ความ"นิ่ม-นิ่ง"ของคมช. คอลัมน์ เดินหน้าชน โดย นงนุช สิงหเดชะ
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯฉบับแรกเมื่อใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 19 กันยายน ที่มีข้อความในตอนท้ายว่า "ขออภัยในความไม่สะดวก" ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก นับแต่มีปฏิวัติ รัฐประหารหลายครั้งในประเทศไทย ที่ผู้กระทำรัฐประหารแสดงออกถึงความเกรงอกเกรงใจเหลือเกิน
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ เปิดเผยเมื่อไม่กี่วันมานี้เองว่า เป็นคนเขียนประกาศฉบับดังกล่าวอันมีข้อความ "ขออภัยในความไม่สะดวก" ด้วยตัวเอง
ข้อความในประกาศดังกล่าว อาจสะท้อนบุคลิกและสไตล์การทำงานของ พล.อ.สนธิ อันเป็นเหตุให้บรรดาจิ๊กโก๋ใจร้อน สื่อมวลชน รวมทั้งบรรดากลุ่มที่เคยมีส่วนในการขับไล่คุณทักษิณ ออกอาการหงุดหงิดต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยู่ในขณะนี้
เริ่มมีเสียงกล่าวหาว่าไม่เอาจริง จะประนีประนอม บ้างก็ว่า 1 เดือนแล้วคณะตรวจสอบทุจริตยังไม่สามารถชี้มูลความผิดอะไรได้เลย บ้างก็ว่าจะปูทางให้ระบอบทักษิณกลับคืนมา
สิ่งหนึ่งที่ คมช.ถูกจิ๊กโก๋ใจร้อนถล่มหนักก็คือ การไม่ใช้อำนาจที่เด็ดขาดจัดการกับเรื่องทุจริตที่เกิดในรัฐบาลทักษิณ ไม่รีบอายัดทรัพย์ของเครือข่ายทักษิณ และอีกสารพัด
ขณะที่นักวิจารณ์ฟากที่แอบรักทักษิณหมดหัวใจ ไปไกลกว่านั้น คือมีการเหมาสรุปว่า การที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังคงโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเอาไว้ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน ก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่านโยบายเศรษฐกิจของคุณทักษิณถูกต้องแล้ว
พวกนี้ต้องการให้ คมช.ทำอะไรก็ได้ที่สวนทาง กลับทิศ 360 องศากับรัฐบาลทักษิณ จึงจะได้ชื่อว่ามีความสมเหตุสมผลในการรัฐประหาร
แต่เมื่อมาฟังความคิดเห็นของ พล.อ.สุรยุทธ์แล้ว แสดงให้เห็นถึงความเป็น "ผู้ใหญ่และมีวุฒิภาวะ" นั่นก็คือ ท่านได้อธิบายว่าโครงการใดของรัฐบาลเดิมดีอยู่แล้วให้ดำเนินการต่อไป โครงการใดไม่ดีมีจุดบกพร่องก็ให้พิจารณายกเลิกหรือปรับปรุง
แนวคิดของ พล.อ.สุรยุทธ์มิใช่การ "ล้างบาง" เพื่อความสะใจโดยไร้เหตุผล ถ้าหากทำตามแรงเชียร์ของนักวิจารณ์ ก็คงต้องยกเลิกโครงการในรัฐบาลทักษิณทั้งหมด แต่ถามว่าหากทำอย่างนั้นประชาชนและประเทศชาติจะได้อะไร
กรณีของ พล.อ.สนธินั้น วิธีการคิดก็น่าสนใจ โดย พล.อ.สนธิได้อธิบายถึงเรื่องการไม่ล้างบาง โยกย้ายคนในเครือข่ายทักษิณบางคน ก็ด้วยเหตุผลว่า "ในทางการทหาร การดึงมิตรของศัตรูมาเป็นมิตรของเรา จะทำให้เราไขกุญแจเข้าไปในบ้านของศัตรูได้ง่ายขึ้น"
ส่วนการเอาผิดการกระทำอันส่อทุจริตนั้น พล.อ.สนธิได้อธิบายว่า ต้องการให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อที่ว่าในภายหลังมันจะได้ไม่ย้อนกลับมาพันคอเรา (คือถ้าทำไม่ถูกต้องก็จะถูกฟ้องร้องเล่นงานภายหลังได้) วิธีการนี้อาจช้า แต่ พล.อ.สนธิมั่นใจว่ามันจะสำเร็จ
พล.อ.สนธิได้เปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า "มันเหมือนการเล่นฟุตบอล คือกว่าจะชู้ตเข้าประตูได้ มันก็ต้องมีการเลี้ยงลูกส่งกันไปมา เตะไปข้างหลังบ้าง ข้างหน้าบ้าง หาช่องยิง ไม่ใช่เอามือจับลูกบอลไปทุ่มเข้าประตู ลูกมันเข้าประตูจริง แต่ไม่ได้ประตู เพราะผิดกติกา
คำพูดของ พล.อ.สนธิ หากจะเปรียบเทียบกันก็คงเหมือนตำรวจที่เร่งรัดคดี ทำสำนวนไม่รัดกุม เพียงเพื่ออยากสร้างผลงานตามแรงกดดันสังคม ก็มีการจับแพะบ้างอะไรบ้าง เมื่อสรุปสำนวนส่งอัยการ ทางอัยการอาจไม่สั่งฟ้อง หรืออัยการสั่งฟ้องแต่เมื่อถึงชั้นศาล คดีก็อาจหลุดหมด เพราะพยานหลักฐานไม่แน่นหนาเพียงพอ แบบนี้ก็ทำงานกันเหนื่อยเปล่า
อย่างไรก็ตาม แม้ คมช.จะใช้วิธีนิ่มและรัดกุม แต่ในอีกด้านหนึ่งในระหว่างที่กระบวนการต่างๆ กำลังดำเนินอยู่นี้ ควรที่จะได้มีการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าเป็นระยะ ให้คนได้เห็นโรดแมปว่า 4 ประการที่เป็นเหตุผลในการรัฐประหารนั้นได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง ควรใช้สื่อรัฐที่มีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์
หากจะต้องออกเป็นสปอตตีปี๊บทางทีวีเป็นตอนๆ ก็ต้องทำ
ตอนนี้มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆ ตั้ง 4 ข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุผลในการรัฐประหาร โดยดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องเพื่อดิสเครดิต คมช. แต่ดูแล้วเป็นเรื่องจับแพะชนแกะได้มั่วมาก ลีลาเหมือนจดหมายลูกโซ่ที่อีสาน
คมช.ใช้วิธีนิ่มและนุ่มนวลรอบคอบนั้นถูกต้องแล้ว แต่อย่า "นิ่ง" จนเปิดให้อีกฝ่ายรุกอยู่ข้างเดียว ต้องหนามยอก เอาหนามบ่ง เครือข่ายเก่านิยมใช้การตลาด คมช.ก็ต้องใช้วิธีเดียวกัน
แต่หากเวลาผ่านไปพอสมควรแล้วทาง คมช.ยังไม่มีผลงานชัดเจน เชื่อว่า คมช.คงนึกภาพออกว่าตัวเองจะเจออะไรบ้าง
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ขณะนี้กลุ่มที่อ้างว่าเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเรียกร้องให้นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ลาออกจากสมาชิกสภานิติฯ หรือลาออกจากอธิการบดี อ้างเหตุผลว่ารับใช้เผด็จการ
นี่มิต้องไปไล่อาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ ออกจากกรรมการ คตส. ที่กำลังทำหน้าที่ตรวจการทุจริตของระบอบทักษิณด้วยหรือเปล่า ไปๆ มาๆ อย่าให้กลายเป็นเรื่อง "การเมือง" แย่งชิงตำแหน่งภายในธรรมศาสตร์ก็แล้วกัน คงงามหน้า
อาจารย์บรรเจิดว่าไปแล้วเป็นโล้เป็นพายกว่าอาจารย์นิติศาสตร์บางคนใน มธ. เพราะอย่างน้อยก็รับผิดชอบต่อบ้านเมืองด้วยการเป็นธุระในการยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ว่าการเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พวกรักประชาธิปไตยแต่ปากและอยู่บนหอคอยงาช้าง
ไม่เหมือนอาจารย์นิติศาสตร์ มธ.บางคน ที่คล้ายออกมาต่อต้านพระราชดำรัสเรื่องที่ทรงแนะให้ศาลมาแก้วิกฤตบ้านเมือง แถมยังเชิดชูนายสมัคร สุนทรเวช โดยไม่จดจำประวัติศาสตร์เรื่องชะตากรรมของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งน่าเจ็บปวดแทนอาจารย์ป๋วย
ใจ อึ๊งภากรณ์ จะไปร่วมสังฆกรรมกับอาจารย์พวกนี้ที่เชิดชูนายสมัครหรือ? หน้า 6<
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act05011149&day=2006/11/01---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การประชาสัมพันธ์และการตลาด เชิงรุก ได้เริ่มนำมาใช้ในกรณีลุงแท๊กซี่แล้วอย่างได้ผล...