการทหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อ 50 ปีก่อนเลยทีเดียว หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 27 มิ.ย. 2548 ระบุว่า จอมพลสฤษดิ์ในยุคเมื่อ 50 ปีก่อนอาจเปรียบได้กับกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้นำประเทศในยุคปัจจุบัน โดยผู้นำทั้งสองคนมีจุดเหมือนกันก็คือมักจะใช้เงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล (หรือในปัจจุบันคือสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) เพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับตัวเอง โดยขณะที่จอมพลสฤษดิ์ส่งน้องชายต่างมารดา นายสงวน จันทรสาขาไปเป็นผอ.กองสลากฯ พ.ต.ท.ทักษิณก็ส่งเพื่อนรักคือ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ไปนั่งเป็นผอ.สำนักงานสลากฯ
นอกจากนี้ แม้จะอยู่ในยุคสมัยที่ห่างกันถึง 50 ปีแต่พฤติกรรมของจอมพลสฤษดิ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมีความคล้ายคลึงกันอย่างเหลือเชื่อ อย่างเช่น ในเดือนมกราคม 2505 จอมพลสฤษดิ์ได้เร่งให้เทศบาลทำโครงการสวัสดิการชุมชนให้แล้วเสร็จโดยใช้เงินทุนจากกองสลากฯ ขณะที่ในเดือนกันยายน ก็ใช้เงินอีก 150 ล้านบาท จากกองสลากเพื่อนำไปสร้างที่พักอาศัยสวัสดิการชุมชน
ขณะที่ในยุคปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สั่ง พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ให้ถ่ายโอนเงินกำไรจากกองสลากไปให้กับ สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการอนุมัติจ่ายหรือไม่จ่ายเงินให้กับใคร และแม้ว่าเงินกำไรจากสำนักงานสลากฯ บางส่วนจะนำไปใช้คืนสู่สังคมจริงแต่ก็มีเงินอีกจำนวนมากที่ถูกอนุมัติตามความพึงพอใจส่วนบุคคล เนื่องจากฝ่ายการเมืองเป็นผู้ควบคุมเงินในส่วนนี้ทั้งหมด ทำให้ผู้ที่อยากจะได้เงินบริจาคจากกองสลากต้องวิ่งไปขอกับฝ่ายการเมือง และฝ่ายการเมืองก็จะเป็นผู้สั่งผ่าน พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ ให้เป็นผู้จ่ายต่ออีกที อย่างเช่นกรณีช่วงก่อนเลือกตั้งวันที่ 6 ก.พ. 2548 มีข่าวแฉออกมาว่าทางผู้ยิ่งใหญ่รัฐบาลได้เปิดไฟเขียวให้นักการเมืองของพรรคไทยรักไทยที่มีฐานเสียงอยู่ทางภาคเหนือและอีสานสามารถมาขอเงินบริจาคให้วัดต่างๆ ในท้องถิ่นของตนได้ที่กองสลากจำนวน 200,000 บาทต่อวัด นอกจากนี้ยังมีข่าวฉาวโฉ่ออกมาอีกด้วยว่า ส.ส.กาฬสินธุ์ของพรรคไทยรักไทยได้ยักยอกเงินบริจาคของสำนักงานสลากฯ ที่มอบให้กับวัดแห่งหนึ่งในจ.กาฬสินธุ์ไปจำนวน 140,000 บาทอีกด้วย โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับดังกล่าวระบุว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2548 เม็ดเงินกำไรจากสลากฯ 3 ตัว และสองตัว หรือหวยบนดินได้ถูกรัฐบาลพรรคไทยรักไทยนำไปใช้เพื่อผลทางการเมืองมากกว่า 5,754 ล้านบาท!
ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ค. 2549 ยังมีข่าวถูกเผยแพร่ออกมาตามสื่ออีกด้วยว่าอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งในยุค 3 หนาที่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายบริหารยังได้นำเงินทำกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากฯ เพื่อไปใช้จ่ายอย่างผิดจุดประสงค์จำนวนมากถึง 30 ล้านบาท
นอกจากการรับใช้ฝ่ายการเมืองในการนำเงินกำไรของสำนักงานสลากฯ ไปประเคนให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อใช้ตามอำเภอใจแล้ว
พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ในฐานะ ผอ.สำนักงานสลากฯ ก็ยังต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยอีกด้วยว่า อาจมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับข่าวลือที่ระบุว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 สำนักงานสลากฯ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้พิมพ์บัตรเลือกตั้งได้พิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินเพื่อให้พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคนำไปใช้ในการทุจริตการเลือกตั้ง จนชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกด้วย ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ นอกจากจะมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นในฐานะเพื่อนสนิท และเจ้านาย-ลูกน้องแล้ว ในยุคทักษิณ พี่ชายของ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ คือ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ ก็ยังได้รับอานิสงส์จากน้องชายโดยได้รับตำแหน่งใหญ่ในคณะกรรมการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ อีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นในบริษัทการบินไทย สถาบันการบินพลเรือน บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุเทพแห่งใหม่ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ฯลฯ
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000119260 หลังรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้ย้าย พล.ต.ต.สุรสิทธิ์เข้าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
วันนี้ได้รับอนุมัติเข้าเป็นนายตำรวจใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในตำแหน่ง รอง ผบช.ภ.6.......